ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – สมาคมผู้ผลิตลำไยอบแห้งภาคเหนือยื่นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อ.ต.ก.และ อคส. ฟ้องต่อศาลปกครองเชียงใหม่ขอให้ระงับการนำลำไยอบแห้งปี 2546 และปี 2547 ออกประมูลขายซ้ำอีก ชี้ผลผลิตหมดคุณภาพแล้วหวั่นมีการลักลอบนำไปปลอมปนขายในตลาด ทำให้เสียชื่อเสียงสร้างความเสียหายทั้งระบบ โดยเฉพาะหากจีนที่เป็นตลาดหลักงดนำเข้า เสนอนำไปทำลายผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อตัดวงจรอุบาทว์
วานนี้ (13 พ.ย.51)ที่ศาลปกครองเชียงใหม่ นายภิสันต์ เจนร่วมจิต ทนายความผู้ได้รับมอบอำนาจจากสมาคมผู้ผลิตลำไยอบแห้งภาคเหนือ ซึ่งมีนายประสงค์ ตันวัฒนากุล เป็นนายกสมาคม ได้เป็นตัวแทนสมาคมผู้ผลิตลำไยอบแห้งภาคเหนือเดินทางเข้ายื่นคำฟ้องให้ศาลปกครองไต่สวน และคุ้มครองระงับการเปิดประมูลจำหน่ายลำไยอบแห้งฤดูผลิตปี 2546 และปี 2547 ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำลังจะดำเนินการ รวมทั้งห้ามเคลื่อนย้ายลำไยอบแห้งดังกล่าวออกจากโกดัง
ในคำฟ้องดังกล่าวมีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร(อ.ต.ก.) เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และองค์การคลังสินค้า(อคส.) เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ท่ามกลางกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกลำไยจากพื้นที่เชียงใหม่และลำพูนประมาณ 100 คน ที่เดินทางมาด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่ศาลปกครองเชียงใหม่ได้รับคำร้องเอาไว้และจะแจ้งผลการพิจารณาให้ทราบต่อไป
นายภิสันต์ เปิดเผยว่า เป็นผู้ได้รับมอบอำนาจจากสมาคมผู้ผลิตลำไยอบแห้งภาคเหนือ เข้ายื่นฟ้องกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อ.ต.ก.และ อคส. ต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ระงับยกเลิกการเปิดประมูลจำหน่ายลำไยอบแห้งปี 2546 และปี 2547 จำนวน 6.7 หมื่นตัน ที่อยู่ในความดูแลของหน่วยงานดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าการประมูลจำหน่ายลำไยอบแห้งดังกล่าวที่มีการดำเนินการไปแล้วครั้งหนึ่งเมื่อช่วงกลางปี 2550 ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดที่ระบุว่า ผู้ที่ประมูลซื้อได้จะต้องมีการบุบเปลือกก่อนนำออกจากโกดังเพื่อป้องกันการนำมาปลอมปนจำหน่ายในตลาดซ้ำอีก
ที่ผ่านมากลับพบว่า มีการขนย้ายลำไยอบแห้งออกโดยไม่บุบเปลือกจำนวนมาก จึงทำให้เกิดความหวั่นวิตกอย่างมากในกลุ่มผู้ผลิตและจำหน่ายลำไยอบแห้ง ทั้งนี้เนื่องจากหากมีการนำลำไยอบแห้งดังกล่าวไปปลอมปนจำหน่ายในตลาด แล้วมีการตรวจสอบพบก็อาจจะส่งผลกระทบ และสร้างความเสียหายต่อตลาดลำไยอบแห้งของไทยอย่างหนักได้ เพราะลำไยอบแห้งดังกล่าวเสื่อมคุณภาพแล้ว
สำหรับผลการพิจารณาคำฟ้องในครั้งนี้ ทนายความผู้ได้รับมอบอำนาจจากสมาคมผู้ผลิตลำไยอบแห้งภาคเหนือ กล่าวว่า ทางเจ้าหน้าที่ของศาลปกครองเชียงใหม่แจ้งว่าในส่วนของการพิจารณาว่าทางศาลปกครองจะรับไต่สวนคำฟ้องหรือไม่นั้น จะทราบผลในเวลาประมาณ 1 เดือน ส่วนจะมีคำสั่งคุ้มครองหรือไม่ จะทราบผลในเวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ ซึ่งทางศาลปกครองเชียงใหม่จะแจ้งให้ทราบต่อไป
