xs
xsm
sm
md
lg

ภูเก็ตยกระดับปลาช่อนทะเลเทียบแซลมอน เชื่ออนาคตดีคุยปี 50 ส่งออกกว่า 82 ตัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายปรีชา เรืองจันทร์ ผู้ว่าฯภูเก็ต สเยี่ยมชมการเลี้ยงปลาช่อนทะเลในกระชังขนาดใหญ่ในทะเลลึก บริเวณบ้านแหลมหิน อ่าวพังงา อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา
ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ผู้ว่าฯ ภูเก็ต เตรียมยกระดับปลาช่อนทะเล เป็นสินค้าประจำเมืองภูเก็ต แข่งกับปลาแซลมอนของสแกนดิเนเวีย เผยปีที่ผ่านมา ทั้งปีส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศทั้งหมด จำนวน 82 ตัน เชื่อ ถ้ามีการส่งเสริมอนาคตตลาดดีแน่นอน

นายปรีชา เรืองจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวในโอกาสเยี่ยมชมการเลี้ยงปลาช่อนทะเลในกระชังขนาดใหญ่ในทะเลลึก บริเวณบ้านแหลมหิน อ่าวพังงา อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา ซึ่งเป็นโครงการที่จังหวัดภูเก็ตได้รับความช่วยเหลือจากประเทศนอร์เวย์ในการสร้างกระชังท่อ HDPE มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 15 เมตร เส้นรอบวง 50 เมตร ลึก 6 เมตร เลี้ยงในระดับน้ำลึก 20 เมตร 3 กระชัง และศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งภูเก็ต เป็นผู้รับผิดชอบในการดูแล ว่า

การเลี้ยงปลาน้ำลึก ถือว่าเป็นการส่งเสริมอาชีพอีกอย่างหนึ่งของจังหวัดภูเก็ต และน่าสามารถจะยกระดับปลาช่อนทะเลให้เป็นสินค้าประจำเมืองภูเก็ตอีกตัวหนึ่ง ซึ่งอาจจะแข่งกับปลาแซลมอนของสแกนดิเนเวีย และตนยังมีแนวคิดว่าร้านอาหารในภูเก็ต น่าจะมีการทำอาหารเป็นสเต็กปลาช่อนทะเล แทนที่จะเป็นสเต๊กปลาแซลมอน

ทั้งนี้ เชื่อว่า สเต๊กปลาช่อนทะเลเมืองไทย จะสู้กับปลาแซลมอนของสแกนดิเนเวีย ได้แน่นอน เพราะว่าเนื้อหรือว่าสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในตัวปลาช่อนทะเลมีประโยชน์ไม่แพ้กันกับปลาแซลมอน ซึ่งประมงหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้มีการดูสารอาหารในตัวปลาแล้วว่ามีประโยชน์ ดังนั้น คิดว่า น่าจะเป็นสินค้าประจำเมืองภูเก็ตได้อีกตัวหนึ่ง อาจจะเป็นอีกหนทางหนึ่งที่ชาวประมงจะนำไปประกอบอาชีพ แล้วก็ยังเป็นตัวอย่างสำหรับพื้นที่ชายฝั่งอื่นๆ อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงปลาช่อนทะเลในกระชัง จะต้องส่งเสริมให้มีการเลี้ยงเป็นกลุ่มเพราะถ้าชาวบ้านเพียงลำพังเชื่อว่าทำไม่ได้ ซึ่งการเข้าไปส่งเสริมในส่วนของภาคเอกชน ต้องให้ภาคเอกชนมาดู และคงจะต้องประสานกับภาคของสภาอุตสาหกรรม หรือหอการค้าให้เข้ามาดูเพื่อทำเป็นธุรกิจ ส่วนประมงอาจจะเป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องตลาดที่มีการศึกษาแล้ว ร่วมทั้งเข้าไปเสริมทางวิชาการเลี้ยง อุปกรณ์ต่างๆ เป็นอย่างไร

