xs
xsm
sm
md
lg

ข้อคิดทางการเมือง

เผยแพร่:   โดย: ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน

สังคมมนุษย์มีทั้งคนดีและคนไม่ดี มีทั้งรัฐบาลที่ปกครองบริหารด้วยคุณธรรมและรัฐบาลทรราช กระบวนการทางการเมืองมีทั้งที่บริสุทธิ์และเที่ยงธรรม และที่ฉ้อโกง ฉ้อฉล ข่มขู่และคุกคาม ขณะเดียวกันผู้ดำรงตำแหน่งอำนาจที่เป็นคนดีก็มีอยู่มาก ที่ละเมิดอำนาจก็ปรากฏอยู่ทั้งในประวัติศาสตร์และในปัจจุบัน นักคิดที่เฝ้ามองเหตุการณ์ดังกล่าวจึงได้แสดงความคิดเห็นที่มีเป็นลักษณะสะท้อนถึงความคิด หลักการและปรัชญา ซึ่งถ้าอ่านให้ละเอียดและพินิจพิเคราะห์ก็จะทำให้เกิดความเข้าใจและเกิดประโยชน์ได้ ความคิด หลักการและปรัชญา ที่จะยกมาให้เห็นนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจติดตามปัญหาทางการเมือง การปกครองบริหารและสังคม ได้ในระดับหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสความว่า

“...ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้คนทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุข เรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้...” (พระบรมราโชวาทในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ 6 วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2512)

พระราชดำรัสดังกล่าวนั้นสะท้อนถึงความเป็นจริงอย่างยิ่ง เพราะไม่มีใครจะคาดหวังว่าทุกคนจะเป็นคนดีหมด คนดีมักจะเจือปนกับคนไม่ดี แต่ระบบการเมืองนั้นจะต้องมีความสามารถสกัดกั้นไม่ให้คนไม่ดีเข้ามามีอำนาจและก่อความวุ่นวาย ระบบใดก็ตามที่ไม่เปิดโอกาสให้คนดีมีความรู้ความสามารถ มีคุณธรรม ซื่อสัตย์สุจริต เข้ามาปกครองบริหารประเทศ ระบบนั้นเป็นระบบที่บกพร่อง เพราะผลผลิตจะเป็นพยานหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่าระบบดังกล่าวนั้นควรที่ปกปักรักษาไว้ หรือควรที่จะปรับปรุงขนานใหญ่

ขงจื๊อกล่าวว่า “ถ้าท่านต้องการจะยืนขึ้น ท่านต้องช่วยคนอื่นยืนขึ้นได้ด้วย ถ้าท่านต้องการบรรลุเป้าหมาย ท่านต้องช่วยคนอื่นบรรลุเป้าหมายด้วย สิ่งที่ท่านไม่ต้องการอย่านำมาให้กับผู้อื่น” คำพูดของขงจื๊อข้างต้นนั้นหมายถึงการอยู่กันด้วยความสันติ ร่วมมือกัน ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันมากกว่าการแข่งขัน กล่าวคือ ถ้าตนเองต้องการมีความสุข ความสำเร็จ ก็ควรจะช่วยคนอื่นประสบความสำเร็จด้วย โลกจึงจะถึงซึ่งความไพบูลย์อย่างแท้จริง แต่ที่สำคัญ อะไรก็ตามที่เราไม่ชอบให้คนอื่นทำกับเรา เช่น การก่อสงคราม เราก็ไม่ควรจะกระทำสิ่งนั้นต่อผู้อื่น คำพูดของขงจื๊อดังกล่าวนี้เน้นถึงความสมานฉันท์และมีผลประโยชน์ร่วมกัน

เพลโตกล่าวไว้ทำนองว่า “บทลงโทษที่ผู้ฉลาดที่ปฏิเสธไม่ยอมมีส่วนร่วมในการปกครองบริหารประเทศได้รับ ก็คือการที่ต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองบริหารของคนที่มีคุณภาพเลวกว่า” คำพูดดังกล่าวของเพลโตก็คือ คนซึ่งมีความรู้ความสามารถเมื่อมีโอกาสจะเข้าไปบริหารบ้านเมือง แต่เนื่องจากความไม่กล้าหรือความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว หลีกเลี่ยงที่จะเสี่ยงต่อการเข้าไปเกี่ยวข้องเรื่องของบ้านเมือง ก็จะต้องได้รับผลกระทบในทางลบซึ่งถือเป็นบทลงโทษซึ่งต้องรับความทุกข์ทรมาน ซึ่งก็คือการเห็นคนเลวปกครองบ้านเมือง และเมื่อเปลี่ยนใจจะเข้าไปกู้สถานการณ์ด้วยการกู้ชาติกู้แผ่นดิน เหตุการณ์ก็อาจจะสายเกินแก้

