ซิป้าลงนามในเอ็มโอยูกับเจเอฟซีซีที สร้างเครือข่ายเอกชนต่อเอกชน เปิดช่องทางตลาดต่างประเทศใหม่ พร้อมผลักดันผู้ประกอบการรายใหญ่ลงทุนในธุรกิจซอฟต์แวร์ไทย และเตรียมทำเวิร์กชอปต่อยอดโครงการหลักซิป้า
ดร.รุ่งเรือง ลิ้มชูปฏิภาณ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า กล่าวว่า ซิป้าได้มีการลงนามในบันทึกความร่วมมือ หรือเอ็มโอยูกับหอการค้าร่วมต่างประเทศในไทย หรือจีเอฟซีซีที ซึ่งเป็นหอการค้าที่รวบรวมสมาชิกจากหอการค้าต่างประเทศกว่า 30 แห่ง และมีสมาชิกมากกว่า 9,000 บริษัท เพื่อส่งเสริมการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที และการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องในไทย รวมถึงการพัฒนาธุรกิจเพื่อสร้างโอกาสทางการตลาดของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เพิ่มมากขึ้น เพราะเจเอฟซีซีทีเป็นกลุ่มของนักธุรกิจแถบอเมริกา ยุโรป และออสเตรเลีย
การเจาะตลาดครั้งนี้จะแตกต่างจากการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา เพราะช่วงแรกของซิป้านั้นจะเน้นการออกบูทและเปิดพื้นที่ให้แก่บริษัทซอฟต์แวร์ไทยได้ไปเปิดตลาดในต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นช่วงเริ่มต้นในการสร้างความรู้จัก แต่การขายซอฟต์แวร์แตกต่างจากการขายสินค้าเกษตร เพราะต้องใช้เวลาและความเชื่อมั่นของผู้ซื้อจึงต้องการเสริมทางการเครือข่าย เพื่อสร้างฐานการตลาดในระยะยาว
สำหรับข้อตกลงของกับเจเอฟซีซีที ซิป้าได้ระบุให้มีการแลกเปลี่ยนกิจกรรมระหว่างกัน โดยซิป้าจะเป็นผู้นำบริษัทซอฟต์แวร์ไทยเข้าไปร่วมประชุมกับสมาชิกเจเอฟซีซีทีตามวาระการประชุมปกติ เพื่อให้ตัวแทนสมาชิกที่ส่วนใหญ่เป็นผู้บริหารของบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งมีทั้งผู้บริหารที่ทำธุรกิจในไทยอยู่แล้ว และผู้บริหารที่ประจำสำนักงานประจำภูมิภาค ทำให้เจเอฟซีซีทีได้รู้จักซอฟต์แวร์ไทย รวมถึงนโยบายและข้อมูลด้านการส่งเสริมซอฟต์แวร์ของซิป้า ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดแนวทางการบริหารของกลุ่มสมาชิกเจเอฟซีซีทีที่ลงทุนในไทย
"สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาของไทยคือประสบการณ์ทางธุรกิจน้อย ต่างจากบริษัทที่เป็นสมาชิกเจเอฟซีซีทีที่มีประสบการณ์สูงในธุรกิจไอซีที ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทั้งนั้น นี่คือโอกาสที่จะทำให้คนเหล่านี้ช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย และสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมและประเทศไทย"
ผู้บริหารซิป้ากล่าวว่า การทำตลาดของซิป้าปีนี้จะหลากหลายและซับซ้อนขึ้น ขณะนี้ซิป้าได้ไปอยู่ในนิทรรศการใหญ่ๆ แล้ว มีโครงข่ายกับหน่วยงานรัฐที่ทำงานด้านซอฟต์แวร์ซึ่งสามารถแลกเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สำนักงานในการสนับสนุนซอฟต์แวร์ระหว่างกัน แต่ยังขาดโครงข่ายธุรกิจที่เป็นพันธมิตรในการช่วยบอกต่อ และสร้างความเชื่อมั่นของซอฟต์แวร์ไทยต่อตลาดหลักๆ และการเซ็นเอ็มโอยูครั้งนี้เชื่อว่าจะเป็นการอุดช่องว่างดังกล่าว
นายอันดอร์ วอน เดอร์ ลูว์ ประธานเจเอฟซีซีที กล่าวว่า การลงนามครั้งนี้เจเอฟซีซีทีและซิป้ามีวิสัยทัศน์ร่วมกันคือ ส่งเสริมการพัฒนาและถ่ายโอนทักษะความสามารถระหว่างประเทศต่างๆ โดยมีจุดประสงค์คือส่งเสริมการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังเห็นว่าอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ประกอบกันเข้าและมีส่วนสนับสนุนอุตสาหกรรมไอซีทีนั้นมีเป็นจำนวนมากและมีความเกี่ยวเนื่องกันอย่างใกล้ชิด
"ซอฟต์แวร์ไทยมีโอกาสพัฒนาได้มาก โดยเฉพาะทักษะและเน้นเรื่องการลงทุนไปด้วย"
พร้อมกันนี้ ทั้งซิป้าและเจเอฟซีซีทีได้มีการร่วมกันวางแผนเชิงกลยุทธ์ เพื่อให้ความร่วมมือครั้งนี้บรรลุผลสำเร็จสูงสุด นอกจากนี้ ยังจะมีการสร้างกิจกรรมร่วมกัน เช่น การทำเวิร์กชอป เป็นต้น ซึ่งในเอ็มโอยูนี้จะเน้นเรื่องซอฟต์แวร์เป็นหลัก มีขอบเขตตั้งแต่การส่งเสริมการลงทุนร่วมกัน การส่งเสริมการตลาดร่วมกัน การหาแหล่งเอาต์ซอร์ส การฝึกอบรมระหว่างสมาชิก รวมถึงการร่วมทุนและอื่นๆ ตามแต่จะตกลงกัน
นอกจากนี้ เจเอฟซีซีทียังให้ความสนใจในโครงการ Nation Flagship Projects ของซิป้า ซึ่งในเบื้องต้นได้มีการหารือและจะมีผลในระยะสั้นนี้
Company Related Links :
sipa