xs
xsm
sm
md
lg

เปิดวิสัยทัศน์ขุนคลังใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"ASTVผู้จัดการรายวัน" เปิดวิสัยทัศน์ "กรณ์ จาติกวณิช" ว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ เกี่ยวกับการบริหารงาน นโยบายการเงินที่ต้องประสานงานกับธนาคารแห่งประเทศไทย นโยบายการคลังในภาวะที่เศรษฐกิจถดถอยในปัจจุบัน รวมทั้งภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน สาระสำคัญมีดังต่อไปนี้

*อะไรคือโจทย์ใหญ่ที่ต้องแก้ไขโดยเร็วที่สุด


การที่รัฐบาลได้พบปะกับตัวแทนกลุ่มอาชีพต่างๆ ทุกภาคส่วนสะท้อนให้เห็นว่าเราต้องเร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ซึ่งได้แบ่งคร่าวๆ ออกเป็น 3 กลุ่มหลักคือ 1.กลุ่มเกษตรกร ที่ประกอบไปด้วยปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำและปัญหาหนี้สินเกษตรกรที่เรื้อรังมายาวนานและเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศจะต้องดำเนินการแก้ไขให้ลุล่วงลงได้

กลุ่มที่ 2.ภาคการผลิตและการท่องเที่ยว ซึ่งได้รับผลกระทบหนักในช่วงที่ผ่านมา กลุ่มนี้จะสะท้อนให้เห็นว่าวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในครั้งนี้มีที่มาอย่างไร เป็นผลสืบเนื่องมาจากเศรษฐกิจของทั่วโลกที่ประสบปัญหา ประเทศในภูมิภาคต่างเผชิญกับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจแทบทั้งสิ้น รวมทั้งผลสืบเนื่องจากการปิดสนามบินที่กระทบต่อความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยวที่รัฐบาลจะต้องฟื้นกลับมาโดยเร็ว

กลุ่มที่ 3.คือภาคของผู้ใช้แรงงาน โดยสภาพข่าวการเลิกจ้างที่เกิดขึ้นในระยะนี้ถือเป็นภาพสะท้อนปัญหาในเรื่องอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเชื่อมโยงมาจากภาคการผลิตที่ประสบปัญหาจึ้งต้องปรับลดปริมาณการผลิตกระทบต่อจำนวนการจ้างงาน ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นตัวสะท้อนให้เห็นว่า เรามองว่าปัญหาใดเป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องเร่งแก้ไขเยียวยาโดยด่วน นั่นคือภารกิจของเรา

นโยบายการเงินกับการคลังจะสอดคล้องกันไหม

ในส่วนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ล่าสุดมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างเยอะ และมีสัญญาณที่ชัดเจนว่าแบงก์ชาติมีความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจมากกว่าความกังวลที่จะมีต่อเงินเฟ้อ ซึ่งถือว่าแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินเริ่มสอดคล้องและเดินเข้ามาสู่ทิศทางการการดำเนินนโยบายการคลัง ที่จะต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเรื่องนี้ผมไม่เป็นห่วงว่าการทำงานของกระทรวงการคลังและแบงก์ชาติจะไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันเหมือนที่ผ่านๆ มา ผมคิดว่าการทำงานแบงก์ชาติเป็นไปในแนวทางเดียวกันที่ดี

กระตุ้นเศรษฐกิจโดยภาครัฐจะทำอย่างไรบ้าง

เรื่องความเชื่อมั่นมีความสำคัญมากต่อเศรษฐกิจโดยรวมไม่ว่าจะไปคุยกับนักธุรกิจกลุ่มไหนเขาก็จะพูดถึงการรื้อฟื้นความเชื่อมั่น ซึ่งผมยอมรับว่าบทบาทของรัฐบาลถือว่ามีความสำคัญ แต่บทบาทของเอกชนก็ยังมีความสำคัญกว่าในการผลักดันเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ อีกอย่างในเรื่องของการลงทุนในประเทศนั้นเมื่อดูในรายละเอียดจริงๆ แล้วจะพบว่ารัฐบาลมีสัดส่วนการลงทุนเพียง 20% ในระบบเท่านั้นในทุกๆ ปี

เพราะฉะนั้นถ้ารัฐบาลสามารถนำเงินลงสู่ระบบผ่านช่องทางต่างๆ ได้ แต่ไม่สามารถสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนเกิดความเชื่อมั่นแล้ว สิ่งที่ทำลงไปนั้นไม่ว่าจะทุ่มงบประมาณเท่าไรก็ไม่มีประโยชน์แต่อย่างใด เพราะฉะนั้นภาระหน้าที่ที่ต้องทำคือการบริหารทางเศรษฐกิจและทางการเมืองควบคู่กันไปด้วย

ส่วนนโยบายการคลังที่จะต้องใช้งบประมาณขาดดุลกลางปี 1 แสนล้านนั้นผมยืนยันได้ว่าจะต้องใช้เงินจำนวนนี้แน่นอน สถานะทางการเงินของรัฐบาลเองก็เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ไม่ดี โดยมีการคาดการณ์กันออกมาว่าในส่วนของรายรับของประเทศจะปรับลดลงอีกประมาณ 1 แสนล้านบาทจากเป้าหมายที่วางไว้ในปีงบประมาณ 52 ซึ่งจะส่งผลต่อความยืดหยุ่นของการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล แต่อย่างไรก็แล้วแต่งบขาดดุลกลางปี 1 แสนล้านบาทนั้นผมเห็นด้วยตั้งแต่แรกเพราะเป็นงบประมาณที่ค่อนข้างสูงพอสมควรกว่า 1% ต่อจีดีพี ผลที่จะเกิดต่อเศรษฐกิจมีแน่นอน และถ้าใช้อย่างถูกวิธีไม่มีการรั่วไหลและถึงมือประชาชนโดยเร็วจะส่งผลต่อเศรษฐกิจในเชิงบวกค่อนข้างมาก

กังวลกับการเข้ามาทำหน้าที่ รมว.คลังมากน้อยขนาดไหน

ผมว่าการเข้ามาทำงานในส่วนนี้ถือเป็นความท้าทาย โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับสมัยปี 2540 ที่พรรคประชาธิปัตย์เข้ามาบริหารประเทศครั้งนั้นก็ท้าทายมาก แต่ผมมองว่ามิติของปัญหาที่เกิดขึ้นครั้งนี้มันมีมากมายกว่าครั้งก่อนมาก โดยครั้งนั้นภายนอกมันยังดีนักท่องเที่ยวที่เข้ามาก็ยิ่งมากันใหญ่เพราะค่าเงินบาทมันถูก สินค้าส่งออกต่างๆ ก็ขายได้ง่ายขึ้น แต่เที่ยวนี้ประเทศคู่ค้าของเราก็อยู่ในสภาพที่ไม่ค่อยดีพึ่งหวังเขาไม่ได้ทีเดียวและยังมีมิติทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นครั้งนี้ยากลำบากมา ท้าทายสาเหตุที่เข้ามาทำงานการเมืองก็เพื่อที่จะมีโอกาสแก้ปัญหาของประเทศพวกเราพร้อมที่จะทำงานอยู่แล้ว

กำลังโหลดความคิดเห็น