xs
xsm
sm
md
lg

อะเมซิ่งรัฐสภาไทย

เผยแพร่:   โดย: ยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ

ผู้เขียนมีความประสงค์จะให้บทความทางวิชาการนี้ ก่อให้เกิดความคิดในทางสร้างสรรค์กับสังคมไทย
กฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้เป็นแม่แบบการปกครองประเทศ

ระบอบประชาธิปไตย จึงเป็นกฎหมายที่ไม่มีบทบังคับอันมีลักษณะเป็นการลงโทษ ( PUNISHMENT ) เอากับชีวิต ร่างกาย สิทธิ เสรีภาพทางร่างกายของบุคคล ที่ได้กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ( UNCONSTITUTION ) แต่รัฐธรรมนูญก็มีสภาพการบังคับให้ต้องมีการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญนั้นได้โดยกลไกทางรัฐธรรมนูญนั่นเอง ( CONSTITUTIONAL COMPULSORY SYSTEM ) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ได้มีพระราชโองการฯประกาศตามประชามติของมหาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เป็นหลักรัฐธรรมนูญ ( CONSTITUTIONAL DECLARATION ) อันมีสาระสำคัญแห่งหลักรัฐธรรมนูญคือ การยึดถือระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นวิถีทางในการปกครองประเทศ การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ให้ประชาชนมีบทบาทและมีส่วนร่วมในการปกครองและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่างเป็นรูปธรรม การกำหนดกลไกสถาบันทางการเมืองทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารให้มีดุลยภาพและประสิทธิภาพตามวิถีการปกครองแบบรัฐสภา รวมทั้งให้สถาบันศาลและองค์กรอิสระอื่นสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยสุจริตเที่ยงธรรม ปวงชนชาวไทยมีความสมัครสโมสรเป็นเอกฉันท์ในอันที่จะปฏิบัติตาม และพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อธำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยและอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย หลักรัฐธรรมนูญตามที่ได้ประกาศไว้จึงเป็นกลไกสำคัญที่จะบังคับและควบคุมให้ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หากผู้ที่เกี่ยวข้องละเลยไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือปฏิบัติผิดไปจากกฎหมายรัฐธรรมนูญ( UNCONSTITUTION ) หรือกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนหรือขัดต่อหลักแห่งรัฐธรรมนูญ ( AGAINST CONSTITUTION DECLARATION) ผลที่ตามมานั้นจะมีสภาพการบังคับตามรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นอย่างที่ไม่คาดคิดได้

ผู้เขียนจำเป็นต้องยกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นตัวอย่าง เพื่อให้เกิดความเข้าใจสภาพการบังคับตามกฎหมายรัฐธรรมนูญและตามหลักรัฐธรรมนูญ โดยมิได้มีเจตนาจะก่อให้เกิดผลร้ายต่อผู้ใด

การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ประชาชนทั้งประเทศที่ได้ติดตามข่าวสารจะพบสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสาธารณะแล้วว่า พรรคการเมืองที่เคยร่วมรัฐบาลได้มีการติดต่อและมีการประกาศที่จะร่วมมือกันเสนอให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ สมาชิกผู้แทนราษฎรพรรคการเมืองที่เคยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลเดิมขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีและมีการตกลงกันได้ ซึ่งต่อมาก็มีข่าวปรากฏต่อสาธารณชนว่า พรรคการเมืองที่นายสมชาย เป็นสมาชิกพรรคนั้นไม่เห็นด้วยที่จะให้นายสมชายเป็นนายกรัฐมนตรี มีข่าวว่ามีสมาชิกพรรคประมาณ 70 คนที่ไม่เห็นด้วย แต่จะให้สมาชิกพรรคคนอื่นขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทนนายสมชาย กับได้มีข่าวออกสู่สาธารณชนว่ามีการขู่จะยุบสภาทิ้งรวมทั้งมีการเจรจากันเรื่องผลประโยชน์จากการได้ตำแหน่งในรัฐบาลที่จะตั้งขึ้น ผลที่สุดก็ตกลงกันได้ ซึ่งก็ได้มีการเสนอผู้ที่สมควรจะเป็นนายกรัฐมนตรีในสภาผู้แทนราษฎร 2 คน คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ผลแห่งการลงคะแนนเสียงปรากฏว่า นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้เสียงข้างมาก เป็นนายกรัฐมนตรี จากข่าวที่ออกสู่สาธารณชนของหัวหน้าพรรคการเมืองที่เคยร่วมรัฐบาลในรัฐบาลเดิม ได้เจรจาและแสดงออกถึงการมีข้อตกลงกันล่วงหน้าตามข้อผูกมัดที่ได้เคยร่วมรัฐบาลกันมาก่อน และตกลงจะออกเสียงลงคะแนนให้นายสมชายเป็นนายกรัฐมนตรีโดยมติของพรรคการเมือง ไม่ว่าพรรคการเมืองนั้นจะมีผลประโยชน์ตอบแทนหรือไม่ก็ตาม หรือกรณีที่สมาชิกพรรคการเมืองเดียวกันได้แสดงออกถึงการต่อรองเพื่อให้ลงคะแนนเสียงให้เป็นนายกรัฐมนตรีกับการได้ตำแหน่งในรัฐบาลที่จะเกิดขึ้นในอนาคตก็ตาม การกระทำดังกล่าวย่อมสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ( UNCONSTITUTION ) ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 122 ซึ่งบัญญัติว่า “ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยโดยไม่อยู่ในอาณัติ มอบหมาย หรือความครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์” และรัฐธรรมนูญ มาตรา 126 วรรคห้า ซึ่งบัญญัติว่า “การออกเสียงลงคะแนนหรือให้ความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่งใดให้กระทำเป็นการลับ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญนี้ และสมาชิกย่อมมีอิสระและไม่ถูกผูกพันโดยมติของพรรคการเมืองหรืออาณัติอื่นใด”

การกระทำการโดยฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญมาตรา 122 และมาตรา 126 วรรคห้าในการลงคะแนนเสียงให้ความเห็นให้บุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะสามารถควบคุมการออกเสียงในรัฐสภาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจนเป็นเสียงข้างมากได้นั้น จึงเป็นการกำหนดกลไกสถาบันการเมืองทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารมิให้มีดุลยภาพและประสิทธิภาพตามวิถีการปกครองแบบรัฐสภา มอบหมาย หรือครอบงำใดๆโดยต้องปฎิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลดุลยภาพและประสิทธิภาพตามวิถีการปกครองแบบรัฐสภานั้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะต้องทำหน้าที่ในฐานะเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย โดยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติ ประโยชน์ และมีอิสระและไม่ผูกพันโดยมติของพรรคการเมืองหรืออาณัติอื่นใด ดังนั้นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 122 และมาตรา 126 วรรคห้า อันเป็นการกระทำที่เรียกว่า UNCONSTITUTION นั้น จึงเป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามวิถีการปกครองแบบรัฐสภา ( AGAINST CONSTITUTION DECLARATION) ซึ่งก็คือเป็นการดำเนินการทางรัฐสภาที่ไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย และการกระทำดังกล่าวมีผลกระทบต่ออำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นของปวงชนชาวไทย กลายเป็นอำนาจอธิปไตยของกลุ่มบุคคลในสถาบันการเมืองฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารเท่านั้นที่จะใช้อำนาจการปกครองประเทศกันตามแบบรัฐสภา การได้มาซึ่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีดังกล่าว จึงเป็นการได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะกระทำมิได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และผลของการนี้บุคคลหรือพรรคการเมืองใดได้กระทำดังกล่าว ผู้ที่ทราบการกระทำมีสิทธิที่จะเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้ และสามารถดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการดังกล่าวได้และศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสั่งยุบพรรคการเมือง ตลอดจนสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกยุบพรรคเป็นเวลา 5 ปีได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 นั่นเอง และรัฐธรรมนูญบัญญัติให้อำนาจอัยการสูงสุดดำเนินการดังกล่าวได้ เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 65 ได้บัญญัติให้พรรคการเมืองที่จัดตั้งและดำเนินกิจการทางการเมืองนั้น จะต้องมีเจตนารมณ์จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการทางการเมืองให้เป็นไปตามวิถีทางปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เมื่อมีการกระทำอันเป็นการขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และการกระทำนั้นเป็นการได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มิได้ทำหน้าตามรัฐธรรมมาตรา 122 และมาตรา 126 วรรค 5 ในการออกเสียงลงคะแนน เพื่อเห็นชอบในการเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว การกระทำของพรรคการเมืองนั้นย่อมเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและหลักรัฐธรรมนูญ จึงอาจถูกยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งได้ตามมาตรา 68 ดังกล่าว การเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยรัฐสภาจึงอาจเข้าข่ายเป็นการส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 270 ซึ่งก่อให้เกิดสิทธิสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ในสภา หรือประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าสองหมื่นคน มีสิทธิร้องขอให้ถอดถอนนายกรัฐมนตรีได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 271 และประชาชนมีสิทธิที่จะต่อต้านโดยสันติวิธีจากการกระทำดังกล่าวได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 69 บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญจึงมีสภาพบังคับได้โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนั้นเอง

กรณีที่อัยการสูงสุดซึ่งทำหน้าที่ดำเนินการกับพรรคการเมืองตามมาตร 68 ดังกล่าวนั้น ก็จะมีบทบังคับโดยรัฐธรรมนูญซึ่งมีสภาพบังคับอัยการสูงสุดได้เช่นเดียวกัน เพราะอัยการสูงสุดเป็นองค์กรอิสระอื่นตามรัฐธรรมนูญ จึงเป็นผู้มีหน้าที่ต้องปฎิบัติตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้โดยสุจริตเที่ยงธรรมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 255 และตามหลักรัฐธรรมนูญที่ได้ประกาศไว้ หากอัยการสูงสุดไม่ดำเนินการก็จะเป็นการไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ( UNCONSTITUTION ) และหลักรัฐธรรมนูญ ( AGAINST CONSTITUTION DECLARATION) ซึ่งก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการที่ถูกถอดถอนและถูกดำเนินคดีอาญาได้เช่นกัน

ดังนั้นการดำเนินการใดๆทางรัฐสภาสถาบันทางการเมืองทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารจะต้องดำเนินการให้กลไกลสถาบันการเมืองดำเนินการได้โดยมีดุลยภาพและประสิทธิภาพตามวิถีการปกครองแบบรัฐสภา เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศโดยวิธีการที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเท่านั้น การดำเนินการทางรัฐสภาจึงจะเป็นระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น