ศูนย์ข่าวขอนแก่น-ม.ขอนแก่นผนึกซิป้า พร้อมสานแผน “นิคมอุตสาหกรรมไอซีทีขอนแก่น” แม้ “สุวิทย์” ผู้จุดประกายพ้นเก้าอี้ เชื่อรมว.อุตสาหกรรมคนใหม่ จะสานต่อโครงการ เผยแผนธุรกิจคืบแล้วกว่า 90% กนอ.ตั้งงบลงทุนกว่า 500 ล้านบาท ทั้งผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายใหญ่ พร้อมลงทุนโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ด้านซิป้า เดินหน้าทุ่ม 20 ล้านบาท ตั้งศูนย์บ่มเพาะซอฟต์แวร์นานาชาติ หาสถานที่เตรียมเร่งจัดอบรมซอฟต์แวร์ระดับสูงรับการลงทุน ชี้นิคมฯไอซีทีขอนแก่นสอดรับแผนแม่ไอซีทีและขอนแก่นเมืองไอซีที
หลังจากที่นายสุวิทย์ คุณกิตติ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทวงอุตสาหกรรม เตรียมผลักดันให้มีการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมไอซีที จังหวัดขอนแก่น โดยมีการหารือร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ที่เกี่ยวข้องในจังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีมติเห็นด้วยต่อโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมไอซีทีเกิดขึ้น ที่ จ.ขอนแก่น โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมให้ใช้พื้นที่กว่า 500 ไร่ ติดทางหลวงชนบทเชื่อมระหว่างถนนมิตรภาพกับถนนมะลิวัลย์
ขณะเดียวกันนายสุวิทย์ ได้นำแผนงานจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมไอซีทีจังหวัดขอนแก่น เข้าหารือกับสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และผู้ให้บริการโทรคมนาคมภายในประเทศมาแล้วกว่า 2 ครั้ง ถึงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค โครงข่ายโทรคมนาคมเข้าไปในพื้นที่ รวมถึงการจัดทำแผนธุรกิจรองรับการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมไอซีทีขอนแก่น
อย่างไรก็ตาม การประกาศลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมของ นายสุวิทย์ คุณกิตติ เมื่อ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมา ย่อมกระทบแผนผลักดันโครงการดังกล่าวในระดับนโยบาย แต่การทำงานในส่วนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ยังคงมีการขับเคลื่อนโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมไอซีที ให้สำเร็จผลเป็นรูปธรรม
ม.ขอนแก่นเชื่อศักยภาพพร้อม
ยันแผนธุรกิจคืบหน้ากว่า90%
รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า การลาออกของ นายสุวิทย์ กระทบแผนงานจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมไอซีทีขอนแก่นแน่นอน เบื้องต้นทำให้โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมไอซีทีขอนแก่นสะดุด ล่าช้าออกไป แต่ยังเชื่อมั่นว่าเป็นโครงการที่เกิดประโยชน์ต่อการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ น่าจะได้รับการสานต่อจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมคนใหม่ นำเรื่องนี้มาพิจารณา
ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดทำแผนธุรกิจร่วมกับซิป้าคืบหน้าแล้วกว่า 90% เหลือขั้นตอนรวบรวมนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบเท่านั้น สาระสำคัญคือแผนงานผลิตบุคลากรคุณภาพรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์
เบื้องต้นเฉพาะม.ขอนแก่นมีศักยภาพในการผลิตบัณฑิตด้านซอฟต์แวร์ได้ ถึงปีละ 2,000 คน พร้อมกับแผนฝึกอบรมพิเศษบัณฑิตจบใหม่เกี่ยวกับความรู้ด้านซอฟต์แวร์ตามที่ตลาดต้องการ และยังมีโครงการพัฒนาบุคลากรซอฟต์แวร์ร่วมกับมหาวิทยาลัยอื่นทั่วภาคอีสาน ทั้งม.อุบลราชธานี , ม.เทคโนโลยีสุรนารี ฯลฯ พร้อมเข้ามาร่วมแผนงาน ผลิตบัณฑิตป้อนตลาดได้ถึงปีละ 5,000 คน
ประการต่อมา จากการประชุมร่วมกับผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายใหญ่ของประเทศ 3 บริษัท ทั้งบริษัท ทศท. จำกัด , ทีทีแอนด์ที , บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด ตอบรับแผนตั้งนิคมอุตสาหกรรมไอซีทีแล้ว และพร้อมเข้าลงทุนพัฒนาโครงข่ายโทรคมนาคม เชื่อมสายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเข้ามาในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมไอซีที เป็นทางเลือกให้บริการแก่บริษัทผู้ลงทุนในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์
สุดท้าย จะนำเสนอให้รัฐเป็นผู้ลงทุนสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ เช่น ฮาร์ดแวร์บางประเภทที่ใช้เงินลงทุนสูง ไม่คุ้มที่บริษัทเอกชนลงทุนซื้อเพียงรายเดียว เช่น อุปกรณ์ด้านการสร้างสรรค์งานด้านแอนิเมชันและมัลติมีเดีย ต้องใช้งบประมาณรัฐจัดซื้อเพื่อให้ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ในนิคมอุตสาหกรรมฯเช่าใช้สร้างสรรค์งาน
