มทร.อีสาน เผยเด็กจบ ปวช.คุณภาพวิชาการต่ำทุกวิชา หาพื้นที่สี่เหลี่ยมยังทำไม่ได้ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการฯ ชี้ ปัญหาคุณภาพการศึกษาตกต่ำทุกคณะ ทุกมหาวิทยาลัย แนะทางออกตั้งคณะกรรมการวิจัยมาตรฐานคุณภาพเด็ก หน่วยงานรับผิดชอบยอมรับความจริง ไม่ใช่โยนความผิดใช่กันไปมา
รศ.ชูชัย ต.ศิริวัฒนา รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) อีสาน กล่าวว่า จากการรับนักศึกษาของ มทร.อีสาน เพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี ประจำปีการศึกษา 2552 พบว่า นักศึกษาที่จบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ส่วนใหญ่มีความรู้พื้นฐานทางด้านวิชาการทุกวิชาต่ำหมด โดยเฉพาะวิชาวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ เช่น การสอบสัมภาษณ์นักเรียนที่จบ ปวช.วิชาคณิตศาสตร์ให้หาพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้าง่ายๆ เด็กที่มาสอบทุกคนไม่สามารถตอบคำถามได้ เป็นต้น ดังนั้น หากมองการศึกษาไทยขณะนี้ ไม่ใช่เฉพาะนักเรียนที่จบ ม.ปลาย หรือระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีปัญหา ในมหาวิทยาลัยดังๆ เท่านั้นที่ประสบปัญหา แต่ทุกมหาวิทยาลัย และนักเรียนที่จบจาก ปวช.หรืออาชีวะก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน
“จริงๆ แล้วเด็กระดับ ม.ปลาย และอาชีวะที่เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี ไม่ใช่เฉพาะคณะทางด้านวิทยาศาสตร์เท่านั้น ที่มีปัญหาได้เด็กคุณภาพต่ำเข้าเรียน แต่ในทุกสาขา ทุกคณะ ต่างได้เด็กคุณภาพต่ำเหมือนกันหมด จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่นักศึกษาปีที่ 1 คณะวิทย์ คณะวิศวะ หรือคณะเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยเกือบทุกแห่ง จะมีเด็กติดเอฟ ดร็อป กว่าครึ่ง มทร.อีสาน เอง นักศึกษาที่เรียนในสายวิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์จำนวนมากก็ติดเอฟ หรือดร็อปเรียนไว้ก่อน ปัญหาคุณภาพการศึกษาของนักศึกษาตอนนี้ ถือเป็นปัญหาระดับชาติ ที่ทุกหน่วยงานต้องยอมรับความจริง และร่วมกันแก้ไข โดยอาจจัดตั้งองค์กรกลางทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับมาตรฐานคุณภาพการศึกษาของเด็กไทยว่าอยู่ระดับไหน เพื่อการพัฒนาที่ถูกจุด ไม่ใช่ต่างฝ่ายโยนภาระให้เป็นหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งดูแล” รศ.ชูชัย กล่าว
รองอธิการบดีฝ่ายกิจการฯ มทร.อีสาน กล่าวต่อว่า ในส่วนของ มทร.อีสาน ได้ติดตาม และแก้ไขปัญหาเรื่องนี้มาตลอด โดยทางมหาวิทยาลัยได้ปรับพื้นฐาน และปรับวิธีการสอนของครูให้เข้าถึงเด็กมากขึ้น ในส่วนของเด็กอาชีวะที่จบ ปวช.แล้วไม่ศึกษาต่อในระประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) แต่มุ่งเข้าเรียนป.ตรี จำนวนมาก ทั้งๆ ที่ตลาดแรงงานต้องการฝีมือแรงงานสายช่าง สายวิชาชีพ เนื่องจากสังคมยังคงให้การนับหน้าถือตาคนที่จบปริญญาตรี และค่าตอบแทนของคนที่จบปริญญาตรียังคงสูงกว่าสายช่างฝีมือ ดังนั้น เมื่อเด็กจบ ปวส.แต่เข้าทำงานกลับได้ค่าตอบแทนน้อยกว่าคนที่จบ ปวช.แต่ไปเรียนต่อเนื่องในระดับ ป.ตรี 2-3 ปี ได้วุฒิป.ตรีมา หรือทำให้เป็นลูกน้องของเพื่อนตัวเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ เด็กที่จบ ปวช. ปวส.ต่อให้มีงานทำ แต่รายได้ต่ำกว่า ตำแหน่งต่ำกว่า ย่อมต้องไปเรียนต่อในระดับปริญญาตรีแน่นอน เพื่อให้ได้วุฒิที่สูง และมีรายได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาจึงต้องย้อนกลับไปดูระบบการศึกษาว่าตอนนี้เป็นอย่างไร และควรดำเนินการแก้ไขอย่างไร เพราะในส่วนของมหาวิทยาลัยคงทำได้เพียงรับนักศึกษาและมาพัฒนาองค์ความรู้ให้เพียงพอเท่านั้น