นายบัญชาการ พลชมชื่น กรรมการเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกลำไยจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองในครั้งนี้ของสมาคมผู้ผลิตลำไยอบแห้งภาคเหนือ เป็นเพราะเกษตรกรผู้ปลูกและผู้ผลิตลำไยทั่วทั้งพื้นที่ภาคเหนือ ไม่ต้องการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดประมูลจำหน่ายลำไยอบแห้งปี 2546 และปี 2547 อีกแล้ว หลังจากที่มีการเปิดประมูลไปครั้งหนึ่งแล้วเมื่อช่วงกลางปี 2550 และสัญญาที่ทำไว้กับเอกชนที่ชนะประมูลก็สิ้นสุดลงแล้วเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2551
ทั้งนี้เสนอว่าหากเป็นไปได้ ต้องการให้มีการนำลำไยอบแห้งดังกล่าวนี้ไปทุบทำลายให้หมดแล้วผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อป้องกันการนำกลับมาปลอมปนจำหน่ายในตลาดซ้ำอีก เนื่องจากในการประมูลครั้งที่ผ่านมา ก็พบว่ามีลำไยอบแห้งจำนวนไม่น้อยที่ผู้ชนะการประมูลขนย้ายออกไปจากโกดัง โดยที่ไม่ทำการบุบเปลือกก่อนตามข้อกำหนดในสัญญา และเมื่อเร็วๆ นี้ก็พบว่ามีลำไยอบแห้งเก่าที่เสื่อมคุณภาพ ที่ส่งไปจากประเทศไทยถูกกักไว้ที่ท่าเรือเชียงรุ้งของจีน ซึ่งอาจจะเป็นลำไยอบแห้งดังกล่าวที่เล็ดลอดไปก็เป็นได้
ดังนั้น กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกและผลิตลำไยจึงไม่อยากให้เกิดกรณีเช่นนี้ขึ้น เนื่องจากประเทศจีนถือเป็นตลาดหลักของการส่งออกลำไยไทย โดยมีสัดส่วนถึงร้อยละ 80 ของผลผลิตทั้งหมด หากมีการตรวจพบการปลอมปนลำไยอบแห้งเสื่อมคุณภาพจากไทยเข้าไปในตลาดจีน แล้วทางการจีนมีคำสั่งงดนำเข้าลำไยอบแห้งที่ผลิตจากประเทศไทยทั้งหมดก็จะได้รับความเดือดร้อนกันอย่างหนัก โดยเฉพาะในปี 2552 ที่คาดว่าจะมีปริมาณผลผลิตลำไยสดสูงถึง 500,000 ตัน
นอกจากนี้ กรรมการเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกลำไยจังหวัดเชียงใหม่ แสดงความคิดเห็นว่า ไม่เข้าใจในความพยายามของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จะดำเนินการประมูลจำหน่ายลำไยอบแห้งประมาณ 4.7 หมื่นตัน ที่อยู่ในความดูแลของ อ.ต.ก.อีกครั้ง ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ในช่วงหลังจากสิ้นสุดสัญญากับเอกชน กระทรวงได้เคยแจ้งให้เกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรไปแจ้งชื่อเพื่อขอรับลำไยอบแห้งดังกล่าวไปผลิตปุ๋ยอินทรีย์ เนื่องจากเสื่อมคุณภาพแล้ว แต่ต่อมาก็กลับจะนำไปประมูลจำหน่ายอีก
ดังนั้น จึงเป็นประเด็นที่น่าตั้งข้อสังเกตเป็นอย่างมากว่ามีจุดประสงค์ใดกันแน่ เพราะ นอกจากลำไยอบแห้งดังกล่าวนี้จะเสื่อมคุณภาพแล้ว กรณีปัญหาที่พบว่า ลำไยอบแห้งดังกล่าวที่จัดเก็บไว้ตามโกดังต่างๆ ถูกลักลอบนำออกไป และโกดังจัดเก็บแห่งหนึ่งถูกไฟไหม้ ยังไม่มีความชัดเจนใดๆ เกิดขึ้นเลย
อนึ่ง การประมูลจำหน่ายลำไยอบแห้งปี 2546 และ ปี 2547 ที่อยู่ในความดูแลของ อ.ต.ก.และ อคส. จำนวนทั้งสิ้น 6.7 หมื่นตัน เคยมีการเปิดประมูลมาแล้ว 2 ครั้ง คือ ในวันที่ 23 มกราคม 2550 และวันที่ 2 กรกฎาคม 2550 โดยครั้งแรกมีผู้ยื่นซองเสนอราคาเพียง 5 ราย และต้องมีการยกเลิกประมูลไป เพราะผู้เสนอราคาทุกรายยื่นหลักฐานประกอบการประมูลไม่ครบถ้วน
ขณะที่การประมูลวันที่ 2 กรกฎาคม 2550 มีผู้ยื่นซองเสนอราคา 11 ราย แต่ที่ผ่านมาการพิจารณา 9 ราย มีการยื่นเสนอซื้อลำไยอบแห้งที่เก็บไว้ใน 58 โกดัง จากทั้งหมด 115 โกดัง ส่วนที่เหลือไม่มีผู้เสนอราคาโดยเงื่อนไขในการประมูลจำหน่ายลำไยครั้งนั้นมีการระบุชัดเจนว่า จะต้องมีการบุบเปลือกลำไยอบแห้งด้วยเครื่องจักร ที่หน้าคลังจัดเก็บก่อนที่ผู้ซื้อจะรับลำไยอบแห้งไป ส่วนลำไยอบแห้งส่วนที่เหลือจะมีการทำลายทิ้ง เพื่อป้องกันการนำกลับมาปลอมปนในตลาดอีก และเป็นการตัดปัญหาลำไยอบแห้งตกค้างที่มักถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการกดราคาลำไย