xs
xsm
sm
md
lg

อะไรคือพฤติกรรมก่อการร้าย

เผยแพร่:   โดย: ว.ร.ฤทธาคนี

เมื่อประมาณวันที่ 9 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา นายเหวง โตจิราการ แกนนำคนสำคัญของกลุ่ม นปช.ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษ พธม.ว่า กระทำการผิดกฎหมายที่ยึดสนามบินสุวรรณภูมิ และดอนเมืองจนเกิดผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัท การท่าอากาศยานไทย จำกัด และบริษัท การบินไทย จำกัด ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจเป็นจำนวนเงินหลายร้อยล้านบาท รวมทั้งเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้โดยสารเข้า-ออกประเทศไทย

การฟ้องร้องกล่าวโทษ พธม.ทั้งทางอาญาและทางแพ่งนั้น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด และบริษัท การบินไทย จำกัด ซึ่งปัจจุบันเป็นบริษัทมหาชนที่รัฐถือหุ้นใหญ่สามารถที่จะกระทำได้ และเป็นเรื่องที่ศาลสถิตยุติธรรมจะรับเรื่อง และตัดสินในทิศทางของความถูกต้องชอบธรรมในลักษณะต่างๆ ที่กฎหมายรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดที่ยอมให้มีการชุมนุมโดยสันติ ปราศจากการใช้ความรุนแรงด้วยอาวุธ ทั้งร้ายแรงและไม่ร้ายแรง

แต่มีประเด็นที่สร้างความกังขาและความประหลาดใจในภูมิปัญญาของ พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ ที่ด่วนสรุปเรื่องนี้และตั้งข้อหาว่า พธม.เป็นกลุ่มก่อการร้าย เพราะข้อหานี้เป็นข้อหาที่รุนแรงละเอียดอ่อน รวมทั้งยังเตรียมที่จะให้ ปปง.อายัดทรัพย์ของบริษัทที่ให้การสนับสนุน พธม.ในการยึดสนามบินทั้งสองอีกด้วย

ก่อนอื่นสาธารณชนจะต้องเข้าใจเรื่องของการก่อการร้ายเสียก่อน ในประเทศไทยห้วง พ.ศ. 2508-2525 นั้น สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ทั้งที่ติดอาวุธ ไม่ติดอาวุธและแนวร่วมหรือคนที่ให้การสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่หวังทำการปลดแอกปฏิวัติเปลี่ยนโครงสร้างการปกครองรัฐ เป็นผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์

แต่ครั้นการสู้รบของคนไทยต่างอุดมการณ์ และโดยเฉพาะคนที่มีความแค้นเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะตำรวจและข้าราชการที่เอารัดเอาเปรียบ ข่มเหงรังแกประชาชนจนต้องหนีไปอยู่ป่า ต้องยุติลงด้วยยุทธศาสตร์ “การเมืองนำหน้าการทหาร” โดยมีนโยบายรัฐบาลที่เป็นคำสั่งนายกรัฐมนตรีเรียกกันว่า คำสั่ง 66/2523 เรื่องนโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ ด้วยหลักสันติวิธี ด้วยการลดเงื่อนไขทางการเมืองที่สร้างโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และขจัดเหตุแห่งความไม่เป็นธรรมในสังคมทุกระดับตั้งแต่ท้องถิ่นถึงระดับชาติ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการอย่างเฉียบขาด ทำลายการกดขี่ขูดรีดทั้งสิ้น รวมทั้งกำหนดการปฏิบัติให้มีการประสานประโยชน์ระหว่างชนชั้น เสียสละผลประโยชน์ของชนชั้นเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม เป็นต้น

คำสั่ง 66/2523 เป็นกลไกของรัฐส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย และในพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเอง แต่อุดมการณ์ว่าด้วยเรื่องสังคมถูกเปลี่ยนไปเป็นลัทธิครองแม่น้ำโขง เพื่อสถาปนาสหพันธรัฐอินโดจีน โดยพรรคคอมมิวนิสต์ฯ มีแนวคิดที่จะใช้กำลังทหารต่างชาติเข้ายึดครองประเทศไทย จึงเกิดการแตกแยกขึ้นในพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งกลุ่มคอมมิวนิสต์รักชาติ เช่น

สหายคำตันหรือ พ.ท.โพยม จุลานนท์ นำกำลังทหารป่าเข้ารบกับกองกำลังต่างชาติที่รุกล้ำประเทศไทย และกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในห้วง 2520-2525 นั้น คนหนึ่งมีชื่อว่า นายเหวง โตจิราการ ร่วมอยู่ด้วย ทำให้กลุ่มที่รักชาติในพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ยอมออกจากป่าโดยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เรียกว่า ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยภาวะการเป็นผู้ก่อการร้ายหายไปอย่างฉับพลัน มีรายละเอียดแนวคิดของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ยุคนายเหวง เป็นกรรมการพรรคในหนังสือเรื่อง “ป่าแตก” ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ก็ได้รับการอภัยจากสังคมไทยอย่างสมบูรณ์แบบอย่างไม่มีปรากฏการณ์ทางการเมืองเช่นนี้ในต่างประเทศมาก่อน คนเคยรบกับเจ้าหน้าที่ เคยทำลายล้างสถานที่ราชการ เคยเผาบ้าน โรงเรียน และวัดเป็นเวลาประมาณ 17 ปี กลับมาทำงานร่วมกันในสังคมอย่างสันติ

นี่เป็นส่วนหนึ่งของประวัติการก่อการร้ายในไทยที่สงบลงแล้ว แต่ภาคใต้ซึ่งทางการไม่ต้องการขยายขอบเขตของความไม่สงบเป็นสงครามกองโจรก่อการร้าย แต่ให้เรียกอย่างเป็นทางการว่า “เหตุการณ์ไม่สงบ” และคนที่ทำร้ายสังคมเรียกว่า “กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ”

เหตุการณ์ชายแดนภาคใต้มีประวัติความเป็นมาที่แน่นอนชัดเจนในเรื่องการแบ่งแยกรัฐปัตตานี และจังหวัดบริวารอีก 2 จังหวัดทั้งยะลา และนราธิวาสมาช้านานแล้วกว่า 100 ปี รัฐบาลหลายรัฐบาลพยายามทุกวิถีทางที่จะใช้แนวสันติ และไม่พยายามที่จะให้มีมุมมองว่าเป็นดินแดนแห่งการก่อการร้าย จนกระทั่งเกิดวิกฤต “โจรกระจอก” ในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และมีการยุบศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดภาคใต้ หรือ ศอบต.ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการประสานงานในหน่วยราชการเพื่อขจัดเงื่อนไขมิให้ความพยายามก่อการร้ายใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขยายตัวเป็นการก่อการร้ายสากลที่จะเกิดความรุนแรงข้ามชาติ และรัฐได้ขีดกรอบอย่างเป็นทางการให้เป็นเพียง “การก่อความไม่สงบ” แต่ผลก็ยังเหมือนเดิมคือมีการฆ่าคนบริสุทธิ์ ข้าราชการตงฉิน การสร้างความกลัว และการกำหนดพื้นที่เสรีในการก่อการร้ายอย่างเป็นรูปแบบของขบวนการก่อความไม่สงบ เช่น กลุ่ม RKK กลุ่ม PULO หรือ กลุ่ม BRN เป็นต้น

คำว่า การก่อการร้ายเป็นคำที่มีนิยามที่หลากหลาย มีมุมมองที่หลากหลาย โดยไม่มีความหมายใดที่ได้รับการยอมรับโดยสมบูรณ์ โดยใน ค.ศ. 2003 ศูนย์ศึกษาสงครามก่อการร้ายกองทัพบกสหรัฐฯ นับได้ว่ามีกว่า 109 นิยามและ คำว่า การก่อการร้ายแบ่งได้เป็น 22 องค์ประกอบของพฤติกรรมก่อการร้ายในรูปแบบต่างๆ

