xs
xsm
sm
md
lg

วอนรัฐชะลอขึ้นค่าจ้างบีบเอกชนปลดแรงงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ผลสำรวจภาวะการว่าจ้างแรงงานในนิคมฯที่จังหวัดอยุธยา คาดอีก 3-6 เดือนข้างหน้ามีแรงงานว่างงาน 2.5 หมื่นคน วอนรัฐชะลอการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำออกไปก่อน หวั่นซ้ำเติมเศรษฐกิจและกดดันให้เกิดการปลดแรงงานมากขึ้น ยอมรับปีหน้ายอดขายที่ดินในนิคมฯทั่วประเทศหดตัวเหลือเพียง 2.5 พันไร่ จากปีนี้ที่ยอดขายที่ดินในนิคมฯ 3-3.5 พันไร่

นายทวิช เตชะนาวากุล เลขาธิการ สมาคมนิคมอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยว่า ทางสมาคมฯได้สำรวจภาวะการว่าจ้างแรงงานในนิคมอุตสาหกรรมและสวนอุตสาหกรรม ที่จังหวัดอยุธยาในขณะนี้ พบว่ายังไม่มีโรงงานใดจะประกาศเลิกจ้างพนักงานเป็นจำนวนมากเพิ่มเติม เพราะยังมีคำสั่งซื้อ (ออเดอร์)เดิมอยู่ และรอดูสถานการณ์เศรษฐกิจในปีหน้า แต่จากตัวเลขการใช้กำลังการผลิตเครื่องจักรพบว่ามีการผลิตต่ำลง ส่งผลให้โรงงานต้องลดการว่าจ้างงานล่วงเวลา (โอที) ไม่เพิ่มการจ้างงาน รวมไปถึงการสมัครใจลาออก เชื่อว่าภายใน 3-6 เดือนข้างหน้าจะมีภาวะการว่างงานในนิคมฯน่าจะอยู่ที่ 10-15% หรือประมาณ 2-2.5 หมื่นคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่สูงมากนัก เนื่องจากบางอุตสาหกรรมไม่ได้รับผลกระทบมาก ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจในปีหน้าว่าจะฟื้นตัวได้เร็วแค่ไหน

อย่างไรก็ตาม ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว การพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำปี 2552 ไม่น่าเหมาะสม เพราะจะเป็นแรงกดดันให้เกิดการว่างงานมากขึ้น ดังนั้นภาครัฐควรชะลอการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำออกไป 3-6 เดือน น่าจะส่งผลดีมากกว่า เพราะขึ้นค่าแรงไปแต่ไม่มีการว่าจ้างก็ไม่มีประโยชน์

'จากการสำรวจพบว่าขณะนี้ยังไม่มีโรงงานใดในนิคมฯที่จะเลิกจ้างพนักงานเป็น จำนวนมาก เนื่องจากบริษัทอยู่ระหว่างรอดูสถานการณ์ก่อนตัดสินใจ แต่สิ่งหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศในต้นปีหน้า ซึ่งควรจะชะลอการปรับขึ้นค่าแรงไป 3-6 เดือน เพื่อไม่ให้ซ้ำเติมในภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดี'

ทั้งนี้ จังหวัดอยุธยามีอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ตั้งอยู่มากกระจายอยู่ใน 4 นิคมอุตสาหกรรม ประกอบด้วย นิคมฯไฮเทค นิคมฯบางปะอิน นิคมฯสหรัตนนคร และสวนอุตสาหกรรมโรจนะ ซึ่งมีแรงงานอยู่ในนิคมฯดังกล่าวประมาณ 1.8-1.9 แสนคน คิดเป็น 2 ใน 3 ของแรงงาน ในจังหวัดอยุธยา

นายทวิช กล่าวต่อไปว่า จากวิกฤตการเงินโลก ส่งผลให้กระทบต่อการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากการบริโภคหดตัวลง ส่งผลโดยตรงต่อธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งเชื่อว่าปีหน้ายอดการขายที่ดินในนิคมฯและสวนอุตสาหกรรม น่าจะหดตัวลงจากปีนี้ที่ประเมินว่ามียอดขายที่ดิน รวมประมณ 3,000-3,500 ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการขายที่ดินในนิคมฯขนาดใหญ่

โดยปีหน้าคาดว่าจะมีการขายที่ดินในนิคมฯเหลือเพียง 2,500 ไร่ เนื่องจากการลงทุนจากต่างประเทศไม่เพิ่มขึ้น รวมทั้งยอดคำสั่งซื้อสินค้าลดลง ทำให้ผู้ประกอบการต้องลดกำลังการผลิตแทนที่จะมีการขยายการลงทุนเพิ่มเติม

สำหรับนิคมฯไฮเทคนั้น ไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ เนื่องจากโรงงาน ส่วนใหญ่ยังมีออเดอร์สินค้าอยู่ และบริษัทฯ ไม่ได้มีการขยายพื้นที่ขายเพิ่ม แต่เน้นการให้บริการด้านสาธารณูปโภคแก่ลูกค้า ซึ่ง ปีหน้าแม้ว่ายอดขายที่ดินจะหดตัวลง แต่เชื่อว่ากระทบต่อรายได้สาธารณูปโภคทั้งน้ำและไฟฟ้า
กำลังโหลดความคิดเห็น