xs
xsm
sm
md
lg

ทหารกับการเมืองใหม่

เผยแพร่:   โดย: ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง

ข้อเขียนชิ้นนี้ ประกอบด้วยบทวิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์ และข้อเสนอแนะต่อเนื่องกัน 2 ส่วน คือ 1) ทหารกับการเมืองสามานย์ และ 2) ทหารกับการเมืองใหม่

1.ทหารกับการเมืองสามานย์

การทำรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 เป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนที่สุด เกี่ยวกับ “ทางเลือก” และ “การเลือก” ของทหาร ว่าเขาจะมีบทบาททางการเมืองภายใต้บริบทของ “การเมืองเก่า” อย่างไรได้

ผมไม่เคยสนับสนุนการก่อรัฐประหาร แม้แต่รัฐประหาร 19 ก.ย.2549 ก็เช่นกัน ผมเห็นว่า “รัฐประหารไม่ใช่ทางเลือกของประชาธิปไตย” และหากทหารมองว่าเป็นทางเลือก ผมก็ไม่สนับสุนนให้เลือก

แต่เมื่อรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 เกิดขึ้นแล้ว และก่อให้เกิดผลสืบเนื่องตามมาจนถึงปัจจุบัน ในโอกาสครบรอบ 2 ปี ก็น่าจะประเมินความสำเร็จหรือความล้มเหลวของรัฐประหารดังกล่าว อันจะเป็นการประเมินบทบาทของทหารในการทำรัฐประหารกับการเมืองไทยสมัยใหม่ไปในตัว โดยประเมินจากเงื่อนไข 4 ประการ ที่ทหารหยิบยกขึ้นมาเป็นเหตุให้ต้องใช้วิธีทำรัฐประหารนั่นเอง ประกอบด้วย

(1) การแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นของระบอบทักษิณ

หลังรัฐประหาร มีการแต่งตั้ง คตส. เป็นคณะบุคคลที่มีคุณสมบัติดีเยี่ยม มีทุนทางสังคมสูง เข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบโครงการทุจริตขนาดใหญ่ของระบอบทักษิณ โดยอาศัยอำนาจขององค์กรตรวจสอบตามกฎหมายปกติ ไม่ว่าจะเป็น ป.ป.ช. ป.ป.ง. กรมสรรพากร

คณะรัฐประหารเลือกตั้งคนได้อย่างดีเยี่ยม แต่หลังจากนั้น รัฐบาลสุรยุทธ์ก็ไม่ได้ให้การสนับสนุนช่วยเหลือในการปฏิบัติหน้าที่ของ คตส. อย่างที่ควร

คตส. ต้องเผชิญชะตากรรมการทำงานโดยลำพัง ท่ามกลางอุปสรรค ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก ไม่ว่าจะเป็น การเข้าเกียร์ว่างของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต ไม่ร่วมมือ ไม่เอื้ออำนวย ไม่ช่วยเหลือ ทั้งในเรื่องพยานหลักฐาน และการเป็นเจ้าทุกข์

คตส. ขอให้รัฐบาลสุรยุทธ์ออกมติ ครม. ให้หน่วยงานของรัฐที่ถูกระบอบทักษิณทุจริตโกงกิน แสดงตัวเป็นเจ้าทุกข์ และให้ความร่วมมือกับการตรวจสอบของ คตส. รัฐบาลสุรยุทธ์ก็ไม่ยอมดำเนินการ เพียงแต่ให้ คตส. แจ้งมาเป็นรายๆ ทำให้การทำงานติดขัด ล่าช้า และส่งสัญญาณให้เกิดการ “เกียร์ว่าง” หรือแม้แต่ “เกียร์ถอยหลัง” ด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตาม คตส.ก็ยังมีความเพียร ใช้ความสามารถและความแม่นยำในทางกฎหมาย ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างน่ายกย่อง จนปรากฏเป็นผลงานว่ามีการฟ้องร้องดำเนินคดีทุจริตคอรัปชั่นของระบอบทักษิณหลายคดี ไม่ว่าจะเป็น คดีหลบเลี่ยงภาษี (ศาลอาญาพิพากษาแล้วว่ามีความผิด) คดีทุจริตที่ดินรัชดาฯ (ศาลฎีกาฯ รออ่านคำพิพากษา) คดีทุจริตหวย 2 ตัว 3 ตัว คดีทุจริตปล่อยกู้เอ็กซิมแบงก์ ฯลฯ แม้การตรวจสอบบางเรื่องยังล่าช้า ยังไม่แล้วเสร็จ แต่ก็มีทิศทางที่เป็นประโยชน์ หากหน่วยงานที่รับเรื่องต่ออย่าง ป.ป.ช.จะเอาใจใส่ดำเนินการต่อไปอย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพ

หากไม่มีรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 ก็คงไม่มีการแต่งตั้งบุคคลอย่าง คตส. เข้าไปทำหน้าที่ตรวจสอบตามกฎหมาย และบรรดาโครงการทุจริตต่างๆ ของระบอบทักษิณก็คงจะถูกตัดตอน ไม่ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในชั้นศาล

ประเมินการจัดการกับปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นของระบอบทักษิณ จึงนับได้ว่าประสบความสำเร็จในระดับที่น่าพอใจ นับเป็นความสำเร็จความ คตส. โดยตรง โดยที่คณะรัฐประหารอาจได้รับคำชมเพียงเฉพาะการเปิดโอกาสให้ คณะบุคคลอย่าง คตส. ได้เข้ามาทำหน้าที่ตามกฎหมาย

(2) การแก้ปัญหาการแทรกแซงองค์กรอิสระ

ระบอบทักษิณได้ครอบงำแทรกแซงการทำงานขององค์กรอิสระ จนไม่มีความเป็นอิสระ ไม่สามารถทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลได้อย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็น ศาลรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. กกต. หรือผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา แต่ภายหลังรัฐประหาร ก็มีการปรับเปลี่ยนเอา “กาเหว่าของระบอบทักษิณ” ที่อยู่ในองค์กรอิสระบางองค์กรออกไป

กรณี ป.ป.ช. ก่อนรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 ป.ป.ช.ชุดที่มี พล.ต.อ.วุฑฒิชัย ศรีรัตนวุฑฒิ เป็นประธาน มี พล.ต.ท.วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์ เป็นกรรมการและโฆษก (คนเดียวกับที่เป็นโฆษกฯ ยุครัฐบาลสมัคร-พรรคพลังประชาชน) ได้ทำผิดกฎหมาย โดยขึ้นเงินเดือนให้ตัวเอง จนถูกศาลฎีกาพิพากษาลงโทษจำคุก พ้นจากตำแหน่ง ทำให้ต้องมีการสรรหา ป.ป.ช.ชุดใหม่

เมื่อมีการสรรหาใหม่ เกิดปัญหาต้องยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ยังไม่ได้ข้อยุติ ก็เกิดรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 และหลังการรัฐประหาร ได้มีการแต่งตั้งบุคคลเข้ามาทำหน้าที่ ป.ป.ช. โดยบุคคลที่ได้รับแต่งตั้ง ล้วนเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติดี และส่วนใหญ่ก็เป็นคนที่ผ่านการสรรหาตามรัฐธรรมนูญ 2540 (ที่ค้างอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญ) มากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวน ป.ป.ช.ทั้งหมด ส่วนที่เหลือก็เป็นคนที่มีประสบการณ์ความรู้ปรากฏเป็นที่ประจักษ์แจ้ง อาทิ นายกล้าณรงค์ จันทิก อดีตเลขาธิการ ป.ป.ช. นายวิชา มหาคุณ ผู้พิพากษา เป็นต้น

กรณี กกต. หลังจากยุค “3 หน้า 5 ห่วง” ที่ถูกศาลพิพากษาลงโทษให้จำคุกไปแล้ว ก่อนรัฐประหาร ในช่วงปลายของรัฐบาลทักษิณ ได้มีการสรรหา กกต.ชุดใหม่ ตามรัฐธรรมนูญ 2540 และเมื่อเกิดรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 ก็ได้แต่งตั้งเอาคณะบุคคลที่ผ่านการสรรหาแล้วนั่นเอง เข้ามาเป็น กกต.

