นายกรัฐมนตรีเตือนม็อบเสื้อแดงจัดชุมนุมห้ามจาบจ้วงเบื้องสูง ยอมรับเป็นนักประชาธิปไตยฝืนใจต้องใช้อำนาจพิเศษในบางครั้งเพื่อรักษากฏหมาย ย้ำ สถานการณ์ยังไม่นิ่งจำเป็นต้องตรึงกำลังไว้บางส่วน ชี้ “ทักษิณ-จักรภพ” โจมตีมาตุภูมิจาบจ้วงกษัตริย์เข้าข่ายผู้ก่อการร้าย มั่นใจต่างชาติเริ่มเข้าใจและออกอาการต่อต้านแล้ว
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายการ "เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกอภิสิทธิ์"
วันนี้(26 เม.ย.) เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ตึกไทยคู่ฟ้าทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จัดรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์” เป็นครั้งที่ 15 ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาก็เป็นสัปดาห์ที่ตนและรัฐบาลก็เดินหน้าในการที่จะนำบ้าน เมืองกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากที่มีการประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินตั้งแต่ในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งแรกที่เราพยายามดำเนินการคือว่า ทำให้เหตุการณ์ต่าง ๆ รวมทั้งการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ นั้นเดินไปในลักษณะที่โปร่งใสและมีส่วนร่วมของทุก ๆ ฝ่าย เพราะฉะนั้น เมื่อวันพุธและวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา รัฐบาลจึงได้ขอเปิดการประชุมร่วมของรัฐสภา เพื่อที่จะรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกรัฐสภา ซึ่งก็มีทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เป็นเวลา 2 วัน เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น รวมถึงการแสวงหาทางออกสำหรับบ้านเมือง เพื่อที่จะให้ความขัดแย้งต่าง ๆ นั้นได้คลี่คลายลงไป
นายกฯ กล่าวว่า เชื่อว่าประชาชนจำนวนมากคงจะได้มีการติดตามการประชุมทั้ง 2 วัน เพราะว่ามีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์และทางวิทยุ ซึ่งในการอภิปรายนั้นเป็นธรรมดาที่บางครั้งก็อาจจะดูมีความขัดแย้งหรือมีอารมณ์กันอยู่บ้าง แต่ว่าโดยรวมประชาชนคงจะตระหนักว่าที่ประชุมสภาฯ ก็คือที่ประชุมของผู้แทนของปวงชนชาวไทย ซึ่งก็สะท้อนความรู้สึกของประชาชนซึ่งย่อมจะมีความหลากหลายมีความแตก ต่างกันไป อย่างไรก็ตามอยากจะเรียนอย่างนี้ว่าประเด็นหลัก ๆ ที่เราจะต้องช่วยกันจากวันนี้ไปก็คือ การสะสางใน 2 จุด จุดแรกคือในเรื่องของเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งขอย้ำอีกครั้งว่า รัฐบาลและโดยเฉพาะอย่างยิ่งตนได้รายงานสถานการณ์ต่าง ๆ เป็นระยะ ๆ ให้ประชาชนอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องิเพื่อยืนยันข้อเท็จจริงและหลักการจุดยืนของรัฐบาล ซึ่งจำเป็นที่จะต้องประกาศใช้พรก.ฉุกเฉิน เพื่อที่จะนำเรื่องของการรักษากฎหมายให้มีความศักดิ์สิทธิ์กลับคืนมาสู่ สังคม ไม่ได้เป็นการใช้กฎหมายในลักษณะที่จะหวังประโยชน์ในเรื่องของการเอาชนะคะคาน ในทางการเมืองแต่ประการใด
“เพราะฉะนั้น อย่างที่เรียนก็คือว่าการใช้สิทธิเสรีภาพของพี่น้องประชาชนตามรัฐธรรมนูญนั้น ย่อมทำได้ การแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างย่อมทำได้ แต่ว่าพฤติกรรมที่ผิดกฎหมาย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผิดกฎหมายและกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องใช้เครื่องมือเครื่องไม้ตามกฎหมายจัดการ เพื่อที่จะไม่ให้สถานการณ์นั้นลุกลามและกระทบกับประเทศ และกระทบกับความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนต่อไป”นายอภิสิทธิ์ กล่าว
ยืนยันไม่มีผู้เสียชีวิตจากการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ขอยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่าประการแรกในเชิงนโยบายนั้น ได้มีการประชุมกำชับกับหน่วยงานที่ปฏิบัติงานในช่วงที่มีการประกาศภาวะฉุก เฉินเกือบตลอดเวลาว่า ทุกมาตรการที่ใช้นั้น หนึ่ง ต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ ปฏิบัติการทุกครั้งก็จะมีสื่อสารมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศอยู่ด้วย และสอง คือว่าพึงหลีก เลี่ยงการใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ และทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้ข้อบังคับหรือตัวบทกฎหมายทุกประการ
