xs
xsm
sm
md
lg

เตาเผาขยะติดเชื้อความสำเร็จของ มทร.อีสาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ขยะติดเชื้อถือเป็นปัญหาใหญ่ของโรงพยาบาลทั้งหลาย เนื่องจากในแต่ละวัน แต่ละโรงพยาบาลจะมีขยะติดเชื้อที่รอคอยการกำจัดเป็นจำนวนมาก กระทั่งทำให้มักได้ยินข่าวร้องเรียนจากประชาชนที่อยู่ใกล้โรงพยาบาลในเรื่องของกลิ่นที่รุนแรงอันเป็นผลมาจากการเผาขยะติดเชื้อที่ไม่ได้มาตรฐาน มีควันสีดำ หรือบางแห่งนำขยะติดเชื้อไปทิ้งไว้ตามที่สาธารณะต่างๆ สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก
เตาเผาขยะติดเชื้อ ขนาดมาตรฐานโรงพยาบาลชุมชน แห่งแรก ผลงานยอดเยี่ยมของนักวิจัย มทร.อีสาน
ขณะเดียวกัน เตาเผาขยะติดเชื้อนำเข้าจากประเทศนั้นมีราคาสูง โรงพยาบาลชุมชน หรือโรงพยาบาลขนาดเล็กส่วนใหญ่ จะเผาขยะติดเชื้อแบบง่ายๆ ด้วยการก่ออิฐขึ้นมาแล้วทำเป็นปล่องควันด้านบน จากนั้นใช้น้ำมันเชื้อเพลิง หรือกระดาษเผาขยะติดเชื้อ ซึ่งกลิ่นที่ออกมาจากเตาเผาแบบนี้จะมีกลิ่นเหม็นฉุนรุนแรง แสบตา ควันดำ และมีเขม่าปลิวไปติดตามหลังคาบ้านเรือนประชาชนที่อยู่บริเวณใกล้ที่เผาขยะ และที่สำคัญการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์นั้นเป็นปัญหากับสิ่งแวดล้อมมาก

ด้วยเหตุดังกล่าว ทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) วิทยาเขตขอนแก่น จึงได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการกำจัดขยะมูลฝอยติดเชื้อ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณการวิจัยจากศูนย์กลางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) นครราชสีมา จำนวน 800,000 บาท

ผศ.กษิดิ์เดช สิบศิริ หัวหน้าโปรแกรมวิชาช่างท่อและประสาน คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) วิทยาเขตขอนแก่น หัวหน้าทีมวิจัยให้ข้อมูลว่า ทีมวิจัยเลือกโรงพยาบาลชุมชนเขื่อนอุบลรัตน์ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ขนาด 60 เตียง เป็นโรงพยาบาลต้นแบบในการเป็นสถานที่ทดลองใช้เตาเผาขยะมูลฝอยติดเชื้อ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งท่องเที่ยว และพื้นที่ต้นน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ที่กั้นแม่น้ำพอง ซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงประชาชนใน จ.ขอนแก่น และหลายจังหวัดภาคอีสาน

สำหรับเตาเผาขยะมูลฝอยติดเชื้อที่ผลิตขึ้นมาใหม่นี้ ได้ออกแบบให้สามารถทำลายขยะมูลฝอยติดเชื้อได้ 50 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ซึ่งเหมาะสำหรับโรงพยาบาลที่มีจำนวนเตียงคนไข้ไม่เกิน 120 เตียง ใช้พื้นที่ในการติดตั้งขนาด 10x12 ตารางเมตร โดยการออกแบบระบบเตาเผาขยะมูลฝอยติดเชื้อ ได้คำนึงถึงการออกแบบระบบที่สามารถก่อสร้างได้ง่ายไม่ยุ่งยาก เริ่มจากการก่ออิฐขึ้นมาเป็นทรงกลมประสานกันด้วยปูนซึ่งอิฐมีคุณสมบัติทนความร้อนหรือทนไฟได้ดี และใช้แผ่นเหล็กหุ้มอิฐไว้อีกชั้น ซึ่งจากการศึกษาพบว่า ห้องลักษณะทรงกลมจะทำให้การหมุนเวียนของอากาศภายในห้องเผาดีกว่าห้องลักษณะอื่นๆ
ผศ. กษิดิ์เดช สิบศิริ
ผศ.กษิดิ์เดช อธิบายต่อว่า เตาเผาขยะมูลฝอยติดเชื้อ ดังกล่าวให้หลักการทำงานแบบ “ควบคุมอากาศ” (Controlled-air Incinerator) ลักษณะทำงานกึ่งต่อเนื่อง ซึ่งสามารถบรรจุขยะมูลฝอยติดเชื้อได้ครั้งละ 50-100 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ใช้เวลาประมาณ 10-15 นาที ในการอุ่นเตาที่อุณหภูมิ 600-700 C ก่อนจะป้อนขยะมูลฝอยเข้าเตาเผาและมีประตูสำหรับนำขี้เถ้าออกจากเตาเผาได้โดยสะดวก

