xs
xsm
sm
md
lg

โพธิสัตตบูรณาเทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 27)

เผยแพร่:   โดย: ดร.สุวินัย ภรณวลัย

27. จอมคนเทียนแห่งธรรม (ต่อ)

คำสอนของ คุรุ เรื่อง บุญ ถือว่าเป็นคำสอนที่ ปฏิวัติความคิด และทำให้ผู้ที่มีปัญญาสามารถเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่เคยครอบงำ คนไทยส่วนใหญ่เกี่ยวกับเรื่อง บุญ ได้ จากเดิมที่คนไทยส่วนใหญ่มักเชื่อกันว่า เราควรทำบุญเพื่อไปสวรรค์ แต่ คุรุ กลับอธิบายเรื่อง บุญ ว่าเป็น พลังงานอนันต์ ที่สัมพันธ์ไปกับ การฝึกจิต ที่เป็น พลังงานอมตะ ซึ่งสามารถโยงเข้าสู่ เป้าหมายของการพัฒนาทางจิตวิญญาณ ได้อย่างชัดเจน อย่างที่ไม่เคยมีใครชี้ให้เห็นชัดเช่นนี้มาก่อน

ไม่แต่เท่านั้น คำสอนของ คุรุ เกี่ยวกับ พระพุทธเจ้า ก็ไม่เหมือนใคร เพราะท่านสอนให้พวกเรารู้จัก พระพุทธเจ้า ในฐานะที่เป็น จิตวิญญาณของลูกผู้ชายคนหนึ่ง ที่ต้องทำทุกเรื่องด้วยลำแข้งของตนเอง ด้วยความเป็นนักสู้อย่างเป็นเลิศ ด้วยความเอาจริงเอาจัง ด้วยการเอาชีวิตเข้าทดลอง ด้วยความเพียรอย่างยิ่งเพื่อบรรลุเป้าหมายชีวิตของตนเอง ท่านจึงรู้จัก พระพุทธเจ้า ในฐานะที่เป็น วิถีของลูกผู้ชาย คนหนึ่ง มิได้รู้จักพระพระพุทธเจ้าในฐานะที่เป็นตำราหรือคัมภีร์อันแห้งแล้ง แต่เป็น เรื่องราวของลูกผู้ชายที่มีหัวใจที่ยิ่งใหญ่ดวงหนึ่ง ที่คนทั้งหลายควรศึกษาไว้เพื่อเอาเป็นเยี่ยงอย่าง และกระทำตาม

ด้วยความเข้าใจ พระพุทธเจ้า อย่างมุมมองข้างต้นของ คุรุ เช่นนี้แหละ ที่ทำให้พวกเราสามารถใกล้ชิดกับพระพุทธองค์อย่างแนบแน่น ทั้งในอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด และในทางจิตวิญญาณได้

ขอให้ท่านผู้อ่านลองจินตนาการนึกถึง สภาพของลูกผู้ชายคนหนึ่งที่ได้ทำได้พูด ได้คิดในสิ่งที่เหนือลิขิต เหนือความคาดเดา และความเป็นไปได้ของสังคม และยุคสมัยของเขา โดยที่การกระทำ การพูด และการคิดของเขาผู้นั้น เป็นสิ่งที่ต้องต่อสู้กับสิ่งแวดล้อม บรรยากาศ และสังคมรอบข้างอย่างรุนแรง มิหนำซ้ำลูกผู้ชายคนนี้ที่ได้ใช้ชีวิตอย่างฝืนลิขิต และฝืนประเพณีกลับประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ในการกระทำ การพูด และการคิดของตัวเขา
จนกระทั่งสามารถชักนำผู้อื่นเป็นจำนวนมากในสังคมทุกระดับชั้นให้หันมาทำตาม พูดตาม และคิดตามได้อย่างตัวเขาจนเป็นผลสำเร็จ โดยที่เขาผู้นี้ได้วางรากฐานแบบฝึกหัด และวิถีชีวิตในการทำ-พูด-คิดของตัวเขาให้เป็นหลักสากล ให้เป็นตรรกวิทยา ให้เป็นปรัชญาชีวิตขั้นสูง ซึ่งทำให้มนุษยชาติในเวลาต่อมา สามารถศึกษา และสืบทอดแนวทางของเขาผู้นี้ได้นับเป็นพันๆ ปี

ผู้ชายคนนี้ และผู้ชายอย่างนี้ต้องถือว่าเป็น คนพิเศษอย่างยิ่ง เพราะแค่ลองคิดดูว่า การที่ลูกผู้ชายคนหนึ่งที่ตัดสินใจทำอะไรๆ ไม่ใช่เพื่อตัวเอง แต่เพื่อทุกๆ คนตั้งแต่อายุ 29 ปีถึง 80 ปี โดยยอมสละทุกอย่างที่เขามี แม้กระทั่งเลือดเนื้อและชีวิต เพื่อจะทำการปลดปล่อยจิตวิญญาณของตนเอง และของสรรพสัตว์ทั้งหลายให้หลุดพ้นจากการขัดข้อง การควบคุม และการบังคับขู่เข็ญทั้งปวงนั้น มันช่างเป็นความยิ่งใหญ่ของหัวใจเพียงใด