“ที่สำคัญผลหารือกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) พร้อมเข้ามาปรับปรุงพื้นที่ให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมไอซีที เบื้องต้นเตรียมงบประมาณลงทุนไว้แล้วกว่า 500 ล้านบาท โดยสถานที่ก่อสร้างจะใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น บริเวณที่ว่างติดทางหลวงชนบท เชื่อมถนนสายหลักมิตรภาพกับถนนมะลิวัลย์ ใกล้ศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก”รศ.ดร.กิตติชัย กล่าวและว่า
การลงทุนในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ เป็นอุตสาหกรรมที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจสูงมาก ลงทุนต่ำ ถึงจุดคุ้มทุนเร็ว ไม่ใช้พื้นที่รองรับขนาดใหญ่ ก็ผลิตงานได้ และไม่ก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม หากยังมีการผลักดันโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง น่าจะมีการลงทุนสร้างตึกให้เช่าประมาณ 5-10 ชั้น รองรับการลงทุนของนักลงทุนเข้ามาใช้พื้นที่สร้างสรรค์งานด้านซอฟต์แวร์
จุดที่น่าเป็นห่วง ประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งมาเลเซียและเวียดนาม กำหนดนโยบายสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ล้ำหน้าไทยมากแล้ว การผลักดันให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์สำเร็จเป็นรูปธรรมนั้น จะต้องให้ความสำคัญถึงสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เป็นพิเศษ เช่น มาตรการทางภาษี เชื่อว่าจะดึงความสนใจนักลงทุนเข้ามาลงทุนได้
ซิป้าเดินหน้าแผนตั้งศูนย์อบรมซอฟต์แวร์
เชื่อนิคมฯไอซีทีสอดรับแผนแม่บทไอซีที
ด้านนายธวัชชัย โคตรวงษ์ ผู้จัดการสาขาขอนแก่น สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า ซิป้ายังคงเดินหน้าแผนตั้งนิคมอุตสาหกรรมไอซีทีขอนแก่น แม้ว่านายสุวิทย์ จะลาออกไป แต่แผนงานพัฒนาของซิป้าที่สอดรับกับโครงการจัดตั้งนิคมฯยังคงเดินหน้าต่อไป
ล่าสุดซิป้า อนุมัติงบประมาณเฟสแรก จำนวน 20 ล้านบาท เพื่อดำเนินการตามโครงการตั้งศูนย์ฝึกอบรมซอฟต์แวร์นานาชาติ ที่จังหวัดขอนแก่น (National Software Incubation Center หรือ NSIC ) ในฐานะศูนย์ฝึกอบรมซอฟต์แวร์แผนใหม่ระดับสูง ให้แก่บุคลากรที่สนใจด้านซอฟต์แวร์ ป้อนตลาดอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในอนาคต สอดรับกับแผนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมไอซีทีขอนแก่น
ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดหาสถานที่ก่อสร้างศูนย์ฝึกอบรม ซึ่งตามแผนเร่งด่วนหากยังหาสถานที่ก่อสร้างไม่ได้ จะจัดฝึกอบรมซอฟต์แวร์ระดับสูง สร้างคนรองรับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ที่ต้องการบุคลากรระดับสูงจำนวนมาก ทั้งกระแสความเคลื่อนไหวด้านการลงทุนซอฟต์แวร์ใน จ.ขอนแก่น มีบริษัทซอฟต์แวร์ต่างประเทศเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนักลงทุนจากสหภาพยุโรป คาดว่าจะสามารถเริ่มจัดอบรมได้ภายในตุลาคมปีนี้
ทั้งนี้แผนกระตุ้นลงทุนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ให้เกิดขึ้นในจังหวัดขอนแก่นและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซิป้าได้ทำมาอย่างต่อเนื่อง โดยซิป้าได้ร่วมมือกับองค์กร ITB EUROPE ในฐานะองค์กรส่งเสริมการลงทุนด้านไอซีทีของกลุ่มสหภาพยุโรป มีสมาชิกทั่วโลกมากกว่า 70,000 บริษัท ดึงทุนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ยุโรปเข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมฯที่จะจัดตั้งขึ้น ทั้งจะร่วมกับหน่วยงาน KIPA องค์กรส่งเสริมการลงทุนไอทีของเกาหลีใต้ เข้ามาลงทุนด้วยเช่นกัน
“อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจต่อประเทศสูงมาก ทั้งนี้การสร้างนิคมอุตสาหกรรมไอซีทีจะเกิดประโยชน์กับเศรษฐกิจพื้นที่ สอดรับแผนแม่บทไอซีที และยุทธศาสตร์พัฒนาขอนแก่นเป็นเมืองไอซีที ที่ผ่านมาจังหวัดขอนแก่นเกิดการพัฒนาเป็นต้นทุนรองรับยุทธศาสตร์ดังกล่าวมาแล้ว ทั้งการสร้างคนรองรับอุตสาหกรรมตามโครงการฝึกอบรมซอฟต์แวร์หลายโครงการ , สร้างเครือข่ายผลิตบุคลากรซอฟต์แวร์กับมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วภาคอีสาน”นายธวัชชัย กล่าวและว่า
ขณะเดียวกันซิป้าได้ขยายความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาคอินโดจีน ล่าสุดได้สนับสนุนงานพัฒนาซอฟต์แวร์รองรับการจัดงานแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว) ที่จะเป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันปีหน้า รวมถึงความร่วมมือฝึกอบรมซอฟต์แวร์กับประเทศอื่นทั้งเวียดนาม กัมพูชา และขยายความร่วมมือเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รองรับศูนย์กลางพัฒนาด้านไอซีทีในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง