xs
xsm
sm
md
lg

ขานรับการเมืองใหม่ "บวรศักดิ์" ชี้ดี-ไม่ขัดปชต.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิชาการและภาคประชาชนจากหลายฝ่ายหนุน "การเมืองใหม่" ชี้เป็นเรื่องดี ไม่ขัด ปชต.ขณะที่"ระบอบการเมืองเก่า" มีแต่ "ยื้อแย่ง-ช่วงชิง-มุ่งแสวงหาแต่อำนาจ" ระบุถ้า ปชช.ยังนิ่งเฉยปล่อยให้ดำเนินกิจกรรมต่อไปประเทศชาติถึงคราวล่มจมแน่ "บวรศักดิ์" ชี้การเมืองใหม่เกิดได้ แต่ต้องพัฒนาทั้งตัวแทนในระบบรัฐสภา-รัฐบาลและการเมืองภาคพลเมืองไปพร้อมๆ กัน สร้างสำนึกของคนในระดับรากหญ้าให้ค่อยๆ เติบโต "อดีตตุลาการศาล รธน.-ส.ว." ก็ขานรับเพื่อคานการเมืองระดับบนที่ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตน "พันธมิตรฯ" ระดมสมองอีกเสาร์นี้ "สนธิ" ตอกย้ำการเมืองเก่าสุดอัปยศ ทุจริตคอร์รัปชั่นจนประเทศเสียหาย "สุริยะใส" จวกรัฐบาลหุ่นเชิดเสนอตั้ง ส.ส.ร.เพื่อศึกษาการเมืองใหม่หวังขุดบ่อล่อปลา อำพรางแก้ รธน.แนะรัฐบาลจริงใจในการแก้ไขปัญหาบ้านเมือง ขณะเดียวกันซัด ครม."สมชาย" สุดยี้กว่าเดิม

วานนี้ (23 ก.ย.) ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ถนนนวมินทร์ กรุงเทพฯได้จัดเสวนาเรื่อง "สภาองค์กรชุมชนกับการพัฒนาการเมืองภาคพลเมือง" โดย ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสภาพัฒนาการเมือง กล่าวเกี่ยวกับข้อเสนอการเมืองใหม่ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ต้องการให้ผู้แทนราษฎรประกอบด้วยผู้แทนจากการเลือกตั้งตามระบบเขตเลือกตั้งและผู้แทนจากวิชาชีพต่างๆ ว่า ระบบการเลือกตั้งแบบนี้ไม่ใช่เกิดขึ้นไม่ได้ แต่อาจจะต้องใช้เวลาในการพูดคุยหารือกันอีกยาว ซึ่งเขตการปกครองพิเศษฮ่องกงก็ใช้ระบบการเลือกตั้งแบบนี้ โดยผู้แทน 30 คนมาจากการเลือกตั้งตามระบบเขตเลือกตั้งและ 30 คนมาจากวิชาชีพ 28 วิชาชีพ ซึ่งผู้แทนจากวิชาชีพของเขามีอำนาจมากขนาดล้มกฎหมายของสภาได้ แต่ต้องไม่ลืมว่า ฮ่องกงเป็นส่วนหนึ่งของจีนจึงไม่ใช่ประชาธิปไตย 100%

"แม้บ้านเมืองจะเกิดวิกฤตแต่ยังมีสิ่งที่ดี ช่วยให้คนไทยคิดว่าการเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัวเราและมาร่วมกันคิดหารูปแบบใหม่ที่จะเปลี่ยนแปลงจากการเมืองรูปแบบเดิม โดยส่วนตัวผม ไม่ต้องการให้มองการเมืองใหม่ในมิติแค่ระบบรัฐสภาและรัฐบาลเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องให้ความสำคัญกับการเมืองภาคพลเมืองในการสร้างรากฐานคนรากหญ้าที่มั่นคงและค่อยๆให้เติบโตขึ้น แต่สภาภาคตัวแทนก็ยังต้องมีเพื่อบริหารบ้านเมือง"

