xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมชงตั้งประธานกทพ.-ร.ฟ.ท.คนใหม่"สันติ"เซ็งรถไฟสีเขียวหลุดเป้าแผนสิ้นปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน-เตรียมเสนอ"สร้อยทิพย์"นั่งประธานบอร์ดกทพ.ขณะที่ "ชัยสวัสดิ์"ไขก๊อกประธานบอร์ดร.ฟ.ท.อีกตำแหน่งคาด "ถวัลย์รัฐ"เสียบแทน "สันติ"ยอมรับครม.ตีกลับให้รฟม.คุมรถไฟฟ้าสีเขียวทำ หลุดเป้าแผนสิ้นปีที่จะดันอีก 4 สายให้เสร็จ หลังมีเสียงค้านหวั่นขัดกฎหมาย ต้องตั้งกรรมการเคลียร์ก่อน

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า คาดว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 18 พ.ย.นี้ จะมีการเสนอชื่อนางสรัอยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ผ้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นประธานคณะกรรมการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) หลังจากที่นายสุรชัย ธารสิทธิ์พงษ์ ปลัดกระทรวงคมนาคมได้ขอลาออก นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมยังอยู่ระหว่างการพิจารณาแต่งตั้งประธานคณะกรรมการ การถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) คนใหม่ แทนนายชัยสวัสดิ์ กิตติพรไพบูลย์ อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม ทีได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งประธานบอร์ดร.ฟ.ท.ต่อนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2551 ที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะเสนอชื่อนายถวัลย์รัฐ อ่อนศิระ รองปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธานบอร์ดร.ฟ.ท.คนใหม่

แหล่งข่าวกล่าวว่า นายสันติ รมว.คมนาคมต้องการเร่งรัดการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าที่เหลืออีก 4 สาย ตามที่รัฐบาลได้ประกาศนโยบายไว้ให้เรียบร้อยภายในปีนี้ ประกอบด้วย 1. รถไฟสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26 กิโลเมตร วงเงินลงทุนประมาณ7.7 หมื่นล้านบาท 2. รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย (หัวลำโพง-บางแคและ บางซื่อ-ท่าพระ) ระยะทาง 27 กิโลเมตร วงเงินประมาณ 8 หมื่นล้านบาท 3. รถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม (หมอชิต-สะพานใหม่) ระยะทาง 12 กิโลเมตร งบประมาณก่อสร้างระบบโยธาวงเงิน 16,446 ล้านบาท 4. รถไฟฟ้าสายสีเขียวอ่อน (แบริ่ง-สมุทรปราการ) ระยะทาง 13 กิโลเมตร วงเงินก่อสร้างประมาณ 15,134 ล้านบาท

โดยหลังจากที่ประชุมครม.เมื่อวันที่ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณากรณีที่มีข้อโต้แย้งว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบในการก่อสร้างระหว่าง กรุงเทพมหานคร (กทม.) หรือการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยมีนายโอฬาร ไชยประวัติ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เนื่องจากที่ประชุมครม.ยังมีความกังวลในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายรัฐธรรมนูญปี 2535 ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้มอบอำนาจกทม.เป็นผู้บริหารรถไฟฟ้าบีทีเอสและเป็นคู่สัญญากับ บีทีเอส หากให้รฟม.เป็นหน่วยงานเป็นเจ้าของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวอาจขัดกฎหมายฉบับดังกล่าวได้ แม้ว่ากระทรวงคมนาคมจะยืนยันว่า ขณะนี้ ใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 อยู่ก็ตาม จึงต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อประเมินข้อมูลทั้งหมดก่อน ดังนั้นเชื่อว่า รถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้ง 2 สายอาจจะต้องล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้แน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น