ทั้งๆ ที่ 5 คนนั้น ผ่านการสรรหาโดยวุฒิสภาเสียงข้างมากซึ่งตกอยู่ภายใต้ระบอบทักษิณ น่าเสียดาย ยังมีบุคคลอีก 5 คน ที่วุฒิสภาชุดดังกล่าวไม่ได้เลือก (ทั้งๆ ที่มีคุณสมบัติดีเด่นอย่างยิ่ง) คือ นายนาม ยิ้มแย้ม นายแก้วสรร อติโพธิ นายวิชา มหาคุณ นายอุดม เฟื่องฟุ้ง และนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์

กรณี ศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนรัฐประหาร คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดเดิม ได้ถูกครหาว่าออกระเบียบขึ้นค่าตอบแทนให้ตัวเองในลักษณะคล้ายกันกับที่ ป.ป.ช.ถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุกไปแล้ว หลังเกิดรัฐประหาร ได้ยกเลิกคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดนั้น แล้วให้ศาลปกครองสูงสุดและศาลฎีกาเป็นผู้เลือกบุคลากรจากศาล เข้ามาทำหน้าที่เป็นตุลาการรัฐธรรมนูญ

หลังจากนั้น ได้มีการสรรหาคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และให้วุฒิสภาชุดใหม่รับรอง จึงได้คณะบุคคลที่มีคุณสมบัติน่าเชื่อถือเข้ามาทำหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน

กรณี ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ปรากฏว่า หลังรัฐประหาร ไม่มีการเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลจากเดิม บทบาทบาทการทำหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินหลังรัฐประหาร จึงแทบไม่ต่างจากผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาในยุคที่ตกอยู่ภายใต้ระบอบทักษิณ คือ ไม่ทำงานเป็นชิ้นเป็นอัน

ประเมินการจัดการกับปัญหาการแทรกแซงองค์กรอิสระของระบอบทักษิณ จึงนับได้ว่าก้ำกึ่ง องค์กรอิสระบางส่วน อาทิ ป.ป.ช. ศาลรัฐธรรมนูญ ได้บุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสม ไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของฝ่ายการเมืองเข้ามาทำหน้าที่ แต่ในบางส่วนของบางองค์กรก็ยังคงเป็นบุคคลเดิมกับสมัยที่อยู่ภายใต้ระบอบทักษิณ แต่อย่างไรก็ตาม หลังรัฐประหารก็ได้มีรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ออกแบบมาเพื่อให้องค์กรอิสระทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ มีการกำหนดวิธีการสรรหาที่ทำให้ฝ่ายการเมืองเข้าไปแทรกแซงได้ยากขึ้น

(3) การหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์

หลังรัฐประหาร ในสมัยรัฐบาลสุรยุทธ์ ก็ยังปรากฏว่ามีขบวนการพยายามทำลายสถาบันเบื้องสูงอยู่

ปรากฏว่า มีการจัดตั้ง ขบวนการ นปก. ที่มีการเคลื่อนไหวสนับสนุนระบอบทักษิณ มีการไปก่อกวนหน้าบ้านพักองคมนตรี ตลอดจนนายจักรภพ เพ็ญแข แกนนำ นปก. ก็ได้ไปกล่าวปาฐกถาในเชิงหมิ่นเหม่ว่าจะเป็นการจาบจ้วง ล้มล้างสถาบัน ทั้งในประเทศและในต่างประเทศ

