ศูนย์ข่าวขอนแก่น-ซิป้าขอนแก่น ชูโครงการต้นแบบ ERP/Logistic ข้าวหอมมะลิกลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสาร ประสบผลสำเร็จหลังประยุกต์ใช้ 3 ฝ่ายได้จริงในพื้นที่ต้นแบบอย่างเป็นรูปธรรม เตรียมขยายผลพัฒนาระบบสอบย้อนกลับเข้าถึงกลุ่มผู้ประกอบการโรงสีขนาดเล็ก มั่นใจเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในเวทีการค้าข้าวหอมมะลิไทยในตลาดโลก ตัดปัญหากีดกันในตลาดส่งออก คาดปี 52 ดำเนินการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ปรับใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม
เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ ซิป้า จัดสัมมนาและวิพากษ์กระบวนการแปรรูปภายในของโรงสีขนาดเล็กเพื่อพัฒนาระบบสอบย้อนกลับโครงการ ERP/Logistics ข้าวหอมมะลิ กลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสาร (ระยะที่ 4) โดยมีผู้ประกอบการโรงสีขนาดเล็กในจังหวัดขอนแก่น และจังหวัดใกล้เคียง พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมสัมมนากว่า 100 คน ที่ ห้องประชุมอาคารแก่นนครออฟฟิศปาร์ค อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
นายธวัชชัย โคตรวงษ์ ผู้จัดการสาขาขอนแก่น สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า ภาพรวมโครงการ ERP/Logistic ข้าวหอมมะลิกลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสาร ประสบผลสำเร็จมาก โรงสีข้าว สหกรณ์การเกษตร และผู้ประกอบการขนส่ง ในพื้นที่ต้นแบบที่จังหวัดขอนแก่น ได้นำเอาเทคโนโลยีไอซีที มาประยุกต์ใช้กับห่วงโซ่อุปทานข้าวหอมมะลิ อย่างเป็นรูปธรรม
ประโยชน์ที่เกิดขึ้น ทำให้สหกรณ์การเกษตรในฐานะจุดรวบรวมผลผลิตข้าว โรงสีข้าว ผู้ประกอบการขนส่ง มีระบบซอฟต์แวร์สำหรับการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานข้าวหอมมะลิ สามารถเข้าถึงฐานข้อมูลเดียวกัน ทำให้การบริหารจัดการ สามารถรวบรวมผลผลิตข้าว ตรวจรับสินค้า ขนส่งผลิตภัณฑ์ไปสู่ปลายทาง ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการสูญเสียต่างๆลงมาก เมื่อเทียบกับรูปแบบเดิมที่ใช้การติดต่อสื่อสารผ่านช่องทางโทรศัพท์-แฟกซ์เอกสาร
ภาพรวมโครงการ ERP/Logistic ข้าวหอมมะลิกลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสาร ประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ปรับใช้เทคโนโลยีไอซีทีได้จริง ในกระบวนการผลิตข้าวหอมมะลิ สามารถอำนวยความสะดวกในการจัดการลอจิสติกส์ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ถึงปลายน้ำ เป้าหมายหลักเพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสินค้าเกษตร มีเครื่องมืออำนวยความสะดวกทำการค้าที่มีประสิทธิภาพและเป็นมาตรฐานสากล ไม่ให้เกิดข้อจำกัดด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์กับคู่ค้าระดับนานาชาติ
รุกขยายผลระบบสอบย้อนกลับสู่กลุ่มโรงสีชุมชน
นายธวัชชัย กล่าวต่อว่า แผนงานในขั้นต่อไป ซิป้าพร้อมขยายผลโครงการ ERP/Logistic ข้าวหอมมะลิกลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสาร ลงไปสู่ผู้ประกอบการโรงสีขนาดเล็ก หรือโรงสีระดับชุมชน นำระบบสอบย้อนกลับภายใต้โครงการนี้ปรับใช้ เพื่อให้กระบวนการจัดการห่วงโซ่อุปทานและลอจิสติกส์สินค้าข้าวหอมมะลิมีความสมบูรณ์ โดยจะมีการศึกษาและพัฒนาระบบติดตาม และสอบย้อนกลับตลอดเส้นทางสินค้าข้าวหอมมะลิ
การจัดสัมมนา ซิป้าได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการโรงสีขนาดเล็ก โรงสีชุมนุม ร่วมกันวิพากษ์ กระบวนการแปรรูปภายในโรงสีขนาดเล็ก รวบรวมนำความคิดเห็นไปใช้เป็นฐานข้อมูลในการศึกษาและพัฒนาระบบติดตามสอบย้อนกลับข้าวหอมมะลิ รวมถึงพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ที่เหมาะสมมาปรับใช้ในโรงสีขนาดเล็กได้ คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในปี 2552 นี้
สำหรับระบบสอบย้อนกลับโดยใช้เทคโนโลยี RFID (Radio Frequency Identification) ในการปรับใช้กับสินค้าข้าวหอมมะลิ จะทำให้เชื่อมการค้าข้าวหอมมะลิกับตลาดสากล ลดปัญหากีดกันการค้าในตลาดโลกลงได้ เนื่องจากผู้บริโภคสามารถตรวจย้อนข้อมูลรู้ถึงต้นกำเนิดสินค้าในประเทศไทย สร้างโอกาสขยายตลาดส่งออกข้าวหอมมะลิในอนาคต
นอกจาก การปรับใช้กับข้าวหอมมะลิแล้ว ยังได้ขยายผลโครงการ ERP/Logistic กับมันสำปะหลัง เป็นพืชเกษตรชนิดที่ 2 แล้ว โดยเลือกพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา เป็นพื้นที่ศึกษาและประยุกต์ใช้ระบบ สาเหตุที่เลือกมันสำปะหลัง เนื่องจาก เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอีกชนิดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีเกษตรกรปลูกจำนวนมาก ทั้งมีโรงงานแปรรูปมันสำปะหลังหลายแห่ง น่าจะเกิดประโยชน์ในเชิงการค้ามันสำปะหลังในอนาคต
ทั้งนี้หากผลการศึกษาเสร็จสมบูรณ์ครบถ้วน จะเกิดประโยชน์มหาศาล เกิดระบบฐานข้อมูลสำหรับการติดตามและสอบย้อนกลับของกระบวนการแปรสภาพสินค้าข้าวหอมมะลิในขั้นตอนภายในผู้ค้าข้าวเปลือกหอมมะลิและโรงสี สามารถยกระดับข้าวหอมมะลิไทยให้เป็นสินค้าคุณภาพที่มีข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อติดตามและสอบย้อนกลับจากหน่วยงาน และผู้บริโภคได้อย่างสมบูรณ์
ส่วนการขยายผลระบบสอบย้อนกลับเข้าถึงกลุ่มผู้ประกอบการโรงสีชุมชน หากแล้วเสร็จสมบูรณ์ จะทำให้เพิ่มขีดความสามารถในการจัดการห่วงโซ่อุปทานและลอจิสติกส์สินค้าข้าวหอมมะลิของผู้เกี่ยวข้องได้มาตรฐานสากล ในทุกขั้นตอน เพื่อนำไปสู่เป้าหมาย Global Logistic Management ตามกรอบแผนแม่บทการพัฒนาลอจิสติกส์ของคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