xs
xsm
sm
md
lg

“รุ่งทิวา”น่าห่วง “ตี๋”อาการดีขึ้น สนธิเยี่ยมผู้ป่วย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - วีรสตรีคนกล้า “รุ่งทิวา” อาการยังน่าห่วง รพ.จุฬาฯ เผยอาการล่าสุดยังคงไร้การตอบสนอง ไม่รู้สึกตัว ด้าน “ตี๋-ศิลปินนักสู้” อาการดีขึ้น ไข้เริ่มลด หมอวางแผนเอาสายระบายเลือดในปอดออก แต่ยังไม่พ้นวิกฤต ย้ำห้ามเยี่ยมเกรงติดเชื้อ “สนธิ” เข้าเยี่ยมอาการ “วีรบุรุษ-วีรสตรีตุลา” ให้คำมั่นจะไม่ทอดทิ้งคนเจ็บ และครอบครัว แม้ตัวเองจะตายไปก็จะให้ลูกดูแลต่อ ขณะที่ครอบครัวผู้บาดเจ็บตัดขาเผยหมอยังลุ้นอาการทางสมอง พบกะโหลกซีกซ้ายร้าว หลังจากที่ต้องตัดขาขวาตั้งแต่ใต้เข่าทิ้งไปแล้ว เผยยังมีผู้บาดเจ็บรักษาตัวอยู่ในรพ. 47 คน

สำหรับความคืบหน้าการบาดเจ็บของนางรุ่งทิวา ธาตุนิยม หญิงผู้ได้รับบาดเจ็บจากการไล่ฆ่าประชาชนของเจ้าหน้าที่ตำรวจโฉด เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา ด้วยอาการบาดเจ็บที่ศีรษะบริเวณซีกซ้าย กะโหลกแตก สมองบวมช้ำ บริเวณใบหน้าได้รับความเสียหายหนัก ดวงตาด้านซ้ายหลุด ที่ก่อนหน้านี้ทาง รพ.ราชวิถี รับเอาไว้และทำการผ่าตัดแล้ว 3 ครั้ง ก่อนจะส่งมาผ่าตัดที่ รพ.จุฬาลงกรณ์เมื่อวันที่ 9 ต.ค. โดยใช้เวลาผ่าตัดครั้งที่ 4 นี้กว่า 7 ชั่วโมงนั้น

วานนี้(12 ต.ค.) นพ.ธีระพงศ์ เจริญวิทย์ รักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เปิดเผยอาการล่าสุดว่า ขณะนี้อาการของนางรุ่งทิวายังคงที่ ไม่มีการตอบสนอง ไม่รู้สึกตัว สภาพคงเดิมเหมือนเมื่อวาน ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

ส่วนที่โรงพยาบาลรามาธิบดี นพ.ธันต์ สุภัทร์พันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์ยังมีผู้บาดเจ็บรักษาตัวอยู่ในรพ.รามาฯอีก 10 ราย มี 7 รายที่เป็นคนไข้อาการสาหัส คือจำเป็นต้องรักษาตัวอีกประมาณ 3 สัปดาห์ ส่วนอาการของ “ศิลปินนักสู้” ตี๋-ชิงชัย อุดมเจริญกิจ ล่าสุดยังคงอยู่ในห้องไอซียู และจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ แต่อาการไข้เริ่มลด คณะแพทย์วางแผนเตรียมถอดสายระบายโลหิตในปอด คนไข้รู้สึกตัวดี สื่อสารได้ และไม่มีอาการติดเชื้อ

“อาการเริ่มดีขึ้น แต่ยังไม่พ้นวิกฤตครับ เรากลัวคนไข้ติดเชื้อ ดังนั้นฝากประชาสัมพันธ์ให้ด้วยว่าห้ามเยี่ยมนะครับ เพราะผู้มีเยี่ยมอาจจะทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อได้ครับ” ผอ.รพ.รามาฯ กล่าว

