xs
xsm
sm
md
lg

“มทร.อีสาน”สุรินทร์ทุ่มพัฒนา“หอมมะลิ” ผลิตข้าวอินทรีย์ชั้นเยี่ยม-รุกวิจัยกลิ่นหอม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผศ.สาคร แสงสุวอ อาจารย์ประจำ สาขาพืชศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์และเทคโนโลยี มทร.อีสานวิทยาเขตสุรินทร์
สุรินทร์ - มทร.อีสานวิทยาเขตสุรินทร์ โชว์ศักยภาพเป็นศูนย์กลางเรียนรู้และแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว"หอมมะลิอินทรีย์" ต้นแบบชั้นเยี่ยมของไทย เผยทุ่มพัฒนานานร่วม 10 ปีก่อนประสบผลสำเร็จได้รับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ผลิตเมล็ดพันธุ์และข้าวสารหอมฯ อินทรีย์ส่งขายทั้งในและต่างประเทศ ล่าสุดบริษัทส่งออกสนใจสั่งซื้อข้าวหอมฯ อินทรีย์ มทร.อีสานส่งออกตลาดโลก และเตรียมผลิต"ข้าวกาบ้า" คุณค่าทางอาหารสูง พร้อมเดินหน้าวิจัยปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความหอมของข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้เพื่อพัฒนาให้กลิ่นหอมนานคงทน

ผศ.สาคร แสงสุวอ อาจารย์ประจำสาขาพืชศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) วิทยาเขตสุรินทร์ เปิดเผยว่า มทร.อีสานวิทยาเขตสุรินทร์ ได้ทำการทดลองปลูกและพัฒนาพันธุ์ข้าวหอมมะลิเกษตรอินทรีย์มานานร่วม 10 ปีในพื้นที่กว่า 200 ไร่ ภายในมหาวิทยาลัยฯ จนประสบความสำเร็จ ได้ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ชั้นดีคุณภาพสูง เป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ต้นแบบปลอดจากการใช้สารเคมีโดยสิ้นเชิง และยังเป็นแหล่งเรียนรู้กระจายพันธุ์ข้าวหอมมะลิชั้นดีให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ จ.สุรินทร์ และจังหวัดใกล้เคียง ทำให้ จ.สุรินทร์ มีชื่อเสียงด้านแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์คุณภาพเยี่ยมของประเทศไทยและของโลกด้วย

นอกจากนี้ ทางมหาวิทยาลัยฯยังได้นำข้าวหอมมะลิอินทรีย์ที่ปลูกไว้มาผ่านกระบวนการสีที่โรงสีข้าวของมหาวิทยาลัยฯ และบรรจุถุงนำออกจำหน่ายให้แก่ประชาชนทั่วไปได้รับประทานข้าวหอมมะลิชั้นดีในราคาประหยัดกิโลกรัมละ 30 บาท ภายใต้ยี่ห้อ "มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานวิทยาเขตสุรินทร์" ซึ่งข้าวหอมมะลิของมหาวิทยาลัยฯ ได้รับการตอบรับดีมาก และได้รับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ จากมูลนิธิเกษตรอินทรีย์แห่งประเทศไทย เมื่อปี 2550 (ค.ศ.2007)

"ถือเป็นผลผลิตข้าวเกษตรอินทรีย์ของมหาวิทยาลัยฯ แห่งแรก ที่ได้รับรองมาตรฐานดังกล่าว เพราะผู้ที่ได้รับรองมาตรฐานดังกล่าวส่วนใหญ่มักจะเป็นเอกชนหรือตัวบุคคล" ผศ.สาคร กล่าว

ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยฯ ผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ได้ประมาณ 50-60 ตันต่อปี จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ ที่หน่วยงานราชการติดต่อซื้อไปแจกจ่ายเกษตรกร และเกษตรกรมาติดต่อซื้อโดยตรง ประมาณปีละกว่า 1 ล้านบาท

