xs
xsm
sm
md
lg

ปูดแผนก่อสงครามปชช.อดีตรมต.ซ่องสุมกำลังในวัดเพื่อลุยพันธมิตร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ประธานกรรมการประสานงานพรรคฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้หยิบยกปัญหาการเมืองซึ่งจะส่งผลวิกฤตเศรษฐกิจและทำให้การเมืองมาถึงทางตันมากขึ้นโดยเฉพาะกรณีที่คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล)เดินหน้าประชุมสภาในสัปดาห์หน้า ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์พร้อมทำหน้าที่ในสภา หากเงื่อนไขไม่เป็นเหมือนกับวันที่7 ตค.ที่ผ่านมา แต่ปมปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือท่าทีของวิปรัฐบาล ที่เตรียมขนคนมาเพื่อรักษาความปลอดภัยให้กับ ส.ส.รัฐบาลที่เข้าร่วมประชุม การตรวจสอบฝ่ายค้านที่ไม่เข้าร่วมประชุมในการแถลงนโยบาย และการมอบหมาย ให้สมาชิกพรรคพลังประชาชนไปแจ้งความดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งท่าทีดังกล่าวของวิปรับบาลจะทำให้การเมืองมาถึงทางตันและเกิดการเผชิญหน้ากันมากขึ้น
นายสาทิตย์กล่าวว่าขณะเดียวกันท่าทีของ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ยังไม่ตัดสินใจว่าจะยุบสภาหรือลาออก ซึ่งขณะนี้จะส่งผลกระทบต่อการบริหารนโยบายของรัฐที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ โดยเฉพาะราคายางพารา ที่ตกต่ำมาถึง10 บาท ขณะเดียวกันมีการจะประกันจำนำราคาข้าวให้อยู่ที่1.4 หมื่นบาท หรือ 1.2 หมื่นบาท ต่อเกวียน
สถานการณ์ทั้งหมดมีความน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง และท่าทีของคนในรัฐบาล ที่มีการขนคนเข้ามาในกรุงเทพ เพื่อให้เกิดการปะทะกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ถามว่าเป้นความจงใจที่จะให้ทหารเข้ามาปฏิวัติใช่หรือไม่ เพราะจากเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อวันที่7 ต.ค.ที่ทำให้คนเสียชีวิต ภาคสังคมรวมถึงผู้บัญชาการเหล่าทัพได้เรียกร้องให้นายสมชายได้แสดงความรับผิดชอบ แต่จนถึงขณะนี้ก็ไม่มีทีท่าว่าจะยุบหรือลาออก แต่จงใจอยู่ในตำแหน่งเพื่อให้เกิดการปฏิวัติ และนำไปสู่การหาเสียงเลือกตั้งครั้งใหม่ โดยโจมตีการปฏิวัติ และให้บางคนกลับมามีบทบาททางการเมืองอีกครั้ง และอาศัยช่วงจังหวะนี้เดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อนิรโทษกรรม บางคนบางกลุ่ม และเอาบางคนกลับมาเป็นนายกฯอีกครั้ง
การกระทำของนายสมชายครั้งนี้จะทำให้การเมืองยุคมิคสัญญีที่ประชาชน ใช้กำลังประหัตประหาร หรือสุมเสี่ยงต่อการใช้ความรุนแรง เพราะนอกจากวิปรัฐบาลจะมีการขนคนเข้ามาแล้ว ยังทราบว่ามีอดีตรัฐมนตรีในภาคเหนือมีการขนคนมาไว้ที่วัดแห่งหนึ่งทางทิศเหนือของ กทม. ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงก็จะเกิดการประทะรุนแรง เสียเลือดเนื้อมากกว่าครั้งใดๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ดังนั้นจึงอยากให้นายสมชาย ได้ตัดสินใจบนจิตสำนึกของคนไทยมากกว่าที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาของญาติพี่น้อง ของตัวเอง ซึ่งพรรคมีความไม่สบายใจในการกระทำดังกล่าวของวิปรัฐบาลเพราะรู้มาว่ามีการเกณฑ์คนขึ้นมาเพื่อต้องการให้เกิดการเผชิญหน้า สร้างความรุนแรง

หาช่องยื่นตีความแถลงนโยบายโมฆะ