ส่วนเรื่องการเปิดตลาดที่จะต้องทำเป็นเรื่องของฝ่ายธุรกิจ ซึ่งการเลี้ยงปลาช่อนทะเลนั้นใช้ระยะเวลา 8 เดือน ก็สามารถจับขายได้แล้ว เพราะว่าถ้าหลัง 8 เดือนไปแล้ว ปลาจะมีขนาดใหญ่ และมีน้ำหนักมาก อาจจะทำให้เป็นภาระในการจำหน่าย แต่ถ้าปลาที่เลี้ยงมีขนาด 3-4 กิโลกรัม หรือมีอายุประมาณ 7-8 เดือน ก็ยังพอมีตลาดรองรับ

ด้าน นายทวี จินดามัยกุล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งภูเก็ต กล่าวถึงการเลี้ยงปลาช่อนทะเลในกระชังในส่วนของชาวประมง ว่า ยังมีไม่มากนัก ซึ่งตอนนี้กำลังศึกษาว่า จะทำอย่างไรให้ชาวบ้านรวมกลุ่มกันได้เพื่อเลี้ยงปลาเป็นอุตสาหกรรม แล้วตอนนี้เราก็กำลังมองเรื่องตลาด เป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะว่าถ้าตลาดยังไม่ชัดเจนเท่าไหร่ ก็จะสร้างปัญหาให้แก่ชาวบ้าน ดังนั้น เราต้องดูให้แน่นอนก่อน ถ้าแน่นอนเมื่อไหร่ การประกอบอาชีพเลี้ยงปลาช่อนทะเลในกระชังก็จะบูมทันที เพราะว่าเลี้ยงไม่ยาก ทั้งในเรื่องสถานที่เลี้ยง เรื่องอาหารตอนนี้ประมงก็มีการเตรียมพร้อมไว้หมดแล้ว ทางกรมประมงสามารถส่งเสริมให้ความรู้อบรมได้

“กระชังที่ดำเนินการอยู่ตอนนี้เป็นแนวนำร่องเท่านั้นเอง ซึ่งการนำร่องไม่จำเป็นต้องใช้กระชังมากนัก แต่ถ้าเป็นอุตสาหกรรม ต้องเลี้ยง 10 หรือ 20 กระชัง เพราะฉะนั้นการเลี้ยงปลาช่อนในกระชัง สามารถที่จะทำเป็นอุตสาหกรรมได้อย่างดี”

นายทวี ยังกล่าวถึงตลาดส่งออกปลาช่อนทะเล ว่า กลุ่มตลาดส่งออกปลาช่อนทะเล จะมีทั้งเยอรมนี ยุโรป และสิงคโปร์ ซึ่งได้รับการตอบรับดีมาก ปีที่แล้ว ทั้งปีมีการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศทั้งหมด จำนวน 82 ตัน แต่อย่างไรก็ตาม การดำเนินการส่วนนี้ของกรมประมง ทำเพื่อเป็นการรักษาตลาดไว้ แล้วก็จะแนะนำให้โรงงานอุตสาหกรรมผลิตเพื่อเป็นการส่งออก

นายทวี ยังได้กล่าวต่อไปถึงความต้องการของตลาดคนไทย ว่า สำหรับในเมืองไทย ตลาดค่อนข้างจะจำกัด เนื่องจากชาวบ้านทั่วไปยังไม่นิยมบริโภค ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไรกิน แถมบางคนยังไม่รู้จักด้วยซ้ำว่าเป็นปลาอะไร หรือบางคนบริโภคแล้วรู้ว่ารสอร่อยแต่ไม่รู้ว่าเป็นเนื้อปลาช่อนทะเล ตามตลาดสดมักจะไม่ค่อยเห็นวางจำหน่าย ส่วนใหญ่จะวางจำหน่ายตามห้างโลตัส แมคโคร ที่แล่เป็นเนื้อแล้ว หรือมีขายตามภัตตาคารใหญ่ๆ ตามร้านอาหารญี่ปุ่นจะใช้เนื้อปลาช่อนทะเลเป็นอาหารพวกซาเซมิ ซูชิ ใช้ทอดหรือทำ สเต๊กรมควัน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กรมประมง และโรงงานห้องเย็นได้ศึกษาวิจัยเรื่องการแปรรูปปลาช่อนทะเลให้เป็นอาหารต่างๆ แล้ว เพื่อแนะนำให้ชาวบ้านได้รู้จักบริโภคปลาช่อนทะเล มากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น