xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ตูบออกอาการ‘อิจฉาตาร้อน’ ในสถานการณ์ถูกเลือกปฏิบัติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิจัยออสเตรียระบุพบรูปแบบพื้นฐานของอาการ ’อิจฉา’ ในน้องหมา หลังจากตูบน้อยจะหยุดทำภารกิจง่ายๆ ทันทีถ้าตัวเองไม่ได้รางวัล แต่อีกตัวได้
นักวิจัยจากเวียนนาบันทึกไว้ในวารสารพีเอ็นเอเอสว่า พฤติกรรมดังกล่าวแสดงถึงความอ่อนไหวในตัวสุนัขที่ก่อนหน้านี้พบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเท่านั้น
การทดลองประกอบด้วยสุนัขสองตัว โดยนักวิจัยสั่งให้ทั้งสองตัวส่งมือให้ เมื่อ ‘เช็คแฮนด์’ เรียบร้อย สุนัขจะได้อาหารเป็นรางวัล
หลังจากนั้น นักวิจัยจะสั่งให้สุนัขตัวหนึ่งทำภารกิจเดิม แต่ครั้งนี้ไม่ได้รางวัล ขณะที่อีกตัวยังคงทำภารกิจเดิมและได้อาหารทุกครั้ง
ผลปรากฏว่าไม่นาน สุนัขตัวที่ไม่ได้รางวัลจะเลิกส่งมือให้ และแสดงอาการเบื่อหน่ายหรือหงุดหงิดเมื่อเจ้าหมาอีกตัวได้รางวัล
เพื่อให้แน่ใจว่าการทดลองดังกล่าวแสดงถึงปฏิกิริยาตอบโต้ระหว่างสุนัขสองตัวมากกว่าอาการหงุดหงิดเพราะไม่ได้รางวัล นักวิจัยจึงทำการทดลองแบบเดิม แต่คราวนี้ใช้หมาตัวเดียว ซึ่งปรากฏว่าเจ้าตูบยอมทำภารกิจนานขึ้นแม้ไม่ได้รางวัล
ดร.เฟรเดอริก เรนจ์ จากคณะประสาทชีววิทยาและการวิจัยกระบวนการรับรู้ มหาวิทยาลัยเวียนนา อธิบายว่าการทดลองนี้แสดงให้เห็นว่า การมีสุนัขอีกตัวที่ได้รับรางวัลมีอิทธิพลอย่างมากต่อพฤติกรรมของสุนัข
เรนจ์กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาสามารถพบพฤติกรรมดังกล่าวได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเท่านั้น
อนึ่ง ผลการศึกษาหลายชิ้นก่อนหน้านี้ที่มาจากการทดลองกับลิงและชิมแปนซี แสดงให้เห็นว่าสัตว์เหล่านี้ไม่เพียงแสดงปฏิกิริยาต่อต้านเมื่อเห็นอีกตัวได้รางวัลเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับประเภทของรางวัลด้วย
สำหรับการศึกษาล่าสุดไม่พบว่าสุนัขมีปฏิกิริยาต่างออกไปเมื่อเปลี่ยนอาหาร อาทิ ระหว่างขนมปังกับไส้กรอก ซึ่งเรนจ์กล่าวว่านี่อาจเป็นเพราะสุนัขทั้งสองตัวได้รับการฝึกมาให้ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อให้ได้รางวัล
นักวิจัยยังกล่าวว่า พฤติกรรมของสุนัขในการทดลองอาจแสดงถึงขั้นตอนแรกในวิวัฒนาการของพฤติกรรมการให้ความร่วมมือที่พบในมนุษย์และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
“พฤติกรรมดังกล่าวอาจเป็นสัญญาณเบื้องต้นที่ซับซ้อนน้อยกว่าของมนุษย์ เป็นสัญญาณของพฤติกรรมความเห็นแก่ตัว เพราะสุนัขจะไม่มีปฏิกิริยาเมื่อเห็นอีกตัวได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม แต่คนเราจะมีปฏิกิริยา”
นักวิจัยเสริมว่า พฤติกรรมที่พบในการทดลองนี้อาจสืบเนื่องมาจากการที่สุนัขอยู่ร่วมกับคน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องศึกษาสัตว์ชนิดอื่นๆ เพื่อดูว่าจริงๆ แล้วสัตว์แสดงอาการอิจฉาหรือให้ความร่วมมือโดยธรรมชาติหรือไม่
“ฉันค่อนข้างแน่ใจว่านี่ไม่ใช่สิ่งที่วิวัฒนาการขึ้นมาเองในตัวสุนัข เพราะฉะนั้น เราจึงจะทดสอบกับหมาป่าและสัตว์สายพันธุ์อื่นที่มีพฤติกรรมในการให้ความร่วมมือต่อไป”
ขณะนี้ ดร.เรนจ์เลี้ยงลูกหมาป่าไว้จำนวนหนึ่งเพื่อทำการทดลองแบบเดียวกัน โดยบอกว่าหมาป่าจะสามารถทำการทดสอบการส่งมือให้ได้ แต่จริงๆ แล้วถือว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่เป็นธรรมชาตินัก เพราะเป็นพฤติกรรมที่เจ้าของสอนให้สุนัขทำ
“เราต้องแยกคนออกจากสมการ จึงจะสามารถเปรียบเทียบพฤติกรรมระหว่างหมาป่ากับหมาได้โดยตรง”
กำลังโหลดความคิดเห็น