อริสโตเติล กล่าวว่า “ศักดิ์ศรีไม่ได้อยู่ที่การได้รับเกียรติ หากแต่อยู่ที่สมควรได้รับเกียรตินั้นหรือไม่” คนบางคนหาวิธีง่ายๆ ด้วยการซื้อปริญญาโดยคิดว่านั่นคือการมีศักดิ์ศรีเพราะจบปริญญาเอก แต่ทั้งๆ ที่รู้ว่าปริญญาที่ซื้อมาโดยที่ไม่มีความรู้อย่างแท้จริงเป็นการหลอกคนอื่น เป็นคนลวงโลกว่าตนนั้นจบปริญญาเอก อริสโตเติลถือว่าคนเหล่านี้ไม่มีศักดิ์ศรีแม้จะหลอกลวงก็ตาม เพราะศักดิ์ศรีจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อสมควรได้รับเกียรติอันสูงส่งนั้น ซึ่งจะต้องไม่ใช่เกียรติที่มาจากการหลอกลวง

อเล็กซานเดอร์มหาราช ได้กล่าวไว้ทำนองว่า “กองทัพแกะที่นำโดยสิงโตย่อมมีพลังอำนาจมากกว่ากองทัพสิงโตที่นำโดยแกะ” ในแง่ของสงครามถ้ามีแม่ทัพที่เก่งกล้าสามารถแม้กองทหารจะไม่มีความสามารถในการรบมากนัก แต่ก็จะกลายเป็นกองทัพที่มีความสำคัญขึ้นมาทันที นอกจากนั้นเมื่อแกะนำโดยสิงโตแกะก็จะกลายเป็นสิงโตได้ในบั้นปลาย

ขณะเดียวกันกองทัพสิงโตที่เป็นนักรบที่แข็งแกร่งหากแต่นำโดยแม่ทัพที่เป็นแกะ กองทัพสิงโตดังกล่าวก็จะไม่สามารถทำการรบพุ่งได้ดีเพราะมีผู้นำที่ไร้ความสามารถและอ่อนแอ และอยู่ไปถึงจุดๆ หนึ่งสิงโตทั้งหลายก็จะกลายเป็นแกะไปด้วย ทำนองเดียวกับการปกครองบริหาร ถ้าได้ผู้นำที่มีความรู้ความสามารถ ซื่อสัตย์สุจริต มีความเสียสละ ก็จะสามารถนำประเทศไปสู่การพัฒนาและความรุ่งเรืองได้ แม้ประชาชนส่วนใหญ่จะมีฐานะยากจนและระดับการศึกษาไม่สูง ผู้นำเช่นนี้สามารถจะมุ่งเน้นการพัฒนาประเทศจนระดับความรู้และฐานะทางเศรษฐกิจของประชาชนกระเตื้องขึ้นได้ กลับกัน ประเทศที่มีคนมีความรู้ความสามารถมีอยู่แต่ได้ผู้นำที่ไม่ดี ก็อาจนำประเทศลงเหวไปสู่ความหายนะได้ เนื่องจากการฉ้อราษฎร์บังหลวงและการมีนโยบายที่ผิดๆ ซึ่งก็มีตัวอย่างอยู่หลายประเทศ

ประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี รุสเวลท์ กล่าวว่า “เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจะไร้ประโยชน์ถ้าบุคคลผู้นั้นไม่มีอะไรจะพูด และเสรีภาพในการนับถือศาสนาก็จะเปล่าประโยชน์ถ้าบุคคลผู้นั้นได้สูญเสียพระเจ้าไปแล้ว” ความหมายของประธานาธิบดีแฟงคลินก็คือ แม้ภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ทุกคนควรมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์สังคม เศรษฐกิจและการเมือง แต่เสรีภาพดังกล่าวจะไร้ประโยชน์ถ้าบุคคลนั้นไม่มีข่าวสารข้อมูล ไม่มีความรู้ คิดวิเคราะห์ไม่เป็น พูดจาโดยไร้เหตุไร้ผล ดันทุรังโดยขาดวุฒิภาวะ เสรีภาพดังกล่าวก็เปล่าประโยชน์เพราะผู้พูดไม่มีภูมิปัญญาที่จะกล่าวอะไรในทางสร้างสรรค์

