xs
xsm
sm
md
lg

สุนทรพจน์โอบามาร์ค –โอบามา

เผยแพร่:   โดย: อุษณีย์ เอกอุษณีย์

เชื่อว่าใครก็ตามที่ได้ฟัง คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ของไทยเปิดใจหลังได้รับโปรดเกล้าฯ เมื่อคืนวันพุธ คงจะทำให้หวนนึกไปถึง “สุนทรพจน์ในวันแห่งชัยชนะ” ของ บารัค โอบามา เมื่ออังคารที่ 4 พฤศจิกายน ณ นครชิคาโก สมกับที่เคยมีคนชอบเปรียบเทียบว่า ผู้ชายสองคนนี้ มีอะไรคล้ายกันหลายๆ อย่าง

ทั้งสองคนกำลังก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศในช่วงที่ประชาชนสองประเทศกำลังต้องการการเปลี่ยนแปลง เป็นผู้นำในช่วงจังหวะที่ลมการเมืองเปลี่ยนทิศจากรีพับลิกันมาเป็นเดโมแครต จากพลังประชาชนมาเป็นประชาธิปัตย์ แม้แต่ถ้อยแถลงครั้งแรกในฐานะผู้นำคนใหม่ของทั้งคู่ ก็น่าจะสร้างความประทับใจให้ผู้ฟังได้ไม่น้อยกว่ากัน เราเพิ่งได้ฟังถ้อยแถลงของโอบามาร์คไปหมาดๆ และคงจะต้องฟังซ้ำแล้วซ้ำอีก จากสื่อที่จะนำมาเสนอตลอดช่วง 2-3 วันนี้ ดิฉันจึงจะขออนุญาตนำผู้อ่านย้อนกลับไปทบทวนถ้อยแถลงบางช่วงบางตอนของ โอบามา ที่กล่าวเอาไว้เมื่อต้นเดือนที่แล้วกันอีกสักครั้ง

บารัค โอบามา พึ่งได้รับการโหวตจากนิตยสารไทม์ให้เป็น “บุคคลแห่งปี 2008” และในเดือนหน้า เขาจะเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการแทนนายจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ที่ปิดฉากชีวิตทางการเมืองลง พร้อมกับรองเท้าเบอร์ 10 ของนักข่าวชาวอิรักคู่นั้น

นักวิเคราะห์ต่างชาติพากันให้นิยามสุนทรพจน์ของโอบามา เป็นเหมือนถ้อยคำที่ถูกรจนาด้วยภาษา ที่จะหยั่งรากลึกลงไปกระตุ้นจิตใจ อารมณ์ ความรู้สึกของผู้ฟังทั่วทั้งประเทศ บ้างว่าเป็นถ้อยแถลงที่แทบจะไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อนจากปากของ “นักการเมือง” และสุนทรพจน์เช่นนี้ จะถูกนำไปทบทวนซ้ำแล้วซ้ำเล่าในชั้นเรียนว่า มันเปี่ยมไปด้วยพลัง ความสร้างสรรค์ สะท้อนถึงซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา และมีน้ำเสียง เนื้อหาที่จับจิตจับใจผู้ฟังเป็นที่ยิ่ง

วันนั้น โอบามา พูดอะไรบ้าง กับคนที่มาให้กำลังใจเขา

...สุนทรพจน์ของเขา เริ่มจากความพยายามจะหลอมรวมอเมริกาให้กลับมาเป็นหนึ่งเดียว ทั้งๆ ที่เพิ่งผ่านพ้นศึกเลือกตั้ง ที่ฝ่ายเดโมแครตและรีพับลิกันสู้กันอย่างเอาเป็นเอาตายด้วยประโยคสุดคลาสสิกที่ว่า “…we have never been a collection of Red States and Blue States: we are, and always will be, the United States of America…”

ก่อนที่จะแสดงให้เห็นถึงความมีน้ำใจนักกีฬา แสดงความปรารถนาดีไปยังคู่แข่งที่เพิ่งพ่ายแพ้ ไม่ว่าจะเป็น ส.ว.จอห์น แมคเคน และผู้ว่าการฯ แพลิน จากรีพับลิกัน ด้วยการประกาศยินดีจะร่วมงานกับคู่แข่งต่างพรรค เพื่อพลิกฟื้นอนาคตของประเทศ