ยิ่งในยุครัฐบาลสมัคร-พรรคพลังประชาชน ก็ได้แต่งตั้งนายจักรภพ เพ็ญแข เข้ามาเป็นรัฐมนตรี และยังปล่อยให้มีกระบวนการจ้องทำลายสถาบันสูงสุด มีการปล่อยข่าว การแสดงออกถึงความไม่เคารพ และถึงขั้นโจมตี ใส่ร้าย เปิดเวทีปราศรัยที่สนามหลวง มีเวบไซด์มากมาย มีบทความ “รู้ทันราชวงศ์จักรี” โจมตีกษัตริย์ในราชวงศ์จักรีอย่างชัดเจน มีการใช้สื่อของรัฐ จงใจนำสารคดีข่าวและภาพเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงล้มเลิกสถาบันกษัตริย์ของประเทศเนปาล ออกอากาศผ่านสถานีโทรทัศน์ ช่อง 11 ในวันจักรี

ประเมินการจัดการกับปัญหาการดูหมิ่นสถาบันฯ นับได้ว่า รัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 สอบตกโดยสิ้นเชิง เพราะยังไม่สามารถเอาผิดกับบุคคล และยับยั้งขบวนการดังกล่าวได้เลย

(4) การแตกแยกและความรุนแรงในสังคม

หลังรัฐประหาร ไม่ได้มีกระบวนการเปิดเผย ตีแผ่ความจริง เพื่อเปิดหูเปิดตาประชาชน ทำให้เกิดความกระช่างชัดในประเด็นข้อถกเถียงและข้อขัดแย้งทั้งหลาย เพื่อให้สติปัญญากับสังคม ก่อให้เกิด “สัมมาปัญญา” อันจะเป็นการสลายความแตกแยกของคนในสังคมเลย

รัฐบาลสุรยุทธ์ มิให้ใช้สื่อของรัฐเพื่อนำความจริงมาสู่สังคม ทำให้สังคมยังคงตกอยู่และถูกชี้นำ ปลุกปั่น บนพื้นฐานการรับรู้ข้อมูลข่าวสารด้านเดียวที่ระบอบทักษิณเคยครอบงำอยู่ต่อไป

ยิ่งในรัฐบาลสมัคร-พรรคพลังประชาชน ยิ่งมีการใช้สื่อของรัฐเพื่อบิดเบือน ปลุกปั่น ใส่ร้ายองค์กรอิสระ ระบบและกระบวนการยุติธรรม โหมกระพือความแตกแยกและความรุนแรงในสังคม


ประเมินการจัดการกับปัญหาความแตกแยกและความรุนแรงในสังคม นับได้ว่ารัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 ไม่ประสบความสำเร็จเลย ทำได้เพียงชะลอปัญหา มิให้เกิดการเสียเลือดเสียเนื้อเฉพาะหน้า แต่ไม่สามารถสลายความขัดแย้งด้วยความจริง หรือปลดล็อคปัญหาความขัดแย้ง และความรุนแรงที่สั่งสม รอวันระเบิดออกมาได้อย่างแท้จริง

สรุป บทบาทของทหารกับการเมือง ในการทำรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 กล่าวได้ว่า ทหารสามารถยึดอำนาจได้สำเร็จ แทรกแซงยุติการเมืองสามานย์ได้ชั่วครู่ แต่ไม่สามารถดำเนินการแก้ปัญหาหลังจากการการรัฐประหารได้ เพราะไม่ปรับโครงสร้าง ขุดรากถอนโคนระบอบที่ชั่วร้าย

2.ทหารกับการเมืองใหม่

การเมืองใหม่ คือ การเมืองที่องค์กรและภาคส่วนต่างๆ ในสังคม สามารถมีบทบาท มีส่วนร่วมในการกำหนดชะตากรรมของบ้านเมืองได้อย่างแท้จริง โดยไม่ถูกนักการเมืองใช้การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือรวบอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยไปไว้ที่พรรคพวกของตนเองโดยฝ่ายเดียว