ทั้งนี้ เตาเผาแบ่งออกเป็น 3 ห้องเผาไหม้ คือ ห้องเผาแรก เป็นห้องเผาขยะ ห้องเผาไหม้ที่ 2 เป็นห้องเผาควัน ทำหน้าที่เผาไหม้ก๊าซที่เกิดจากการเผาไหม้ในห้องเผาแรกให้สมบูรณ์โดยใช้หัวเผาที่ 2 และควบคุมอุณหภูมิประมาณ 800-900 องศาเซลเซียส โดยใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 วินาที ซึ่งเพียงพอสำหรับการเผาเชื้อโรคและสารพิษ ที่ปนเปื้อนมากับควันที่มาจากห้องเผาขยะมูลฝอยติดเชื้อ และห้องเผาไหม้ที่ 3 เป็นห้องเผาควัน ทำหน้าที่เผาไหม้ก๊าซที่เกิดจากการเผาไหม้ในห้องเผาที่ 2 ให้สมบูรณ์โดยใช้หัวเผาที่ 3 และควบคุมอุณหภูมิประมาณ 800 องศาเซลเซียส โดยใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 วินาที ซึ่งเพียงพอสำหรับการเผาเชื้อโรค และ สารพิษที่ปนเปื้อนมากับควันที่มาจากห้องเผาขยะมูลฝอยติดเชื้อ โดยหัวเผาทั้ง 3 ใช้ก๊าซหุงต้ม (LPG) เป็นเชื้อเพลิง มีขนาดกำลังความร้อน 200 กิโลวัตต์ อากาศที่ใช้ในการเผาไหม้ได้มาจากพัดลมอัดอากาศที่ติดตั้งด้านข้างของห้องเผาไหม้ที่ 2 โดยอากาศจะไหลออกจากถังพักผ่านท่อจ่ายให้กับห้องเผาไหม้แต่ละห้อง และมีวาล์วผีเสื้อจำนวน 3 ตัว ทำหน้าที่ควบคุมการเปิด-ปิดแก๊ส

“เตาเผาขยะมูลฝอยติดเชื้อนี้ ได้ออกแบบและสร้างให้มีความเหมาะสมกับการใช้งาน และวัสดุ อุปกรณ์ที่ใช้ประกอบในการสร้าง โดยคำนึงถึงศักยภาพของท้องถิ่นที่สามารถจัดหาวัสดุอุปกรณ์ที่มีภายในท้องถิ่นได้เป็นหลัก ซึ่งใช้งบประมาณผลิตเตาเผาทั้งหมดประมาณ 500,000 บาท เท่านั้น แต่หากนำเข้าจากต่างประเทศในขนาดกำลังการเผาไหม้เท่ากันจะมีราคาราว 1.7 ล้านบาท หรือแพงกว่าเรามากกว่า 3 เท่าตัว และถือได้ว่าเป็นผลงานวิจัยการสร้างเตาเผาขยะติดเชื้อขนาดมาตรฐานโรงพยาบาลชุมนุมได้สำเร็จเป็นแห่งแรกของประเทศด้วย” ผศ.กษิดิ์เดช กล่าว

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันทีมงานวิจัย อยู่ระหว่างการพัฒนาเตาเผาให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น เนื่องจากเตาเผาขยะติดเชื้อนี้ใช้ระบบ Manual หรือ บังคับด้วยมือ ซึ่งผู้ใช้งานต้องมีความชำนาญและเข้าใจอย่างแท้จริง แต่ต่อไปจะพัฒนาให้ใช้งานได้ง่ายขึ้นเป็นระบบ AUTO หรือ อัตโนมัติ เหมือนของต่างประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น