xs
xsm
sm
md
lg

ไม่รับฟ้องคนงานต่างด้าวให้เพิกถอนแนวปฏิบัติสปส.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของแรงงานข้ามชาติชาวไทยใหญ่ ที่ได้ยื่นต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อโต้แย้งคำสั่งศาลปกครองเชียงใหม่เมื่อวันที่ 25 เม.ย.2551 ที่ปฏิเสธไม่รับพิจารณาคำฟ้องของแรงงานข้ามชาติทั้ง 3 คน ที่ฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนหนังสือเวียนของสำนักงานประกันสังคม (สปส.)ที่เลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติ โดยศาลปกครองสูงสุดได้วินิฉัยยืนตามคำสั่งของศาลปกครองเชียงใหม่ ซึ่งคำสั่งไม่รับฟ้องของศาลปกครองสูงสุดในครั้งนี้ส่งผลเป็นที่สุด และทำให้ไม่สามารถโต้แย้งแนวปฏิบัติของ สปส.ซึ่งเลือกปฏิบัติดังกล่าวต่อศาลปกครองได้อีกต่อไป
การยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดนี้มีที่มาจากกรณีนางหนุ่ม ไหมแสง แรงงานข้ามชาติซึ่งประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน ณ เขตพื้นที่ก่อสร้างโรงแรมแชงกรี-ลา ในวันที่ 4 ธันวาคม 2549 เป็นผลทำให้นางหนุ่มต้องเป็นผู้พิการอัมพาตครึ่งล่าง โดยในเดือน ก.ค. 2550 สปส.เชียงใหม่ได้มีคำสั่งปฏิเสธ คำร้องขอรับเงินทดแทนสำหรับกรณีทุพพลภาพจากกองทุนเงินทดแทนของนางหนุ่ม แต่กลับมีคำสั่งให้นายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบจ่ายเงินทดแทนรายเดือนให้นางหนุ่ม เดือนละ 2,418 บาท เป็นเวลา 15 ปี นางหนุ่มจึงได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน และในเดือนมกราคม พ.ศ. 2551 คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนได้มีคำวินิจฉัยยืนตามคำสั่ง สปส.เชียงใหม่ และปฏิเสธไม่จ่ายเงินทดแทนให้นางหนุ่ม โดยอ้างแนวปฏิบัติตามหนังสือเวียนสำนักงานประกันสังคมฉบับ รส 0711/ว751 ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2544
ด้วยความช่วยเหลือจากมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ประกอบกับการเข้ามามีส่วนผลักดันโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และด้วยความที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของบริษัทที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจ้างงานและนายจ้างของนางหนุ่ม ทำให้ในที่สุดนายจ้างจึงตกลงจ่ายค่าทดแทนคราวเดียว ให้แก่นางหนุ่มตามคำสั่งของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดเชียงใหม่
อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะได้มีการประนีประนอมจ่ายเงินทดแทนเรียบร้อยแล้ว แต่กรณีของนางหนุ่ม ก็เป็นเพียงกรณียกเว้นที่ได้รับการสนับสนุนและรณรงค์ จนทำให้นายจ้างยอมจ่ายเงินทดแทนให้เท่านั้น ในขณะที่ลูกจ้างแรงงานข้ามชาติ ส่วนใหญ่มิได้มีโอกาสเช่นเดียวกันนี้ และแนวปฏิบัติตามหนังสือ สปส.ที่ รส 0711/ว 751 ก็ยังคงอยู่และส่งผลให้ลูกจ้างซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติ จำนวนมากถูกปฏิเสธสิทธิ ในการที่จะได้รับการคุ้มครองและได้รับเงินทดแทนจาก กองทุนเงินทดแทนตามที่ กฎหมายกำหนด
หนังสือ สปส.ที่ ดังกล่าว กำหนดให้แรงงานข้ามชาติที่จะขอรับเงินทดแทน จากกองทุนเงินทดแทนได้ต้องมีคุณสมบัติตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้ 1. ต้องมีเอกสารการ จดทะเบียนและใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) ที่ทางราชการออกให้มาแสดง ประกอบกับหนังสือเดินทาง (Passport) หรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว
2. นายจ้างได้จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนในอัตราไม่ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ทั้งนี้แรงงานข้ามชาติต้องยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับประเทศไทย
อย่างไรก็ตามแรงงานข้ามชาติเข้าเมืองผิดกฎหมายจากประเทศพม่า กัมพูชา และลาว ที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย ซึ่งมีตัวเลขประมาณการกว่า 2 ล้านคน แรงงาน เหล่านั้นไม่มีเอกสารตามที่กำหนดในหนังสือเวียนดังกล่าว เนื่องจากการนำแรงงาน จากพม่าเข้ามาสู่ประเทศไทยนั้นเป็นกระบวนการที่ไร้ระบบ แต่ก็มีแรงงานพม่าเหล่านี้ กว่า 500,000 คน ก็ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกระทรวงมหาดไทย โดยมีเอกสารแสดงตน ที่ทางราชการออกให้คือ ทร.38/1 และได้รับใบอนุญาตทำงานที่ออกให้โดย กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ซึ่งถือว่าแรงงานเหล่านั้นได้รับการผ่อนผันให้อยู่อาศัยและทำงานในประเทศไทยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
จากนโยบายเลือกปฎิบัติดังกล่าวของทางราชการ ทำให้นายจ้างของแรงงาน ข้ามชาติเหล่านี้ไม่สามารถจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนได้ แนวปฏิบัติเช่นนี้ขัดกับ พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ. 2537 และกฎกระทรวงซึ่งกำหนดให้นายจ้างทุกคน ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทน และ สปส.ก็มีหน้าที่ต้องบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้มั่นใจว่านายจ้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทน
หนังสือ สปส.ที่ รส 0711/ว751 กลับกำหนดให้นายจ้าง ต้องรับผิดชอบจ่ายเงินทดแทนให้ลูกจ้างแรงงานข้ามชาติเอง ในกรณีที่แรงงาน ข้ามชาติที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานไม่สามารถแสดงหลักฐานตามที่กำหนดได้ ซึ่งถือว่าเป็นระเบียบที่ขัดต่อกฎหมาย
การที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองเชียงใหม่ ที่ได้วินิจฉัยไว้ว่าข้อพิพาทเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของหนังสือเวียน สปส.ดังกล่าวนี้ไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองแต่อยู่ในเขตอำนาจ ของศาลแรงงานในครั้งนี้นั้น ศาลปกครองสูงสุดให้เหตุผลว่า แม้ผู้ฟ้องคดีทั้งสามจะกล่าวอ้างตามคำร้องอุทธรณ์ว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสามประสงค์ที่จะฟ้องขอให้ศาลปกครอง มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนแนวปฏิบัติตามหนังสือ รส. 0711/ว751 ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2544 อันเป็นการฟ้องคดีพิพาทที่เกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครอง กระทำการไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ก็ตาม
แต่เมื่อพิจารณาตาม มาตรา 8 วรรคหนึ่งแห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 ที่กำหนดว่าศาลแรงงานมีอำนาจพิจารณา พิพากษาหรือคำสั่งในเรื่องต่อไปนี้ (2) คดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน หรือกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทนอันจะเห็นได้ว่าเหตุแห่งการฟ้องคดีดังกล่าว สืบเนื่องมาจากข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 ซึ่งเป็นกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน คดีดังกล่าวจึงอยู่ในอำนาจการ พิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น