ทหารหรือกองทัพ ก็คือภาคส่วนหนึ่งในสังคม หากมองว่าเป็นองค์กรหนึ่งก็เป็นสถาบันที่ประกอบด้วยบุคลากรจำนวนมาก มีทั้งกำลังแรงกาย กำลังอาวุธ อำนาจต่อรองทางการเมือง และกำลังสติปัญญา

การเป็นทหาร คือการทำหน้าที่อย่างหนึ่งในสังคม ไม่ต่างไปจากครู อาจารย์ พยาบาล แพทย์ นักธุรกิจ พ่อค้า นิสิต นักศึกษา เกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน และคนทำงานอื่นๆ ซึ่งทุกคนมีภารกิจหลัก และต้องมีความรับผิดชอบต่อชะตากรรมของบ้านเมืองร่วมกัน

ในการเมืองใหม่ ทหารควรต้องทำหน้าที่หลักต่อไป คือ การดูแลรักษาความมั่นคงของประเทศ ต่อสู้กับอริราชศัตรูภายนอกประเทศ แต่เมื่อเกิดภัยของความมั่นคงขึ้นภายในประเทศ มีขบวนการทำลายล้างสถาบันหลักของชาติ ทำลายรัฐธรรมนูญ กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองโดยวิถีทางที่มิชอบ บิดเบือน บิดผันอำนาจ ทำลายหลักนิติรัฐ ทำลายกระบวนการยุติธรรมและศาลยุติธรรม ทำลายความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง หรือก่อการร้ายในสังคม ทหารก็ไม่อาจละเว้นที่จำต้องปกป้องประเทศชาติให้รอดพ้นจากภัยความมั่นคงภายใน

ในขณะเดียวกัน ทหาร ในฐานะที่เป็นภาคส่วนหนึ่งของสังคม ก็สามารถจะมีบทบาท แสดงออก และเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ ภายใต้ขอบเขตและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแหง่ราชอาณาจักรไทย

ทหารในการเมืองใหม่ ต้องกล้าคิด กล้าทำ และมองหาทางเลือกอื่นที่ไม่ใช่แค่ยึดอำนาจ หรือทำรัฐประหาร ซึ่งได้ประเมินไปแล้วว่า ไม่ประสบความสำเร็จ


ทหารไทย ไม่ควรจะถูกตราหน้า หรือสบประมาทว่า ทำเป็นแต่ยึดอำนาจอย่างเดียว หรือไม่ก็อยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไร อ้างให้การเมืองจัดการกันเอาเอง !

กองทัพในบางประเทศ สามารถมีบทบาทในการพิทักษ์ประชาธิปไตย โดยการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ กระบวนการยุติธรรม และศาลยุติธรรมของประเทศ ร่วมกับประชาชนได้อย่างสมเกียรติภูมิ

เมื่อเกิดวิกฤติร้ายแรงในบ้านเมือง ทหารต้องสามารถแสดงจุดยืน เรียกร้องอย่างเด็ดขาดต่อฝ่ายบริหารให้เคารพต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและระบบยุติธรรมของบ้านเมือง และปฏิเสธการทำลายชีวิตเลือดเนื้อของประชาชนในชาติ ตลอดจนการใช้อำนาจโดยมิชอบของนักการเมือง !

ทหารต้องมีบทบาทในการเปิดทาง เปิดพื้นที่ เพื่อสร้างสรรค์การเมืองใหม่ และในการเมืองใหม่ ก็จะต้องให้สังคมทุกภาคส่วน (ไม่เว้นแม้แต่ทหาร) ได้มีส่วนร่วม มีบทบาทในการกำหนดชะตากรรมของบ้านเมืองร่วมกันอย่างแท้จริง ภายใต้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เพื่อมิให้ภาคส่วนใด ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ยึดครองอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังการเลือกตั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น