ในวันนั้น โอบามายังแสดงวิสัยทัศน์ที่น่าสนใจอีกหลายประการ หนึ่งในนั้นคือการที่เขาได้ชี้ให้คนทั้งโลกได้เห็นว่า แม้เขากำลังจะก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำของประเทศที่เป็นเจ้าแห่งลัทธิทุนนิยม และบริโภคนิยม แต่เขากลับเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ถึงความล่มสลายของทุนนิยมสุดขั้วในปัจจุบัน ด้วยคำพูดที่ว่า “…Let us remember that if this financial crisis taught us anything, it’s that we cannot have a thriving Wall Street while Main Street suffers…”

ในเรื่องของภาวะผู้นำ โอบามาหาญกล้าประกาศตัวไม่ยอมจำนนให้กับศัตรูที่หวังจะทำลายล้างความสงบสุขของประชาคมโลก “…To those who would tear this world down – we will defeat you. To those who seek peace and security – we support you…”

แต่เขาก็ไม่ละทิ้งท่าทีอ่อนน้อม อันเป็นบุคลิกประจำตัว โดยออกตัวพร้อมจะรับฟังทุกเสียงที่แนะนำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสียงที่คัดค้านนโยบายของเขา “…There are many who won’t agree with every decision or policy I make as President, and we know that government can’t solve every problem. But I will always be honest with you about the challenges we face. I will listen to you, especially when we disagree.”

ที่สร้างความประทับใจให้กับชาวอเมริกันในวันนั้นมากที่สุด เห็นจะเป็นตอนท้ายของสุนทรพจน์ที่บารัค โอบามา จงใจเล่าถึงเหตุการณ์ที่เขาได้พบกับ แอน นิกสัน คูเปอร์ คุณยายวัย 106 ปี ระหว่างการรณรงค์หาเสียงที่แอตแลนตา

โอบามาฉลาดที่รู้จักนำ คุณยายคูเปอร์ มาเป็นตัวแทนความหวัง การต่อสู้อันยาวนานเพื่อทวงสิทธิอันเท่าเทียมระหว่างหญิง-ชาย ระหว่างผิวสี-ผิวขาว และสุดท้ายคุณยายคูเปอร์ผู้นี้ได้กลายมาเป็นตัวแทนของคนในการเมืองเก่า ที่ได้เข้ามาเป็นสักขีพยานการเปลี่ยนแปลงสู่การเมืองใหม่ “... She’s a lot like the millions of others who stood in line to make their voice heard in this election except for one thing – Ann Nixon Cooper is 106 years old…

She was born just a generation past slavery; a time when there were no cars on the road or planes in the sky; when someone like her couldn’t vote for two reasons –because she was a woman and because of the color of her skin….

And tonight, I think about all that she’s seen throughout her century in America – the heartache and the hope; the struggle and the progress; the times we were told that we can’t, and the people who pressed on with that American creed: Yes we can….”

ภาพส่งท้ายที่โอบามา บรรจงวาดลงบนผืนผ้าใบที่ขึงกลางใจชาวอเมริกันทั้งมวล คือภาพของคุณยายวัย 106 ปีที่ก้าวเดินอย่างเชื่องช้า เข้าคูหาเลือกตั้ง บรรจงสัมผัสนิ้วลงหน้าจอทัชสกรีน เพื่อออกเสียงเลือก โอบามา ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ พร้อมกับวลีสั้นๆ ที่ผู้กระหายการเมืองใหม่ทั้งหลาย ตั้งใจเปล่งเสียงออกมาดังกึกก้อง ออกมาพร้อมกันว่า I believe …yes, we can

มาถึงนาทีนี้ ทั้งโอบามา และโอบามาร์ค ได้ให้สัจวาจา ให้สัญญากับประชาชนตรงหน้าเขาแล้วทั้งคู่ การเอ่ยคำพูดสวยหรูไม่สำคัญว่า ใครเป็นผู้เอ่ยมันขึ้นมาก่อน แต่สำคัญที่ว่า ใครจะทำตามที่พูดได้ก่อน และการเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งใหม่จะเกิดขึ้นที่ไหนก่อนกัน หรือจะเกิดขึ้นพร้อมๆ กันทั้งในอเมริกา และที่เมืองไทย ต้องอดใจรอติดตามดู ต่อไป.

อ่านรายละเอียด การแถลงข่าวเปิดใจหลังโปรดเกล้าฯ ของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

คลิกที่นี่ เพื่อฟัง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แถลงข่าวอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก
กำลังโหลดความคิดเห็น