xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤติการเงินสหรัฐฯพ่นพิษส่งออกปี’52ลด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน- ส.อ.ท.เผยผลสำรวจการขยายตัวภาคการส่งออกเบื้องต้นพบแนวโน้มส่วนใหญ่ระบุปี 2552 ขยายตัวลดลงเมื่อเทียบกับปีนี้ต้นเหตุหลักตลาดโลกหดตัวจากวิกฤติการเงิน ยอมรับวิกฤติครั้งนี้มาเร็วกว่าที่คิดแนะภาคผลิตรับมือ ขณะที่แรงซื้อในประเทศซ้ำเติมไตรมาส 4 ยังไม่กระเตื้อง เผยน้ำมันปรับลดลงต่อเนื่องกดดันราคาสินค้าปรับลดลง จับตาพ.ร.บ.ค้าปลีกกระทบผู้บริโภคขณะที่ผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่เมินลดราคาสินค้าอ้างน้ำมันไม่ใช่ต้นทุนหลัก
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการสอบถามสมาชิกส.อ.ท.ที่มีอยู่ประมาณ 39 กลุ่มอุตสาหกรรมถึงผลกระทบจากวิกฤติการเงินของโลกว่า รายงานอย่างไม่เป็นทางการส่วนใหญ่สมาชิกต่างได้รับผลกระทบต่อคำสั่งซื้อหรือออร์เดอร์ส่งออกในปี 2552 ค่อนข้างชัดเจนโดยอัตราการขยายตัวส่งออกในปี 2252 เทียบกับปี 2551 มีทิศทางที่ปรับตัวลดลงเป็นส่วนใหญ่เนื่องจากประเทศหลักทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรป ต่างได้รับผลกระทบจากวิกฤติการเงินส่งผลให้แรงซื้อลดต่ำลง
ทั้งนี้มีบางกลุ่มอุตสาหกรรมแจ้งการส่งออกขยายตัวลดลงในปี 2552 เทียบกับปี 2551 โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง เช่น อุตสาหกรรมเหล็กโดยแจ้งว่าจะมีการส่งออกที่ลดลงประมาณ 15% เนื่องจากภาคการก่อสร้างคงไม่ขยายตัวประกอบกับราคาเหล็กได้ปรับลดลงอย่างมาก ขณะที่อุตสาหกรรมเซรามิกจากการสอบถามเฉพาะไตรมาส 4 นั้นการส่งออกลดลงไปเกือบ 50% เมื่อเทียบกับต้นปี เป็นต้น
*********น้ำมันดิ่ง-แรงซื้อต่ำกดดันสินค้าลดราคา
นายสันติยังได้กล่าวถึง แรงซื้อในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ที่ปกติจะมีมากเพื่อรับเทศกาลปีใหม่แต่จากการสอบถามห้างสรรพสินค้าต่างๆ แรงซื้อช่วงนี้ยังไม่เพิ่มขึ้นโดยยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง แต่ราคาน้ำมันที่ปรับลดลงขณะนี้คาดว่าจะช่วยทำให้แรงซื้อของประชาชนไม่ลดต่ำลงไปมากกว่านี้อีกและยังมีส่วนกดดันให้ราคาสินค้าหลายรายการอาจต้องปรับลดราคาลง รวมถึงมีส่วนทำให้เกิดการแข่งขันกันเพื่อแย่งแรงซื้อที่มีอยู่จำกัด
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิ รองประธานส.อ.ท.กล่าวว่า วิกฤติการเงินครั้งนี้ยอมรับว่าเริ่มมีผลกระทบบ้างแล้วโดยบางอุตสาหกรรมจะมีการเจรจาออร์เดอร์ปีหน้าในช่วงสิ้นปีนี้ก็มีทิศทางที่ลดลงและคาดว่าจะชัดเจนมากขึ้นในช่วงสิ้นปีนี้โดยภาพรวมตลาดส่งออกหดตัวผลกระทบย่อมเกิดขึ้นแน่นอนแต่จะมากน้อยเพียงใดคงต้องรอ
อีกระยะหนึ่งก่อน โดยจากการสอบถามบางอุตสาหกรรมแนวโน้มส่งออกลดลงหรือทรงตัวเช่น เหล็ก สิ่งทอ ยานยนต์ ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ
*******น้ำมันลดดีเซลแตะ23.94บ.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าผู้ค้าน้ำมันทุกรายได้แจ้งปรับลดราคาน้ำมันขายปลีกลงโดยกลุ่มเบนซินลดลง 60 สตางค์ต่อลิตร ดีเซลลด 80 สตางค์ต่อลิตร มีผลตั้งแต่วันนี้(21ต.ค.)เป็นต้นไปส่งผลให้ เบนซิน 95 อยู่ที่ 33.39 บาทต่อลิตร เบนซิน 91 อยู่ที่ 30.39 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 95 ลิตรละ 23.89 บาท แก๊สโซฮอล์ 91 ลิตรละ 23.09 บาท ดีเซล ลิตรละ 23.94 บาท ไบโอดีเซล (บี 5) ลิตรละ 23.24 บาท ซึ่งสาเหตุของการปรับลดราคาเป็นไปตามตลาดโลกที่ลดลงต่อเนื่อง
*****ดันพ.ร.บ.ค้าปลีกคลอดกระทบผู้บริโภค
แหล่งข่าวจากวงการค้าปลีกกล่าวถึงสาเหตุที่ซัพพลายเออร์สินค้าไม่ลดราคาสินค้าตามราคาน้ำมันที่ลดลงว่าเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคเพราะเวลาของขึ้นราคากับกรมการค้าภายในอ้างต้นทุนน้ำมันแพงขึ้น แต่เมื่อราคาน้ำมันลดลงกลับเมินอ้างวัตถุดิบอื่นๆ ไม่ลดราคา และพยายามวิ่งเต้นให้กระทรวงพาณิชย์เข้ามาบีบ ห้างโมเดริน์เทรดซึ่งจำหน่ายสินค้าราคาถูกให้กับผู้บริโภคไม่ให้มีการขยายสาขาเพิ่ม ซึ่งเบื้องหลังซัพพลายเออร์ผู้ผลิตสินค้าผลักดันให้กระทรวงพาณิชย์เร่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาออก พ.ร.บ.ค้าปลีกในวันนี้ เพื่อควบคุมห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ที่เข้ามามีบทบาทในการต่อรองกับผู้ผลิตรายใหญ่จนทำให้ไม่สามารถมีอำนาจเหนือตลาดเหมือนในอดีตที่ผ่านซึ่งผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้าในราคาถูกได้
