xs
xsm
sm
md
lg

จี้ปธ.กกต.เคลียร์ปมยุบพรรค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

" ไชยวัฒน์ "จี้ประธานกกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ชี้ให้ชัด ส.ส.สัดส่วนของพรรคที่ถูกยุบจะยังคงสภาพส.ส.อยู่หรือไม่ เพื่อความชัดเจนก่อนเปิดสภาเลือกนายกฯ อย่าปัดหรือโยนเรื่องให้คนอื่น ด้าน"เรืองไกร"ยื่น กกต.ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย สมาชิกภาพ"ชัย ชิดชอบ" หลังพรรคพลังประชาชนถูกยุบ ขณะที่ เลขา กกต.แจงสอบคุณสมบัติส.ส.สัดส่วน และส.ส.เขต ต้องเป็นไปตามขั้นตอน "สดศรี" ชี้ ส.ว.ไม่มีสิทธิ์ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ กรณี ส.ส.สัดส่วนย้ายพรรค อ้างเป็นคนละสภา

เวลา 14.00น.วานนี้ (9 ธ.ค.) นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ประธานสมัชชาประชาชนภาคอีสาน19 จังหวัด พร้อมด้วยเครือข่ายฟื้นฟูชาติและประชาธิปไตย เครือข่ายนิด้าพัฒนาการเมือง และสมัชชาประชาชนแห่งประเทศไทย ได้เดินทางที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง อาคารศรีจุลทรัพย์ เพื่อยื่นหนังสือต่อนายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง เพื่อให้เร่งวินิจฉัยข้อกฎหมาย กรณีผลกระทบจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย เพื่อจะได้เป็นบรรทัดฐานในการปฏิบัติตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ และเพื่อเป็นการป้องกันความเสียหายที่ยุ่งยากซับซ้อนแก่การบริหารราชการแผ่นดิน และก่อปัญหาแก่ประเทศชาติมากยิ่งขึ้น
นายไชยวัฒน์ กล่าวด้วยว่า ทางเครือข่ายฯ ขอเรียกร้องให้ กกต.วินิจฉัยใน 6 ประเด็น ประกอบด้วย
1. กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคแล้วจะมีผลให้ ส.ส.แบบสัดส่วนของพรรคดังกล่าวมีสถานภาพส.ส.ต่อไปหรือไม่ และสามารถย้ายไปพรรคอื่นได้หรือไม่
2. ส.ส.แบบแบ่งเขตที่ยังไม่มีพรรคการเมืองสังกัด และขณะนี้ กกต.ยังไม่รับรอง จะสามารถปฏิบัติหน้าที่ และสามารถเข้าชื่อเพื่อขอเปิดประชุมสภาฯสมัยวิสามัญได้หรือไม่
3. การยุบพรรคส่งผลต่อตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร และตำแหน่งรองประธานสภาฯ จะสามารถดำเนินการเรียกประชุมสภาฯ เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่
4. เมื่อนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พ้นตำแหน่งไปแล้ว จะส่งผลให้รักษาการนายกรัฐมนตรี สามารถรักษาการ ทำหน้าที่ต่อไปได้หรือไม่
5. กรณีพรรคการเมืองที่จะรับสมาชิกสภาผู้แทนฯเข้าสังกัด ต้องเป็นพรรคการเมืองที่มีอยู่ก่อนการเลือกตั้งวันที่ 23 ธ.ค. 50 หรือไม่
6. ในฐานะเป็นนายทะเบียนพรรคการเมือง ขอให้เร่งประกาศโดยเร็ว เพื่อให้เกิดความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว และแก้ข้อข้องใจต่อประชาชน อันอาจเป็นผลร้ายต่อการปกครองไทย
" ชั่วโมงนี้ ในเมื่อมีสถานะเป็นถึงนายทะเบียนพรรคการเมือง ก็ควรชี้ให้ชัดว่า ส.ส.ระบบสัดส่วนจะต้องจบไปพร้อมพรรคหรือไม่ ไม่ใช่ต้องไปรอศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน เพราะหากรอศาลรัฐธรรมนูญเรื่องก็จะยืดเยื้อออกไปอีก เพราะนายทะเบียนพรรคการเมืองมีอำนาจอยู่แล้ว ไม่ใช่ปัด หรืออ้างให้องค์กรอื่นพิจารณา และกกต.อีก 4 คนไม่ควรออกความเห็น ควรงดพูดเพราะยิ่งพูดยิ่งทำให้ประชาชนสับสน ซึ่งเรื่องนี้หากนายทะเบียนไม่ทำแล้ว จะมีนายทะเบียนไว้ทำไม ไม่ใช่เอาไว้กินเงินเดือนอย่างเดียว หมดเวลาโยนแล้ว" นายไชยวัฒน์กล่าว
นายไชยวัฒน์ กล่าวด้วยว่า ขอให้นายอภิชาต ทำหนังสือแจ้งเตือนไปยังนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ว่า การที่เดินสายไปขอความเห็นอดีต กรรมการบริหารของพรรคการเมืองที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค พร้อมกับมีการเพิกถอนสิทธิทางการเมืองไปแล้วนั้น เป็นเรื่องไม่เหมาะสม และขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เพราะหากมีคนร้องว่า คุณไปหารือในการจัดตั้งรัฐบาลกับคนเหล่านี้ ในอนาคตอาจจะมีคนมาร้องให้ยุบพรรคได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย

"เรื่องไกร"ยื่นกกต.ตีความ"ลุงชัย"

ในวันเดียวกันนี้ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา ทำหนังสือถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ขอให้ กกต.ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยสมาชิกภาพส.ส.แบบสัดส่วนของพรรคพลังประชาชน กรณีนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภาว่าจะต้องพ้นสภาพไปกับพรรคพลังประชาชนที่ถูกยุบหรือไม่ และนายชัย จะสามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประธานรัฐสภาต่อไปภายหลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชนได้หรือไม่ ใครจะเป็นผู้ทำหน้าที่แทนประธานสภาผู้แทนราษฎร
ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ มาตรา 106 (8) ระบุให้สมาชิกภาพของส.ส.สิ้นสุดลง เมื่อขาดจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองที่ส.ส.ผู้นั้นเป็นสมาชิก และไม่อาจเข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นได้ภายใน 60 วันนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง แต่กรณีของส.ส.สัดส่วน ต้องพิจารณานัยความหมายของคำว่า "ขาดจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมือง" ซึ่งย่อมหมายถึง พรรคการเมืองเมื่อถูกศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองแล้ว สมาชิกที่เป็นอยู่ย่อมขาดจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองนั้นทันที
ส่วนส.ส.สัดส่วน จะสมัครเข้าพรรคอื่นภายใน 60 วันได้หรือไม่นั้น การเลือกตั้งแบบสัดส่วน ประชาชนจะเลือกจากพรรคการเมืองเป็นหลัก ความมีสมาชิกภาพของส.ส.สัดส่วน จึงควรหมดไป เมื่อพรรคการเมืองที่ประชาชนเลือกนั้นถูกยุบไป ทั้งนี้คะแนนที่ประชาชนเลือกพรรคนั้นควรหมดไปกับพรรคที่ถูกยุบด้วย ซึ่งจะไปเข้าลักษณะตามมาตรา 93 วรรคห้า กกต. จึงมีอำนาจส่งเรื่องให้ประธานแห่งสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพดังกล่าวตามมาตรา 91 วรรคสาม

เลขากกต.แจงต้องเป็นไปตามขั้นตอน

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการกกต. กล่าวถึงกรณีที่นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ยื่นหนังสือถึงประธาน กกต.เร่งให้พิจารณา ถึงคุณสมบัติ ส.ส.สัดส่วน และส.ส.เขต ของพรรคที่ถูกยุบไปนั้น เพื่อให้มีความชัดเจนก่อนที่จะมีการขอให้มีพระบรมราชโองการเปิดประชุมสภา เพื่อโหวดเลือกนายกรัฐมนตรีว่า เมื่อเรื่องเข้ามาที่ กกต.แล้ว ก็คงต้องดำเนินการไปตามระบบ ตรวจสอบข้อมูล หลังจากนั้นก็ต้องเสนอให้ กกต.พิจารณา ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งก็ต้องใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบ
**"สดศรี"ชี้ ส.ว.ไม่มีสิทธิ์ยื่นตีความ
นางสดศรี สัตยธรรม กกต. ด้านกิจการพรรคการเมือง กล่าวถึงเรื่องการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ที่ยังมีปัญหาเกี่ยวกับสิทธิการโหวตของ ส.ส.ระบบสัดส่วน ที่ย้ายจากพรรคที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบไปสังกัดพรรคการเมืองใหม่ ยังมีสิทธิ์โหวตได้หรือไม่ว่า แม้ขณะนี้ทางกลุ่ม 40 ส.ว.ได้ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องนี้แล้ว แต่ศาลต้องวินิจฉัยอีกว่า ส.ว.มีสิทธิจะยื่นเรื่องต่อศาลได้หรือไม่ เพราะถือเป็นคนละสภา
ทั้งนี้ เห็นว่า หากจะมีผู้คัดค้านสิทธิ์ของ ส.ส.สัดส่วนดังกล่าว ควรเป็นเรื่องที่ส.ส.จะยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และควรนำเรื่องผ่านกกต. หรือเสนอผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ก่อนจะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตาม หากศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณาเรื่องดังกล่าวไว้แล้ว จะมีผลให้การโหวตนายกรัฐมนตรีหยุดชะงักลง หรือไม่ เป็นเรื่องของการตีความตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550 เนื่องจากกฎหมายไม่ได้ระบุไว้ชัดเจน
นางสดศรี กล่าวด้วยว่า กกต.ได้มีมติเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคที่ถูกยุบพรรค รวม 29 คน ประกอบด้วย พรรคพลังประชาชน 13 คน และพรรคชาติไทย 16 คน ซึ่งกลุ่มนี้ไม่มีสิทธิ์โหวตนายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว แต่มีส.ส.สัดส่วน 4 คน จากพรรคพลังประชาชน 1 คน และพรรคชาติไทย 3 คน ซึ่งยังเป็นปัญหาที่ต้องตีความเรื่องนี้กันต่อไป และยังเป็นปัญหาที่สร้างความสับสนในเรื่องของจำนวน ส.ส.ของขั้วการเมืองต่างๆ ที่จะจัดตั้งรัฐบาล
กำลังโหลดความคิดเห็น