**“สนธิ” เข้าเยี่ยมอาการ “วีรบุรุษ-วีรสตรีตุลา”
ที่วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล นางจริยา กายสะอาด ภรรยา นายธัญญา กุลแก้ว อายุ 50 ปี ชาวชุมพร ซึ่งถูกสะเก็ดระเบิดทำให้ต้องตัดอวัยวะตั้งแต่ใต้เข่าด้านขวาทิ้ง โดยขณะนี้พักอยู่ที่หออภิบาลผู้ป่วยศัลยกรรมหัวใจ เปิดเผยว่า อาการที่แพทย์แจ้งล่าสุดเมื่อวันที่ 11 ต.ค.คือ ให้รอดูอาการด้านสมองเนื่องจากแพทย์พบว่า กะโหลกศีรษะซีกซ้ายมีอาการร้าว และส่งผลกระทบถึงสมองซีกซ้ายด้วย โดยขณะนี้ผู้ป่วยยังไม่รู้สึกตัว แต่สำหรับบาดแผลที่ขาที่ผ่าตัดไปไม่มีปัญหา ดังนั้น แพทย์จึงรอดูอาการทางสมองอยู่ โดยได้ส่งตัวผู้ป่วยรับการเอ็กซเรย์สมองเป็นวันที่ 3 ในช่วงเช้า แต่ยังไม่ทราบผล

นางจริยาเปิดเผยด้วยว่า เมื่อเวลา ประมาณ 10.00 น.นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ ได้เดินทางเข้าเยี่ยมเพื่อให้กำลังใจผู้บาดเจ็บ และครอบครัว โดยพยาบาลได้อนุญาตให้นายสนธิเข้าเยี่ยมเป็นกรณีพิเศษ

นางจริยากล่าวด้วยว่า ภายหลังออกจากห้องผู้ป่วยนายสนธิได้พูดกับลูกสาวคนเล็กของตนว่า "ไม่ต้องห่วง ลุงจะดูแลคุณพ่อและหนู และทุกๆ คนเอง"

ทั้งนี้ นายสนธิ ได้เขียนลงในสมุดเยี่ยมว่า “คุณธัญญาวีรบุรุษกู้ชาติ กู้แผ่นดิน อานิสงส์ผลบุญที่คุณทำครั้งนี้ จะส่งผลให้ครอบครัว และบรรพบุรุษคุณ มีความเจริญรุ่งเรืองตลอดไป ผมจะไม่มีวันทอดทิ้งคุณ และครอบครัวคุณ ตราบเท่าที่ผมยังมีชีวิตอยู่ หรือแม้จะตายไป ก็จะบอกให้ลูกผมดูแลคุณ และครอบครัวคุณตลอดไป”

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ได้มีพันธมิตรฯ เดินทางมาให้กำลังใจนายธัญญาเกือบตลอดทั้งวัน แต่เนื่องจากหมองดเยี่ยมจึงทำได้เพียงให้กำลังใจภรรยา และลูกสาว

สำหรับผู้เดินทางมาเยี่ยมอาการและให้กำลังใจครอบครัวนายธัญญาก่อนหน้านี้ อาทิ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรฯ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯ กทม. กัปตันคทาทอง สุวรรณทัต และกัปตันจักรี พงษ์ศิริ กัปตันการบินไทย พลตรีกลชัย สุวรรณบูรณ์ ส.ว.ชุมพร เป็นต้น

“ตี๋ ชิงชัย”อโหสิกรรม
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศบริเวณหน้าหออภิบาลผู้ป่วยวิกฤตศัลยกรรม โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งเป็นสถานที่พักรักษาอาการของ นายชิงชัย อุดมเจริญกิจ หรือ ตี๋ ศิลปินอิสระที่แขนขวาขาด จากเหตุสลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ที่ผ่านมา ยังคงมีญาติและภรรยาของ นายตี๋ มาเฝ้าอาการอยู่หน้าห้องผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด และมีญาติ เพื่อน และเพื่อนผู้ชุมนุมในกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เดินทางมาเยี่ยมเป็นระยะ พร้อมเขียนแสดงความห่วงใยในสมุดเซ็นเยี่ยม รวมทั้ง นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ยังได้นำแจกันดอกไม้ผูกโบว์สีส้มมาเยี่ยมอาการ เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. ด้วย

