xs
xsm
sm
md
lg

นักเศรษฐศาสตร์โนเบล"ครุกแมน" วิตกเศรษฐกิจยังจะย่ำแย่ต่อไปอีก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอยเตอร์ - พอล ครุกแมน ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปีนี้กล่าวเมื่อวันอาทิตย์(7)ว่า บรรดาผู้กำหนดนโยบายทั้งหลาย ถึงอย่างไรก็จะไม่สามารถป้องกันไม่ให้วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่กำลังแผ่ลามอยู่ในเวลานี้ สร้างความเสียหายอย่างสาหัสรุนแรง
ครุกแมนพูดเช่นนี้จากกรุงสตอล์กโฮม ประเทศสวีเดน ระหว่างการแถลงข่าวก่อนเข้ารับรางวัลโนเบลกลางสัปดาห์นี้ เขายังแสดงความชื่นชมการตัดสินใจของว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบามา ที่เลือก ทิโมธี ไกธ์เนอร์ มาเป็นรัฐมนตรีคลัง แต่ก็เตือนว่าไกธ์เนอร์จะต้องพบกับงานที่ยากลำบาก
"งานที่จะช่วยเศรษฐกิจโลกให้พ้นจากหายนะนั้นยากลำบากมาก สถานการณ์ต่าง ๆกำลังเลวร้ายลงอย่างรวดเร็วและยังมองไม่เห็นเลยว่ามาตรการทั้งหลายจะสามารถช่วยอะไรได้บ้าง" ครุกแมนซึ่งเป็นสอนวิชาเศรษฐศาสตร์อยู่ที่มหาวิทยาลัยพรินซตัน อีกทั้งเป็นคอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์กล่าวในระหว่างการแถลงข่าว
"แม้แต่คนที่เข้าใจสถานการณ์ดีที่สุดก็ยังไม่สามารถที่จะป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงได้ ..ผมเป็นกังวลมากว่าปีหน้าที่เป็นอย่างไรบ้าง"
ครุกแมนซึ่งวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช หนักหน่วงตลอดมากล่าวว่าไกธ์เนอร์ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานธนาคารกลาง(เฟด)สาขานิวยอร์ก เป็นคนที่เหมาะสมกับตำแหน่งรัฐมนตรีคลังอย่างมาก
"ผู้ที่จะเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีคลังคนใหม่นั้นฉลาดหลักแหลม, ใจกว้าง และสามารถรับรู้สถานการณ์อันอ่อนไหวของระบบการเงินได้ดีกว่าคนอื่น ...แต่เขาต้องเผชิญหน้ากับงานที่ยากลำบากยิ่ง"
นอกจากนี้ครุกแมนยังกล่าวอีกด้วยว่าเขาสงสัยข้องใจว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ของสหรัฐฯจะสามารถประคองตัวเองให้อยู่รอดในระยะยาวได้หรือไม่ แต่กระนั้น การให้ความช่วยเหลือแก่อุตสาหกรรมนี้ในเฉพาะหน้า ก็ยังเป็นสิ่งที่สมควรทำ
เขาชี้ว่าบิ๊กทรีแห่งดีทรอยต์ อันได้แก่ เจเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม), ฟอร์ด, ไครสเลอร์ ที่กำลังมีปัญหาการเงินอย่างหนักนั้น เป็นเหยื่อของกระแสความล้มเหลวระยะยาว และในขณะเดียวกันก็เป็นเหยื่อของวิกฤตการเงินในปัจจุบันด้วยเช่นกัน
ขณะนี้บรรดาสมาชิกรัฐสภาและทำเนียบขาว ต่างกำลังพิจารณาจัดทำข้อตกลงให้ความช่วยเหลือแก่บิ๊กทรี และครุกแมนก็คาดว่าว่าจะมีความช่วยเหลือระยะสั้นออกมา ท่ามกลางเศรษฐกิจที่เลวร้ายลงไปเรื่อย ๆอย่างรวดเร็ว