นายสาทิตย์กล่าวด้วยว่าในการประชุม ส.ส.และกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ วิปฝ่ายค้านจะมีการหารือในประเด็นที่องค์ประชุมในวันแถลงนโยบายของรัฐบาล เมื่อวันที่ 7 ต.ค.อาจจะมีปัญหา หรือส่อขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งขณะนี้วิปได้มีการ เตรียมไว้ 3-4 ช่องทาง แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป โดยอาจจะมีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ผ่านช่องทางผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา หรือ การที่ครม.มีมติหลังแถลงนโยบาย อาจจะมีการใช้ช่องทางผ่านทางศาลปกครอง แต่ทั้งหมดยังไม่มีความชัดเจน จึงต้องได้ข้อสรุปในที่ประชุมพรรคก่อน
โดยข้อมูลจากการตรวจสอบเทปบันทึกการประชุมอย่างละเอียดอีกครั้งพบว่า มีปัญหาหลายประเด็น โดยเฉพาะการประชุมแถลงนโยบายเป็นการประชุมตามมาตรา 127 ที่ต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของที่ประชุมรัฐสภา คือ 311 เสียง โดยวันนั้นนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ได้แจ้งว่ามีสมาชิกเข้าร่วมประชุม314 เสียง จึงได้มีการโหวต เห็นชอบก่อนที่จะมีการอภิปรายหรือไม่ ปรากฏว่ามีผู้เห็นด้วย 307 งด 2 ไม่เห็นด้วย 5 จึงถือว่าไม่ครบองค์ประชุม แต่ได้เกิดการทักท้วงจาก ร.ท. กุเทพ ใสกระจ่าง ส.ส.ศรีสะเกษ ส.ส.พรรคพลังประชาชน ทำให้นายชัยต้องสั่งพักการประชุม10 นาที ก่อนที่จะมีการลงมติครั้งที่สอง จนได้มติ 320 เสียง จึงมีข้อสังเกตว่า การลงมติครั้งแรกไม่ถึงกึ่งหนึ่ง แล้วให้ลงมติใหม่ในครั้งที่สอง ทำให้ได้หรือไม่ ซึ่งคำตอบคงทำไม่ได้ เพราะหากนำมาเทียบเคียงกับกรณีการโหวตผ่านกฎหมาย คือหากครั้งแรกไม่ผ่านก็ต้องตกไป
ประธานวิปฝ่ายค้านกล่าวว่า หลังจากมีการพักประชุม10 นาทีแล้วมีการโหวต ได้ 120 เสียง ปรากฏว่ามีสมาชิกอย่างน้อย 3 คนไมได้ลงชื่อเข้าประชุม แต่มีชื่อกดบัตรในการโหวต เรื่องนี้นายสามารถ แก้วมีชัย รองประธานสภาคนที่1ได้ออกมายอรับว่า มีความผิดจริงและเป็นความผิดเฉพาะตัว ซึ่งวิปฝ่ายค้านเห็นว่าไม่น่าจะใช่ความผิด เฉพาะตัว เพราะตามรัฐธรรมนูญ126 ระบุว่า สมาชิกมีเสียงหนึ่งเสียงใด แล้วออกเสียงได้คนละ1ครั้ง แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเท่ากับว่ามีสมาชิกหนึ่งคนลงคะแนนเสียงได้มากกว่า1 ครั้ง จึงมีชื่อของสมาชิกที่ไม่ได้ลงชื่อปรากฏอย่างที่เห็น
นอกจากนี้ตามมาตรา 177 รัฐมนตรีไม่มีสิทธิลงคะแนนเนื่องจากการ แถลงนโยบาย รัฐมนตรีมีส่วนได้เสียกับการแถลงนโยบายดังกล่าว ดังนั้นเมื่อหักจำนวนรัฐมนตรี 23 คนออกก็จะถือว่าไม่ครบองค์ประชุม ดังนั้นวิปฝ่ายค้าน จึงต้องดำเนินการเรื่องนี้ต่อเพราะเชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อการบริหารราชการของรัฐบาลในอนาคตเกิดขึ้น ซึ่งขณะนี้ได้มีการดำเนินนโยบายหลังจากแถลงไปแล้วไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ครม.อนุมัตินโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ6 ด้าน ด้วยงบ 1.2 ล้านล้านบาท รวมถึงการโยกย้ายข้าราชการ60-70 ต่ำแหน่งที่อาจจะมีปัญหาเกิดขึ้นได้หากมีผู้ได้รับผลกระทบไปร้องเรียนศาลปกครอง