น.ส.เมตตา อุปมัย ภรรยา นายตี๋ เปิดเผยว่า นายสนธิ ได้สอบถามตนว่า ต้องการให้ช่วยเหลือเรื่องใดหรือไม่ ซึ่งตนรู้สึกว่า สิ่งเดียวที่ต้องการขณะนี้ คือ ให้ นายตี๋ หายป่วยโดยเร็ว เพราะนอกจากจะสูญเสียมือขวาที่เป็นมือข้างถนัดใช้วาดรูปแล้ว ยังห่วงอาการที่ นายตี๋ ถูกความร้อนเผาไหม้กับถูกแรงกระแทกบริเวณหน้าอกด้วย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้นำวิทยุเครื่องประจำของ นายตี๋ ไปเปิดคลื่นธรรมะที่ นายตี๋ ชอบฟังเป็นประจำ

น.ส.เมตตา เปิดเผยด้วยว่า ตั้งแต่เมื่อวานนี้ (11 ต.ค.) นายตี๋ มีสติรู้สึกตัวแล้ว และได้สื่อสารกับตน ด้วยการใช้มือซ้ายจับดินสอเขียนบนกระดาษ เรื่องแรกที่เขียน คือ เรื่องลูก สั่งว่าห้ามให้ น้องบลู และ น้องแจ๊ส ลูกทั้งสองคนมาที่โรงพยาบาลเด็ดขาด และเขียนด้วยว่า มือขาดแล้ว คงไม่มีโอกาสได้บวช โดยเน้นย้ำว่าเป็นเรื่องจริงจัง เพราะเดิมตั้งใจไว้ว่าเก็บเงินได้ก้อนหนึ่ง แล้วจะบวชตลอดชีวิต แต่เมื่ออวัยวะไม่ครบสามสิบสองแล้ว ก็จะขอถือศีล 8 แทน

น.ส.เมตตา เปิดเผยว่า นายตี๋ ยังเขียนอีกว่า ไม่รู้ว่าทำเวรกรรมอะไร ถึงต้องมาเจอสภาพแบบนี้ แต่ก็ขออโหสิกรรมให้คนที่ทำ ส่วนในวันนี้ นายตี๋ ได้เขียนสั่งเรื่องร้านที่เช่าพื้นที่ไว้ ช่วงนี้ขอให้เพื่อนมาใช้ตั้งขายสินค้าไปก่อน ดีกว่าปล่อยให้เปล่าประโยชน์

นอกจากนี้ นายเอ๊ด ภิรมย์ ศิลปินอิสระ ตัวแทนจากกลุ่มเครือข่ายศิลปินประชาธิปไตย ได้เดินทางมาเยี่ยมและหารือกับ ภรรยา นายตี๋ เรื่องการจัดกิจกรรมช่วยเหลือต่างๆ อาทิ จัดกิจกรรมแสดงศิลปะ กวี และดนตรีเพื่อหารายได้ จัดประมูลภาพวาดผลงาน นายตี๋ เตรียมการช่วยเหลือเรื่องกฎหมาย และการประสานงานภาคสังคมต่างๆ โดย น.ส.เมตตา จะนำไปปรึกษา นายตี๋ อีกครั้ง

นายเอ๊ด เล่าด้วยว่า อยู่ระหว่างการรวบรวมประวัติส่วนตัวของ นายตี๋ เพื่อเผยแพร่ยกย่อง ในความเป็นคนสู้ชีวิต แม้ นายตี๋ จะเกิดในครอบครัวยากจน ในชุมชนแออัดคลองเตย แต่ก็ไม่ได้นอกลู่นอกทาง ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ได้ทุนจากศูนย์เมอร์ซี่ เรียนจนจบ ป.6 ต่อ กศน.และเรียนไทยวิจิตรศิลป์ จนจบระดับ ปวช.ได้

**เผยยังมีผู้บาดเจ็บรักษาตัวอยู่ 47 คน
สำหรับผู้บาดเจ็บจากเหตุสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ซึ่งมีจำนวน 471 ราย เสียชีวิต 2 ราย ล่าสุดวานนี้(12 ต.ค.) ยังมีผู้บาดเจ็บนอนรักษาในโรงพยาบาลทั้งหมด 47 ราย เป็นชาย 35 ราย หญิง 12 ราย อยู่ที่โรงพยาบาลกลาง 3 ราย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 3 ราย โรงพยาบาลศิริราช 3 ราย โรงพยาบาลราชวิถี 1 ราย โรงพยาบาลพระมงกุฎ 6 ราย โรงพยาบาลรามาธิบดี 10 ราย โรงพยาบาลตำรวจ 9 ราย โรงพยาบาลเลิดสิน 1 ราย และวิทยาลัยแพทยศาสตร์กทม.และวิชรพยาบาล 11 ราย ในจำนวนนี้อาการหนักอยู่ในห้องไอซียู 4 ราย คือที่วชิรพยาบาล 1 ราย โรงพยาบาลรามาธิบดี 1 ราย โรงพยาบาลพระมงกุฎ 1 ราย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 1 ราย เป็นชาย 3 ราย หญิง 1 ราย ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขณะนี้ยังนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล 10 ราย อยู่ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎ 1 ราย ที่เหลืออยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ ได้รับการดูแลจากทีมแพทย์เจ้าหน้าที่ทุกแห่งอย่างใกล้ชิด