“ต้องยอมรับว่ามีการวิ่งเต้นของซัพพลายเออร์รายใหญ่ในการผลักดันให้คลอด พ.ร.บ.ค้าปลีกโดยปัดฝุ่นเอาร่างเก่ามาใช้ถึงแม้จะถูกคัดค้านจากนักกฎหมายเช่น การให้อำนาจหน่วยงานรัฐมากเกินไป และหากกฎหมายค้าปลีกประกาศใช้จริงก็จะทำให้ผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่กลับมีอำนาจเหนือตลาดจะปรับขึ้นราคาสินค้าหรือกักตุนสินค้าเพื่อต่อรองขึ้นราคาก็ทำได้ง่ายขึ้น ซึ่งกรมการค้าภายในไม่สามารถจัดการอะไรได้แต่จะเร่งออกกฎมาควบคุมห้างค้าปลีกขนาดใหญ่อีก”แหล่งข่าวคนเดียวกัน กล่าว
**อ้างราคาวัตถุดิบยังไม่ลง
นายบุญฤทธิ์ มหามนตรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไลอ้อน ประเทศไทย จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคในเครือสหพัฒน์ เปิดเผยว่า กรณีที่ราคาน้ำมันลดลงจากกว่า 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปัจจุบันเหลือกว่า 70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยกรมการค้าภายในมีแนวทางที่จะให้ผู้ประกอบการปรับลดราคาสินค้าลง บริษัทมองว่าแม้ว่าราคาน้ำมันจะปรับลดลงแล้ว แต่ราคาวัตถุดิบไม่ได้ปรับลดลง และต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3-4 เดือน หรืออย่างมากครึ่งปีกว่าราคาวัตถุดิบจะลดลง
สินค้าอุปโภคบริโภคไม่ได้มีต้นทุนการผลิตจากราคาน้ำมัน แต่มีต้นทุนการผลิตจากราคาวัตถุดิบเป็นหลัก ดังนั้นกรณีการปรับราคาลดลง จะต้องเป็นสินค้าที่มีต้นทุนจากราคาน้ำมันอย่างแท้จริง อาทิ ค่าโดยสาร ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถปรับลดลงได้ทันที ขณะที่สินค้าอุปโภคบริโภคการปรับลดราคาเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา
**มาม่าโต้ยังไม่ถึงเวลาลดราคา**
นายพิพัฒ พะเนียงเวทย์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรามาม่า เปิดเผยว่า แม้ว่าราคาน้ำมันจะปรับลดลงไปแล้วในระดับหนึ่ง แต่หากพิจารณาก็ยังไม่ถึงเวลาที่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจะปรับราคาลดลงจาก 6 บาท เป็น 5 บาท เหมือนดังเดิม เพราะราคาน้ำมันไม่ได้ลดลงในปริมาณที่บริษัทต้องปรับราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โดยมองว่าต้นทุนการผลิตในปัจจุบันก็ยังสูงอยู่ โดยเฉพาะต้นทุนจากวัตถุดิบ
**ลีเวอร์ฯตอบอ้อมแอ้ม
นางพงษ์ทิพย์ เทศภู ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ยูนิลีเวอร์ไทย เทรดดิ้ง จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค ผงซักฟอกบรีส แชมพูซันซิล เปิดเผยว่า ผลจากราคาน้ำมันที่ปรับขึ้น ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทใช้กลยุทธ์ลดปริมาณ แต่ไม่ได้เพิ่มราคา เพื่อลดต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้น อาทิ ผงซักฟอกบรีส เนื่องจากมีสารเคมีที่ต้องนำเข้า อย่างไรก็ตามมองว่าราคาน้ำมันอาจจะลดลงอยู่แค่ในระดับ 70-80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เท่านั้น พร้อมกันนี้ยังยืนยันว่า การปรับลดปริมาณผงซักฟอกลง แต่ขายเดิมว่า เป็นขนาดที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคแล้ว
**ปุ้มปุ้ยชี้น้ำมันแค่ปัจจัยเดียว**
นายสลิล โตทับเที่ยง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล จำกัด(มหาชน) หรือผู้ผลิตอาหารกระป๋อง ยี่ห้อ ปุ้มปุ้ย-ปลายิ้ม เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทยังไม่ได้มีการปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด และยังมีอาหารสำเร็จรูปอีกหลายรายการที่ขอปรับราคาต่อกรมการค้าภายใน แต่ก็ยังไม่ได้รับการอนุมัติ โดยปลากระป๋องปุ้มปุ้ยยังคงแบกรับภาระต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามกรณีที่ราคาน้ำมันปรับลดลง มีส่วนช่วยให้ต้นทุนการขนส่งปรับลดลงบ้าง แต่วัตถุดิบไม่ได้มีการปรับลดราคาแต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น