xs
xsm
sm
md
lg

แนะชะลอขายยางแก้ปัญหาราคาป่วนหนุนกรมโยธาฯใช้2หมื่นตันซ่อมถนน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - อธิบดีกรมวิชาการเกษตรลงใต้ เผยผลถกปัญหาราคายางป่วนเป็นภาวการณ์ช็อกของตลาด ที่มีกระบวนการปล่อยข่าวลือตลาด ตปท.ไม่รับซื้อในช่วงที่สหรัฐฯประสบปัญหาสถาบันการเงินและซับไพรม์ ยันปัญหาดังกล่าวไม่กระทบต่อความต้องการยางในตลาดโลก จนทำให้ราคาดิ่งทันทีจนผิดปกติ เผยตัวเลขยางสต๊อกในประเทศยังเฉลี่ยเท่ากับปีก่อนๆ ขณะที่สต๊อกทั่วโลกโดยเฉพาะญี่ปุ่นเบาหวิว ส่วนแนวทางแก้แนะเกษตรกรแปรรูปและชะลอการขายในช่วงนี้พร้อมผลักดันให้กรมโยธาธิการใช้ยางธรรมชาติร่วมกับยางมะตอยเพื่อเพิ่มการใช้ยางในประเทศอีก 15% ราว 20,000 ตันและเดินหน้าลดผลผลิตยางตามมติที่ประชุมยาง 3 ประเทศ

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยภายหลังจากประชุมร่วมกับผู้ประกอบการส่งออกยางพาราเพื่อนำเสนอข้อเท็จจริงของเรื่องยางพาราในทุกภาคส่วนเพื่อหาข้อเสนอและกำหนดท่าทีของไทยในการเตรียมประชุมในเวทีระดับชาติที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลาว่า นับตั้งแต่วันที่ 25 กันยายนเป็นต้นมาปัญหาราคายางพารามีความผันผวนเป็นอย่างมาก ซึ่งจากการร่วมประชุมหลายฝ่ายวิเคราะห์ได้ว่าสาเหตุน่าจะเกิดขึ้นจากอาการช็อกของตลาดมากกว่าความไม่สมดุลของดีมานด์-ซัปพลาย ดังที่ทราบว่าก่อนหน้าที่มีกระบวนการข่าวลือว่าตลาดต่างประเทศจะไม่รับซื้อยางพาราเกิดขึ้น ทำให้เกษตรกรรีบขาย

"จากการตรวจสอบสต๊อกยางภายในประเทศ ณ เดือนตุลาคมเฉลี่ย 234,510 ตัน ขณะที่สต๊อกเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปีมีราว 200,000 ตัน ยกเว้นสต๊อกยางทั่วโลกที่มีปริมาณตกต่ำ โดยเฉพาะที่ญี่ปุ่นทำให้เป็นไปไม่ได้เลยที่ราคายางจะตกต่ำอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อพิจารณาจากสถิติราคายางย้อนหลังแล้วพบว่า ราคายางพาราในประเทศจะมีราคาลดลงในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคมของทุกปี แต่จะดีดตัวกลับอีกครั้งตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม ซึ่งเป็นช่วงที่เข้าสู่ฤดูกาลผลัดใบ เกษตรกรจึงต้องหยุดกรีดรีดน้ำยางในชั่วขณะ" นายสมชาย กล่าว

นายสมชาย กล่าวต่อว่า ส่วนปัจจัยภายนอกประเทศที่คาดว่าจะมีผลต่อราคายางพารานั้น แม้ว่าประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้สั่งซื้อยางรายใหม่จะประสบวิกฤตสถาบันการเงิน ปัญหาซับไพรม์ ทำให้ภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ชะลอตัว แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ขับขี่รถยนต์ก็ยังมีความต้องการสินค้ายางรถยนต์อยู่และการซื้อขายยางก็ยังเกิดขึ้นตามปกติ และเชื่อว่าโอกาสนี้จีนจะก้าวขึ้นมาเป็นประเทศมหาอำนาจแทนสหรัฐอเมริกา ซึ่งในมี GDP ขยายตัวไม่ต่ำกว่า 8% อย่างแน่นอน

"ดังนั้น ในขณะที่ราคายางผันผวนนี้เกษตรกรไม่ควรเร่งรีบจำหน่ายยางออกสู่ตลาด แต่ให้หันมาเก็บน้ำยางไว้กับต้นหรือแปรรูปเป็นยางแผ่นเพื่อชะลอการขาย โดยรัฐจะหามาตรการกำกับมาช่วยเหลือ เพราะเชื่อว่าความต้องการยางธรรมชาติในตลาดโลกยังมีอีกมาก อีกทั้งต้องมีการให้ข้อมูลสังคมรับรู้เท่าทันว่าในช่วงที่เกษตรกรกรีดยางได้น้อยในช่วงหน้าฝนเหตุใดไม่มีทางที่ราคายางตก เพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อราคายาง"

ส่วนแนวทางการแก้ปัญหาราคายางตกต่ำภายในประเทศนั้น นายสมชาย กล่าวว่า จะต้องผลักดันนโยบายให้กรมทางหลวงใช้ยางธรรมชาติผสมกับยางมะตอยเพื่อซ่อมแซมถนน ทำให้มีการใช้ยางธรรมชาติในประเทศเพิ่มขึ้น 15% หรือราว 20,000 ตัน

นายสมชาย กล่าวถึงการประชุมยางในระดับ 3 ประเทศได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ได้มีมติที่จะลดกำลังการผลิต ซึ่งออกสู่ตลาดโลกรวมกันราว 80% ในขณะที่ไทยแชร์ 30% เพื่อให้ผลผลิตออกมาสอดคล้องกับความต้องการของตลาดและไม่เกิดปัญหาราคาตกต่ำ โดยรัฐมนตรีในแต่ละประเทศจะดำเนินการตามมาตรการเหล่านี้ร่วมกัน โดยในส่วนประเทศไทยเตรียมลดพื้นที่ปลูกลง 400,000 ไร่/ปี โดยเร่งให้มีการโค่นยางที่มีอายุครบ 25 ปี ซึ่งให้ผลผลิตตกต่ำ โดยเกษตรกรชะลอการโค่นเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมาเนื่องจากราคายางอยู่ในระดับสูง

ส่วนในระยะยาวไทยจะดำเนินนโยบายจัดโซนพื้นที่การปลูกยางโดยพิจารณาส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกยางในพื้นที่ที่เหมาะสม ซึ่งเดิมทีมีการปลูกยางในภาคใต้เป็นหลัก แต่ในอนาคตจะส่งเสริมให้สวนยางขยายสู่ภาคอีสานเป็นหลัก ตลอดจนขยายไปยังภาคตะวันออกที่มีความพร้อมมากขึ้น ส่วนภาคใต้เตรียมส่งเสริมให้ปลูกปาล์มเป็นพืชหลักเพื่อรองรับการเติบโตของไบโอดีเซลในอนาคตและเร่งประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรยุติการปลูกยางในนาข้าว ซึ่งเป็นการใช้พื้นที่ไม่เหมาะสมและผลผลิตยางที่ได้จะอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งทั้งหมดจะทำให้ผลผลิตสูงที่ได้มีคุณภาพในพื้นที่ปลูกเท่าเดิม

ด้านนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ เปิดเผย "ผู้จัดการรายวัน" ว่า หากต่างประเทศยังชะลอการสั่งซื้อยางจากไทยก็จะส่งผลกระทบต่อสต๊อกยางในญี่ปุ่นเหลือราว 4,000 ตัน ส่วนจีนไม่เกิน 10,000 ตันและในสถานการณ์เช่นนี้ผู้รับซื้อยางเองต้องตระหนักว่า อีกไม่กี่เดือนข้างหน้าเกษตรกรจะไม่สามารป้อนผลผลิตยางสู่ตลาดได้เต็มที่ โดยภายในเดือนธันวาคมนี้สวนยางในภาคตะวันออกจะเข้าสู่ฤดูกาลผลัดใบ ตามด้วยภาคใต้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม
แนะชะลอขายยางแก้ปัญหาราคาป่วน หนุนกรมโยธาฯ ใช้ 2 หมื่นตันซ่อมถนน
แนะชะลอขายยางแก้ปัญหาราคาป่วน หนุนกรมโยธาฯ ใช้ 2 หมื่นตันซ่อมถนน
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - อธิบดีกรมวิชาการเกษตรลงใต้ เผยผลถกปัญหาราคายางป่วนเป็นภาวการณ์ช็อกของตลาด ที่มีกระบวนการปล่อยข่าวลือตลาด ตปท.ไม่รับซื้อในช่วงที่สหรัฐฯประสบปัญหาสถาบันการเงินและซับไพรม์ ยันปัญหาดังกล่าวไม่กระทบต่อความต้องการยางในตลาดโลก จนทำให้ราคาดิ่งทันทีจนผิดปกติ เผยตัวเลขยางสต๊อกในประเทศยังเฉลี่ยเท่ากับปีก่อนๆ ขณะที่สต๊อกทั่วโลกโดยเฉพาะญี่ปุ่นเบาหวิว ส่วนแนวทางแก้แนะเกษตรกรแปรรูปและชะลอการขายในช่วงนี้พร้อมผลักดันให้กรมโยธาธิการใช้ยางธรรมชาติร่วมกับยางมะตอยเพื่อเพิ่มการใช้ยางในประเทศอีก 15% ราว 20,000 ตันและเดินหน้าลดผลผลิตยางตามมติที่ประชุมยาง 3 ประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น