xs
xsm
sm
md
lg

สงครามครั้งสุดท้าย บทเสนอเรื่อง “การเมืองใหม่” (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: ยุค ศรีอาริยะ

บทสรุป

โดยทั่วไปเรามักคิดว่า การสร้างการเมืองใหม่ คือ การปฏิรูประบบการเมืองการปกครอง แต่ผมคิดว่า ‘การสร้างการเมืองใหม่ ที่แท้แล้ว นี่คือการปฏิรูปทางความคิดหรือทางปัญญาใหม่’

ต้องคิดให้ถูกก่อน ทุกอย่างจึงแก้ไขได้

ทุกวันนี้ ผมถือว่าตัวเองเกษียนแล้ว จึงวางแผนไปซื้อที่ดินผืนเล็กๆ ผืนหนึ่งที่เขาใหญ่ ทุกครั้งที่ผมเดินทางไปเขาใหญ่ ต้องผ่านบ้านนักการเมือง นักธุรกิจ และบรรดานายทหารที่โด่งดัง บ้านของพวกเขาเหล่านี้จะดูใหญ่มากๆ บางหลังตั้งตระหง่านอยู่บนเขาสูงราวกับประกาศว่า พื้นที่ภูเขาทั้งหมดเป็นของเขา

มองดูความใหญ่โตอลังการของบ้านแต่ละหลังแล้ว ทำให้ผมย้อนคิดถึงอิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตกที่ครอบเหนือชนชั้นนำไทย

เราจึงหลงย้ำเน้นหรือให้ “ค่า” เฉพาะกับสิ่งที่มีขนาดใหญ่ๆ

เราเองติดอาการ อวดรวย อวดใหญ่ และอวดโต

พอเราหลงคิดแบบตะวันตก จึงชอบสร้างอะไรใหญ่ๆ หลงสร้างเมืองหลวงขนาดใหญ่ และรัฐราชการใหญ่

เมื่อผมซื้อที่ดินเสร็จ ก็ยังไม่คิดเรื่องจะสร้างบ้าน ผมบอกเพื่อนๆ ว่า ต้องปลูกป่าก่อน ปลูกให้นกกา แมลง และสัตว์อื่นๆ ได้อยู่อาศัย

คงยากที่ใครๆ จะคิดอย่างผม หรือไม่ก็ต้องคิดว่า “ผมบ้าแน่ๆ” เพราะคนทั่วไปจะหลงเชื่อแนวคิดตะวันตก ที่เชื่อว่ามนุษย์คือศูนย์กลางของโลกนี้

คนตะวันตกชอบสร้างอารยธรรม (ใหญ่) ของมนุษย์เท่านั้น โดยไม่คำนึงถึงโลกธรรมชาติเลย

ผมคิดว่า วันนี้ เราต้องเรียนรู้การสร้างอารยธรรมใหม่ ที่ยอมรับว่าธรรมชาติเป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่มนุษย์เป็นศูนย์กลาง

วันก่อนผมเจอเพื่อนคนหนึ่งเตือน

“ก่อนจะปลูกป่า ต้องวางแผนจะสร้างบ้านตรงไหนก่อน”

ผมบอกเพื่อนว่า

“ผมไม่เคยคิดวางแผน ตัวผมเองเล็กนิดเดียว จะอยู่ตรงไหนก็ได้ แค่กระท่อมเล็กๆ แทรกลงไปในพื้นที่เล็กๆ ก็พอแล้ว”

อาทิตย์ที่ผ่านมา ผมแวะไปพบเพื่อนท่านหนึ่งซึ่งเป็นอดีตนักธุรกิจใหญ่ บ้านท่านสร้างไว้นานแล้ว ใหญ่ราวกับคฤหาสน์

พอไปถึง เพื่อนท่านนี้ก็พาผมไปดูบ้านหลังใหม่ของท่าน ท่านปลูกบ้านหลังเล็กๆ ขึ้นใหม่บนพื้นที่เล็กๆ พอกับการนอน และมีห้องอ่านหนังสือขนาดจุ๋มจิ๋มประกอบกับบ้านเท่านั้น

นี่คือ ความสุขเล็กๆ ที่ท่านพบ

ผมหวนคิดถึงคำว่า “เล็กๆ แต่งดงาม” ในใจ

เล็กๆ พอตัว พอดี และงดงาม....ก็แค่นี้เอง

วัฒนธรรมแบบตะวันออกสอนเราว่า ที่แท้แล้ว เราคือส่วนหนึ่งของธรรมชาติ การคิดแบบตะวันออกช่วยให้เราตระหนักว่า โลกอนาคต คือโลกที่ธรรมชาติเป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่เราเป็นศูนย์กลาง