ส่วนกรณีที่วิปรัฐบาลเตรียมที่จะมีการตรวจสอบพรรคประชาธิปัตย์ กรณีไม่เข้าร่วมประชุม นายสาทิตย์กล่าวว่าสาเหตุที่พรรคไม่เข้าร่วมประชุมเพราะเราได้แสดงจุดยืนตั้งแต่ต้นแล้วว่าไม่อยากเหยียบกองเลือดประชาชนเข้าไปรับทราบในวันแถลงนโยบาย แต่ประเด็นไมได้อยู่ที่เข้าร่วมประชุมหรือไม่ แต่อยู่ที่ว่าในวันแถลงนโยบายสามารถทำได้หรือไม่ ในเมื่อองค์ประชุมไม่ครบและมีการลงมติถึง2ครั้ง เพราะนอกจากส.ส.พรรคไม่เข้าร่วมประชุมยังมีส.ส.ในซีกของพรรคร่วมรัฐบาล ที่ไม่เข้าร่วมประชุม จำนวน 49 คน เป็น ส.ส.จากพรรคพลังประชาชน 35 คน พรรคัชฌิมาธิปไตย 4 คน พรรคึเพื่อแผ่นดิน6 คน พรรค ชาติไทย1 คน พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา 1 คน และพรรคประชาราช2 คน

ร่วมประชุมแต่ไม่สังฆกรรมรัฐบาล
นพ.บุรณชัย สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงภายหลังการประชุมพรรคสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ว่าที่ประชุมมีมติจะเข้าร่วมประชุมสภาในวันที่ 22 ต.ค. ตามที่วิปรัฐบาลเสนอ เพราะพรรคได้แยกแยะการทำหน้าที่ฝ่ายค้าน ในสภาผู้แทนราษฏร กับการไม่สนับสนุนต่อการกระทำที่รุนแรงของรัฐบาลต่อประชาชน แต่ยังคงยืนยันว่าหากมีกิจกรรที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์จะไม่ร่วมสังฆกรรมทุกอย่าง
นพ.บุรณชัย กล่าวว่า นอกจากนี้ที่ประชุมได้ประเมินสถานการณ์การเมือง โดยเห็นว่า อายุรัฐบาลนาย สมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ยากที่จะอยู่ยาว วันนี้ได้เดินมาสู่จุดทางเลือกไม่มากหนัก เนื่องจากพฤติกรรมการกระทำต่อเหตุการณ์ ในวันที่ 7 ต.ค. รวมถึงการเกณฑ์ประชาชนมาชุมนุม ซึ่งจะทำให้เกิดความแตกแยก มากขึ้น ขณะที่กลุ่มสถาบันองค์กรต่างๆที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลเริ่มทยอยออกมา เรียกร้องมาขึ้น รวมถึงความพยายามถ่วงเวลาในการตั้งคณะกรรมการของรัฐบาล และการจัดการปฏิรูปการเมืองโดยจะให้มีสสร. 3
อายุของรัฐบาลอาจไม่ยื่นยาว โดยมีทางออก 3 ทาง คือ 1 การตัดสินใจลาออก หรือยุบสภา ซึ่งถึงขณะนี้นายกฯ ยังยืนยันที่จะไม่พิจารณาเรื่องนี้ ซึ่งอาจนำไปสู่ทางออกที่ 2 คือ มีการเสนอให้มีรัฐบาลพิเศษ คือการมีนายกฯคนนอก โดยต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรา ซึ่งเรื่องนี้สามารถป้องกันได้หากนายกฯ พิจารณาตัวเอง โดยการลาออกก่อน และ 3 ซึ่งเป็นทางออกสุดท้ายที่จะเกิดขึ้นคือ การปฏิวัติยึดอำนาจชั่วคราวเพื่อหยุดยั้งความแตกแยกรุนแรง ซึ่งพรรคไม่ประสงค์ ให้มีการปฏิวัติ หรือยึดอำนาจเกิดขึ้น”
โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ที่ประชุมยังได้ประเมินว่า หากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินและอาจจะมีการยุบพรรคการเมืองเกิดขึ้น หลังจากนั้นพรรค ที่ถูกยุบจะมารวมกันเป็นพรรคเดียวเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่ากลไกลการตรวจสอบ ขององค์กรอิสระ และกระบวนการยุติธรรมในเมืองไทยไม่สามารถมีอะไรที่จะทำลายล้างระบอบทักษิณให้หมดไปจากแผ่นดินได้ ทั้งยังมีความพยายามซื้อเวลา เพื่อเตรียมการเลือกตั้ง ซึ่งทั้งหมดนี้จะนำพาบ้านเมืองสู่วิกฤตอีกครั้ง ดังนั้น หากเกิดเหตุการณ์รุนแรงต่อจากนี้ ความรับผิดชอบยังคงอยู่ที่ตัวนายกฯแต่เพียงผู้เดียว
ด้านนายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส. กทม. กล่าวว่า พรรคจะไม่มีการตั้งกระทู้ถามรัฐบาล เพราะถือว่าเป็นการทำงานร่วมกัน ส่วนการพิจารณาร่างกฎหมายนั้น หากเป็นร่างที่สมาชิกเสนอประกบก็จะร่วมพิจารณา แต่หากเป็นร่างกฎหมายที่เสนอ โดยรัฐบาล ก็คงไม่สามารถจะร่วมพิจารณาด้วยได้
กำลังโหลดความคิดเห็น