“ผมยังยืนยันครับจนถึงวันนี้ว่าจากการติดตามตรวจสอบในทุกเรื่อง ยังไม่ปรากฏว่ามีผู้เสียชีวิตจากการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในช่วงที่มีการ ประกาศภาวะฉุกเฉินร้ายแรง และในส่วนของการบาดเจ็บต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้น ทางเจ้าหน้าที่ได้เร่งเข้าไปดูแล รัฐบาลก็ได้ดำเนินการมีมติในเรื่องของการเยียวยาให้พี่น้องประชาชนที่ได้รับ ผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นใคร ไม่ว่าจะอยู่กลุ่มใด”นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นายกฯ กล่าวอีกว่า เรียนว่า 2 วันที่มีการนำเสนอข้อมูลต่าง ๆ นั้น ที่จริงแล้วก็มีเรื่องราวที่ได้รับความสนใจอยู่ อาจจะอยู่ 2-3 เรื่องซึ่งยังอยู่ในความสนใจ เช่น กรณีที่มีการพบศพในแม่น้ำเจ้าพระยา ก็ขอเรียนย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า บุคคลทั้งสองที่ได้เสียชีวิตนั้น เสียชีวิตหลังจากที่มีปฏิบัติการต่าง ๆ ในเรื่องของการทหาร หรือการดำเนินนการของฝ่ายความมั่นคง โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือว่ามีพยานชัดเจน ที่ระบุว่าบุคคลทั้งสองนั้นยังคงมีชีวิตอยู่ในช่วงประมาณดึกของวันที่ 13 ต่อเนื่องเช้าวันที่ 14 ซึ่งพี่น้องประชาชนคงจำได้ว่าหลังจากดึกวันที่ 13 เป็นต้นไป ก็ไม่ได้มีปฏิบัติการของฝ่ายความมั่นคงอะไรเพิ่มเติม เป็นช่วงที่มีการตรึงกำลังกันก่อนที่วันที่ 14 ทางผู้ชุมนุมจะได้ตัดสินใจในเรื่องของการยุติการชุมนุม อย่างนี้เป็นต้น
นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงการเสียชีวิตของพลทหารว่า อยากจะเรียนว่าเป็นผู้ที่ดูแลบ้านพักซึ่งตนได้ไปพักอยู่ แต่ว่าการเสียชีวิตของบุคคลท่านนั้นเกิดขึ้นในช่วงค่ำของวันที่ 14 เมษายน ซึ่งเป็นเวลาที่ตนไม่ได้พักอยู่ที่นั่นแล้ว ตนพักอยู่ที่นั่นในช่วงวันที่ 12 และวันที่ 13 เมษายน และจากรายงานเบื้องต้นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ทราบว่าบุคคลดังกล่าว ประสบอุบัติเหตุในช่วงค่ำ และหลังจากนั้นก็มีพยานที่ได้สนทนาและได้ช่วยในเรื่องของการซื้อยา เพราะว่าทางเจ้าตัวนั้นได้บ่นว่าปวดศีรษะมาก แต่หลังจากที่นอนแล้วได้พบอาการผิดปกติ ได้มีการส่งโรงพยาบาล อย่างนี้เป็นต้น
“นอก จากนั้นจะมีภาพเหตุการณ์ ซึ่งเป็นภาพนิ่งบ้าง ภาพเคลื่อนไหวบ้าง ซึ่งรัฐบาลได้พยายามที่จะชี้แจงว่าแต่ละเรื่องมีที่มาที่ไปอย่างไร ผมอยากจะเรียนว่าเราก็จะเดินหน้าทำเรื่องนี้ให้โปร่งใสครับ เพราะว่าใครก็ตามที่เสียชีวิต ใครก็ตามที่ได้รับบาดเจ็บนั้น ผมยืนยันครับว่าผมเชื่อว่าคนไทยทุกคนเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่เราก็ต้องยืนยันข้อเท็จจริงต่าง ๆ ว่าการเสียชีวิตหรือการบาดเจ็บนั้นเกิดขึ้นอย่างไร”
รัฐบาลตั้งคณะกรรมการประมวลเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
นายกฯ กล่าวอีกว่า ดังนั้น สิ่งที่ตนดำเนินการในขณะนี้ก็คือ ข้อแรก ในส่วนของรัฐบาลเองได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการประมวลเหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นความรับผิดชอบของทางสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี อันนี้เป็นเรื่องของฝ่ายบริหารที่จะต้องดำเนินการ ข้อที่สอง คือในการประชุมสภาฯ นั่นเอง เพื่อให้เกียรติกับเพื่อนสมาชิกที่ได้มีการนำเสนอข้อมูลต่าง ๆ ตนได้เสนอแนะให้ทางท่านประธานรัฐสภาได้เชิญวิปของทั้งฝ่ายรัฐบาล ทั้งฝ่ายค้านและวุฒิสภา ซึ่งเข้าใจว่าจะมีการพบปะกันในวันพรุ่งนี้(27เม.ย.) เพื่อที่จะได้มีการดำเนินการว่า จะชำระสะสางประมวลเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างไร โดยตนยืนยันว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ กับการที่จะได้ข้อเท็จจริงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนั้นในส่วนของหน่วยงานแต่ละหน่วยงานเอง หากมีเหตุการณ์คำร้องเรียนใด ๆ ก็ต้องดำเนินการในการให้ได้ข้อเท็จจริงมา และก็ยืนยันว่ากำลังพลหรือบุคลากรของทุกหน่วยงานนั้นจะต้องปฏิบัติตามนโยบาย ตามกฎหมายเท่านั้น และก็จะต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ตนตั้งใจว่าบรรดาข้อมูลต่าง ๆ ที่มีการนำเสนออยู่ในขณะนี้ควรจะได้มีการตรวจสอบพิสูจน์ และมีการชี้แจงเผยแพร่ให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบข้อเท็จจริงทุกแง่ทุกมุม ความจำเป็นในเรื่องนี้ที่จะต้องทำมีเหตุผลสำคัญ 2 ประการ ประการแรกคือว่า คิดว่าอันนี้เป็นมาตรฐานในเรื่องของความโปร่งใสและธรรมาภิบาล เมื่อเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นก็ต้องมีการติดตามตรวจสอบชำระสะสาง และประมวลออกมาให้พี่น้องประชาชนรับรู้รับทราบ เหมือนในต่างประเทศแม้กระทั่งที่เขาประชุม G 20 กันไปที่ลอนดอน ปรากฏว่ามีเหตุการณ์ที่ตำรวจไปปะทะกับผู้ชุมนุม เขาก็ต้องมีการสอบสวนให้ชัดเจนว่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ความรุนแรงที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นได้อย่างไร ประการที่ 2 คือตนยังมีความเป็นห่วงว่า ยังมีคนจำนวนหนึ่งครับพยายามที่จะนำเสนอข้อมูลซึ่งคลาดเคลื่อน หรือข้อมูลที่ยังไม่ได้รับการตรวจสอบ แล้วก็ไปทำให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนที่จะนำไปสู่ความรุนแรงให้เกิด ขึ้นได้อีก