นี่คือ ฐานคิดเรื่องเมืองนิเวศน์ เมืองที่ไร้มลพิษ เมืองที่เขียวขจี เมืองที่ไม่มีขยะ เมืองที่มนุษย์อยู่ร่วมกับสัตว์และต้นไม้ได้ เมืองที่ผู้คนเอื้ออาทรต่อกัน เมืองที่ประกอบด้วยชุมชนและธุรกิจเล็กๆ อยู่รวมกันอย่างมีสุข

คิดเรื่องนี้แล้ว ก็ทำให้ผมคิดไปถึงเรื่องขนาดของเมืองสุโขทัยโบราณ หรือ กรุงรัตนโกสินทร์โบราณ เราจะพบว่าขนาดเมืองศูนย์กลางเล็กนิดเดียว

วันหนึ่ง ผมไปเที่ยวชมวัดพระแก้ว แล้วถามตัวเองว่า วังของเราทำไมจึงเล็กนิดเดียว ขนาดเล็กเท่านี้แล้วจะไปปกครองประเทศที่ใหญ่โตได้อย่างไร

คิดทบทวนไปมา ผมจึงคิดถึงหลักเต๋าที่ว่า ต้องให้ผู้ถูกปกครอง ปกครองตนเอง เรื่องอะไรเราต้องไปปกครองคนอื่นๆ ให้เหนื่อย เขาดูแลตัวเองได้ อย่างเช่น ล้านนาก็ดูแลปกครองตัวเองได้ นครศรีธรรมราชก็ดูแลปกครองตนเองได้ แล้ว...ทำไมเราต้องไปทำหน้าที่ดูแลเขา

คนไทยโบราณจึงนับว่าฉลาดมากๆ

นอกจากนี้ คนโบราณฉลาดคิดเชื่อม ระบบ หรือ หน่วยการปกครองที่เล็กๆ และงดงาม เข้าด้วยกัน ด้วยหลัก บ้านพี่เมืองน้อง

ทำไมสิงคโปร์และมาเลเซีย ประเทศเล็กๆ ที่ไม่มีทรัพยากรอะไรจึงเจริญกว่าเรา

ส่วนหนึ่งก็เพราะว่า ประเทศเล็กๆ ย่อมดูแลและปกครองได้ง่ายกว่าประเทศใหญ่ๆ

อย่างไรก็ตาม เราคงหนีไม่พ้นที่ต้องคิดถึงเรื่องใหญ่ๆ ไว้บ้าง

เวลาขงจื๊อท่านคิดเรื่องใหญ่ๆ อย่างเช่นเรื่องของ Empire ท่านจะคิดเรื่องเล็กๆ ก่อน และคิดจากเล็กไปหาใหญ่

แนวคิดตะวันตกมักจะเริ่มคิดจากเรื่องใหญ่ๆ ดูว่า อะไรสำคัญที่สุด และมองข้ามเรื่องเล็กๆ เพราะคิดว่า เล็กไม่สำคัญ หรือ สำคัญน้อยมาก จัดว่าเป็นเรื่องที่มองข้ามได้

ขงจื๊อคิดเรื่องประเทศชาติ ท่านกลับสอนว่า ต้องสร้างครอบครัว ชุมชน และวัฒนธรรมที่เข้มแข็งก่อน

ถ้าทำไม่สำเร็จ ทุกอย่างถือว่า “ล้มเหลวหมด”


เราจะคิดสร้างระบอบประชาธิปไตย เราก็ต้องคิดสร้างจากฐานครอบครัว ชุมชน และวัฒนธรรม ก่อน

นอกจากนี้ คนตะวันตกมักจะคิดแต่เรื่อง ระบบที่มีศูนย์อำนาจขนาดใหญ่ ความใหญ่ที่เต็มไปด้วยระเบียบหรือกฎเกณฑ์ เมื่อระบบไม่มีระเบียบ ก็พยายามสร้างระเบียบใหม่หรือแก้รัฐธรรมนูญ

วันนี้ โลกตะวันตกจึงเต็มไปด้วยกฎหมายและกฎเกณฑ์มากมาย

ระบบสังคมไทยวันนี้ก็ดูจะไม่ต่างกัน กฎหมายมหาศาลกลายเป็น กรอบ หรือ คอกขังผู้คน ผู้คนแม้จะมีชีวิตในระบบได้ แต่ก็อยู่อย่างไร้สุข

