xs
xsm
sm
md
lg

สัมภาษณ์:MR. NIEL GUNNA F. SONDERGAARD (อนาคตเลี้ยงโคนมในไทยยังสดใส)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

MR. NIEL GUNNA F. SONDERGAARD ผู้อำนวยการชาวเดนมาร์ค คนแรกของ ฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ค หรือองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อสค.) จึงขอให้ได้เล่าประสบการณ์ในอดีตที่ผ่านมามีความเป็นมาอย่างไร

เมื่อปี 2498 ซึ่งเป็นปีแรกที่ผมถูกส่งมาทำงานในประเทศไทยนั้น คนไทยยังไม่มีการเลี้ยงโคนมเป็นอาชีพ ยกเว้นบางพื้นที่ที่มีผู้อพยพจากอินเดียอาจมีการเลี้ยงอยู่บ้าง แต่ก็เป็นวิธีการเลี้ยงที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการน้ำนมที่ได้จึงค่อนข้างสกปรก ในตอนนั้นคนจำนวนไม่น้อยจึงเข้าใจว่านมที่ดื่มผลิตมาจากโรงงานไม่ใช่มาจากแม่วัว ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีมากเมื่อได้กลับมาประเทศอีกครั้งและได้เห็นว่าในวันนี้อาชีพการเลี้ยงโคนมในประเทศไทยมีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานและสามารถสร้างรายได้ที่มั่นคงกับเกษตรกร ขณะเดียวกันฟาร์มโคมนมไทย-เดนมาร์กที่มวกเหล็กก็สามารถทำหน้าที่ด้านการส่งเสริมและถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องอาชีพการเลี้ยงโคนมได้เป็นอย่างดี

ตอนนั้นกำลังทำโครงการเกี่ยวกับฟาร์มโคนมเพื่อเสนอต่ออาจารย์ ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับที่รัฐบาลเดนมาร์กและสมาคมเกษตรกรเดนมาร์กมีความตั้งใจที่จะน้อมเกล้าฯ ถวายโครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคนมในประเทศไทยให้เป็นของขวัญ แก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งเสด็จประพาสประเทศเดนมาร์กและทรงให้ความสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับกิจการเลี้ยงโคนมของชาวเดนมาร์กเป็นอย่างมาก อาจารย์จึงได้เสนอชื่อของเขากับรัฐบาลเดนมาร์กและสมาคมเกษตรกรเดนมาร์ก จึงได้มาเริ่มงานส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงโคนมที่สนใจในประเทศไทย

สำหรับภารกิจแรกของผู้อำนวยการคนแรกของฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ค ในประเทศไทยคือ การออกสำรวจพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ เพื่อหาสถานที่ที่มีสภาพภูมิประเทศและสภาพอากาศที่เหมาะสมต่อการจัดตั้งฟาร์มโคนม ซึ่งหลังจากใช้เวลาสำรวจและพิจารณาเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องต่างๆเกือบ 6 ปี เขาจึงตัดสินใจเลือกมวกเหล็ก เพราะมีความพร้อมในเรื่องของแหล่งน้ำและสภาพแวดล้อม นอกจากนี้ยังไม่ห่างไกลจากเส้นทางคมนาคมมากนัก จากนั้นจึงได้จัดทำแผนโครงการเสนอ เพื่อพิจารณาก่อตั้ง ฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์คและกลายเป็น องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศ (อ.ส.ค.) ทุกวันนี้ ก่อนจะมีพิธีเปิดฟาร์มอย่างทางการเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2505

MR. SONDERGAARD กล่าวว่า หลังจากงานก่อสร้างอาคาร และการปรับปรุงพื้นที่สำเร็จลุล่วงไปแล้ว ทางรัฐบาลเดนมาร์กและสมาคมเกษตรกรเดนมาร์กได้จัดส่งพ่อพันธุ์ และแม่พันธุ์โคนมให้กับรัฐบาลไทย เพื่อนำมาปรับปรุงสายพันธุ์โคนมที่แข็งแรงและเหมาะสมกับสภาพอากาศของประเทศไทย ฟาร์มไทย-เดนมาร์คจึงได้จัดหลักสูตรอบรมการเลี้ยงโคนมครั้งแรกขึ้น โดยได้รับความสนใจจากเกษตรกร 90 รายจากหลายพื้นที่เข้ามาศึกษาดูงาน ซึ่งแม้ว่าช่วงแรกของการฝึกอบรมจะมีอุปสรรคบ้าง แต่หลังจากที่มีการสาธิตและเปิดโอกาสให้เกษตรกรได้ปฏิบัติจริงในฟาร์มของ อ.ส.ค. ควบคู่ไปกับลงพื้นที่เพื่อให้คำแนะนำกับเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง ทำให้จำนวนสมาชิกเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในความดูแลของ อ.ส.ค.เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

จากจำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งปริมาณน้ำนมดิบที่เกษตรกรผลิตได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย MR. SONDERGAARD คิดว่าถึงเวลาที่จะต้องพัฒนาต่อยอดด้านการผลิต จึงกลับมาทบทวนและวางแผนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ของฟาร์มไทย-เดนมาร์คขึ้น โดยผลิตภัณฑ์แรกของนมไทย-เดนมาร์คนำเสนอให้รูปแบบถุง ซึ่งเป็นสิ่งแปลกใหม่ในช่วงเวลานั้น ทำให้ผู้บริโภครู้จักและพูดถึงนมไทย-เดนมาร์คมากขึ้น ที่สำคัญอดีตผู้อำนวยการ อ.ส.ค. ย้ำว่าสิ่งหนึ่งที่ อ.ส.ค. ยึดถือมาตลอดตั้งแต่เริ่มทำแผนการตลาดเมื่อ 45 ปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน คือ ความสดใหม่และการใช้นมโคสดแท้ 100% มาผลิต เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน

“ตั้งแต่สมัยผมอยู่ประเทศไทยแล้ว นมไทย-เดนมาร์คต้องแข่งขันด้านการตลาดกับโฟร์โมสต์มาตลอด ซึ่งสมัยนั้นทางโฟร์โมสต์ใช้แผนการตลาดที่เน้นให้ผลประโยชน์กับทางร้านค้า แต่ทาง อ.ส.ค.เลือกใช้วิธีเน้นเรื่องคุณภาพและความสดใหม่ของผลิตภัณฑ์แทน โดยทุกๆวันผมและทีมงานจะนำนมที่ผลิตขึ้นใหม่ไปวางตามร้านค้า และเก็บนมที่ขายไม่หมดกับมาเพราะขณะนั้นยังไม่มีนมพาสเจอไรส์ ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจในความสดใหม่ของนมไทย-เดนมาร์ค และมีการบอกต่อๆกัน ซึ่งจนทุกวันนี้เราก็ยังคงเน้นเรื่องของคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่จะต้องผลิตจากนมโคสดแท้ 100% เท่านั้นจนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่ทำให้ผู้บริโภครู้จักนมไทย-เดนมาร์คด้วย” MR. SONDERGAARD กล่าว

ในตอนท้าย MR.SONDERGAARD บอกถึงความรู้สึกที่ได้กลับมาเยี่ยมชมฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์คอีกครั้งว่า รู้สึกดีใจและมีความสุขมากที่เห็นลูกศิษย์ของผมได้นำความรู้ต่างๆเกี่ยวกับอาชีพการเลี้ยงโคนมไปถ่ายทอดและให้คำแนะนำกับเกษตรกรไทยอย่างต่อเนื่อง ทำให้การเลี้ยงโคนมกลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่มั่นคงของเกษตรกรไทย รวมถึงในส่วนของฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ค ที่มวกเหล็กก็มีการพัฒนากิจกรรมและบทบาทการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงโคนมได้เป็นอย่างดีตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้

ดังนั้นเมื่อกลับไปประเทศเดนมาร์กเขาจะเร่งศึกษาแผนการดำเนินงานและการบริหารจัดการฟาร์มของ อ.ส.ค. ในปัจจุบันอย่างละเอียด จากนั้นจะนำไปวิเคราะห์ร่วมกับหลักวิชาการการเลี้ยงสมัยใหม่ของเดนมาร์กโดยเฉพาะเรื่องของการปรับปรุงพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ เพื่อจัดทำเป็นหนังสือแนะนำส่งกลับมาให้ทาง อ.ส.ค. ใช้ศึกษาต่อไป ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว MR.SONDERGAARD เชื่อมั่นว่าหากมีการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้ จะทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมไทยสามารถพัฒนาและยกระดับมาตรฐานการผลิตให้แข่งขันกับประเทศอื่นๆอย่างแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น