xs
xsm
sm
md
lg

มทร.อีสานสร้าง“เครื่องโรยปุ๋ยยาง” ประหยัด ทุนแรง-ทำงานครบถ้วน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“เครื่องโรยปุ๋ยยางพาราต้นแบบ” อัจฉริยะ ผลงานวิจัยชิ้นเอก มทร.อีสาน นครราชสีมา
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- เปิดตัว “เครื่องโรยปุ๋ยยางพาราต้นแบบ” อัจฉริยะ ผลงานวิจัยชิ้นเอก มทร.อีสาน เผยทุ่นแรง ทุ่นเวลา ประหยัดค่าใช้จ่ายและเกษตรกรสุขภาพดี ศึกษาวิจัยพัฒนานานกว่า 2 ปีก่อนประสบความสำเร็จรองรับชาวอีสานแห่ปลูกยางฯแล้ว 2.2 ล้านไร่ ระบุทำงานครบถ้วนในเครื่องเดียวเป็นแห่งแรกทั้งเปิดหลุม-โรยปุ๋ย- ฝังกลบและยังปรับเป็นรถบรรทุกได้ด้วย ล่าสุดอยู่ระหว่างขอจดสิทธิบัตร

ผศ. มงคล คธาพันธ์ หัวหน้าสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) นครราชสีมา เจ้าของผลงานวิจัย “เครื่องโรยปุ๋ยยางพาราต้นแบบ” เปิดเผยว่า จากนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกยางพาราเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยางพาราให้ผลผลิตน้ำยางสูงกว่าพืชชนิดอื่น ทำให้ปัจจุบันเกษตรกรชาวอีสานหันมาปลูกยางพารากันเป็นจำนวนมากมีพื้นที่ปลูกยางประมาณ 2.2 ล้านไร่ พื้นที่เปิดกรีด 6.3 แสนไร่ ผลผลิตรวม 1.5 แสนตัน/ปี คิดเป็นมูลค่าที่เกษตรกรได้รับ 1.1 หมื่นล้านบาท ประชาชนมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม พบว่า เกษตรกรยังมีปัญหาเรื่องการให้ปุ๋ยต้นยางพารา ที่ต้องเสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายสูงในการให้ปุ๋ยแต่ละครั้ง และที่สำคัญได้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรเป็นอย่างมาก ทั้งมือเปื่อยลอก สุขภาพร่างกายทรุดโทรม ดังนั้น ทีมงานวิจัยจึงเข้าไปศึกษาปัญหาและหาแนวทางช่วยเหลือโดยคิดค้นประดิษฐ์เครื่องมือทุ่นแรงต้นแบบ สำหรับใส่ปุ๋ยต้นยางพารา

ทั้งนี้ทีมงานวิจัยเสนอขอสนับสนุนงบประมาณการวิจัย จากสถาบันวิจัยและพัฒนา (สวพ.) ศูนย์กลาง มทร.อีสาน 1.4 แสนบาท เมื่อปี 2549 จากนั้นได้ทำการวิจัยและศึกษา ออกแบบ เครื่องโรยปุ๋ยยางพาราต้นแบบขึ้น จากวัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่นใช้ต้นทุนผลิตเพียง 80,000 บาทและพัฒนาประสิทธิภาพของเครื่องมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันได้ “เครื่องโรยปุ๋ยยางพาราต้นแบบ” ที่มีประสิทธิภาพสูง ทำงานครบถ้วนในเครื่องเดียวทั้ง เปิดหลุม โรยปุ๋ย และฝังกลบ เป็นแห่งแรก

ผศ. มงคล กล่าวต่อว่า เครื่องโรยปุ๋ยยางพาราต้นแบบเครื่องนี้ มีส่วนประกอบที่สำคัญคือ 1. ชุดโครงเครื่อง หรือ ตัวรถโรยปุ๋ย ,2. ถังบรรจุปุ๋ย ขนาด 500 กิโลกรัม พร้อมชุดลำเลียงและโรยปุ๋ย (ทำจากวัสดุสเตนเลส) , 3. ชุดเปิดและกลบร่อง และอุปกรณ์กำหนดความลึกของการเปิดร่องดิน , 4. ชุดควบคุมการบังคับเลี้ยวหัวแปลงยางพารา โดยผู้ขับไม่ต้องลงจากรถ และ 5. ชุดตัดต่อการลำเลียงปุ๋ยเพื่อโรยปุ๋ยลงในร่องดิน

