xs
xsm
sm
md
lg

ไทยแอร์ฯยกเลิกฟิวเซอร์ชาร์จ ดึงคนกู้ยอดฝ่าวิกฤติท่องเที่ยว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แอร์เอเชีย นำร่อง เปิดศึกชิงลูกค้า รับมือผลพวงจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกและปัญหาการเมืองไทย ที่จะกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และ การเดินทาง ตั้งแต่ปลายปีนี้ ต่อเนื่องถึงปี หน้า คิกออฟ 2 แคมเปญใหญ่ ยกเลิกฟิวเซอร์ชาร์จ และ ตั๋วโดยสารฟรี หวังดึงผู้โดยสารให้ถึงเป้าหมายสิ้นปีนี้ที่ 4.7 ล้านคน และปีหน้า 5.2 ล้านคน

นายทัศพล แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบิน ไทยแอร์เอเชีย เปิดเผยว่า บริษัทฯตัดสินใจยกเลิกการเก็บค่าภาษีน้ำมัน หรือฟิวเซอร์ชาร์จ เป็นรายแรกในโลก ในทุกเส้นทางบินของสายการบินไทยแอร์เอเชีย มีผลตั้งแต่วันที่ 11 พ.ย.2551

นอกจากนั้น ยังออกแคมเปญกระตุ้นยอดขาย Free Seats No fuel surcharge ด้วยตั๋วราคาพิเศษ 0 บาท จำนวน 65,000 ที่นั่ง สำหรับผู้ที่จองซื้อตั๋วโดยสารของไทยแอร์เอเชียระหว่างวันที่ 11-16 พ.ย.ศกนี้ สำหรับบินในวันที่ 22 มิ.ย.52-24 ต.ค.52 ใน 18 เส้นทางทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น เชียงใหม่ เชียงราย อุดรธานี ปีนัง มาเก๊า สิงคโปร์ ฮานอย เซี๊ยเหมิน จาการ์ต้า เป็นต้น ซึ่งแคมเปญ Free Seats จะทำพร้อมกันทั้งแอร์เอเชียกรุ๊ป โดยมีเป้าหมายที่ 500,000 ที่นั่ง

ทั้งนี้ จากแผนการตลาดดังกล่าวข้างต้น คาดว่าจะทำให้ไทยแอร์เอเชีย มีอัตราขนส่งผู้โดยสารต่อเที่ยว (โหลดแฟกเตอร์) เพิ่มขึ้นเป็น 85-90% ในช่วง 2 เดือนที่เหลือของปีนี้ และยาวไปถึงปีหน้า จากปัจจุบัน โหลดแฟกเตอร์ อยู่ที่ประมาณ 78-80% โดยจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นจะเข้ามาชดเชย ยอดผู้โดยสารที่หายไปช่วงเดือน กันยายนที่ผ่าน ซึ่งเป็นผลจากการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ ข่าวการปิดสนามบิน

โดยบริษัทหวังว่าแคมเปญนี้ จะช่วยกระตุ้นให้คนไทยและต่างชาติในประเทศย่านอาเซียน ได้เดินทางท่องเที่ยวกันคึกคักมากขึ้น ส่งผลให้บริษัทมีผลดำเนินการตามเป้าหมายที่วางไว้ปีนี้ ที่จะขนผู้โดยสารได้รวมทั้งหมด 4.7 ล้านคน และปีหน้าตั้งเป้าขนผู้โดยสารได้ทั้งปีที่ 5.2 ล้านคน พร้อมตอกย้ำสโลแกนของบริษัทที่ว่า "ใครๆ ก็บินได้" ซึ่งหากสถานการณ์ปกติ เราคงตั้งเป้าหมายปีหน้าที่ 5.5 หรือ 5.6 ล้านคน