ผศ.สาคร กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีบริษัทเอกชนที่ดำเนินธุรกิจส่งออกสินค้าเกษตรให้ความสนใจเข้ามาติดต่อให้ทางมหาวิทยาลัยฯ ผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ส่งให้เพื่อนำไปขายในต่างประเทศ เพราะข้าวของ มทร.อีสานวิทยาเขตสุรินทร์เป็นข้าวหอมมะลิปลอดสารเคมีและได้รับรองมาตรฐาน เป็นข้าวที่ตลาดมีความต้องการสูง

"ปุ๋ยอินทรีย์ที่นำไปใช้กับข้าวหอมมะลิ ทางมหาวิทยาลัยฯเป็นผู้ผลิตเองทั้งหมด ทุกขั้นตอนตั้งแต่การหาวัตถุดิบ การผสมปุ๋ย และการนำปุ๋ยไปหว่านลงนาข้าว สุดท้ายได้ผลผลิตออกมา จึงมั่นใจได้ว่าไม่มีสารเคมีเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างแน่นอน ซึ่งการใช้ปุ๋ยอินทรีย์นั้น ทำให้นาข้าวให้ผลผลิตข้าวออกมาค่อนข้างสูง คือ เฉลี่ยประมาณ 300-400 กิโลกรัมต่อไร่ บางครั้งได้มากถึง 500 กิโลกรัมต่อไร่" ผศ.สาคร กล่าว

สำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตัวใหม่นั้น ทางมหาวิทยาลัยฯ อยู่ระหว่างการดำเนินการนำข้าวหอมมะลิอินทรีย์มาผลิตเป็น"ข้าวกาบ้า" ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมของตลาดในขณะนี้ โดย ข้าวกาบ้า คือ ยอดข้าวของข้าวกล้อง ซึ่งข้าวดังกล่าวมีคุณค่าทางอาหารสูง ผู้ที่บริโภคข้าวกาบ้าจะมีสุขภาพที่แข็งแรง ป้องกันโรคร้ายต่างๆ ได้

ผศ.สาคร กล่าวต่อว่า ล่าสุดตนและทีมงานวิจัยได้เสนอโครงการทำวิจัย เรื่อง "ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความหอมของข้าวหอมมะลิอินทรีย์" (Effect of Factors on Fragrance of Organic Hom mali Rice) เนื่องจากที่ผ่านมาข้าวหอมมะลิจะมีความหอมที่ไม่คงทนถาวร โดยจะมีกลิ่นหอมในช่วงแรก ๆ หลังการเก็บเกี่ยว แต่เมื่อเก็บข้าวหอมมะลิไว้นานนับปีความหอมจะลดลง และเมื่อนำมาหุงบางครั้งแทบไม่เหลือความหอมไว้เลย

ฉะนั้น ทางทีมงานวิจัยจึงสนใจที่จะศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความหอมของข้าวหอมมะลิ เพื่อให้ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ของ มทร.อีสานวิทยาเขตสุรินทร์ เป็นข้าวหอมมะลิแห่งแรกที่มีความหอมคงทนถาวร โดยได้เสนอโครงการวิจัยของบประมาณกว่า 1.5 ล้านบาท จาก สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติในปีงบประมาณ 2553 เพื่อศึกษาสำรวจคุณภาพด้านความหอมของข้าวหอมมะลิที่ปลูกในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ และศึกษาวิจัยปัจจัยต่าง ๆ ที่มีอิทธิพลต่อความหอมของข้าวหอมมะลิ ซึ่งหากโครงการได้รับการพิจารณาอนุมัติงบประมาณ ก็สามารถเริ่มทำการวิจัยได้ทัน ตั้งแต่เดือน ต.ค.53-ก.ย.56 รวมระยะเวลา 3 ปี

ข้าวสารหอมมะลิเกษตรอินทรีย์ มทร.อีสาน สุรินทร์
ทุ่งนาข้าวหอมมะลิเกษตรอินทรีย์ มทร.อีสาน สุรินทร์กว่า 200 ไร่
กำลังโหลดความคิดเห็น