สำหรับการทำงานของเครื่องโรยปุ๋ยต้นแบบนี้ ขั้นตอนแรกต้องต่อพ่วงเครื่องโรยปุ๋ยเข้ากับรถไถเดินตามทั่วไปซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่มีไว้ใช้งานอยู่แล้ว และขณะเครื่องโรยปุ๋ยเคลื่อนที่ ชุดเปิดร่องดินจะทำหน้าที่เปิดร่องให้ลึกประมาณ 5-7 เซนติเมตร (ซม.) และชุดเปิดร่อง ดินสามารถปรับมุมใบมีดให้เหมาะสมกับความแข็งของดินแต่ละชนิด จากนั้นด้านใต้ถังบรรจุปุ๋ยจะมีสว่านลำเลียงปุ๋ย ทำหน้าที่ลำเลียงปุ๋ยไปโรยลงในร่องดินที่เปิดโดยชุดเปิดร่อง ในอัตราส่วน 16 กิโลกรัมต่อระยะทาง 100 เมตร อย่างสม่ำเสมอ โดยขึ้นอยู่กับความเร็วในการขับเคลื่อนเครื่องโรยปุ๋ย

จากนั้นตัวกลบร่องก็จะทำหน้าที่กลบร่องด้วยดินเดิม โดยมีปุ๋ยอยู่ด้านล่างของร่อง และเมื่อถึงหัวแปลงผู้ขับต้องตัดการลำเลียงปุ๋ยและยกชุดเปิดและกลบร่องขึ้น แล้วบังคับเลี้ยวหัวแปลงด้วย คันบังคับเลี้ยว และเมื่อเลี้ยวเข้าร่องแปลงยางพาราใหม่ผู้ขับก็วางชุดเปิดและกลบร่องลง และปลดคันตัดการลำเลียงปุ๋ย

ผศ.มงคล กล่าวต่อว่า จากการสอบถามและเก็บข้อมูลจากเกษตรกรสวนยางฯ พบว่า แรงงาน 1 คนจะทำงานได้เต็มที่ประมาณ 8 ชั่วโมง/วัน สามารถหว่านปุ๋ยได้ 10 ไร่ โดยต้องจ่ายค่าจ้างวันละ 180 บาทต่อคน แต่สำหรับเครื่องโรยปุ๋ยยางพาราเครื่องนี้ สามารถทำงานได้ 14.33 ไร่ต่อชั่วโมง ถ้าทำงาน 8 ชั่วโมงเท่ากับแรงงานคน จะโรยปุ๋ยได้มากถึง 114.64 ไร่ เสียค่าใช้จ่ายเพียง 326 บาท เป็นค่าน้ำมันเชื้อเพลิง (น้ำมันดีเซลลิตรละ 30 บาท)

“หากคิดเทียบค่าใช้จ่ายต่อไร่ แรงงานคน 18.00 บาท/ไร่ แต่เครื่องโรยปุ๋ย เสียค่าใช้จ่ายเพียง 2.84 บาท/ไร่ เท่านั้น หากคิดเทียบเวลาแล้วเสร็จต่อ 100ไร่ แรงงานคน 1 คนต้องใช้เวลามากถึง 10 วัน (วันละ 8 ชั่วโมง) แต่หากจะให้แล้วเสร็จภายใน 1 วันต้องใช้แรงงานมากถึง 10 คนทำให้เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น แต่หากใช้เครื่องโรยปุ๋ยยางพาราต้นแบบเครื่องนี้ ใช้เวลาแค่ 7 ชั่วโมง เท่านั้น” ผศ.มงคล กล่าว

