xs
xsm
sm
md
lg

ศก.ดิ่งมาม่าโต13%รอบ10ปีปรรับส่งออก-เบรกกลุ่มพรีเมียม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดัชนีมาม่า ชี้วิกฤตเศรษฐกิจไทยรอบ 6 เดือน ถึงจุดต่ำสุด บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอาหารยาใจคนกำลังซื้อน้อย โตพรวด 13% เป็นตัวเลขสองหลักครั้งแรกรอบ 10ปี เร่งส่งมาม่า คัพ ไฟท์ติ้งแบรนด์ 10 บาท หั่นราคา 3 บาท รับความต้องการตลาด ชะลอปั้นบะหมี่ฯ พรีเมียม ปรับยุทธศาสตร์ส่งออก แก้เกมวัตถุดิบขึ้นราคา ลดความเสี่ยงสั่งซื้อล่วงหน้า สิ้นปีรายได้รวมโต 10% เกินเป้าหมาย กวาด 9,000 ล้านบาท

นายพิพัฒ พะเนียงเวทย์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบรนด์มาม่า เปิดเผยว่า ผลประกอบการช่วง 6 เดือนแรกปี 2552 มีประมาณ 3,559 ล้านบาท เติบโต 9% ซึ่งกลุ่มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่า เติบโต 13% โตสองหลักครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปี เพราะอานิสงส์จากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคมีความระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งตัวเลขการเติบโตของมาม่า เป็นดัชนีชี้วัดสะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ถดถอย หรือเรียกว่าอยู่ในจุดต่ำสุดแล้วในช่วงที่ผ่านมา

“ผลพวงจากสภาพเศรษฐกิจถดถอย ยังส่งผลให้กลุ่มบิสกิสยอดขายตกลง 20% ขณะที่สภาพตลาดตกลง 30-40% ส่วนกลุ่มบะหมึ่กึ่งสำเร็จรูปชนิดถ้วย ตลาดเติบโต 11% เทียบช่วง 3 ปีที่ผ่านมาตลาดเติบโต 30% อต่อเนื่อง เพราะราคาบะหมี่ถ้วยสูงถึง 12 บาท เมื่อเทียบกับบะหมี่ซองราคา 6 บาท นอกจากนี้บริษัทยังได้ชะลอการเปิดตัวบะหมี่ฯ พรีเมียม 2 รสชาติ เนื่องจากราคาสินค้าไม่สอดคล้องกับกำลังซื้อ ”

ล่าสุดเปิดตัวบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปบรรจุภัณฑ์ถ้วยไฟท์ติ้งแบรนด์ รสโปรตีนไข่ และซุปไก่ ราคา 10 บาท ขนาด 50 กรัม เมื่อเทียบกับบะหมี่ฯ ถ้วยปกติ ขนาด 50 กรัม ราคา 13 บาท รองรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ระมัดระวังการจับจ่าย หลังจากในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา บริษัทได้เปิดตัวบะหมี่ฯ ชนิดซองราคา 5 บาท จากราคาในตลาด 6 บาท ส่งผลให้ทั้ง 2รสชาติ มีส่วนแบ่ง 5% หรือมียอดขาย 5 หมื่นหีบต่อเดือน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจแย่ถึงจุดต่ำสุดแล้ว คาดว่าจากการเปิดตัวบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปชนิดถ้วยไฟต์ติ้งแบรนด์ ผลักดันส่วนแบ่ง 10% หรือ 4-6 หมื่นหีบต่อเดือน

ภาวะตลาดบะหมึ่กึ่งสำเร็จรูปในช่วงเดือนมกราคม – กรกฎาคม เติบโต 3% คาดว่าทั้งปีเติบโต 3-5% จากมูลค่า 1.1 หมื่นล้านบาท โดยชนิดซองตลาดโต 3% ซึ่งมาม่ามีแชร์เพิ่มจาก 50.9% เป็น 51.4% และชนิดถ้วยตลาดโต 7% ซึ่งมาม่ามีส่วนแบ่งลดลงจาก 59.3% เป็น 58.4% อย่างไรก็ตามจากการเปิดตัวบะหมี่ถ้วยไฟต์ติ้งแบรนด์ผลักดันส่วนแบ่งเพิ่มเป็น 60% ในสิ้นปีนี้ โดยส่วนแบ่ง 7 เดือน มาม่าเป็นผู้นำตลาดครองส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นจาก 53.4% เป็น 53.9% ไวไว 23% และยำยำ 20%

นายพิพัฒ กล่าวว่า การขยายตลาดต่างประเทศช่วงที่ผ่านมาได้ปรับกลยุทธ์ใหม่ จากเดิมเน้นพัฒนาสินค้าสนองความต้องการของตลาดมาเป็นการสร้างตลาดใหม่ โดยได้แต่งตั้งทีมการตลาด ดูแล 5 โซน แต่ละโซนต้องขยายตลาดใหม่ 5 ประเทศต่อปี ซึ่งปีนี้กำลังอยู่ระหว่างขยาย 2 ประเทศ ได้แก่ โรมาเนีย และเปรูมีการแต่งตั้งตัวแทนจำหน่าย

นอกจากนี้ยังได้ทำโปรโมชันเมื่อสั่งซื้อ 20 หีบ รับฟรี 1 เพิ่ม เพื่อกระตุ้นยอดการสั่งซื้อสินค้า เนื่องจากราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้น กลยุทธ์ดังกล่าวส่งให้ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา การส่งออกเติบโต 21% หรือทั้งปีมีรายได้เติบโต 25% จาก 1,800 ล้านบาท จากปีที่ผ่านมา 1,500 ล้านบาท

ในปีหน้านี้บริษัทจะส่งออกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปชนิดถ้วย จากที่ผ่านส่งออกบะหมี่ฯ ชนิดซองเป็นหลัก ในรูปแบบการรับจ้างผลิตหรือนำแบรนด์มาม่าไปจำหน่าย โดยบริษัทมีตลาดหลักในยุโรปและเยอรมัน และได้ทุ่มงบ 160 ล้านบาท สั่งซื้อเครื่องจักร 2 ไลน์ ขยายกำลังการผลิตอีก 10% จาก 6 ล้าน เป็น 7 ล้านซอง โดยสิ้นปีนี้บริษัทตั้งเป้าโต 9% หรือมีรายได้ 9,000 ล้านบาท จากปีที่ผ่านมา 8,000 ล้านบาท ส่วนอีก 2 ปี คาดว่ามีรายได้ 1 หมื่นล้านบาท

นายพิพัฒ กล่าวว่า บริษัทมีความกังวลเกี่ยวกับวัตถุดิบปรับราคาขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะแป้งสาลีต้องนำเข้ามาอเมริกา และขณะนี้กำลังพิจารณาหาวัตถุดิบอื่นๆ มาทดแทน จากที่ผ่านมาใช้น้ำมันปาล์มเป็นมาน้ำมันถั่วเหลืองหรือข้าวโพด โดยบริษัทลดความเสี่ยงด้วยการสั่งซื้อวัตถุดิบล่วงหน้าถึงสิ้นปีนี้ และกำลังอยู่ระหว่างเจรจาต่อรองราคาวัตถุดิบในปีหน้านี้

“เศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกถึง 70% ดังนั้นภาครัฐต้องพิจารณาดูศักยภาพของคู่ค้า กลุ่มจี 7 หรือจี 8 โดยเฉพาะอเมริกาเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ จากอัตราการว่างงานที่ลดลง หรือกระทั่งประเทศจีนท่ามกลางที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก แต่ยังมีการเติบโต 7-8% อย่างไรก็ตามมองว่าเศรษฐกิจคงไม่เลวร้ายไปมากกว่านี้ แต่อาจฟื้นตัวช้าหรือเป็นตัวยูมากกว่าวี” นายพิพัฒกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น