“ยกตัวอย่างว่าขณะนี้ก็มีคนเอาใบปลิวมาให้ผมดู อ้างว่าเป็นใบปลิวจากผู้สื่อข่าวช่อง 3, 5, 7, 9 ที่บอกว่าไม่สามารถเสนอความจริงได้กับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น และก็ไปบรรยายว่าจริง ๆ แล้วมีความรุนแรง มีการตาย มีอะไร แต่ที่ผมเห็นชัดเจนและคลาดเคลื่อนก็คือว่าพูดถึงเหตุการณ์ที่กระทรวง มหาดไทย ก็บอกว่าผมไม่ได้อยู่ในรถยนต์คันที่มีการทำร้าย แล้วก็ไม่ได้มีอะไร เป็นเรื่องของการวางแผนเพื่อที่จะสร้างสถานการณ์ต่าง ๆ ซึ่งผมอยู่ในเหตุการณ์เอง ผมทราบและพี่น้องประชาชนที่ดูข่าวก็จะทราบว่าไม่ได้เป็นความจริงเลยตามที่มี การกล่าวอ้างในใบปลิวลักษณะนั้น เพราะฉะนั้น ในเรื่องของการประมวลเหตุการณ์ต่าง ๆ นั้น ก็เพื่อความโปร่งใส”นายกฯ กล่าว
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า อยากจะเรียนพี่น้องประชาชนว่า ในช่วงนี้ถ้าท่านได้ข้อมูลอะไร ขอให้ท่านได้ใช้วิจารณญาณไตร่ตรองแยกแยะ และถ้าสงสัยจะมีกระบวนการการพิสูจน์ชี้แจงต่อไป ซึ่งตนย้ำว่าจะไม่ได้ทำโดยรัฐบาลฝ่ายเดียว แต่ฝ่ายนิติบัญญัติก็จะดำเนินการ และตนเข้าใจว่าคงจะมีการนำเรื่องเหล่านี้ไปสู่องค์กรอิสระอื่น ๆ เพื่อที่จะได้ชำระสะสางต่อไป ตนย้ำเรื่องนี้เพราะว่าตนไม่ต้องการให้ ปฏิบัติงานของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องที่ผ่านมา ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพียงแค่นำกฎหมายและความสงบกลับคืนมา ถูกนำไปเป็นเงื่อนไขที่จะเป็นความขัดแย้งเพิ่มเติม และตนก็ได้แสดงความบริสุทธิ์ใจในเรื่องของความโปร่งใส และการรับการตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา
เชิญทุกฝ่ายร่วมหาทางออกทางการเมือง
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ที่จะต้องมีการดำเนินการแน่นอนคือต้นเหตุของความขัดแย้งที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเรื่องของการเมือง เพราะฉะนั้น การหาทางออกทางการเมืองก็มีความจำเป็น เช่นเดียวกันหลังจากการประชุมรัฐสภาแล้ว ตนได้ขอให้ประธานรัฐสภาได้เชิญทุกฝ่ายมา เพื่อที่จะเดินหน้าในการติดตามในเรื่องของการแสวงหาทางออกทางการเมือง แต่ตรงนี้คงจะไม่สามารถทำได้ลำพังเฉพาะฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะเป็นเรื่องของสังคมทั้งสังคม เพราะฉะนั้น ถ้าจะพูดถึงเรื่องของการปฏิรูปการเมือง การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหรือการสมานฉันท์ใด ๆ ก็ตาม กระบวนการนี้ต้องเป็นกระบวนการที่ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม คิดว่าตรงนี้เป็นเรื่องของความจำเป็น เพื่อที่จะปรับฐานการเมืองให้ทุกฝ่ายได้ยอมรับกฎกติกาต่าง ๆ ที่มีอยู่ ก่อนที่เราจะแสวงหาทางออกทางการเมืองในขั้นต่อไป เพราะถ้าหากว่าขณะนี้ยังไม่ชำระสะสางกันในเรื่องนี้ การเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองใด ๆ คงไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาพื้นฐานได้ เพราะว่าจะทำให้เราย้อนกลับไปอยู่ในสถานการณ์อย่างที่เราได้ผ่านมาในช่วง 2-3 เดือนนี้
นายกฯ กล่าวว่า เพราะฉะนั้น ตรงนี้ก็เป็นอีกขั้นหนึ่ง อีกก้าวหนึ่งที่คิดว่าจะเป็นก้าวสำคัญในการคลี่คลายสภาพปัญหา ต่าง ๆ ที่เป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ อยากจะบอกว่าไม่ได้หมายความว่าฝ่ายอื่น ๆ จะเพิกเฉย สถาบัน องค์กรต่าง ๆ ซึ่งตนได้เคยร้องขอให้เข้ามาดูแล อย่างเช่น สถาบันพระปกเกล้า หรือหน่วยงานวิชาการ หรือสภาพัฒนาการเมือง หรือหน่วยงานอื่น ๆ ก็ควรที่จะได้มีการติดตามและทำเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง
“แม้กระทั่งที่ผมได้พูดไปก่อนหน้านี้ว่า น่าจะพิจารณาให้กว้างขวาง เปิดกว้างเอาไว้ ยกเว้นในเรื่องของการนิรโทษกรรมในเรื่องของคดีอาญา สัปดาห์ที่ผ่านมาก็มีการสะท้อนความคิดเห็นต่าง ๆ มากมาย เห็นด้วยไม่เห็นด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทางสมาชิกรัฐสภาทุกคนก็พึงที่จะรับฟังในการหาคำ ตอบต่อไป ผมเองจะไม่ชี้นำอะไรครับ ในส่วนของผมถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของพรรคการเมืองหนึ่ง ซึ่งจะมีคณะทำงานหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องในการเสนอความเห็นของพรรค พร้อม ๆ ไปกับการที่พรรคการเมืองอื่น ๆ จะได้เสนอความเห็นเข้ามา เพราะฉะนั้น ใน 2 เรื่องนี้ครับคือก้าวสำคัญ หลังจากที่เราได้สรุปในเรื่องของการประชุมรัฐสภา”นายอภิสิทธิ์ กล่าว
รัฐบาลขอแรงองค์การอื่นแจงเรื่องสองมาตรฐาน
นายกฯ กล่าวย้ำเรื่องสองมาตรฐานว่า เห็นว่าในการประชุมรัฐสภาที่ผ่านมา ก็มีการพูดถึงประเด็นบางประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเรื่องสองมาตรฐาน ตนขอย้ำว่าในส่วนของฝ่ายบริหารหรือในส่วนรัฐบาลเอง ในเรื่องของสองมาตรฐานไม่มี ตนทำงานทุ่มเททำงานให้กับทุกคนเสมอภาคกัน ส่วนปัญหาคดีความต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งการตัดสินต่างๆ ที่ผ่านมา หลายส่วนเป็นเรื่องของอำนาจของฝ่ายตุลาการหรือองค์กรอิสระ ซึ่งตนคิดว่าหน่วยงานเหล่านั้นควรจะได้ทำคำชี้แจงว่า การตัดสินต่าง ๆ มีเหตุมีผล มีเรื่องของข้อกฎหมายรองรับอย่างไร ส่วนถ้ากฎหมายที่เป็นที่มาของการตัดสินตรงนั้น มีความไม่เป็นธรรมหรือมีความบกพร่องหรือไม่สมบูรณ์อย่างไร ก็จะได้เป็นการสรุปเพื่อที่จะให้คณะที่ดูแลในเรื่องของการแก้ไขปัญหาทางการ เมืองนำไปประกอบการพิจารณา
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า แต่ในส่วนของฝ่ายบริหารเองก็ยังมี เรื่องที่จะต้องดำเนินการต่อ ขอเรียนว่าการดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมจากนี้ไป ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับแกนนำผู้ชุมชน ไม่ว่าจะไปเกี่ยวข้องกับสื่อใด ๆ ก็ตาม จะได้ยึดตามกฎหมายเท่านั้น แล้วจะไม่มีการเอาอำนาจพิเศษในเรื่องของพระราชกำหนดมาเป็นตัวตั้ง ในการที่จะไปดำเนินการ เพื่อมุ่งที่จะไปกลั่นแกล้งหรือไปคุกคาม หรือไปอะไรทั้งสิ้น ไม่มีเด็ดขาด และเมื่อเราได้วางแนวทางกติกาเช่นนี้แล้ว เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาตั้งแต่เวลาเที่ยได้ประกาศยกเลิกภาวะฉุกเฉินร้ายแรง ซึ่งหมายความว่าอำนาจของรัฐบาลตาม พ.ร.ก.ก็สิ้นสุดลง แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่มีความรับผิดชอบในการรักษาความสงบเรียบร้อยใน บ้านเมือง หรือความมั่นคงจะหยุดทำงาน ท่านเหล่านี้จะทำงานต่อภายใต้กรอบกติกาของกฎหมายปกติต่อไป
นายกฯ กล่าวว่า ทั้งหมดที่ทำเพื่อต้องการให้เรายุติความรุนแรง และนำความปกติกลับคืนมาสู่บ้านเมือง แต่กระบวนการตรงนี้ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนต่อไป ในช่วง 2 สัปดาห์ข้างหน้า ตนคิดว่ามีวันสำคัญ ๆ มากมาย ซึ่งบ่งบอกในเรื่องของการสนับสนุนสถาบันหลักของชาติ ซึ่งขอถือโอกาสนี้เชิญชวนพี่น้องประชาชน เราจะมีทั้งวันแรงงาน วันพืชมงคล ซึ่งเป็นวันที่แสดงออกถึงการยอมรับกลุ่มคนที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ นั่นคือเกษตรกร และผู้ใช้แรงงาน เราจะมีวันวิสาขบูชา ซึ่งเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ก็ถือโอกาสเรียนว่า ที่มีข่าวว่าไปตัดงบประมาณลงเหลือ 2 ล้านหรืออะไรนั้น ไม่เป็นความจริงขณะนี้มีการของบประมาณงบกลางมา สำนักงบประมาณกำลังเร่งรัดให้ และงานทั้งหมดก็คงจะมีงบประมาณ ประมาณ 56 ล้านบาท
“ขอถือโอกาสเชิญชวนพุทธศาสนิกชนว่า ในช่วงจากนี้ไปจนถึงวันวิสาขบูชา ขอให้ท่านได้ร่วมกันจะปฏิบัติธรรม สวดมนต์ ภาวนา หรือเข้าไปร่วมในกิจกรรมทางศาสนาใด ๆ เพื่อที่จะเตือนสติสังคมทั้งสังคมว่า สิ่งสำคัญที่สุดก็คือความสงบสุข และการไม่มีความขัดแย้งกันนะครับ” ”นายกฯ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในช่วงที่สองของรายการ นายกฯได้เชิญนายอภิรักษ์ หาญพิชิตวณิชย์ มาทำหน้าที่ผู้ดำเนินรายการ ซักถามนายกฯถึงประเด็นต่าง โดยผู้ดำเนินรายการได้ถามว่าถึงกรณีที่พัทยา และมหาดไทย โดยนายกฯ กล่าวว่า คิดว่ามันคงมีสองส่วน ส่วนแรกหลายคนที่รู้จักตนก็จะทราบว่าตนไปไหนมาไหนธรรมดาค่อนข้างจะไปง่าย ๆ สบาย ๆ ตั้งแต่เป็นผู้แทนฯ เป็นรัฐมนตรีหรือเป็นอะไรก็แล้วแต่ยังถูกแซวอยู่เรื่อย ๆ ว่าเวลาที่เดินทางเมื่อก่อนนี้ เดินทางสมมติว่าไปขึ้นเครื่องบินก็จะไปทำตั๋ว ไปทำอะไรด้วยตัวเอง แล้วก็ไป บางทีก็เดินไปคนเดียว แล้วก็ชอบถือเอกสารของตัวเองอะไรต่าง ๆ เพราะฉะนั้นก็พยายามบอกเขามาตลอดว่า อย่าไปทำอะไรมาก ทีนี้ก็ไม่คาดคิดว่าการชุมนุมต่าง ๆ ทางการเมืองจะบานปลายไปเป็นลักษณะนี้ เพราะฉะนั้นอันนั้นก็อาจจะเป็นจุดแรก ซึ่งต่อไปนี้ก็คงจะต้องฝืนใจตัวเองนิดหน่อย แล้วก็ต้องยอมรับมาตรการที่มันเข้มข้นขึ้น