ความหมายแห่งชีวิตของลูกผู้ชายคนนี้อยู่ที่การแสวงหาวิโมกขธรรม หรือทางแห่งความหลุดพ้นตั้งแต่วัยหนุ่มฉกรรจ์ โดยมุ่งที่จะผลักดันคนทั้งหลายให้หลุดพ้นตามด้วย แม้ว่าในช่วงที่ตัวเขากำลังแสวงหาอยู่นั้น ตัวเขาจะอยู่ท่ามกลางความมืดมิดบนเส้นทาง แต่ตัวเขาก็ยังมีความหวังในใจอยู่เสมอว่า ต้องมีแสงสว่างรออยู่ข้างหน้า ตัวเขาจึงเดินแสวงหาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง อย่างมีความหวัง ทั้งๆ ที่ไม่เคยมีใครในยุคสมัยของเขาได้เห็นแสงสว่างชนิดนี้มาก่อน แต่ผู้ชายคนนี้ก็มุ่งหน้าเดินต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ ด้วยความเชื่อมั่นในตัวเอง ในสิ่งที่ตัวเขากำลังเรียนรู้ และค้นพบว่า นี่เป็น หนทางแห่งความสว่าง ที่แฝงสนิทอยู่ในความมืดบอด

จนกระทั่งในที่สุด ผู้ชายคนนี้ก็ได้พบกับแสงสว่าง โดยที่แสงสว่างอันนั้นเป็นความมหัศจรรย์ ซึ่งตัวเขาได้พบด้วยความลิงโลด เบิกบาน และแช่มชื่น เขาบอกกับตัวเองว่า

“ความหวังของเราไม่เป็นหมันแล้ว ความสว่างที่เราแสวงหาในความฝัน บัดนี้มันเป็นความจริงแล้ว!”

ในที่สุด คุรุ ก็ได้ค้นพบว่า กำลังใจที่ผู้ชายคนนี้ใช้ปลุกเร้าตนเองให้แสวงหาในวิโมกขธรรมได้อย่างไม่หยุดหย่อนนั้นคือ ความรักที่จะช่วยปลดปล่อยสรรพสัตว์ และความอาทรที่ตัวเขามีต่อผู้คนทั้งหลาย เพราะตัวเขามีความรัก ความอาทรเช่นนี้แหละ จึงเป็นกำลังใจและแรงผลักดันให้เขาผู้นั้นแสวงหาทางแห่งความหลุดพ้น เพื่อทำให้ผู้คนทั้งหลายได้หลุดพ้นทุกข์ ไม่แต่เท่านั้น ความรัก ความอาทรนี้ยังเป็นกำลังใจที่ปลุกเร้าให้ตัวเขาได้ทำงานหนักอย่างยิ่ง ได้พยายามสรรหาวิถีทาง และวิธีการต่างๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อมเพื่อให้ได้มาซึ่งการปลดปล่อย และสิ่งที่ทำให้สามารถปลดปล่อยได้

ด้วยเหตุนี้ คุรุ จึงรู้จัก พระพุทธเจ้า ในฐานะที่เป็น ผู้นำทางจิตวิญญาณ ของตัวท่าน ผู้ซึ่งได้ก้าวเข้าไปสู่ประตูแห่งชัยชนะก่อน ได้ทำเรื่องราวที่คนเราพึงค้นหาด้วยตัวเอง และเข้าถึงด้วยตัวเองให้ได้ก่อนที่จะติดตามพระพุทธองค์เข้าสู่ประตูอันนั้นด้วยเช่นกัน

วิถีชีวิตที่ผ่านมาของ คุรุ เอง ที่สามารถก้าวทะลุขีดจำกัดของสถานภาพทางสังคม เศรษฐกิจ และโรคประจำตัวในการฝึกปรือตนเองให้เป็นแบบอย่างของสาวกแห่งพระพุทธะที่ประเสริฐ และเป็นผู้สืบทอดจิตวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธะนั้น ก็ควรแก่การศึกษาเพื่อเป็นแบบอย่าง และเป็นกำลังใจแก่ผู้คนทั้งหลายที่กำลังตกอยู่ในภาวะที่ถูกวิกฤตต่างๆ รุมเร้าให้มีความหวังต่อชีวิตได้เช่นกัน

ในวัยเด็ก บ้านของ คุรุ ยากจนมาก ท่านจึงต้องช่วยที่บ้านทำงานตั้งแต่เด็ก แต่ท่านเป็นคนชอบทำบุญตักบาตรตั้งแต่เด็กแล้ว แม้จะมีรายได้น้อย แต่ท่านมักจะเจียดเงินไว้ส่วนหนึ่ง เพื่อซื้อหรือทำอาหารถวายพระเสมอ เมื่อโตขึ้นท่านก็ชอบฟังธรรม ชอบสวดมนต์ และอยากจะสนทนาธรรม เมื่อเป็นหนุ่มหลังจากหมดหน้าที่เป็นทหาร ท่านก็ได้บวช ตอนบวช ท่านก็มาคนเดียว คือเข้าไปบวชแค่คนเดียว