"บวรศักดิ์"ชี้"การเมืองใหม่"เกิดได้

ศ.ดร.บวรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 กำหนดให้มีสภาพัฒนาการเมืองเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับการเมืองภาคพลเมือง เนื่องจากเห็นว่าการเมืองภาคตัวแทนที่มีความหมายแค่การเลือกตั้ง ไม่เพียงพอต่อสังคมไทย แต่การพัฒนาการเมืองจะต้องทำให้พลเมืองเข้มแข็งด้วย ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกสภาพัฒนาการเมืองครบทั้ง 120 คนแล้ว ประกอบด้วยสมาชิกจากสภาองค์กรชุมชนตำบลจังหวัดละ 1 คนรวม 76 คน นักพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) 16 คน นักวิชาการ 10 คน ตัวแทนพรรคการเมืองที่มี ส.ส.7 คนและไม่มีมี ส.ส.2 คน ผู้แทนวุฒิสภา 2 คนและสมาชิกโดยตำแหน่ง 7 คน

ศ.ดร.บวรศักดิ์ กล่าวต่อว่า สมาชิกฯจะทำหน้าที่ทำแผนเน้นการส่งเสริมและพัฒนาภาคพลเมืองให้เข้มแข็ง มีความเป็นอยู่ที่ดี มีวิถีชีวิตประชาธิปไตย มีการเรียกร้องสิทธิตามรัฐธรรมนูญและให้ความคิดเห็นต่อนโยบายสาธารณะที่เหมาะสมและเกิดผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน ซึ่งหากดำเนินการการเมืองในรูปแบบนี้จะทำให้รากฐานแข็งแรงกรเมืองก็อยู่ได้ ส่วนการเมืองภาคตัวแทนที่แย่งกันเข้าสู่อำนาจปล่อยให้พรรคการเมืองดำเนินการ

"อีกหน้าที่หนึ่งของสภานี้ ซึ่งสำคัญมากคือ การตรวจสอบควบคุมจริยธรรมของนักการเมืองหรือ ส.ส. โดยจะต้องเกิดจากสังคมคิดและเชื่อว่าคนนั้นทำผิดจริยธรรม ก็จะเกิดแรงกดดันให้นักเมืองต้องทำตาม ซึ่งแน่นอนในการเริ่มต้นจะบอกให้นักการเมืองทำตามเลยคงไม่มีทาง สภาพัฒนาการเมืองจึงต้องทำให้คนเห็นว่าสิ่งไหนถูกต้องและควรส่งเสริมยกย่อง และสิ่งไหนไม่ถูกเพื่อที่จะแยกแยะคนได้ถูกจะเป็นสภาพบังคับให้นักการเมืองรวมถึงหน่วยราชการต้องทำตาม"

ศ.ดร.บวรศักดิ์ เผยด้วย เมื่อเร็วๆ นี้ได้รับการประสานจากนักวิชาการท่านหนึ่งของประเทศญี่ปุ่นเพื่อขอศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกฎหมายสภาองค์กรชุมชน และสภาพัฒนาการเมือง ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมภาคประชาชนให้เข้มแข็ง เพราะเชื่อว่าการส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนจะเป็นทางออกของบ้านเมืองไม่เฉพาะแต่ในประเทศไทยแต่ในประเทศญี่ปุ่นด้วย

ชี้การเมืองใหม่ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง

นายสุจิตต์ บุญบงการ ประธานศูนย์พัฒนาการเมืองสถาบันพระปกเกล้า และอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า การเมืองไทยที่ผ่านมา 50 ปีแม้พยายามแก้รัฐธรรมนูญกันมาตลอด แต่การเมืองไม่ว่าระบบเลือกตั้งแบบใดก็ได้การเมืองดีที่ล่าช้าไม่ทันเหตุการณ์บ้านเมืองที่สับสนวุ่นวาย สภาพัฒนาการเมืองซึ่งเป็นการเมืองระดับชุมชนจึงจำเป็นต้องเข้มแข็ง หากพลเมืองมีจิตสำนึกมองประโยชน์สาธารณะ เข้มแข็ง ไม่ถูกชี้นำจากคนใดคนหนึ่งให้มาร่วมชุมนุมประท้วง แต่ต้องเคลื่อนไหวด้วยสำนึกของตัวเอง