ปัจจุบันราคาน้ำมันเชื้อเพลิงลดลงต่อเนื่อง จาก 160 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล มาอยู่ที่ กว่า 60 เหรียญต่อบาเรล แม้จะไม่เท่ากับวันแรก ที่ไทยแอร์เอเชียเริ่มบินเมื่อ 5 ปีก่อน ที่ราคาน้ำมันอยู่ที่ประมาณ 35 เหรียญต่อบาเรล แต่ก็เห็นว่าสมควรที่จะยกเลิกเก็บค่าฟิวเซอร์ชาร์จ ซึ่งเก็บที่ราคา 600 บาท ต่อที่นั่งสำหรับเส้นทางบินในประเทศ ส่วนเส้นทางต่างประเทศ เก็บตามระยะทางเริ่มตั้งแต่ 600-950 บาท ต่อที่นั่ง โดยหวังจะกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวกันมากขึ้น เนื่องจากยอมรับว่า จากปัญหาวิกฤตการเงินในสหรัฐ กระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวระยะไกลลดลง ขณะที่ปัญหาการเมืองภายในประเทศ ก็ทำให้นักท่องเที่ยวระยะใกล้ เช่น เกาหลี จีน ลดลงเช่นกัน จึงต้องการกระตุ้นตลาดคนไทยใช้ช่วงเวลานี้ ออกมาเดินทางท่องเที่ยว ด้วยตั๋วเครื่องบินราคาประหยัด สมกับสโลแกนของ ททท. ที่ว่า "เที่ยวไทยครึกครื้น เศรษฐกิจไทยคึกคัก"

"ชาวต่างชาติ ที่ใช้บริการไทยแอร์เอเชีย 80% มาจากประเทศย่านอาเซียน อีก 20% เป็นตลาดอื่นๆ ซึ่งจากวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐที่เกิดขึ้นนี้ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวระยะไกล ซึ่งเป็นลูกค้าของเรา หายไปราว 5% แต่มั่นใจว่าแคมเปญนี้จะดึงนักท่องเที่ยวย่านอาเซียนและตลาดคนไทยเข้ามาชดเชยได้ ซึ่งในส่วนของราคาน้ำมันยอมรับว่ายังไม่นิ่ง แต่บริษัทจะพิจารณาเริ่มเก็บค่าฟิวเซอร์ชาร์จอีกครั้ง เมื่อราคาน้ำมันกลับขึ้นไปอยู่ที่ 80 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล แต่ก็ขึ้นกับว่า หากมีผู้โดยสารมาใช้บริการจำนวนมาก มีโหลดแฟกเตอร์ไม่ต่ำกว่า 80-85% ตลอดปี ก็อาจยังไม่เก็บค่าฟิวเซอร์ชาร์จ ซึ่งผู้โดยสารจะเห็นชัดเจนว่าการยกเลิกนี้ จะช่วยให้การจ่ายเงินเพื่อเดินทางลดลงมาก เพราะมีรายจ่ายนอกเหนือจากค่าตั๋วเครื่องบินลดเหลือ 215 บาท คือค่าธรรมเนียมการจอง ค่าภาษีสนามบิน และ ค่าประกันภัย"

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า สถานการณ์การเมือง มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว ขณะที่ปัญหาเศรษฐกิจโลกก็ทำให้หลายประเทศต่างต้องช่วงชิงรายได้จากการท่องเที่ยว ทำให้ นักท่องเที่ยว มีอำนาจการซื้อสูง และสามารถเลือกที่จะเดินทางไปเที่ยวในประเทศที่ตัวเองพึงพอใจ และ มีความปลอดภัยสูง หรือ บางกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ ก็เลือกที่จะประหยัดเลือกการท่องเที่ยว เช่น ลดจำนวนครั้งของการเดินทางท่องเที่ยวลง เป็นต้น ทำให้มองว่า จากนี้ไปอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและ ธุรกิจการบิน จะเกิดการแข่งขันสูง แต่ ไทยแอร์เอเชีย ต้องแข่งขันกับตัวเอง คือต้องทำงานให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ และ ผลประกอบการต้องเติบโต ล่าสุด อยู่ระหว่างการเจรจาจะเพิ่มการซื้อน้ำมันล่วงหน้า เพื่อสำรองไว้เผื่ออนาคต ส่วนแผนเส้นทางบินใหม่ ต้นปีหน้า เปิดเพิ่ม 2 เส้นทาง คือ กวางเจา และ บาหลี
กำลังโหลดความคิดเห็น