ขณะเดียวกันผู้ซึ่งหมดศรัทธาในพระเจ้า หรือผู้ซึ่งอ้างตัวเองว่าเป็นพุทธ แต่พฤติกรรมขาดความเป็นพุทธ เช่น ขาดความเมตตากรุณา ขาดการใช้สติปัญญาในการวิเคราะห์ประเด็นต่างๆ เสรีภาพนั้นก็ไม่ก่อประโยชน์อันใด ถึงจะมีหรือไม่มีก็มีผลลงท้ายเช่นเดียวกัน

ประธานาธิบดีแฟรงคลินยังกล่าวต่อว่า “สิ่งเดียวที่เราจะต้องกลัวก็คือการมีความกลัว” ซึ่งหมายความว่าความกลัวเมื่อมีขึ้นจะทำให้คนไม่กล้าทำอะไร ทำให้ขาดความคิดริเริ่มไม่กล้าตัดสินใจ ซึ่งตรงกับสุภาษิตไทยว่า “ความกลัวทำให้เสื่อม” เพราะฉะนั้นสิ่งที่น่ากลัวที่สุดสำหรับมนุษย์โดยเฉพาะผู้นำก็คือการมีความกลัว ไม่กล้าตัดสินใจ หรือไม่กล้าที่จะใช้อำนาจที่มีอยู่บริหารประเทศให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม กลัวว่าจะทำให้คนอื่นผิดหวัง กลัวว่าคนอื่นจะเสียใจ จนไม่กล้ากระทำสิ่งถูกต้อง

ลอร์ด แอคตัน กล่าวไว้ว่า “อำนาจมีแนวโน้มที่จะทำให้คนเสียคน อำนาจเด็ดขาดจะทำให้คนเสียคนเด็ดขาดยิ่งขึ้น” กล่าวคือ คนที่ดำรงตำแหน่งอำนาจถ้าไม่เตือนตัวเอง ถ้าไม่ระมัดระวังจนนำไปสู่การหลงอำนาจ ลุแก่อำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคนแวดล้อมช่วยส่งเสริมให้เดินทางไปสู่เหวลึก คนคนนั้นก็จะทำลายตัวเองในที่สุด การมีอำนาจมากขึ้นเท่าใดก็ยิ่งมีแนวโน้มที่จะใช้อำนาจผิดๆ ทำให้เกิดการเสียคนในระดับที่สูงขึ้น หลายคนบอกว่าอำนาจเป็นของอร่อยกินแล้วติดใจ แต่อำนาจก็มีส่วนที่เป็นยาพิษเข่นฆ่าผู้หลงและลุแก่อำนาจมามากแล้ว ตัวอย่างเช่น ฮิตเลอร์ มีคนแปลคำกล่าวของลอร์ด แอคตัน โดยหาแหล่งที่มาไม่ได้คือ

ที่ใดมีอำนาจ
ที่นั่นย่อมมีการฉ้อฉล
ที่ใดมีอำนาจเหลือล้น
ที่นั่นย่อมมีการฉ้อฉลสุดประมาณ


ขอจบด้วยคำพูดของมหาตมะ คานธี มหาบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของอินเดียที่ยก บาป 7 ประการมาให้เป็นเครื่องเตือนสติ โดยครอบคลุมกิจกรรมของมนุษย์ในหลายๆ ด้านด้วยกัน

- เล่นการเมืองโดยไม่มีหลักการ

- หาความสุขสำราญโดยไม่ยั้งคิด

- ร่ำรวยเป็นอกนิษฐ์โดยไม่ต้องทำงาน

- มีความรู้มหาศาลโดยประพฤติไม่ดี

- ค้าขายโดยไม่มีหลักศีลหลักธรรม

- วิทยาศาสตร์เลิศล้ำแต่ไม่มีธรรมแห่งมนุษย์

- บูชาสูงสุดแต่ไม่มีความเสียสละ
กำลังโหลดความคิดเห็น