**จิตแพทย์เผย 7 ตุลาหนักมากกว่าสึนามิ
ในการสัมมนา วิกฤตจิตใจจากภัย 7 ตุลาฯ การเยียวยาและทางออก จัดขึ้นโดยราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย และสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ศ.พญ.นงพงา ลิ้มสุวรรณ ประธานราชวิทยาลัยจิตแพทย์ฯ กล่าวว่า เหตุรุนแรงที่เกิดขึ้น ขอย้ำว่าเป็นความรุนแรงในแง่ความคิดที่แตกต่าง ซึ่งส่งผลกระทบต่อจิตใจอย่างมาก ความรุนแรงที่ปรากฏต่อสื่อต่างๆ ถือได้ว่าเป็นภัยพิบัติ และมีความรุนแรงมากกว่าภัยพิบัติธรรมชาติ เช่น สึนามิ น้ำท่วม กาลเวลาสามารถเยียวยาให้หายไปได้ คติทางพุทธศาสนาก็จะคิดว่าเป็นเรื่องของเวรกรรมที่ตนเองไม่สามารถเข้าไปแก้ไขอะไรได้ แต่กรณีนี้ความรุนแรงที่เกิดขึ้น จะฝังลงเข้าไปในจิตใจ ในสมอง หากได้รับมากขึ้นเรื่อยๆ จะส่งผลกระทบให้มีการตอบโต้อย่างรุนแรง ดังนั้นอาจจะต้องมีการปรับจิตใจ นำหลักพระพุทธศาสนาเข้ามาช่วยเยียวยา อย่าทำบาป มีใจกรุณาและทำบุญจะดีกว่า

“ขอย้ำว่า การเยียวยาต้องเยียวยาทั้งประเทศ เพราะว่าทุกฝ่ายได้รับผลกระทบไปหมด แม้แต่แพทย์จุฬาฯที่ออกมาประกาศจะไม่รักษาตำรวจเมื่อไปเจอฝ่ายตรงข้าม ร้านขายของแถวสามย่านก็ประกาศไม่ขายของให้แพทย์จุฬาฯ ตำรวจเองก็มีความเครียดไ ม่แพ้ประชาชนเพราะต้องปฏิบัติหน้าที่ และตกเป็นจำเลยของสังคมในการแก้ไขปัญหา ทุกฝ่ายต้องย้ำว่าเป็นแค่ความคิดเห็นที่แตกแยกต้องสู้กันทางความคิด ไม่ใช้ความรุนแรงอย่างเด็ดขาด และต้องไม่มีการทำร้ายกัน”ประธานราชวิทยาลัยจิตแพทย์ฯกล่าว

ด้าน ผศ.นพ.พนม เกตุมาน หัวหน้าภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวขอให้สื่อมวลชนให้ความรู้กับประชาชนในการบริโภคข่าวสารหรือชมเหตุการณ์ และอย่านำเสนอแต่แง่ลบ ควรมีทางออกให้สังคม และอย่าเสนอภาพรุนแรงซ้ำ ๆ ขณะเดียวกันการสัมภาษณ์ผู้ที่ได้รับผลกระทบก็ควรใช้หลักจิตวิทยา หากคำถามจะไปกระตุ้นจิตใจก็ควรมีการบรรเทาผู้สัมภาษณ์ไปด้วย หรือมิเช่นนั้น ควรนำจิตแพทย์ เข้ามาร่วมในบทสนทนาด้วย เพื่อให้รู้สึกผ่อนคลายและไม่เป็นการซ้ำเติมจิตใจผู้ที่ได้รับผลกระทบ
กำลังโหลดความคิดเห็น