สามวันแรกที่เพิ่งบวช ท่านต้องอดอาหารเพราะไม่สบาย ไปบิณฑบาตไม่ได้ และพระด้วยกันก็ไม่มีใครสนใจใคร จึงไม่มีใครรู้ว่า ท่านไม่ได้ฉันอะไรจนถึงวันที่สี่ เริ่มมีเรี่ยวแรงออกไปบิณฑบาตได้ข้าวมาไม่กี่ทัพพีกับไข่เค็ม 1 ฟอง แต่แค่นั้น ท่านก็ตระหนักถึงความสำคัญของอาหารที่เป็นไปเพื่อความตั้งอยู่ได้ของกายนี้ว่าเป็นเช่นไร

แรกบวช ท่านได้เริ่มฝึกฝนตนเองโดยที่ไม่ได้มีอาจารย์ผู้ใดมาสอน โดยท่านเริ่มจาก การจัดระเบียบของกายให้เป็นระบบของจิต ต่อมา ท่านก็ฝึกตัวเองแบบเข้มข้นด้วยการ ฝึกมหาสติ โดยเริ่มจากการชำระกายและใจของตัวเองเพื่อให้เกิดความรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา เช่น เข้าไปนอนในโลงศพกับผีตายซากเป็นเดือนๆ เอาตัวเองไปแช่ในหลุมอุจจาระจนถึงคอตลอดทั้งคืน และเข้าไปอยู่ในถ้ำเสือแม่ลูกอ่อน การฝึกเหล่านี้ท่านฝึกความรู้เนื้อรู้ตัวเพื่อเข้าถึงจิตวิญญาณของท่านเองอย่างสันติและถูกต้อง จนในที่สุดตัวท่านสามารถปลุก “ครูผู้มีใจอารี” ภายในตัวท่านขึ้นมาได้ ทำให้ตัวท่านสามารถรู้ได้ว่า ตัวท่านเองเป็นใคร มีความเป็นมาเช่นไร และมีภาระหน้าที่อะไรในชาตินี้

ครั้งหนึ่ง “เขา” เคยถาม คุรุ ว่า

“หลวงปู่ครับ ที่หลวงปู่เพียรสอนมานี้ มีใครบรรลุความเป็นพุทธะบ้างหรือยังครับ”

คุรุ ตอบด้วยความเมตตาว่า

“ความเป็นพุทธะไม่ใช่การบรรลุ แต่เป็นการเต็มอกเต็มใจที่จะทำที่จะเป็น เพราะ ความหมายของความเป็นพุทธะคือการพลีกาย พลีใจ และจิตวิญญาณของตนให้เป็นสะพาน เพื่อให้สรรพสัตว์ได้เดินไปสู่ฟากโน้น”

ในตอนนั้น “เขา” ได้แย้งท่านไปว่า

“แต่นิยามอย่างนี้ไม่เหมือนกับนิยามพุทธะของคนทั่วไปนี่ครับ”

คุรุ ตอบว่า

“ไม่รู้สิ ฉันไม่รู้ว่าคนทั่วไปเขาคิดอย่างไร เธอก็รู้อยู่แล้วว่า ฉันไม่เหมือนคนอื่นเขา แต่ ฉันรู้ว่าพระพุทธเจ้าท่านมีวิญญาณแบบนี้”

“เขา”
จึงถามท่านต่อไปอีกว่า

“ถ้าอย่างนั้น จิตของพระพุทธเจ้ากับจิตของพระโพธิสัตว์ก็เป็นอันเดียวกันสิครับ”

คุรุ ตอบอย่างมั่นใจว่า

“คงใช่มั้ง เพราะ ความหมายของพุทธะมันเป็นเรื่องของการช่วยเหลือ ไม่ใช่แค่การแสวงหา มันเป็นเรื่องของการแบ่งปัน เอื้ออาทร และมอบให้ด้วย ดังนั้น ความรู้ของพระพุทธะจึงค่อนข้างกว้างขวางและยิ่งใหญ่ เพราะต้องเสริมสร้างประสบการณ์เพื่อการช่วยเหลือ เพื่อบรรเทา เพื่อแบ่งปันความทุกข์เดือดร้อนของสรรพสัตว์ มันจึงไม่มีตัวบรรลุ”

เพราะเหตุนี้กระมัง คุรุ จึงสอนพวกลูกศิษย์ของท่านเสมอว่า กระบวนการที่ช่วยเหลือผู้อื่น ในขณะเดียวกันก็เป็นกระบวนการแห่งการเรียนรู้ด้วยตัวเองด้วย คนเราจึงต้องยืนให้ได้ด้วยลำแข้งของตัวเอง และจงระลึกไว้เสมอว่า “ไม่มีใครสามารถมาเปลี่ยนชีวิตของเราได้หรอก ถ้าหากคนเราไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงตัวเอง” (ยังมีต่อ)
กำลังโหลดความคิดเห็น