"หากการเมืองระดับล่างนี้เข้มแข็งก็ไม่ต้องกังวลว่าการเมืองระดับบนจะเป็นอย่างไร เพราะการเมืองระดับล่างที่เข้มแข็งจะทำให้นักการเมืองระดับบนเกิดความคิดที่จะทำประโยชน์สาธารณะมากขึ้น ไม่ใช่ใช้การเมืองเพื่อประโยชน์ให้กับตนเอง"
นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีต ส.ว.อุบลราชธานี กล่าวว่า การเมืองวันนี้ไม่ใช่เรื่องของเสียงข้างมาก หรืออัศวินขี่ม้าขาวเรื่องของคนดีเท่านั้น ระบบการเมืองแม้ไม่เห็นอนาคตแต่ก็ทำลายไม่ได้ ทำให้เราต้องมาสร้างชุมชนเข้มแข็ง เราปฏิเสธทุนสามานย์ วงจรธุรกิจการเมือง ประชานิยมที่ละเมิดประชาชนไม่ได้ แต่ถ้าเราสร้างประชาธิปไตยที่เข้มแข็งโดยปลุกระดมชุมชนภาคพลเมือง เราจะมีการเมืองใหม่ที่ดีได้

"สิ่งที่เราต้องคิดคือการเมืองใหม่คืออะไรต้องชัดเจน หากต้องการเข้ามาเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยและต้องเปลี่ยนแปลงความขัดแย้งการเมืองไทยที่มีสูงมากขณะนี้ต้องไม่ตกเป็นเครื่องมือช่วงชิงอำนาจผลประโยชน์การเมือง แต่เปลี่ยนความขัดแย้งมาเป็นความร่วมมือ ร่วมคิดร่วมทำ ซึ่งผมไม่อยากให้ทั้งสภาองค์กรชุมชนและสภาพัฒนาการเมืองเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งที่ไม่สิ้นสุด แต่ 2 สภานี้ต้องหลอมรวมการทำงานโดยสภาองค์กรชุมชนต้องเปิดพื้นที่สาธารณะ สภาพัฒนาการเมืองต้องสร้างกระบวนการการเมืองภาคพลเมืองชุมชน ไม่ปฏิเสธนักการเมือง แต่เราต้องเป็นอิสระ เป็นการพัฒนาการเมืองที่แท้จริง"

นายสน รูปสูง ปราชญ์ชาวบ้านจากภาคอีสาน กล่าวว่า การเมืองระบบตัวแทนสกปรกมาก ตนแสลงใจทุกครั้งเมื่อพูดถึงการมีส่วนร่วม เพราะชุมชนไม่สามารถร่วมกับการเมืองสกปรกได้ ทำให้เราต้องมาสร้างการเมืองเอง สภาพัฒนาการเมืองจะเป็นเครื่องมือของชุมชน ปัญหาที่เกิดทุกวันนี้เพราะการเมือง สภาพัฒนาการเมืองจะเป็นสภาแห่งการเรียนรู้ เป็นมหาวิทยาลัยชุมชน เป็นสถาบันการเมืองของชุมชนที่เรียนรู้และปฏิบัติจริง