ผศ.มงคล กล่าวอีกว่า เครื่องโรยปุ๋ยยางพาราต้นแบบนี้ไม่มีคุณสมบัติเฉพาะโรยปุ๋ยได้เท่านั้น แต่สามารถปรับไปใช้งานอย่างอื่นได้ เช่น เป็นรถบรรทุก เพราะการให้ปุ๋ยต้นยางพาราจะให้ 2 ครั้งต่อปี คือ ต้นฤดูฝนและปลายฤดูฝน ซึ่งการแปลงสภาพเครื่องโรยปุ๋ยให้เป็นรถบรรทุกนั้น สามารถทำได้โดยถอดนอตยึดถังบรรจุปุ๋ยและสว่านลำเลียงออก และเลื่อนถังไปด้านท้ายออกจากตัวรถ จากนั้นปลดชุดเปิดและกลบร่องออกจากตัวรถ และล็อกคันบังคับเลี้ยวหัวแปลงไม่ให้ทำงาน ก็จะได้รถบรรทุกสิ่งของต่างๆ ตามไร่ได้ หรือ อาจใช้บรรทุกยางพาราได้เช่นกัน

“เครื่องโรยปุ๋ยยางพาราดังกล่าว ได้เสนอขอจดสิทธิบัตรกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์แล้ว ขณะนี้รอเพียงการอนุมัติเท่านั้น โดยจดสิทธิบัตรในนามของ มทร.อีสาน และมีบริษัทเอกชนผู้ปลูกยางรายใหญ่ของประเทศ ที่จ. ระยองให้ความสนใจ เข้ามาศึกษาวิธีการทำงานของเครื่อง และต้องการให้ทางมหาวิทยาลัยฯ ผลิตเครื่องดังกล่าวป้อนให้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจารูปแบบข้อตกลงร่วมกัน” ผศ.มงคล กล่าว

ส่วนการพัฒนาต่อไปเครื่องโรยปุ๋ยต้นแบบเครื่องนี้ได้ถูกออกแบบสำหรับการให้ปุ๋ยครั้งละ 500 กิโลกรัม ซึ่งเหมาะสมกับเครื่องต้นกำลัง (รถไถเดินตาม) และเกษตรกรที่มีพื้นที่ปลูกยางตั้งแต่ 50 ไร่ขึ้นไป ราคาต้นทุนการผลิตจึงยังสูง ไม่เหมาะกับเกษตรกรรายย่อยหรือเกษตรกรที่มีพื้นที่ปลูกยางพาราน้อย อนาคตจึงจะต้องพัฒนาปรับปรุงให้เครื่องมีขนาดเล็กลง ราคาถูก และใช้งานได้ง่าย เหมาะสำหรับเกษตรกรรายย่อย

ขณะนี้ทีมงานวิจัยได้เก็บข้อมูลการใช้งานของเครื่อง เพื่อปรับปรุงให้มีคุณภาพการใช้งานได้ดี มีประสิทธิภาพสูง และจะได้นำออกเผยแพร่ให้เกษตรกรได้ทดลองใช้ต่อไป
“มทร.อีสาน”สุรินทร์ทุ่มพัฒนา“หอมมะลิ”  ผลิตข้าวอินทรีย์ชั้นเยี่ยม-รุกวิจัยกลิ่นหอม
“มทร.อีสาน”สุรินทร์ทุ่มพัฒนา“หอมมะลิ” ผลิตข้าวอินทรีย์ชั้นเยี่ยม-รุกวิจัยกลิ่นหอม
สุรินทร์ - มทร.อีสานวิทยาเขตสุรินทร์ โชว์ศักยภาพ เป็นศูนย์กลางเรียนรู้และแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว“หอมมะลิอินทรีย์” ต้นแบบชั้นเยี่ยมของไทย เผยทุ่มพัฒนานานร่วม 10 ปีก่อนประสบผลสำเร็จได้รับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ผลิตเมล็ดพันธุ์และข้าวสารหอมฯ อินทรีย์ส่งขายทั้งในและต่างประเทศ ล่าสุดบริษัทส่งออกสนใจสั่งซื้อข้าวหอมฯ อินทรีย์มทร.อีสานส่งออกตลาดโลก และเตรียมผลิต“ข้าวกาบ้า” คุณค่าทางอาหารสูง พร้อมเดินหน้าวิจัยปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความหอมของข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้เพื่อพัฒนาให้กลิ่นหอมนานคงทน
กำลังโหลดความคิดเห็น