xs
xsm
sm
md
lg

“การเปลี่ยนแปลง” นักการเมืองไทย!

เผยแพร่:   โดย: แสงแดด

หลังจากที่ “ฝุ่นตลบอบอวล” กับสถานการณ์การเมืองไทยในช่วง 9-10 เดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลังสุด เมื่อประมาณ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ชาติบ้านเมืองดิ่งลงเหว จนสภาวะเศรษฐกิจหยุดชะงักงันไปชั่วคราว แต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ต้องลุ้นระทึกกับ “การจัดตั้งรัฐบาล”

ก็ต้องขอบอกกับรัฐบาลใหม่ว่า “ทุกขลาภ” อย่างมาก กับการที่ต้องเข้ามาบริหารประเทศชาติ กับ “วิกฤตเศรษฐกิจ” เช่นนี้ ทั้งจาก “ภายนอก” และ “ภายใน” เอง ที่ต้องฟื้นฟู สร้างความเชื่อมั่น กอบกู้ภาพลักษณ์ พร้อมทั้งกำหนดมาตรการต่างๆ ในการตั้งรับกับ “พายุเศรษฐกิจ” ที่ถึงขั้นถดถอย และทรุดในที่สุด

ขอย้ำเป็นคำรบสุดท้าย หลังจากที่บริภาษนักการเมืองมาติดต่อกันหลายสัปดาห์ ว่า “วิกฤตบ้านเมืองไทย” ทุกวันนี้ ล้วนเกิดจาก “วงจรอุบาทว์” ที่นักการเมืองเลวบางคนบางกลุ่มที่หวังกอบโกยเพื่อประโยชน์สุขของตนเองและพวกพ้องมากกว่าชาติและประชาชน

อย่างไรก็ตาม “กระบวนการตุลาการภิวัฒน์” ที่แสดงอิทธิฤทธิ์ฟาดฟันกับบรรดานักการเมืองขี้ฉ้อ “ทำกฎหมายให้เป็นกฎหมาย” จึงทำให้เราต่างมีความหวังขึ้นมาอย่างมาก ว่า การเมืองไทยน่าจะเดินหน้าพัฒนาไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้น!

ทั้งนี้ก็ต้องขอ “ชื่นชม-ชมเชย” นักการเมืองทั้ง 3 พรรค กล่าวคือ พรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรคพลังประชาชน ที่น้อมรับ “คำวินิจฉัย” ของศาลรัฐธรรมนูญโดยดุษฎีภาพ พูดง่ายๆ ก็ “ไม่มีการร้องแอะ!” กันซักคำ เรียกว่า “ยอมกลืนเลือด!” และไม่มีการออกมากล่าวโจมตีศาลรัฐธรรมนูญแต่ประการใด ในกรณีนี้ต้องขอชื่นชมใน “สปิริต-น้ำใจนักกีฬา” ของนักการเมืองทั้งหมดนี้ โดยเฉพาะบรรดา “ผู้อาวุโส” ทั้งหลาย

ดังที่กล่าวไว้แล้วข้างต้นว่า ปัญหาการเมืองไทยตลอดระยะเวลา 76 ปีที่ผ่านมา “ล้มลุกคลุกคลาน” มาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จาก 2 ฝ่ายหลักๆ กล่าวคือ “ฝ่ายนิติบัญญัติ” และ “ฝ่ายบริหาร” ที่ล้วนมีพฤติการณ์และพฤติกรรมไปในทาง “พวกมากลากไป!” และ “ทุจริตประพฤติมิชอบ” ทั้งนี้ ก็คงมิได้หมายรวมว่า นักการเมืองทั้งหมดเป็นเช่นนั้น อาจจะเพียงอย่างมากที่สุด ก็ไม่เกิน 50 กว่าคน จากจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทั้งหมดประมาณ 500 คน อาจจะมากน้อยมากกว่ากันเล็กน้อยต่างกรรมต่างวาระ!

อยากจะทบทวน “คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ” ในกรณียุบ 3 พรรคการเมือง โดยที่เราทุกคนต้องตระหนักพร้อมศึกษาหาความรู้ว่า “เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ 2550” หรือว่าไปแล้วทุกฉบับที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2475 เป็นต้นมา ล้วนมีเจตนารมณ์และปรัชญาให้เป็น “ประชาธิปไตย” อย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ปรารถนา” ให้ระบบการเมืองเป็น “กรอบ-แนวทาง” ในการพัฒนาไปสู่ทิศทางที่ดีของการได้ระบบการเมืองที่ดี “ประโยชน์ประชาชน!”

ไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะมีบทมาตราที่เข้มงวดเพียงใด โดยเฉพาะ “ฉบับที่ 16 : ฉบับประชาชน 2540” และ “ฉบับที่ 18 : 2550” ที่ต้องยอมรับว่า “เข้มงวด-เข้มข้น” อย่างมาก ที่จะกลั่นกรองให้ได้มาซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พยายามให้ดีที่สุด ตลอดจน “การปกป้องการโกงการเลือกตั้ง” และสำคัญที่สุดคือ “การตรวจสอบ” และ “การถ่วงดุล” มิให้พรรคการเมืองและนักการเมือง “เล่นกล-เล่นแร่แปรธาตุ” ได้น้อยที่สุด แต่ก็ไม่วายที่นักการเมืองไทยพยายาม “หลีกเลี่ยง” และ “กระทำผิดกฎหมาย” เพื่อให้ได้มาซึ่ง “อำนาจรัฐ” และ “แสวงประโยชน์” จากทรัพยากรชาติบ้านเมือง

รัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 ต้องยอมรับว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่อาจจะดีที่สุด หรือ “ห่วยแตกที่สุด” แล้วแต่ใครและกลุ่มใดจะพิจารณา แต่ปรัชญาและเป้าหมายเพื่อต้องการให้ “การเมืองสะอาด!”

ไม่ว่าใครจะ “ชื่นชม” หรือ “ตำหนิ” “รัฐธรรมนูญ 2550” อย่างไร แต่ก็ได้แสดงอิทธิฤทธิ์ไปเรียบร้อยแล้วกับ “การสืบสวน-สอบสวน” กรณียุบพรรคการเมืองทั้งสามพรรค โดยเชื่อว่ามีข้อมูลเบื้องลึกจริง จนในที่สุดก็สามารถรวบรวมและวินิจฉัยได้

เรามาลองศึกษาดูกันอีกครั้งของ “คำวินิจฉัย” ของ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ว่าอะไรเป็นเหตุผลที่ต้องให้กำหนดวินิจฉัยเช่นนั้น

“...รัฐธรรมนูญ 2550 มีเจตนารมณ์ให้การเลือกตั้งสุจริตและเที่ยงธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีบทบัญญัติป้องกันการทุจริต ห้ามให้ทรัพย์สินหรือซื้อเสียงเพื่อให้นักการเมืองได้รับการเลือกตั้ง อันเป็นวิธีการหนึ่งที่นักการเมืองใช้กันมานานจนเกิดความเคยชิน เป็นความผิดที่ร้ายแรงและเป็นการบ่อนทำลายไม่ให้ประชาธิปไตยพัฒนาเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง และก่อให้เกิดความเสียหายกับประเทศ เนื่องจากนักการเมือง เมื่อเข้าสู่อำนาจแล้วก็มุ่งแสวงหาผลประโยชน์ด้วยวิธีการที่ไม่ชอบ โดยไม่มีความละอาย เพื่อเตรียมไว้ใช้กับการเลือกตั้งต่อไป อันเป็นวงจรเลวร้ายไม่มีที่สิ้นสุด รัฐธรรมนูญจึงบัญญัติเพื่อป้องกันไว้อย่างเข้มงวด และเป็นการส่งเสริมนักการเมืองที่ตั้งมั่นในสุจริตเข้ามาทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ...”

“...ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่าสมควรจะต้องยุบพรรคการเมืองหรือไม่นั้นเห็นว่าตามรัฐธรรมนูญมาตรา 237วรรคสองบัญญัติว่า หากมีการทำผิดของผู้สมัครรับเลือกตั้งและมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าหัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารมีส่วนรู้เห็นหรือปล่อยปละละเลยการกระทำนั้น หรือมิได้ยับยั้งให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองโดยวิถีทางที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 68 และบัญญัติอีกว่า

หากศาลมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองก็ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคมีกำหนดเวลา 5 ปีนับตั้งแต่ศาลมีคำสั่ง บทบัญญัติดังกล่าวเป็นข้อสันนิษฐานเด็ดขาดว่าหากมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ากรรมการบริหารพรรคผู้ใดมีส่วนรู้เห็นหรือปล่อยปละละเลย การกระทำของผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือไม่แก้ไขให้สุจริตและเที่ยงธรรม กฎหมายให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองโดยวิถีทางอันไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แม้ข้อเท็จจริง พรรคการเมืองหรือหัวหน้าพรรคจะไม่มีส่วนร่วมก็ได้ กฎหมายถือว่าเป็นผู้กระทำ จึงเป็นข้อยุติที่ไม่อาจโต้แย้งได้ และศาลรัฐธรรมนูญก็มิอาจวินิจฉัยเป็นอื่นได้

เนื่องจากความผิดในการซื้อเลือกตั้งเป็นความผิดที่ร้ายแรง และผู้กระทำจะใช้วิธีการอันแยบยลกฎหมายจึงบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของผู้บริหารพรรค ต้องคัดเลือกบุคคลที่จะเข้าทำงานกับพรรคและควบคุมดูแลสอดส่องไม่ให้คนของพรรคทำความผิดโดยมีบทบัญญัติให้พรรคการเมือง และผู้บริหารต้องรับผิดตามหลักนิติบุคคลต้องรับผิดชอบของการกระทำของผู้แทนหรือผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลนั้นด้วย จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้...”

“...ผู้ถูกร้องเป็นพรรคการเมืองที่เป็นองค์กรที่มีความสำคัญยิ่งของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ต้องเป็นตัวอย่างที่ถูกต้องชอบธรรมและสุจริต การได้มาซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้อง ควรได้มาด้วยความบริสุทธิ์ ด้วยความนิยมในตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมืองเป็นหลัก ไม่ใช่เพราะผลประโยชน์หรืออามิสสินจ้างที่เป็นเหตุจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้ กรรมการบริหารพรรคทุกคนควรช่วยทำหน้าที่ควบคุมและดูแลผู้สมัครรับเลือกตั้งที่พรรคส่ง ตลอดจนกรรมการบริหารพรรคด้วยกันเอง ไม่ให้กระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย…”


จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เราต่างคงปฏิเสธไม่ได้ว่าชัดเจนที่สุด จนกระทั่ง ทั้งสามพรรค โดยเฉพาะ “รุ่นเก๋า” ระดับหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคต่างน้อมรับโดยดุษฎีภาพ

ความจริงที่เราต้องยอมรับว่า “การเมืองไทย” ยังคง “วนเวียน” อยู่กับ “วงจรอุบาทว์” นี้มายาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ธุรกิจการเมือง” ที่นับวัน ก็จะยิ่งทวีความเข้มข้นรุนแรงมากยิ่งขึ้น จนกระทั่ง “การจัดตั้งรัฐบาล” ครั้งล่าสุดนี้ ก็ยังอีหรอบเดิม ที่ “วิ่งยื้อยุดฉุดกระชาก-แก่งแย่ง” พร้อมกับ “กลยุทธ์ทุ่มซื้อตัวส.ส.” ด้วยหลักตั้งแต่ 10-40 ล้านบาท ดังที่วิจารณ์กันแซด!

เราต้องยอมรับว่า “ความสกปรก” ของการเมืองไทยที่ผ่านมา เกิดจาก “เงิน-ทุน” แทบทั้งหมด โดยมีเราประชาชนที่ไม่สามารถดำเนินการยุติ และ/หรือแก้ไขได้แต่ประการใด นอกจาก “นั่งมองตาปริบๆ!” ดูเจ้าพวกนักการเมืองเหล่านี้ปู้ยี่ปู้ยำ ประเทศชาติจนบอบช้ำ แถมซ้ำเติมเราจนจมดิน!

อย่างไรก็ตาม ถ้าเรามองโลกในแง่ดี ที่ในที่สุดแล้ว “ตุลาการภิวัฒน์” ได้เกิดขึ้นมา จนทำให้การเมืองไทย “บรรเจิด-สว่างไสว!” ขึ้นมาได้บ้างไม่มากก็น้อย ก่อให้เกิดความหวังว่า ประเทศชาติยังคงมีสถาบันหลักๆ ที่เรายึดได้บ้าง โดยเฉพาะ “สถาบันพระมหากษัตริย์” กับ “สถาบันกองทัพ” และที่สำคัญมากยิ่งขึ้น เป็นที่พึ่งของเราคือ “สถาบันตุลาการ”

“สถาบันการเมือง”
น่าจะค่อยๆ “เผยอ-โผล่หัว” ให้เรา “ยึดถือ-ยึดมั่น” ได้บ้าง นับแต่นี้เป็นต้นไป หลังจากการที่ค่อยๆ กำจัด “ระบอบการเมืองทุนนิยม” ให้หมดไป แบบค่อยๆ ถอนรากถอนโคน

ก็หวังว่ารัฐบาลใหม่ที่เกิดจากพรรคแกนนำ “ประชาธิปัตย์” จะทำให้ “การเมืองใหม่” เป็นนิมิตหมายที่สว่างแก่ชาติบ้านเมือง ไม่จมปลักอยู่อย่างเดิม ดั่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ!
กำลังโหลดความคิดเห็น