"ต้นทางหายนะของชุมชนอยู่ที่ ครม. หรือรัฐบาลที่ออกนโยบายกระทั่งแปรไปสู่ท้องถิ่น การเมืองชุมชนต้องเข้ามาจัดการตั้งแต่ออกนโยบายด้วย สภาพัฒนาการเมืองจะเข้ามาพังคุกขังการเมือง ปลดปล่อยจิตสำนึกชุมชนที่ถูกการเมืองครอบงำ กฎหมายสภาพัฒนาการเมืองจะเปิดช่องให้ภาคพลเมืองเรียนรู้ เมื่อฐานชุมชนเข้มแข็งสังคมโดยรวมจะเข้มแข็งด้วย สภาพัฒนาการเมืองและสภาองค์กรชุมชนจะเป็นการเมืองใหม่อีกแบบของภาคพลเมือง ขอให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องฟังและเคารพชุมชน ยึดชุมชนเป็นตัวตั้ง การเปลี่ยนแปลงอย่าเริ่มต้นจากความปรารถนาที่บริสุทธิ์และโง่ว่าเป็นผู้รู้แล้วมาตีกรอบชุมชนเลย"

การเมืองเก่ามีแต่ยื้อแย่ง-ช่วงชิง

นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม อดีตรองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะอนุกรรมการสนับสนุนสภาองค์กรชุมชน กล่าวว่า แม้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตการณ์มาหลายครั้ง แต่ก็ยังอยู่ในขั้นตอนของการค้นหารูปแบบการเมืองที่ควรจะเป็น เช่น การเมืองใหม่ ซึ่งคำว่าใหม่โดยทั่วไปหมายถึงดีขึ้น แต่จะดีขึ้นอย่างไรคงต้องมีข้อคิดและทฤษฎีมากมายหลายสูตร แต่สูตรที่ยังไม่ค่อยมีการเสนอคือสิ่งที่ชุมชนทำกันอยู่แล้ว และเป็นการเมืองในความหมายกว้าง โดยมีการจัดการสังคม ชีวิตผสมผสานกันไป

"การเมืองใหม่ ไม่ใช่แค่เรื่องสัดส่วน ส.ส.หรือมิติตามโครงสร้างในรัฐธรรมนูญอย่างเดียว แต่ชุมชนต้องมีส่วนร่วมจัดการชุมชนเพื่อให้ชีวิตความเป็นอยู่ครอบครัว สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ วัฒนธรรมและสังคมดีขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาหลาย 10 ปีการเมืองระดับชาติ หรือการเมืองภาคตัวแทน ไม่เคยสร้างความสมานฉันท์ มีแต่ยื้อแย่ง ช่วงชิง มุ่งแสวงหาอำนาจ"

ด้านนายสุริชัย หวันแก้ว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวสรุปว่า ความขัดแย้งที่มองการเมืองเลือกตั้งไม่ดีหรือมองว่าต้องรักษาการเมืองเลือกตั้งไว้ เป็นความขัดแย้งที่กว้างขวางเป็นประวัติการณ์ ซึ่งโจทย์ประชาธิปไตยที่เกิดปัญหาแม้แก้ระบบเลือกตั้งก็ช่วยอะไรไม่ได้

"ตราบที่เรายังมองประชาธิปไตยใครแพ้หรือชนะแต่ยังไม่เห็นโลกของคนอีกจำนวนมากที่ยังเดือดร้อน ยังอยู่ในคอกเก่าการเมือง การเมืองที่แย่งชิงอำนาจเอาแพ้ชนะเราจึงต้องเรียกร้องหาประชาธิปไตยใหม่ โดยยืนอยู่บนพื้นฐานชุมชนพลิกโจทย์ใหม่จากล่างขึ้นบนไม่ใช้บนลงล่าง การขับเคลื่อนการเมืองภาคพลเมืองสำคัญ หรือการเมืองสะพานมัฆวานฯ ม.ราชดำเนิน ก็ยังมีการเมืองชุมชนอีกมากที่ตื่นตัวแก้ปัญหาและช่วยปฏิรูปการเมืองได้"

ชี้แนวคิด"พันธมิตรฯ"ไม่ขัด ปชต

นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงแนวคิดการเมืองใหม่ข้อเสนอของพันธมิตรฯว่า เป็นสูตรที่น่าสนใจ เป็นสูตรที่ ส.ส.ร.ปี 50 เคยคิดที่น่าจะใช้ในสภา เพราะทุกวันนี้ประชาชนไม่ได้มีอิสระในการเลือก ส.ส.100% เพราะถ้าพรรคการเมืองไม่ส่งก็ไม่สามารถเลือกได้