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนที่สองก็เป็นภาพรวมด้วย ว่าไม่ว่าจะเป็นที่พัทยา หรือไม่ว่าจะเป็นที่ไหนก็ตาม ก็อาจจะมีข้อบกพร่องในบางส่วนซึ่งต้องแก้ไข แต่อีกส่วนหนึ่งก็คือเราก็นึกไม่ถึงจริง ๆ ว่าจะมีการประกาศถึงขั้นว่าจะจับตัว จะไล่ล่า จะอะไรก็แล้วแต่ แต่ว่าต่อไปนี้ก็ต้องปรับปรุงเพราะว่า ไม่อย่างนั้นมันไม่ใช่เรื่องของตน มันเป็นเรื่องของผู้นำของประเทศไทย แล้วก็มันก็ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ และความมั่นใจที่ชาวโลกจะมี โดยเฉพาะผู้นำต่างประเทศ ซึ่งเขาจะต้องเดินทางเข้ามาด้วย ตอนนี้ก็มีการปรับไปพอสมควร ทั้งในส่วนที่อยู่กับตนตลอดเวลา และในส่วนที่สถานที่สำคัญต่าง ๆ ก็ต้องขออภัยด้วย ว่าเวลาที่ไปงาน ขบวนใหญ่ขึ้น และอาจจะมีการเข้มงวดกวดขันมากขึ้นในการตรวจตราคนที่เขาไปร่วมงาน ก็อาจจะทำให้มีความรู้สึกว่าเอ๊ะมันไม่เหมือนเดิม แต่ก็ขอความเข้าใจในเรื่องนี้ ถามว่าตนชอบใจไหม ตนก็ไม่ชอบใจหรอก ยังอยากจะไปไหนมาไหนคนเดียว แต่ว่าทุกคนก็ต้องทำหน้าที่และมีความรับผิดชอบของตัวเอง ฝ่ายที่เขามีหน้าที่ในการรักษาความปลอดภัย เขาเห็นถึงความจำเป็น ก็ต้องดำเนินการ
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า กรณีผู้นำต่างประเทศต้องเป็นความปลอดภัยสูงสุด อันนี้ย้ำอยู่แล้ว แล้วก็ที่จริงก็แม้ว่าเกิดเหตุการณ์ขึ้น แต่ก็ดูแลเรื่องความปลอดภัยเรียบร้อยดี ยังมีหนังสือขอบคุณมาจากผู้นำหลายประเทศเหมือนกัน ที่บอกว่าเราได้ดูแลเขาเป็นอย่างดี ส่วนของการชุมนุมที่อาจจะเป็นปัญหานี้ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่า หนึ่ง ทางเจ้าหน้าที่โดยเฉพาะตำรวจเองก็เปิดใจกับตนว่าไม่ค่อยแน่ใจว่ากฎหมายคุ้ม ครองเขาแค่ไหน เขาก็เกร็งเพราะว่าในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น พอมีการตรวจสอบมีอะไรต่าง ๆ นี้คุ้มครองเขาแค่ไหน เพราะฉะนั้นอันนี้ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่เราคิดถึงเรื่องการปรับปรุงกฎหมายต่อ ไป กับประการที่สองคือต้องให้ความมั่นใจว่า สมมติเขาทำตามนโยบาย และก็ทำตามความจำเป็นสมควรแก่เหตุ
“ผมยืนยันว่าฝ่ายการเมืองซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาเขาจะต้องเข้าไปรับผิดชอบใน เรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนะครับ ทีนี้ในช่วงของการชุมนุมหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ นี้ เขาพยายามใช้วิธีการเจรจา เสร็จแล้วปรากฏว่าพอเจรจากันไปเจรจากันมา ก็เหมือนกับเลยเหมือนปล่อยผ่านมา อันที่หนึ่งนะครับ อันที่สอง ในช่วงจนถึงพัทยานี้ เราก็พยายามไม่อยากให้มีภาพความรุนแรงอะไรเลย เพราะฉะนั้นตำรวจหรือแม้กระทั่งทหารเองบางทีมีแต่โล่อย่างเดียว ซึ่งพอเหตุการณ์มันลุกลามปั๊บ เราประกาศใช้ พ.ร.ก. มันก็จึงต้องเปลี่ยนแปลงไป ในชั้นนี้ก็จะหาความลงตัว ความพอดี เลิก พ.ร.ก. ก็จริง แต่ว่าต้องเข้มงวดไม่ให้สถานการณ์มันย้อนกลับไปเหมือนก่อนสงกรานต์อีก”นายกฯ กล่าว
เมื่อผู้ดำเนินรายการถามว่ามีหลายฝ่ายเรียกร้องความรับผิดชอบจากฝ่ายการเมืองกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ท่านมองเรื่องนี้อย่างไร ต้องมีการเปลี่ยนแปลงไหม นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คือฝ่ายการเมืองเอง เราอย่างที่เรียนกำลังมาทบทวนดูต่อสภาพปัญหาต่าง ๆ ทั้งหมด แล้วก็ตนคิดว่าในช่วงตั้งแต่การประกาศพระราชกำหนดฯ มาจนถึงวันนี้ทุกอย่างก็ค่อนข้างเป็นไปด้วยดี เพราะฉะนั้นตรงนี้ถ้าหากว่าเราสามารถทำงานต่อในระดับนี้ได้ ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่อย่างไรก็ตามการสรุปจุดอ่อน ข้อบกพร่อง ความผิดพลาดทั้งหลาย ซึ่งมันมีแน่นอนในช่วง 2 - 3 เดือนที่ผ่านมา ตรงนี้ก็จะต้องแก้ไขกันไป เมื่อถามย้ำว่าจะมีเปลี่ยนหรือเปล่าไม่แน่ใจใช่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ก็จะมาปรึกษาหารือกันกับทุกฝ่ายอีกครั้ง
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนยืนยันว่าตนมีความเชื่อในเรื่องของประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นอำนาจพิเศษตนหลีกเลี่ยงอย่างถึงที่สุด ที่จะไม่ใช้ ฉะนั้นใครที่บอกว่าตนไปมุ่งใช้กฎหมายพิเศษ ทำลายล้างรุนแรงถึงขั้นกับกล่าวหาว่าตนไปสั่งฆ่าประชาชน มันเป็นไปไม่ได้เลย ตรงกันข้าม ก่อนที่จะประกาศใช้ พ.ร.ก. นี้ตนถูกถามมาว่าเกือบเป็นเดือน ว่าเมื่อไรจะใช้ เมื่อไรจะใช้ ตนก็ยืนยันว่าไม่อยากใช้ เช่นเดียวกับการใช้สื่อ ก็ใช้เท่าที่จำเป็น ทีนี้ตนคิดว่าวันนี้สังคมมีบทเรียน ตนไม่อยากให้เป็นเรื่องว่ารัฐบาลไปบังคับ รัฐบาลต้องไปสั่ง ทุกคนมีบทเรียน สื่อสารมวลชน ประชาชนทั่วไป วันนี้ตนยืนยันอีกครั้งหนึ่ง
“เมื่อคืนก็ชุมนุมกัน ใช่ไหมครับที่สนามหลวง ก็ตราบเท่าที่ชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ก็ไม่มีปัญหา ผมยังไม่ทราบว่ารายละเอียดในเรื่องของการชุมนุมนี้มีอะไรบ้าง แต่ว่าโดยรวมเหตุการณ์ไม่ได้มีปัญหาอะไร และก็ชุมนุมแล้วก็เลิกกันไป จะนัดชุมนุมใหม่ จะโจมตีวิพากษ์วิจารณ์ผม ไม่มีปัญหา แต่ต้องไม่มีเรื่องของการยุยงให้เกิดความรุนแรง เหมือนกับที่บางคนบอกเอ๊ะทำไมมีการไปปิดวิทยุชุมชน สถานีโทรทัศน์บางช่อง ผมก็บอกว่าถ้าเขาดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายทุกอย่าง ไม่มีปัญหาเลย แม้จะตำหนิวิพากษ์วิจารณ์ผมรุนแรงแค่ไหนอย่างไร ทำได้นะครับ แต่ถ้าเมื่อไรบอกว่าให้คนไปไล่ล่าจับคนนั้นคนนี้ ไปทำให้เกิดการกระทำที่ผิดกฎหมาย เช่น ปิดถนน หรือมีการเผาหรืออะไรอันนี้ไม่ได้ ก็อยู่เท่านั้นเอง แล้วก็ได้มอบนโยบายชัดเจนให้กับทุก ๆ ฝ่าย ว่าขอให้ยืนยันแนวทางนี้ ถามว่าแนวทางนี้จะนำความสงบมาได้ไหม ผมก็บอกนะครับ ขอย้ำอีกครั้งว่าเลิก พ.ร.ก. แล้ว แต่ว่าเจ้าหน้าที่ทั้งตำรวจทหาร ก็ยังช่วยดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย และเขามีบทเรียนแล้วนะครับว่า ก่อนสงกรานต์เป็นอย่างไร ช่วงสงกรานต์ต่าง ๆ มันเกิดอะไรขึ้น”นายกฯ กล่าว
เมื่อผู้ดำเนินรายการถามว่าเข้มเกินไปกับปล่อยเกินไปเป็นอย่างไร พอมองในความรู้สึกว่านี่จะเป็นบทเรียนให้กับ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้องเป็นบทเรียนที่หาความพอดีตรงนี้ให้ได้ เพราะฉะนั้นตนยังให้ความมั่นใจว่าการดูแลตรงนี้จะดีขึ้น ในทางกลับกัน ใครที่คิดว่าเราจะสามารถนำความสงบโดยการใช้อำนาจพิเศษตลอดไป เป็นไปไม่ได้ แล้วก็ไม่สมควรด้วย เพราะว่าอย่างที่ตนย้ำไปว่าต้นเหตุความขัดแย้งส่วนหนึ่งเป็นเรื่องการเมือง ก็ต้องไปแก้ด้วยการเมือง ซึ่งก็เป็นเหตุผลที่เรากำลังให้มีคณะทำงานโดยฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งมีความเป็นกลาง ในการที่จะทำตรงนี้ต่อไป คืออยากจะเปรียบเทียบให้เห็นแม้กระทั่งในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้เอง ใช้ พ.ร.ก. ต่อเนื่องมา ต่ออายุกันมา 14 หรือ 15 ครั้งแล้ว มันก็เป็นเครื่องมือที่สำคัญ แต่มันอยู่ตลอดไปไม่ได้ ตนก็ย้ำตรงนี้ และพยายามจะดูว่าทำอย่างไรที่จะสามารถหาแนวทางในการที่จะเพิ่มประสิทธิภาพ ตรงนี้ และสุดท้ายนำไปสู่การยกเลิกให้ได้เช่นเดียวกัน
“ผมขอยืนยันอย่างนี้นะครับว่า ผมให้ความสำคัญกับข้อมูลของทุกคน ช่วงเกิดเหตุการณ์นี้ระหว่างที่ประกาศ พ.ร.ก. เมื่อใดที่มีข่าวนะครับ มีใครเสียชีวิต มีใครถูกยิงหรืออะไรนี้ ผมจะให้ตรวจสอบทันที แล้วก็ตรวจสอบโดยบุคคลซึ่งไม่ได้มีส่วนได้เสีย เอาหมอ เอาผู้อำนวยการโรงพยาบาล เอาหน่วยงานอื่น ๆ เข้ามาช่วยกันดู เพื่อให้ประชาชนสบายใจ ว่าของจริงคืออะไร และเรื่องนโยบายถ้ามีการไปสอบถามบรรดาผู้นำ จะเป็นตำรวจ ทหาร จะทราบเลยนะครับ ตัดสินใจสำคัญ ๆ เช่น ผมบอกเลยว่าการชุมนุมที่ทำเนียบฯ ที่อยู่กันหลายพันคน แม้บางคนบอกว่าให้สลายเลย ผมก็เป็นคนตัดสินใจบอกไม่ได้ เสี่ยงต่อการที่จะเกิดความสูญเสียขึ้น อย่างนี้เป็นต้น ค่ำคืนบางคืนมีเหตุที่พบคนซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ไปยิงทหารที่อยู่ตามจุดต่าง ๆ เขาก็มาขอนโยบายผมว่าตอบโต้ได้ไหม ผมบอกอย่าไปทำเลย เกิดยิงสวนไป คนตายเป็นใครก็แล้วแต่จะเป็นเรื่องใหญ่นะครับ ทำให้ความขัดแย้งลุกลามไป ก็บอกว่าให้อดทนอดกลั้น ถ้าไม่ไหวจริง ๆ ค่อยมาประเมินทบทวนกันอีกที แนวทางผมชัดมาก”นายกฯ กล่าว
นายกอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า เพราะฉะนั้นพอมาวันนี้ อย่างเช่นในสภาฯ บางทีมีภาพนิ่งออกมา นี่มันเกิดขึ้นหรือเปล่า เราต้องไปเอาคลิปที่เป็นภาพเคลื่อนไหวทั้งหมดให้ทราบว่า ก่อนจะไปถึงภาพนิ่งตรงนั้นอะไรมันเกิดขึ้น หรืออย่างกรณีคลิปต่าง ๆ ซึ่งขณะนี้ก็ยังมีบางอันที่มีความไม่ชัดเจน ตนก็จะให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง แล้วมีการชี้แจงต่อไปอย่างโปร่งใสที่สุด ส่วนการสะท้อนออกมา เช่น มี ส.ส. ภาคเหนือบอกว่าในพื้นที่ภาคเหนือไปจับกุมอะไรเกินเลยไปหรือเปล่า ตนเชิญมาคุยเลย เขาเรียกหลังบัลลังก์ของท่านประธาน มาคุยกันมันเป็นอย่างนั้นเหรอ ตนก็ต่อสายคุยกับทางตำรวจในพื้นที่เลยให้คุยกัน ทำความเข้าใจกันนะว่าคนที่เขามาชุมนุมเฉย ๆ ไม่มีอะไร อย่าไปยุ่งกับเขา แต่คนที่ไปยุยงบอกว่าให้ทำผิดกฎหมาย อันนี้เราก็ต้องรักษากฎหมาย เท่านั้นเอง แต่ว่าอย่าไปทำอะไรเกินเลย เพราะนั้นแนวทางตนเป็นอย่างนี้ตลอด และทำอย่างนี้ต่อไป
