xs
xsm
sm
md
lg

“เซิร์บ-โครแอต” ศึกสะเทือนเทนนิสโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แกรนด์สแลมแรกของนักเทนนิสเซอร์เบีย
การแข่งขันแกรนด์สแลมรายการสุดท้ายอย่างยูเอส โอเพ่นที่เพิ่งจบไปเมื่อช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมาพร้อมกับผลงานแชมป์สมัยที่ 5 ของโรเจอร์ เฟเดอเรอร์ นักเทนนิสชาวสวิส แม้จะเป็นผลการแข่งขันที่คนในวงการคาดเอาไว้แล้ว แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า เฟด-เอ็กซ์ เคยพ่ายแพ้ให้กับ โนวัก โยโควิช ในรอบรองชนะเลิศของแกรนด์สแลมออสเตรเลี่ยน โอเพ่น ก่อนที่หนุ่มเซิร์บคว้าสแลมแรกในชีวิตมากอดได้สำเร็จ และนับตั้งแต่ห้วงเวลาดังกล่าวจนถึงปัจจุบันวงการหวดลูกสักหลาดชายที่เคยถูกยึดพื้นที่จาก มหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา สเปน รัสเซียหรือแม้กระทั่ง อาร์เจนตินาแล้ว เวลานี้ชาติที่ดูมีราคาไม่แพ้กันเห็นจะเป็น เซอร์เบีย และ โครเอเชีย สองชาติที่มีพรมแดนติดกันริมฝั่งทะเลเอเดรียติกที่ต้องแยกจากกันเพียงเพราะเหตุผลทางศาสนาเมื่อ 10 กว่าปีก่อน

หากพิจารณาตารางนักเทนนิสชายของเอทีพี ทัวร์ 100 คนแรก นับถึงวันนี้มีชื่อของนักเทนนิสเซิร์บ 3 คน และนักหวดโครแอตถึง 5 คน ซึ่งแม้นักหวดจาก 2 ชาตินี้จะมีรูปร่างและนามสกุลคล้ายคลึงกัน แต่หากมองในเชิงเทนนิสแล้ว บ้านพี่เมืองน้อง “เบลเกรด-ซาเกรบ”ต่างมีสไตล์การเล่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยนักหวดจากเซอร์เบีย ส่วนใหญ่จะมีวงสวิง และ จังหวะการก้าวเท้าที่เป็นธรรมชาติ ถนัดการตีโต้ลูกท้ายคอร์ต ซึ่งแน่นอนว่า สรีระร่างกายของพวกเขาไม่ได้สูงใหญ่จนเกินไปนัก ส่วนทัศนะคติในเชิงเทนนิสของหวดเซิร์บมักจะเยือกเย็นไม่เร่งโจมตียิงลูกหวังทำลายล้างคู่ต่อสู้มากจนเกินไป ซึ่งคุณสมบัติที่ว่ามานี้ คนที่ถ่ายทอดออกมาได้ชัดเจนที่สุดเห็นจะเป็น โนวัค ยอโควิช มือ 3 ของโลกที่มีรูปร่างผอมสูง มีลูกเสิร์ฟอันตรายพอสมควร แต่มีความเหนี่ยวแน่นคงเส้นคงวาเป็นจุดขายหลัก

ขณะที่นักเทนนิสเลือดโครแอต เกือบทั้งหมดมีส่วนสูงเกิน 190 เซนติเมตรขึ้นไป และที่สำคัญเสิร์ฟหนักทุกรายสำหรับที่มาของสไตล์เสิร์ฟตะบันเต็มข้อนี้ น่าจะถอดมาจาก โกรัน อิวานิเซวิช เจ้าของฉายา “จอมเสิร์ฟพลังช้าง” โดย อิวานิเซวิช เคยเข้าชิงชนะเลิศวิมเบิลดันมาถึง 3 ครั้งในช่วงทศวรรษ 90 แต่กว่าจะประสบความสำเร็จก็ต้องรอมาถึงปี 2001 ในความพยายามครั้งที่ 4 เมื่อเขาสามารถโค่น แพตทริก ราฟเตอร์ อดีตมือ 1 โลกชาวออสเตรเลียลงได้ใน 5 เซต นำถ้วยแชมป์ใบงามกลับสู่แผ่นดินหมากรุกแดงขาวได้เป็นครั้งแรกท่ามกลางเสียงสรรเสริญยินดีจากพี่น้องร่วมชาติกว่า 4 ล้านคน

ขณะที่นักเทนนิสจากเซอร์เบีย นั้นแม้จะไม่ประสบความสำเร็จในทศวรรษที่ 80 แต่หลังจากใชัเวลาพัฒนาเกือบสิบปี โนวัค ยอโควิช ดาวรุ่งวัย 21 ปี ก็สามารถทะลุผ่าน โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ในรอบรองชนะเลิศ และ โจ-วิลเฟรด ซองกา ดาวรุ่งเลือดน้ำหอมในรอบชิงฯ คว้าแชมป์ ออสเตรเลียน โอเพน 2008 มาครองได้สำเร็จความสำเร็จของ ยอโควิช ส่วนหนึ่งต้องยกความดีความชอบให้กับ เทนนิส อคาเดมี ของ นิโคลา พิลิช ในเยอรมัน ที่เป็นเบ้าหลอมบ่มเพาะฝีมือของหนุ่มเซิร์บผู้นี้มาตั้งแต่อายุ 12 ขวบ โดย เจ้าของอคาเดมีนาม พิลิช นั้นไม่ใช่ใครที่ไหน เขาผู้นี้ก็คือกัปตันทีมโครเอเชียชุดแชมป์ เทนนิสทีมชายชิงแชมป์โลก หรือ เดวิส คัพในปี 2005 นั่นเอง

