xs
xsm
sm
md
lg

‘ทรูแมน ซินโดรม’ ชีวิตจริงสิงในทีวี?!?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชายคนหนึ่งเดินเข้าไปหาเจ้าหน้าที่รัฐ ขอให้ปล่อยตนออกจากเรียลลิตี้โชว์ที่เจ้าตัวมั่นใจถวายหัวว่าเป็นเรื่องราวจากชีวิตจริงของเขา ส่วนอีกคนเชื่อว่าทุกก้าวย่างของตัวเองถูกแอบถ่ายไปออกเกมโชว์ทางทีวี และคนที่สามเชื่อว่าทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นข่าว จิตแพทย์ที่รักษาและยาที่จ่ายมา ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการจัดฉากโดยที่ตัวเขาเองเป็นดาราจำเป็นเหมือนในหนังปี 1998 ‘เดอะ ทรูแมน โชว์’
นักวิจัยเริ่มจัดทำรายงานสิ่งที่เรียกขานกันเองว่า ‘กลุ่มอาการทรูแมน’ หรืออาการหลอนที่เกิดกับคนที่เชื่อเป็นตุเป็นตะว่าชีวิตของตนถูกแอบถ่ายไปเผยแพร่ในเรียลลิตี้โชว์ โดยนักวิจัยบางคนบอกว่า ความผิดปกตินี้ตอกย้ำว่าอิทธิพลของป๊อปคัลเจอร์สามารถส่งผลต่อสภาพจิตใจของคนเราได้
“ปัญหาคือความจริง สิ่งดังกล่าวเป็นแค่การหักมุมครั้งใหม่บนความหวาดระแวงเดิมๆ หรือภาพหลอนของความหรูหรา หรือเป็นพายุใหญ่ของวัฒนธรรมที่โอบล้อมเราอยู่ ที่ให้ความสำคัญอย่างล้นเหลือกับชื่อเสียงเงินทอง?” ดร.โจเอล โกลด์ จิตแพทย์ของโรงพยาบาลเบลล์วิวในนิวยอร์กตั้งคำถาม
ในช่วงสองปีที่ผ่านมา โกลด์ได้พบคนไข้ห้าคนที่มีอาการหลอนที่เชื่อมโยงกับเรียลลิตี้ทีวี หลายคนในจำนวนนี้เอ่ยชื่อ ‘เดอะ ทรูแมน โชว์’ ออกมาเต็มปากเต็มคำ
โกลด์และน้องชายที่เป็นจิตแพทย์เช่นเดียวกัน เริ่มนำเสนอรายงานการสังเกตการณ์ตามวิทยาลัยแพทย์หลายแห่งในปี 2006 หลังจากเรื่องนี้แพร่หลายออกไปในวงการแพทย์ในฤดูร้อนปีนี้ ทั้งคู่ได้รู้ว่ามีคนอีกราว 50 คนที่มีอาการคล้ายกันนี้ และขณะนี้สองพี่น้องกำลังจัดทำรายงานทางวิชาการเกี่ยวกับทรูแมน ซินโดรม (กลุ่มอาการทรูแมน)
ขณะเดียวกัน นักวิจัยในลอนดอนอธิบายไว้ในวารสารบริติช เจอร์นัล ออฟ ไซเคียทรีฉบับเดือนสิงหาคมเกี่ยวกับคนไข้คนหนึ่งที่เข้าข่ายกลุ่มอาการทรูแมน โดยระบุว่าบุรุษไปรษณีย์วัย 26 ปีผู้นี้ “รู้สึกว่าโลกไม่ใช่โลกจริง ราวกับเขาเป็นฮีโร่ในหนังที่ยืมชื่อมาจากบุคคลในตำนาน”
จิม แคร์รี ผู้ได้รับเสนอชื่อชิงรางวัลออสการ์จากบททรูแมน เบอร์แบงก์ ตัวละครตัวนี้ใช้ชีวิตสนุกสนานเหมือนเช่นคนปกติทั่วไปจนกระทั่งวันหนึ่งที่เขารับรู้ว่า เพื่อนและครอบครัวของตัวเองเป็นนักแสดงทั้งหมด เมืองชายทะเลที่อยู่คือเวทีเสียงทีวี และทุกวินาทีในชีวิตถูกถ่ายทอดสดไปทั่ว
การต่อสู้เพื่อแยกแยะความจริงและภาพหลอนทำให้คนดูรู้สึกตื้นตัน แต่นักวิจัยบอกว่า บ่อยครั้งความพยายามนี้กลับทำให้คนที่มีอาการทรูแมนตื่นตระหนกเสียขวัญ
บางคนภูมิใจกับความมีชื่อเสียงที่จินตนาการขึ้นมา แต่หลายคนสับสนอย่างแรงกับสิ่งที่ดูเหมือนเป็นการบุกรุกความเป็นส่วนตัวแบบในหนังของจอร์จ ออร์เวล ชายหนุ่มที่ถูกอ้างอิงถึงในวารสารอังกฤษ ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคจิตเภทและไม่สามารถทำงานได้ ขณะที่คนไข้คนหนึ่งของโกลด์คิดฆ่าตัวตายถ้าไม่สามารถหลุดออกมาจากเรียลลิตี้โชว์ที่นึกฝันเอาเอง
อาการหลอนอาจเป็นอาการหนึ่งของการป่วยทางจิต รวมถึงอาการทางประสาท เช่น โรคพาร์คินสัน และอัลไซเมอร์ นอกจากนั้น ยาบางตัวก็อาจทำให้คนไข้หลอนได้
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จิตแพทย์จะพบว่าคนไข้ที่มีอาการหลอนมักเชื่อว่าญาติพี่น้องที่เห็นคือคนอื่นที่ปลอมตัวมา หรือคิดว่าสิ่งต่างๆ ในชีวิตคือการจัดฉากทั้งเพ แต่โกลด์บอกว่าอาการหลอนแบบ ‘ทรูแมน’ รุนแรงกว่า เพราะเกี่ยวข้องไม่เพียงคนที่รายล้อมเท่านั้น แต่เป็นสังคมทั้งหมด
อาการหลอนมักถูกจำแนกเป็นหมวดหมู่กว้างๆ เช่น ความเชื่อที่ว่าคนๆ หนึ่งกำลังถูกก่อกวน แต่งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าวัฒนธรรมและเทคโนโลยีสามารถส่งผลต่อคนเหล่านั้นได้ งานศึกษาหลายชิ้นในช่วงเร็วๆ นี้ได้บันทึกเหตุการณ์การหลอนที่พัวพันกับอินเทอร์เน็ต เช่น ผู้ป่วยหญิงรายหนึ่งในออสเตรเลียที่เชื่อว่าตัวเองเป็นเว็บแคมเคลื่อนที่
จิตแพทย์ที่รักษาผู้ป่วยหญิงคนดังกล่าวระบุในวารสารไซโคพาโทโลจี้เมื่อปี 2004 ว่า เรียลลิตี้ทีวีอาจช่วยให้คนไข้เหล่านี้โน้มน้าวตัวเองให้เชื่อว่าประสบการณ์ของตนเป็นสิ่งที่มีเหตุผล
แต่สำหรับเอียน โกลด์ ศาสตราจารย์ด้านปรัชญาและจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยแมกกิลล์ในมอนทรีอัล แคนาดา ที่ทำวิจัยปรากฏการณ์นี้ร่วมกับน้องชาย กลับเชื่อว่าศักยภาพของเรียลลิตี้ทีวีและเว็บในการทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นคนคุ้นเคย อาจเพิ่มความกดดันทางจิตใจต่อคนที่มีปัญหาในการคบหากับคนอื่น
“ผมไม่ได้หมายความว่าเรียลลิตี้โชว์ทำให้คนดีๆ หลอน แต่อย่างน้อยที่สุดผมคิดว่าเป็นไปได้ที่รายการทีวีประเภทนี้ทำให้คนที่มีแนวโน้มป่วยด้วยอาการนี้ป่วยเร็วขึ้น หรือมีความผิดปกติในลักษณะอื่น”
นักวิจัยอีกหลายคนไม่เห็นด้วยกับโกลด์ แต่ยังคิดว่ากลุ่มอาการทรูแมนเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจของการเชื่อมโยงระหว่างวัฒนธรรมกับสุขภาพจิตใจ
โวแกน เบลล์ จิตแพทย์ที่ทำงานให้กับคิงส์ คอลเลจ ลอนดอน และยูนิเวอร์ซิแดด เดอ แอนโตโอเกียในโคลัมเบีย ที่วิจัยภาพหลอนที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ต บอกว่าคนไข้เก่าคนหนึ่งเชื่อว่าตัวเองอยู่ในจักรวาลเสมือนเหมือนในหนังดัง ‘เดอะ แมททริกซ์’ ปี 1999
“ผมไม่คิดว่าวัฒนธรรมป๊อปทำให้เกิดภาพหลอน แต่คิดว่าความเป็นไปได้อย่างเดียวในการทำความเข้าใจอาการหลอนและความวิกลจริตอย่างกระจ่างชัดคือแสงสว่างจากวัฒนธรรมที่เปิดกว้างขึ้นของเรา”
กำลังโหลดความคิดเห็น