"สิ่งที่เราทำ ถ้าดีกับประเทศไทยไม่ขัดแย้งกับระบอบประชาธิปไตยก็เป็นสิ่งที่น่าลองดู และก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปเลียนแบบ หรือเอาอย่างประเทศอื่น เป็นการให้โอกาสกับประเทศ แต่ไม่ได้หมายความว่าความคิดนี้ลงตัวแล้ว แต่มันเคลื่อนไป เพื่อหาวิธีการที่ดีที่สุด และแนวคิดพันธมิตรฯยังไม่หยุดนิ่ง และผมเห็นว่าแนวคิดพันธมิตรฯไม่ขัดแย้งประชาธิปไตย"

ถ้า ปชช.นิ่งเฉยประเทศล่มจมแน่

นายประสาท ประเทศรัตน์ ประธานศูนย์การเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรม จ.แพร่ กล่าวว่า ถ้าประชาชนนิ่งเฉยกับสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันจะทำให้นักการเมืองแบบเก่าดำเนินกิจกรรมต่อไปโดยไม่ละอาย และจะนำพาประเทศชาติไปสู่ความล่มจม ซึ่งก่อเกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ แม้ในอเมริกาก็กำลังส่งผลในเรื่องของเศรษฐกิจที่กำลังล้มลงอย่างน่ากลัว แนวทางพัฒนาการเมืองใหม่ในระบบกลางนั้น เชื่อว่ามีนักคิดมากมายในประเทศกำลังระดมความคิดเพื่อให้ก่อเกิดการเมืองในความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะมีเรื่องของการมีส่วนร่วมภาคประชาชน การกำหนดตัวนักการเมืองด้วยการเลือกตั้งตามกลุ่มอาชีพ การติดตามตรวจสอบ การถอดถอนนักการเมืองโกงกิน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้มีการพูดคุยกันมาก

"ในส่วนของฐานรากทางสังคมที่จะก่อเกิดสิ่งเหล่านี้ยังไม่มีการพูดกันมากนัก ดังนั้น ภาคประชาสังคมในภาคเหนือ ซึ่งมีแนวคิดในการร่วมทำการเมืองใหม่ในระดับฐานรากของสังคม เนื่องจากมองว่าปัจจุบันสังคมไทยเหมือนคนป่วยอัมพาต มีคนโกงกิน มีการกระทำผิดกฎหมาย แต่ประชาชนไม่รู้สึกว่านักการเมืองเหล่านั้นผิด ยังคงรอรับเศษเงินที่นักการเมืองหยิบยื่นให้ ซึ่งเห็นชัดว่าระบบการตรวจสอบของสังคมไทยไม่มีแล้ว ซึ่งเป็นสัญญาณอันตรายของประเทศอยู่ในขณะนี้"

พันธมิตรฯนัดถกอีก 27 กันยาฯนี้

วันเดียวกันที่ห้องผู้สื่อข่าวทำเนียบรัฐบาล พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายสมศักดิ์ โกศัยสุข และนายพิภพ ธงไชย แกนนำพันธมิตรฯ ร่วมกันแถลงข่าวถึงแนวคิดเรื่องการเมืองใหม่ โดย พล.ต.จำลอง กล่าวย้ำว่า การเลือกตั้งแบบ 100% จะให้มีการเลือกตั้งได้ 2 ทาง คือ ผู้แทนพื้นที่เขตและผู้สมัครนามกลุ่มอาชีพ หากคนหนึ่งมีหลายอาชีพจะให้ลงสมัครได้เพียงอาชีพเดียว ทางพันธมิตรฯจะรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั้งประเทศในวันที่ 27 ก.ย.นี้ โดยจะมีนักธุรกิจใหญ่ที่สนใจบ้านเมืองมาร่วมสัมมนากับพันธมิตรฯในหัวข้อ "วาระพรรคการเมืองว่าประเทศไทยควรมีพรรคการเมืองหรือไม่อย่างไร" ซึ่งพันธมิตรฯต้องรับฟังข้อคิดเห็นดังกล่าว

"ขณะนี้เรายังไม่ได้ลงรายละเอียดในเรื่องจำนวน ส.ส.หรือ ส.ว.เนื่องจากจำนวน ส.ส.บวก ส.ว.ของประเทศไทยมีมาก หากเทียบกับต่างสหรัฐอเมริกาที่มีประชากรมากกว่าประเทศไทย แต่จำนวน ส.ส.และ ส.ว. มีน้อยกว่า ดังนั้น มีความจำเป็นหรือไม่ที่ประเทศไทยจะลดจำนวนของ ส.ส.และ ส.ว."

ผู้สื่อข่าวถามว่า กลุ่มพันธมิตรฯมีแนวคิดจะตั้งพรรคการเมืองของตนเองหรือไม่ พล.ต.จำลอง กล่าวว่า พันธมิตรฯไม่มีแนวคิดเรื่องนี้แน่นอนเพราะพรรคการเมืองไม่ใช่เป้าหมายของเรา และถ้าจะมีใครทำ ตนจะขอถอนตัวทันที

นายพิภพ กล่าวตอบข้อซักถามนักข่าวกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ระบุว่ายังไม่เข้าใจเกี่ยวกับรายละเอียดการเลือกตั้งแบบกลุ่มอาชีพของการเมืองใหม่ว่า เรื่องนี้ไม่ได้ยาก เพราะในกฎหมายสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีรายละเอียด แบ่งเป็นกลุ่มอาชีพไว้แล้ว แต่พันธมิตรฯไม่จำเป็นต้องใช้ข้อมูลตามสภาที่ปรึกษาฯก็ได้ เพราะทุกคนในประเทศต่างก็มีอาชีพทั้งนั้น อาจต้องเพิ่มเติมหรือเอาตามนั้น คนที่มีอาชีพอะไรก็ไปลงทะเบียนในอาชีพนั้นแล้วเวลาเลือกก็เลือกคนกลุ่มนั้นจะได้มีผู้แทนที่หลากหลาย

"ทุกวันนี้ไม่ใช้ผู้แทนราษฎร แต่เป็นผู้แทนกลุ่มทุนรวมตัวเป็นกระจุกๆ จึงเป็นไปไม่ได้ที่คนกลุ่มนี้จะไปทำงานเพื่อคนทุกกลุ่ม เมื่อพันธมิตรฯ ออกแบบมาเช่นนี้จะมีตัวแทนจากหลายหลาย อาชีพ ทั้งหมอ ทั้งสื่อมวลชน ทำให้เกิดความงดงามในสภาขึ้น"

ด้านนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ กล่าวบนเวทีพันธมิตรฯในทำเนียบรัฐบาลเมื่อช่วงค่ำวานนี้ถึงแนวทางการเมืองใหม่โดยมีเนื้อหาบางตอนว่า ตนไม่จำเป็นต้องพูดและสาธยายว่าการเมืองใหม่นั้นเป็นอย่างไร เพราะประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมกับการเมืองอย่างแท้จริงกันเอง

ส่วนการเมืองเก่านั้นก็เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า มันเน่าเฟะขนาดไหน เพราะนักการเมืองแต่ละคนที่เข้ามา ไม่ได้ให้ความสนใจกับปัญหาของประชาชนอย่างแท้จริงแต่อย่างใด มีแต่การทุจริตคอร์รัปชั่นกันอย่างมโหฬาร ซึ่งเป็นการเมืองเก่าที่อัปยศที่สุด ดังนั้น ขณะนี้ถึงเวลาแล้วที่พวกเราจะต้องมาร่วมมือกันสร้างการเมืองใหม่ขึ้นมา เพื่อลบล้างระบอบการเมืองเก่าที่มีแต่การทุจริต คอร์รัปชั่น ให้หมดสิ้นไป
นอกจากนี้ นายสนธิ ยังได้เปิดโป่งพฤติกรรมของนักการเมืองในอดีตที่เสียชีวิตไปแล้วและที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน เกี่ยวกับความไม่โปร่งใสในการทุจริตคอร์รัปชั่น สร้างความเสียหายให้กับประเทศ พร้อมกับแฉพฤติกรรมของข้าราชการบางคนที่รับใช้นักการเมืองในระบอบเก่าด้วย อีกทั้งยังบอกว่าในวันนี้ (24 ก.ย.) ให้ติดตามการปราศรัยของตนที่บนเวทีพันธมิตรฯ ซึ่งจะมาเปิดโป่งพฤติกรรมบางช่วงบางตอนของนายสุริยะ จึงเรื่องเรื่องกิจ ด้วย

อัดรัฐหวังตั้งสสร.อำพรางแก้รธน.

นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มพันธมิตรฯยอมรับว่า ขณะนี้มีการประสานจากฝ่ายรัฐบาลเป็นระยะเพื่อขอให้มีการเจรจา ซึ่งแกนนำพันธมิตรฯไม่ได้ปิดประตูเจรจากับรัฐบาล แต่ต้องวางกรอบในการเจรจาให้ชัดเจน และให้ผู้มีอำนาจที่แท้จริงเท่านั้นมาเจรจา

"นอกจากนายสมชาย ที่โทรศัพท์มาเจรจาแล้วยังมีแกนนำในรัฐบาลหลายคนพยายามติดต่อขอเจรจา แต่ยังไม่มีความคืบหน้า เพราะทั้งหมดต้องอยู่ที่รัฐบาล เงื่อนไขที่จะนำไปสู่การเจรจาต้องเริ่มต้นที่นายกรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรีต้องยุติบทบาทของคนรอบข้างที่จะสร้างความขัดแย้งเพิ่มเติม" นายสุริยะใส กล่าว
ส่วนข้อเสนอให้รัฐบาลตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อหาทางลงให้กับพันธมิตรฯนั้น นายสุริยะใส กล่าวว่า แกนนำพันธมิตรฯยังไม่ได้หารือเรื่องนี้ แต่เห็นว่าการตั้ง ส.ส.ร. มีวาระซ่อนเร้นที่พรรคพลังประชาชนต้องการเพียงแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเป็นการสร้างเงื่อนไขของรัฐบาล เหมือนเป็นการใช้เหยื่อล่อปลา ซึ่งในส่วนนี้พันธมิตรฯ ต้องหารืออย่างละเอียดอีกครั้ง

นายสุริยะใส กล่าวถึงคณะรัฐมนตรี "สมชาย 1" ว่า ไม่ได้หวังอะไรกับคณะรัฐมนตรีชุดนี้ และเชื่อว่าคณะรัฐมนตรีชุดนี้คงไม่ต่างกับรัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช

นายกฯชี้พธม.ต้องปฏิบัติตาม กม.

ท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมืองนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่กลุ่มพันธมิตรฯประกาศชุมนุมยาวและจะมีการรื้อเวทีและเต็นท์บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์เพื่อเปิดเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินในระหว่างมีพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ระหว่างวันที่ 14-19 พ.ย.เท่านั้นว่า ควรต้องปฏิบัติตามกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม โดยเราเป็นประเทศที่ปกครองระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข ซึ่งตรงนี้เป็นหลักการที่สำคัญ ใครจะคิดอย่างไรก็ช่าง แต่ระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ต้องฟังเสียงประชาชนส่วนใหญ่

ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายฝากความหวังไว้ที่รัฐบาลในการบังคับใช้กฎหมายนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้องยึดถือระบบ ส่วนเรื่องการเจรจาหารือกันก็ต้องว่ากันไป บางครั้งต้องทำหลายอย่างพร้อม ๆ กันไป
กำลังโหลดความคิดเห็น