เขากล่าวว่า ยังคงมีความไม่เต็มใจที่จะยอมรับว่าอุตสาหกรรมอันใหญ่โตมหึมาเช่นอุตสาหกรรมรถยนต์นี้กำลังประสบความล้มละลาย ในท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจถดถอยอันรุนแรงอย่างยิ่ง ถึงแม้เห็นกันมานานแล้วว่าอุตสาหกรรมนี้อยู่ในภาวะเสื่อมทรุดเรื่อยมา ทั้งนี้เขาบอกด้วยว่า "ในที่สุดแล้ว บริษัทเหล่านี้น่าที่จะต้องล้มหายตายจากไป"
ครุกแมนได้เคยพูดไว้นานแล้วว่าภาวะฟองสบู่ในราคาบ้านของสหรัฐฯจะเป็นต้นกำเนิดของปัญหาอันเลวร้าย แต่เขายอมรับว่าเมื่อได้เห็นขนาดขอบเขตของวิกฤตการเงินที่กำลังแผ่ลามไปทั่วโลกเวลานี้แล้ว ก็ยังคงเกิดความตื่นตระหนกอย่างยิ่งอยู่ดี
"สิ่งที่ผมพลาดไป และคนอื่น ๆก็พลาดไปด้วยก็คือความรุนแรงของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับระบบการธนาคารที่เรามีอยู่ ซึง่โดยปกติแล้วได้รับการปกป้องอย่างดี แต่ภาคการเงินที่คู่ขนานไปกับระบบการธนาคาร ซึ่งก็คือสถาบันการเงินที่ต่าง ๆที่ทำหน้าที่เหมือนกับธนาคารแต่ไม่มีการดูแลอย่างเข้มงวดเท่า กลับกลายเป็นต้นกำเนิดแห่งปัญหาทั้งปวง" เขากล่าว
"แม้เราจะไม่ควรประหลาดใจในความไร้เสถียรภาพและความเปราะบางของสถาบันการเงินเหล่านี้ แต่เมื่อความจริงปรากฎออกมา เราก็ต้องตกตะลึงกับความจริงที่ได้เห็น"
ครุกแมนยังได้ชี้อีกว่าประวัติศาสตร์ได้แสดงให้เห็นว่าการใช้จ่ายเงินภาครัฐเป็นเครื่องมือที่ดีในการต่อสู้กับวิกฤต ทั้งนี้เห็นได้จากบทศึกษาวิเคราะห์เกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่เมื่อทศวรรษ 1930 รวมทั้งภาวะเงินฝืดของญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นเมื่อสิบกว่าปีก่อน
"ประสบการณ์ของญี่ปุ่นในทศวรรษ 1990 นั้นแสดงให้เห็นว่าแม้การจับจ่ายใช้สอยภาครัฐอาจจะไม่แก้ไขปัญหาได้อย่างถาวร แต่ก็สามารถลดแรงกดดันที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจได้ไม่น้อยเลย"
สิ่งที่น่ากังวลในตอนนี้ก็คือรัฐบาลทั้งหลายจะอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่เศรษฐกิจได้มากเท่าไรเพื่อให้ประคองสถานการณ์มิให้เลวร้ายไปกว่านี้ "และผมก็ยังเป็นกังวลด้วยว่าแผนการเหล่านั้นจะถูกนำมาใช้ได้รวดเร็วเพียงไร เพราะตอนนี้เศรษฐกิจเลวร้ายลงไปด้วยความเร็วที่สูงมาก" ครุกแมนกล่าว
"และภาคเอกชนก็ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เมื่อถึงจุดแห่งวิกฤตนี้"
ครุกแมนบอกว่า ยังไม่รู้จะนำเอาเงินรางวัลโนเบลจำนวน 10 ล้านคราวน์สวีเดนไปทำอะไร แต่เขาบอกว่าชอบใจมากกับอีเมล์ฉบับหนึ่งซึ่งแสดงความยินดีกับเขาที่ได้รับรางวัล โดยอีเมล์นี้บอกว่า "ยินดีด้วยนะ แต่ก็หวังว่าคุณจะสามารถหาธนาคารที่ยังไม่ล้มเอาไว้ฝากเงินได้"
กำลังโหลดความคิดเห็น