พวกเขาเรียกระบบอำนาจขนาดใหญ่ที่ทำหน้าที่ครอบเหนือหัวมนุษย์นี้ว่า “ประชาธิปไตย”

ชนชั้นนำไทยก็หลงเชื่อตามตะวันตก เราสร้างรัฐขนาดใหญ่มากๆ ขึ้น และให้สิทธิคนเพียงไปเลือกตั้ง แล้วเราก็เรียกว่า ‘ระบบประชาธิปไตย’

เรามองข้ามการสร้างฐานประชาธิปไตย

ขงจื๊อ แทนที่จะคิดสร้างกฎหมายมากมายมาครอบหัวประชาชน ขงจื๊อกลับคิดถึงเรื่อง
การสร้างระบบประเพณีและวัฒนธรรมที่งดงาม

ถ้าทุกคนอยู่ในประเพณีและวัฒนธรรมที่งดงาม เราไม่ต้องใช้กฎหมายมากมายมากดหัวประชาชน

ขงจื๊อจึงสอนว่า ต้องคิดสร้างระบบครอบครัว และระบบชุมชน ที่มีวัฒนธรรมยั่งยืนก่อน

นี่คือ ความฉลาดของขงจื้อ

หลังจากนั้น ขงจื๊อก็คิดว่า จะสร้างคนอย่างไรให้มีคุณธรรม และมีความรู้ในเวลาเดียวกัน ก่อนจะคิดสร้างระบบขนาดใหญ่

การคิดสร้างฐานการศึกษาของระบบ ก็คือ การคิดปลูกสร้างวัฒนธรรมที่งดงามในระดับครอบครัวและชุมชน

เพื่อช่วยสร้างวัฒนธรรมที่งดงาม ขงจื๊อให้ความสำคัญต่อการสร้างหน่วยการศึกษาแบบเล็กๆ จำนวนมากๆ

ขงจื๊อให้อิสระแก่หน่วยการศึกษาเหล่านี้ ไม่ต้องขึ้นตรงกับรัฐ ถือว่าเป็นศูนย์การสร้างและผลิตวัฒนธรรมและความรู้

ที่แท้ศูนย์เล็กๆ ก็คือ หัวใจของสร้างวัฒนธรรมครอบครัว ชุมชน และความเป็นเมือง

คนไทยโบราณยกย่องผู้มีการศึกษาและพระมากๆ เพราะคนเหล่านี้ทำหน้าที่ที่สำคัญยิ่งคือ การผลิตคนรุ่นใหม่ให้มีวัฒนธรรม มีคุณธรรม และมีความรู้

ขงจื๊อย้ำสอนว่า คุณธรรมต้องมาก่อนความรู้

เรามักจะมองข้ามเรื่องการศึกษาและวัฒนธรรม เพราะเราไปหลงให้ “ค่า” ต่อระบบการเมือง และเศรษฐกิจขนาดใหญ่ว่าสำคัญกว่าวัฒนธรรม

ถ้าคิดแบบตะวันออก ต้องเริ่มสร้างวัฒนธรรมที่งดงามก่อน

วัฒนธรรมประชาธิปไตยนั้นสร้างได้จากล่างขึ้นบน ไม่ใช่จากข้างบนลงสู่ข้างล่าง

ถ้าล่างเข้มแข็งงดงามก็จะกลายเป็นฐานผลิตวัฒนธรรมประชาธิปไตย และการสร้างการเมืองใหม่แบบประชาธิปไตยก็จะอุบัติขึ้น


เมื่อจะสร้างระบอบการเมืองการปกครอง ก็อย่าคิดเรื่องระบบกฎหมายก่อน แต่ต้องคิดก่อนว่า จะสร้างระบบวัฒนธรรมแบบไหนที่ให้ทุกคนอยู่ด้วยกันอย่างเอื้ออาทร อย่างมีส่วนร่วม และอย่างมีความสุข โดยใช้กฎหมายน้อยที่สุด

คำว่า ประชาธิปไตย คำว่า เอื้ออาทร และ คำว่า ความสุข น่าจะถือเป็นมรรควิธีหัวใจของการสร้างเมืองใหม่

ค่อยๆ รื้อระบบการเมืองและระบบราชการขนาดใหญ่แบบเก่าๆ ทิ้ง ร่วมกันสร้างเป็นระบบการเมืองแบบเล็กๆ แบบเครือข่ายที่ประกอบด้วยหน่วยขนาดเล็กๆ เต็มไปหมด