เมื่อถามว่าข้อเท็จจริงโดยคนกลางจะมาเมื่อไร เพราะถ้าหากข้อเท็จจริงโดยคนกลางยังไม่ออกมา ฝ่ายที่เห็นประเด็นที่ไม่ตรงกับนายกฯ ก็ต้องออกมา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คือที่จริงขณะนี้ตนอยากจะเรียนอย่างนี้ว่า เวลาที่มีการชี้แจงขณะนี้เราไม่ได้พูดถึงความเห็นเลย เราเอาข้อเท็จจริงมากางให้ดู อย่างที่บอกนี้ภาพเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นจริงเป็นอย่างไร หรือรายงานการสอบสวน สืบสวนสอบสวนในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีคนนี้เป็นพยานยืนยันว่าอะไรอย่างไร อันนี้เป็นเรื่องของการให้ข้อมูลเฉย ๆ ยังไม่มีเรื่องความเห็น เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่เรื่องเป็นกลางหรือไม่เป็นกลาง เป็นว่าตรงไหนข้อมูลครบถ้วนที่สุด ส่วนคนที่ประมวลเหตุการณ์ ตนได้พูดไปแล้ว สำนักนายกฯ ทำส่วนหนึ่ง หน่วยงานภายในก็ต้องทำส่วนหนึ่ง ฝ่ายนิติบัญญัติก็จะมาทำ และถ้ามีความจำเป็นในการที่จะให้องค์กรอิสระเข้ามาตรวจสอบรัฐบาลก็ยินดีให้ ความร่วมมือ
นายกฯ กล่าวถึงการตามหาตัวพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และนายจักรภพ เพ็ญแข แกนนำนปช. ว่า อยู่ต่างประเทศ และก็คือเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา อย่างไรก็ตามตนได้เรียนกับเพื่อนสมาชิกรัฐสภา ได้อภิปรายช่วงสรุป และได้รับการตอบสนองด้วยดี คือตนบอกว่าเรื่องการเมืองนี้ท่านจะเรียกร้องอะไรกันต่อไป อย่างเมื่อคืนที่สนามหลวงเขาเรียกร้องเรื่องรัฐธรรมนูญปี 40 ว่าสิทธิของ D Station วิทยุชุมชน ต้องเป็นไปตามกฎหมายอะไรต่าง ๆ อันนี้แล้วก็ความชัดเจนในเรื่องเหตุการณ์ นี่ไม่มีปัญหาเลย เราก็จะมาดูแลกันต่อ แต่ตนขอไว้ 2 เรื่อง เรื่องแรกก็คือว่าการไปดึงสถาบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามาเกี่ยวข้อง ขอให้หยุด ซึ่งขณะนี้ก็ต้องขอบคุณและตนเข้าใจว่า ในส่วนของ ส.ส. ฝ่ายค้าน คนที่เคลื่อนไหวต่าง ๆ ก็ดูจะไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้
“ส่วนกรณีอดีตนายกฯ หรือคุณจักรภพฯ จะพูดไป ก็ขอให้เป็นเรื่องเฉพาะบุคคลแล้ว แล้วเราก็จะต้องดำเนินการ และในส่วนของรัฐบาลเองก็ทำหน้าที่ในการชี้แจงกับสื่อต่างประเทศไป คือผมก็สังเกตว่าตอนหลังสื่อต่างประเทศก็มีความเข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้นว่า จริง ๆ แล้วการไปถึงขั้นที่เรียกว่าจาบจ้วงหรือกล่าวหาสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งทรงอยู่เหนือการเมือง พระองค์ท่านทรงอยู่เหนือการเมืองและสถาบันทั้งสถาบันอยู่เหนือการเมือง ก็ดูมีความเข้าใจชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกับพฤติกรรมในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งมีการพูดถึงการไปจะใช้ความรุนแรง ประกาศจะใช้อาวุธ ผมคิดว่าขณะนี้นานาชาติเขาต่อต้านด้วยซ้ำ การที่ไปเรียกร้องให้มีการใช้อาวุธนี้ความจริงก็แทบจะไม่ต่างจากผู้ก่อการ ร้ายแล้ว เพราะฉะนั้นตรงนี้ผมว่าความร่วมมือจากต่างประเทศ ความเข้าใจจากต่างประเทศจะดีขึ้น ประการที่สองคือความรุนแรงทั้งหลาย ที่มาชักชวนว่าให้รุนแรงกัน มาแสดงความขอบอกขอบใจว่าสามารถขัดขวางการประชุมนานาชาติได้ ผมก็ยิ่งคิดว่าทำให้ต่างประเทศเขามองเห็น ว่าจริง ๆ แล้วมันเป็นเรื่องการเรียกร้องประชาธิปไตยหรือไม่ ส่วนการเรียกร้องประชาธิปไตยโดยคนจำนวนมาก ที่มีความรู้สึกจริง ๆ อย่างที่ผมได้บอกไปก่อนหน้านี้ ก็กำลังให้ทางสภาฯ เข้ามาเป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหา”นายกฯ กล่าว
เมื่อผู้ดำเนินรายการถามว่าเขายังสามารถโฟนอิน หรือว่าเข้ามาวีดิโอลิงค์ในการชุมนุมซึ่งจะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมนายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เข้าใจว่าเมื่อคืนก็ไม่มี ยังไม่ได้ตรวจสอบละเอียดทั้งหมด แล้วถ้าหากว่าพูดจาในลักษณะที่ผิดกฎหมายอีกก็เพิ่ม พูดง่าย ๆ ก็เพิ่มข้อหาการกระทำที่ผิดกฎหมายมากยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งก็ไม่ทราบว่าจะทำไปทำไม อยากจะย้ำว่าถ้าทำแล้วคิดว่าจะเป็นเรื่องของการเอาชนะกันในทางการเมือง คือชนะ - แพ้ ตนไม่ทราบ แต่ว่าประเทศเสียหาย วันนี้ขอโอกาสให้กับคนไทย ขอโอกาสให้กับประเทศไทยในการที่จะดูแลแก้ปัญหาเศรษฐกิจซึ่งเป็นปัญหาพื้นฐาน ของประชาชน มาช่วยกันดูแลคนตกงาน มาช่วยกันดูแลลูกหลานให้เรียนฟรี มาช่วยกันดูแลผู้สูงอายุให้ได้ค่าตอบแทน ซึ่งทั้งหมดนี้กำลังเริ่มต้น ปลายเดือนนี้ ต้นเดือนหน้า ทำไมไม่มาช่วยกันทำตรงนี้ก่อน มาช่วยกันกอบกู้ภาพลักษณ์ของประเทศ ว่าเราได้รับการยอมรับบทบาทต่าง ๆ มาในอดีต ได้รับความไว้วางใจให้เป็นประธานอาเซียน จัดการประชุมครั้งสำคัญ เดินหน้าในการที่จะเป็นกลไก หรือเป็นส่วนสำคัญในการร่วมมือกับนานาประเทศในการแก้วิกฤตเศรษฐกิจโลก เหมือนกับที่เราได้รับเกียรติไปประชุมที่ลอนดอน ที่อะไรต่าง ๆ ซึ่งบทบาทต่าง ๆ กำลังเป็นที่ยอมรับ ตนไม่มาขอโอกาสให้ตัวเอง แต่ขอโอกาสให้กับประเทศชาติ กับประชาชน ส่วนในเรื่องการเมืองอย่างที่ตนย้ำในคืนวันประชุมสภาฯ ไปดูกันทุกฝ่าย กติกาจะแก้กันตรงไหน แก้เสร็จแล้วอยากจะไปเลือกตั้งกันใหม่ตนไม่ขัดข้อง
ผู้ดำเนินรายการถามว่ามีเวลายังเหลืออีกนิดหนึ่ง แนวทางในการปฏิรูป นิรโทษกรรมคำนี้ออกมาเยอะเหลือเกิน มันจะเป็นแนวทางที่เป็นข้อสรุปสุดท้ายในการแก้ไขปัญหา หรือว่าเป็นแนวทางที่ทำให้ผ่อนหายใจให้บรรยากาศทางการเมืองช่วงนี้มันผ่าน พ้นไปเท่านั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนบอกว่าประเด็นในเรื่องของความผิดทางการเมือง เอามาวางบนโต๊ะกันได้ ส่วนจะทำหรือไม่ทำต้องมาพูดคุยกันด้วยเหตุด้วยผล อาจจะต้องมีกระบวนการ อาจะจะต้องถึงขั้นไปทำประชาพิจารณ์ ประชามติ ก็ได้ แต่ตนก็อยากจะบอกว่า 1. ต้องแยกเรื่องความผิดทางการเมือง ความผิดทางอาญา ความผิดทางอาญานั้นไม่ควรจะพูดถึงเลย ตัดออกไป ส่วนความผิดทางการเมืองต้องมาดู ปัญหามันเป็นอย่างนี้ บางคนบอกว่ากฎหมายไม่ดี ไม่สมบูรณ์บางมาตรา อยากจะแก้ ปัญหาก็คือพอแก้นี้มันมีคนได้ประโยชน์เสียประโยชน์ มันก็จะมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่บอกว่าอย่างนี้แก้เพื่อตัวเองหรือเปล่า อันนี้เป็นปมที่มันค้างมา 2 ปีแล้ว ปีที่แล้วที่มีการชุมนุมกันทั้งปี มันเริ่มต้นจากจุดนี้ เพราะฉะนั้นก็ต้องหาความพอดีว่าถ้าเราอยากจะทำนี้ หลักความเห็นส่วนตัวของตนก็คือว่าอะไรที่เป็นระบบที่ถูกต้องก็ไปให้ถึงจุดนั้น แต่อย่าไปคำนึงถึงว่าทำอันนี้เพื่อที่จะให้คนนั้นคนนี้คืนสิทธิ์หรือไม่คืน สิทธิ์อย่างไร ทั้งสองด้านเลย คือไม่ควรจะตั้งเป้าว่าคนเหล่านี้ควรได้รับการคืนสิทธิ์ หรือคนเหล่านี้เราควรจะดองเอาไว้หรืออะไร ไม่ควรจะมีอย่างนั้น ดูระบบก่อน ดูความเป็นธรรมก่อน แล้วบางทีคำตอบมันอาจจะไม่ใช่ว่านิรโทษหรือไม่นิรโทษก็ได้ อาจจะมีช่องทางอื่นอีกตั้งเยอะว่า แก้กฎหมายแล้วจะมีบทเฉพาะกาลเขียนอย่างไรให้มีความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ตอบคำถามของสังคมได้ แต่ว่าทั้งหมดนี้ตนพูดเท่านี้เพราะว่าเดี๋ยวจะหาว่าชี้นำอีก ก็ให้ทุกฝ่ายเสนอเข้ามาก่อน แล้วตนก็ยอมรับ เสียงดังมากทั้งสองฝ่าย ว่าจะเป็น 40 มาแก้ 50 มาแก้ เสียงดังมาก ก็บอกว่าตนเห็นพอพูดประเด็นนี้ไปสัปดาห์ก่อน หนังสือพิมพ์ คอลัมนิสต์ กลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง ก็ดีแล้วนะน่าจะเป็นทางออก แล้วก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งเสียงดังมาก บอกอย่าทำนะ ทำอันนี้ไม่ได้ปรองดองนะ เพราะว่าเขาจะออกมาต่อต้าน ทุกคนต้องฟังทั้งหมด และมาช่วยกันคิดหาทางออกที่เป็นเหตุเป็นผล
“เวลานี้เราก็ถือว่าหลายเรื่องกลับเข้ามาสู่ภาวะความเป็นปกติแล้ว แต่ว่าฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่ดูแลความมั่นคงความสงบเรียบร้อยคงต้องเข้มงวด เข้มข้นไปอีกระยะหนึ่ง แต่ว่าวิถีชีวิตของพี่น้องประชาชน ผมอยากให้สงบสุขเร็วที่สุด และส่วนหนึ่งที่ทำได้คือพี่น้องประชาชนเอง อย่างที่บอกตอนนี้ไม่มีอะไรแล้ว ผมมีกระบวนการทุกอย่างตอบคำถาม ใครติดใจอะไร พบข้อมูลอะไรผิดปกติ ส่งไปที่หน่วยงานที่เขาเป็นกลาง เขาจะดูแลให้ แต่อย่าไปซุบซิบ ๆ บอกเป็นอย่างนี้ แล้วก็ไปปลุกระดม อย่าไปทำอย่างนั้น ผมให้ความเป็นธรรมทุกฝ่ายมาทำให้บ้านเมืองของเราเดินไปข้างหน้าด้วยกันดี กว่า เพื่อประโยชน์ของทุกคนนะครับ ผมโดยส่วนตัวไม่ได้ประโยชน์อะไรหรอกครับ แต่ทุกคนจะได้ประโยชน์จากการที่บ้านเมืองสงบสุข และเราได้มีเวลาทุ่มเทแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชน”นายกฯ กล่าว