ทั้งนี้ความสำเร็จของทีมเดวิส คัพเมืองหมากรุกนับว่าตรงกันข้ามกับทีมเพื่อนบ้านทางตะวันออกโดยสิ้นเชิง โดยนับตั้งแต่โครเอเชียประกาศเอกราชแยกออกไป ทางฝั่ง เซอร์เบีย หรือ ยูโกสลาเวียเดิมต้องรอคอยนานถึง 14 ปีกว่าจะผ่านเข้าไปเล่นรอบเวิล์ด กรุป ได้เป็นครั้งแรกในปีนี้ แต่ก็ต้องแพ้ทีมเทนนิสรัสเซียซึ่งเป็นเจ้าถิ่นไปแบบสู้ไม่ได้ ส่งผลให้ต้องมาเหนื่อยหนักปะทะกับทีมชาติ สโลวาเกีย ในรอบเพลย์ออฟเพื่อรักษาสถานะภาพเวิล์ดกรุปต่อไปในปีหน้า

ถึงเวลานี้อนาคตวงการลูกสักหลาดเซิร์บเรียกได้ว่ามี ยอโควิช เป็นความหวังหนึ่งเดียว ส่วนนักหวดที่มีอันดับโลกรองลงมาอย่าง ยานโก ทิปซาเรวิช ก็ยังไม่สามารถคว้าแชมป์ประเภทเดี่ยวในเอทีพี ทัวร์ ได้ ทั้งๆที่เล่นจนพ้นช่วงวัยรุ่นมาแล้ว ขณะที่ เนหนาด ซิมอนยิช คู่มือหนึ่งโลกวัย 32 ปี แม้จะเพิ่งคว้าแชมป์ชายคู่วิมเบิลดันมาได้เมื่อกลางปี แต่แฟนหวดเซิร์บก็คงภูมิใจได้ไม่เต็มที่ เพราะความสำเร็จที่ได้มา ครึ่งหนึ่งยังต้องอาศัยพาร์ตเนอร์ชาวแคนาดาอย่าง แดเนียล เนสเตอร์

ส่วนโครเอเชียนั้นดูเหมือนจะอยู่ในสถานการณ์ที่ตรงกันข้ามกับเซอร์เบียร์ เมื่อ อีโว คาร์โลวิช มือ 14 ของโลกที่แม้อายุจะ 29 ปีแล้ว แต่ฟอร์มกลับแรงขึ้นมาเหลือเชื่อจนชั่วโมงนี้ขึ้นมารั้งมือ 14 ของโลก โดยนับตั้งแต่เดือนเมษายนปีที่แล้ว คาร์โลวิช อาศัยความสูง 208 เซนติเมตร กดแชมป์มาถึง 4 รายการ ขณะที่ มาริน ซิลิช มือ 22 ของโลกแม้อายุจะระอ่อนแค่ 19 ปี แต่ก็ประเดิมแชมป์เอทีพีรายการแรกในชีวิตเป็นเรียบร้อยแล้วเมื่อเดือนก่อน ส่วน มาริโอ อันซิช หนุ่มหน้าหยกอันดับ 31 ของโลก ช่วง 2 ปีมานี้อาจจะถูกอาการบาดเจ็บเล่นงาน แต่อย่างน้อยเขาผู้นี้ก็เคยทะยานขึ้นไปอยู่ที่ 7 ของโลก อีกทั้งฉายา “เบบี้ โกรัน อีวานิเซวิช” ก็คงพอจะสะท้อนได้ว่าชาวโครแอตภูมิใจกับหนุ่มคนนี้ขนาดไหน

หากสรุปผลงานของนักเทนนิสสายเลือดเดียวกันที่ต้องกลายมาเป็นศัตรูในวงการลูกสักหลาด จะเห็นว่าเทนนิสของเซอร์เบียประสบความสำเร็จในแต่ละขั้นช้ากว่าโครเอเชียเสมอไม่ว่าจะแกรนด์สแลมรายการแรกหรือแชมป์เดวิส คัพ ที่โครเอเชียคว้ามาครองได้สำเร็จแล้วหนึ่งสมัย ขณะที่เซอร์เบีย ทำได้ดีที่สุดเพียงแค่รอบแรกเวิล์ดกรุปเท่านั้น หรือหากชาวเซอร์เบียจะเถียงว่า ยอโควิช นั้นอยู่ในอันดับมือ 3 ของโลก แต่ชาวโครแอตก็ยังอ้างได้ว่า อิวาน ลูบิชิช ก็เคยขึ้นไปอยู่จุดนั้นมาแล้วเช่นกัน

ด้วยความที่เป็นบ้านพี่เมืองน้อง มีพรมแดนติดกันและครั้งหนึ่งก็เคยรวมเป็นประเทศเดียวกันมาจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่นักเทนนิสชายทั้งสองชาติต่างต้องฟาดฟันกันจนสุดความสามารถเพื่อให้ได้มาเพื่อชัยชนะ แต่อีกทางหนึ่งของการขับเคี่ยวครั้งนี้ย่อมกระเพื่อมถึงเหล่าขั้วอำนาจเก่าแห่งวงการลูกสักหลาดโลกที่ยึดครองพื้นที่มาช้านาน ให้ต้องหันกลับมาดูคู่ต่อสู้จากทั้งสองชาติ ที่กำลังกวดตามหลังมาชนิดหายใจรดต้นคอเลยทีเดียว
โนวัค ยอโควิช ความหวังของชาวเซิร์บ
กอรัน อิวานิเซวิก กับแกรนด์สแลมของโครแอต
ทีมเดวิสคัพของโครเอเชีย
กำลังโหลดความคิดเห็น