ที่สำคัญ เราต้องตระหนักว่า ประชาธิปไตย ไม่ใช่เรื่องของเป้าหมาย ไม่ใช่เรื่องของรูปแบบ อย่างที่คนตะวันตกคิด แต่ หัวใจของประชาธิปไตย อยู่ตรงขบวนการในการสร้างประชาธิปไตย คือ การรวมกันคิด ร่วมกันสร้าง ร่วมกันเป็นเจ้าของ

อย่างเช่น หากเราจะสร้างชุมชนเข้มแข็ง และเมืองนิเวศน์ หรือพรรคการเมืองที่เป็นพรรคมวลชน เราต้องเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายเข้ามาร่วมกันคิด ร่วมกันทำ นี่คือสิ่งที่เรียกว่า ประชาธิปไตย

มองในแง่นี้ ผมจึงเข้าใจว่า ประชาธิปไตย จึงเป็นทั้ง ‘ขบวนการ’ และ ‘เป้าหมาย’ ในตัวเอง

สุดท้ายที่ผมฝากให้คิดคือ หลักเต๋าเรื่อง หยาง และ หยิน ถ้ารู้วิถีประสานเป็นหนึ่งก็จะก่อเกิดประโยชน์ยิ่งใหญ่

เราน่าจะนำเอาหลักนี้มาปรับใช้กับความจริงในปัจจุบัน

อย่างเช่น โลกธุรกิจปัจจุบัน คือโลกที่แยกกันเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายแรงงาน และ ฝ่ายนายจ้าง ถ้าคิดแบบเต๋า เราจะพบว่าการประสานพลังที่ตรงข้ามกันเป็นหนึ่งจะสามารถก่อประโยชน์ให้กับทุกฝ่ายได้ยิ่งหน่วยธุรกิจที่มีขนาดเล็กๆ ทั่วไป ก็สามารถทำได้หมด

ลองคิดง่ายๆ ถ้านายจ้างดูแลลูกจ้างดี ลูกจ้างก็จะช่วยดูแลเอาใจใส่งานดี เช่นกัน

นี่คือ หลักธุรกิจแบบเอื้ออาทร ถ้าเราเอาหลักนี้มาขยาย เราอาจจะพบวิธีการสร้างระบบสังคมเอื้ออาทรและระบบสวัสดิการวิถีไทยขึ้นมาได้

หลักหยางประสานหยินนี้สามารถใช้ได้ในหลายเงื่อนไข และสามารถนำมาสร้างเป็นยุทธศาสตร์หลักในการสร้างพลังสร้างสรรค์สิ่งใหม่ได้

วันก่อน ผมไปเที่ยวชมทำเนียบรัฐบาล และแอบศึกษาขบวนพันธมิตรฯ ผมถามตัวเองว่าขบวนพันธมิตรฯ ยิ่งใหญ่ และเข้มแข็งได้อย่างไร

ผมพบว่า กองทัพพันธมิตรฯ ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ผู้หญิงจัดเป็นฐานแห่งพลังแบบหยินซึ่งมั่นคง และยืนหยัด ฝ่ายผู้ชายเป็นฐานของหยางซึ่งทำหน้าที่นำและเป็นกำลังรบ

พลังพันธมิตรฯ นี้ จึงแข็ง “นอก” แต่ “อ่อน” ใน

“อ่อน” ในที่นี้ ก่อรูปขึ้นราวกับเป็นพลังที่เอื้ออาทรต่อกัน

ใครมีกำลังทรัพย์ ก็ช่วยทรัพย์

ใครมีแรง ก็ช่วยแรง

ใครมีปัญญา ก็นำปัญญามาช่วย

พันธมิตรฯ จึงดูราวกับเป็นชุมชนเข้มแข็ง หรือเป็นขบวนการที่ต่อสู้แบบหยางแต่มีจิตวิญญาณเป็นหยิน

จิตวิญญาณหยิน คือ เปิดกว้าง ยืดหยุ่น และพลิกแพลง

บางครั้ง อาจจะมีโอเวอร์อยู่บ้าง ก็อยู่ที่โอเวอร์หยาง

แต่ถ้าเรารู้จักประสานหยางและหยินเป็นหนึ่ง หรือประสานฟ้าดินเป็นหนึ่ง รู้จักหลักยืดหยุ่น พลิกแพลง และรู้จัก “หยุด” บ้าง

ความสำเร็จในอนาคตก็จะปรากฏขึ้นเอง

กำลังโหลดความคิดเห็น