สำหรับศาสตราจารย์วอลเตอร์ ลาคเคอร์ (Walter Laqueur) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการก่อการร้ายแห่งศูนย์การศึกษายุทธศาสตร์ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ได้รวบรวมนิยามศัพท์ก่อการร้ายได้กว่า 100 นิยาม แต่สรุปว่า “โดยทั่วไปแล้วการก่อการร้ายคือ พฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง หรืออีกนัยหนึ่งว่า การก่อการร้ายมีลักษณะเฉพาะที่มุ่งเน้นความรุนแรงด้วยการใช้ความรุนแรง”

สำหรับสหประชาชาติโดยคณะมนตรีความมั่นคง ได้ออกมติที่ 1566 ให้นิยามว่า “การก่อการร้ายเป็นอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำร้ายพลเรือนให้ได้รับความบาดเจ็บล้มตาย การจับคนเป็นตัวประกันโดยมีเจตนารมณ์ที่จะสร้างความกลัวในสังคมต่อกลุ่มคนหรือเฉพาะบุคคล ขู่บังคับพลเมืองหรือขู่บังคับให้รัฐบาลทำตามหรือไม่ให้ปฏิบัติการใดการหนึ่ง โดยมีเป้าประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งที่ไร้ความถูกต้องชอบธรรม ในกรอบที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ปรัชญาสังคม อุดมการณ์ เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ศาสนา หรืออะไรก็ตามที่ตรงข้ามกับความชอบธรรม”

จึงเกิดคำถามว่า การต่อต้านและประท้วงรัฐบาลที่ขาดหรือไร้ความชอบธรรมด้วยมาตรการรุนแรง เพื่อให้รัฐบาลสำนึกความผิดของตัวเองนั้นเป็นความชอบธรรมหรือเป็นการก่อการร้าย และการที่นักศึกษากรีกออกมาต่อต้านตำรวจที่ใช้ความรุนแรง ด้วยการยิงตรงๆ สังหารนักศึกษาอย่างเลือดเย็นเป็นการก่อการร้ายหรือไม่ ซึ่งเหตุการณ์ของไทยเกิดขึ้นมาแล้วจากกรณี 14 ตุลาคม 2516 และ 7 ตุลาคม 2551 แต่สังคมไทยมีความอดทนไม่ได้เผาบ้านเผาเมืองอย่างเช่นที่เกิดในกรุงเอเธนส์และอีกหลายเมืองอย่างที่เป็นข่าวให้เห็นกันทั่ว

การที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตกเป็นจำเลยสังคม และมีความผิดในกรณีสลายฝูงชนที่ต่อต้านประท้วงกรณีท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย จังหวัดสงขลา ในวันที่ 20 ธันวาคม 2544 ต้องชดใช้ค่าเสียหายด้วยเงินภาษีนั้น กลุ่มประท้วงเป็นผู้ก่อการร้ายหรือไม่ อยากให้นายตำรวจที่กำลังเปรียบเทียบการประท้วงตามสิทธิที่รัฐธรรมนูญให้ไว้ กับพฤติกรรมก่อการร้ายแต่หากเกินสิทธิก็ว่ากันด้วยกฎหมายอื่นไม่ใช่กฎหมายการก่อการร้าย

การจะกล่าวอะไรที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และเป็นเรื่องที่จะต้องใช้เวลาพิจารณา จะต้องมีหลักฐานสิ่งแวดล้อม ทั้งเชิงรูปธรรม นามธรรมมากมายหลายแง่มุม จะต้องวิเคราะห์ผลประโยชน์ของชาติเชิงยุทธศาสตร์อย่างละเอียดรอบคอบและให้อยู่ในกรอบความชอบธรรมเชิงรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะในเรื่องการกล่าวหา “พฤติกรรมก่อการร้าย” จะต้องระวังให้มากเพราะมีผลกระทบรุนแรงมากทั้งในอดีตที่ผ่านมาและในอนาคตที่ยังมาไม่ถึง
กำลังโหลดความคิดเห็น