ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – “รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์” ฟิตจัด เดินสายพบปะเกษตรกรภาคใต้ หาแนวทางส่งเสริมเป็นสมาชิกเพื่อฟื้นฟูตามแนวปรัชญาพอเพียง ดูแลขวัญและกำลังใจเกษตรกร 3 จชต. เผยมาตรการขจัดหนี้ทั้งระบบ จะเร่งแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการภายในใหม่ใน 90 วัน บูรณาการช่วยเหลือหนี้สินเกษตรกรที่มีกว่า 300,000 ราย โดยเจรจาร่วมมือซื้อหนี้จากสถาบันการเงินล็อตใหญ่ เจรจาศาลชะลอการบังคับคดี และเสนอรัฐบาลเป็นวาระแรก เพื่ออนุมัติงบ 30,000 ล้านบาท เป็นงบประมาณให้กองทุนฯ ซื้อหนี้เกษตรกรจากสถาบันการเงิน ชี้ 9 ปีของการตั้งกองทุนฯ ล้มเหลวช่วยเหลือเกษตรกรได้แค่ 3,000 รายเท่านั้น
เกือบ 10 ปีแล้วที่กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรจัดตั้งขึ้น ตามเสียงเกษตรกรเรียกร้อง เพื่อให้รัฐบาลแก้ไขปัญหานี้สินและปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ สำหรับการช่วยเหลือเกษตรกรโดยการซื้อหนี้ มาตรการหนึ่งที่จะช่วยเหลือให้เกษตรกรหมดหนี้เร็วที่สุด คือ กองทุนฯ จะเข้าไปชำระหนี้สินแทนเกษตรกร ที่มีหนี้อยู่ในสถาบันการเงินปกติ ซึ่งคิดอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยร้อยละ 10 ต่อปี โอนหนี้มาไว้ที่กองทุนฯ ซึ่งคิดอัตราค่าบริการเพียงร้อยละ 1 ต่อปี แต่จนถึงปัจจุบันการดำเนินงานที่ล่าช้าและติดขัด ทำให้ช่วยเหลือเกษตรกรผู้เดือดร้อนได้จริงจังได้ไม่ทันท่วงที
รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ รักษาการเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาการเกษตร เปิดเผย “ผู้จัดการรายวัน” ขณะเดินทางมาพบปะเกษตรกรใน จ.สงขลา ว่า ที่ผ่านมาการทำงานของกองทุนฯ ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ได้แม้แต่ข้อเดียว เพราะในแต่ละปีเกษตรกรสามารถหาเงินไปชำระหนี้ได้เพียงตัดดอกเท่านั้นโดยไม่สามารถตัดเงินต้นได้เลย เนื่องจากมีรายได้น้อย และยิ่งทำงานก็ยิ่งเป็นหนี้ โดยเฉพาะปัญหาชาวนาในภาคกลาง ซึ่งยิ่งทำนามากครั้งก็ยิ่งเป็นหนี้มากขึ้น อีกทั้งเมื่อเกษตรกรเดือดร้อนและต้องการความช่วยเหลือก็มีทั้งนายหน้าซึ่งมาจากทั้งบุคคลภายในองค์กรและผู้นำเกษตรกรมาหลอกเก็บค่าหัวคิวซื้อหนี้เกษตรกร จนมีการยึดที่ทำกินและชาวบ้านต้องออกมาประท้วงให้เห็นกันอยู่บ่อยๆ
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2543 จนถึงปัจจุบันมีเกษตรกรเป็นสมาชิกประมาณ 6,000,000 คน และมีผู้ประสงค์ขอให้กองทุนจัดการหนี้ให้อีกกว่า 300,000 ราย ขณะที่มีการซื้อหนี้เกษตรกรไปแล้ว 3,586 ราย 3,616 สัญญา วงเงิน 533,201,859.69 บาทเท่านั้น ซึ่งทั้งหมดเป็นลูกหนี้ที่กำลังถูกเจ้าหนี้ดำเนินคดี ยึดทรัพย์ หรือถูกขายทอดตลาด ทำให้กองทุนรักษาที่ดินทำกินของเกษตรกรไว้ได้ในขณะนี้จำนวน 18,960 ไร่
อย่างไรก็ตาม ภายหลังที่ได้รับตำแหน่งรักษาการเลขาธิการกองทุนฯ จะเร่งแก้ไขปัญหาระบบการบริหารจัดการภายในภายใน 60 วัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้หมดหนี้เร็วที่สุด โดยนำหลักธรรมาภิบาลมาเป็นกรอบในการกำหนดนโยบายและบริหารจัดการ จะร่วมมือกับสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาในการสร้างประมวลจริยธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานทุกคน
รวมทั้งสร้างระเบียบและกฎเกณฑ์ในการโยกย้ายตำแหน่ง ปรับโครงสร้างการบริหารงานและให้มีโครงสร้างเงินเดือน และให้หน่วยงานที่เป็นกลางมาประเมินประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานแต่ละคน วางระบบบัญชี การเงิน และการตรวจสอบ เป็นต้น เพื่อให้สามารถจัดทำรายงานการเงิน ต่อคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาภายใน 90 วัน ทำให้การซื้อหนี้ของเกษตรกรมีประสิทธิภาพมากขึ้น และบูรณาการวิธีการบริหารจัดการหนี้และฟื้นฟูอาชีพของเกษตรกรเป็นหนึ่งเดียว โดยอาศัยความร่วมมือกับองค์กรและสถาบันต่างๆ
“แม้ว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะไม่นิ่งก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ที่ส่งผลต่อการดำเนินงานของกองทุนฯ เนื่องจากยังไม่มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานจึงไม่สามารถประชุมบอร์ดได้ แต่กองทุนฯ ได้บูรณาการทำงานใหม่โดยเข้าพบผู้บริหารของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ 80% ของเกษตรกรที่ประสบปัญหา เพื่อหาแนวทางลงนามข้อตกลง เพื่อซื้อหนี้เกษตรเป็นกลุ่มใหญ่ 500-1,000 คน จากเดิมที่เจรจาทีละราย ทำให้ช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรที่เป็นหนี้ไม่ทัน จนถูกดำเนินคดี ยึดทรัพย์ และเข้าเจรจากับศาลเพื่อชะลอการบังคับคดีอีกทางหนึ่ง รวมทั้งผลักดันเรื่องนี้ต่อรัฐบาลเป็นวาระแรก เพื่อขอซื้อหนี้เกษตรกรทั้ง 100,000 รายที่ขึ้นทะเบียนกับกองทุนไว้แล้ว ด้วยงบ 30,000 ล้านบาท” รศ.ดร.สังศิต กล่าวต่อและว่า
ขั้นตอนหลังจากที่กองทุนฯ ได้ซื้อหนี้แล้ว จะเข้าช่วยเหลือเกษตรกรด้วยการส่งเสริมให้มีการฝึกอบรมด้านต่างๆ ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เช่น การแปรรูป การผลิตปลอดสารพิษ และกระจายศูนย์การฝึกอบรมของปราชญ์ชาวบ้านทั่วประเทศ สอดคล้องกับที่องคมนตรีได้ขอให้รักษาผืนแผ่นดินของเกษตรกรเอาไว้ ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่ามีกลุ่มทุนอาหรับพยายามกว้านซื้อที่ดินของเกษตรกรด้วยราคาสูง เพื่อลงทุนปลูกข้าวเอง
รศ.ดร.สังศิต กล่าวต่อด้วยว่า สำหรับปัญหาหนี้เกษตรกรในภาคใต้ค่อนข้างจะน้อยกว่าภาคอื่นๆ แต่กองทุนฯ จะเข้ามาส่งเสริมให้มีการรวมเป็นกลุ่มเป็นสมาชิกมากขึ้นเพื่อฟื้นฟูตามแนวปรัชญาพอเพียง พึ่งพาตัวเอง รวมทั้งดูแลเกษตรกรใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ในเรื่องขวัญและกำลังใจ
สำหรับเป้าหมายในปี 2552 กองทุนฯ จะวางระบบการจัดการหนี้และการฟื้นฟูอาชีพให้สอดคล้องกันมากขึ้น โดยผู้ที่ได้รับการจัดการหนี้จำนวน 3,586 ราย จะต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู ซึ่งขณะนี้กองทุน ได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 165,597,204 บาท ให้แก่องค์กรเกษตรจำนวน 2,649 องค์กร เพื่อการฟื้นฟูอาชีพสำหรับเกษตรกรจำนวน 237,984 ราย ซึ่งงบประมาณก้อนแรกนี้เป็นงบอุดหนุน เพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่องค์กรเกษตรกร สำหรับในปีต่อไปจะเป็นเงินให้องค์กรเกษตรกู้ยืมเพื่อนำไปประกอบอาชีพตามแผนและโครงการที่องค์กรเกษตรเสนอมา ซึ่งกองทุนตั้งงบไว้ประมาณ 450 ล้านบาท