xs
xsm
sm
md
lg

‘แหลมตะลุมพุก – ชายฝั่งสงขลา’ วิกฤต! ทช.จ้าง มธ.เร่งศึกษาแผนแก้ปัญหากัดเซาะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชายหาดบ้านหน้าศาล อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ถูกคลื่นซัดเสียหายหนัก
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มอบหมายนักวิจัยธรรมศาสตร์ ศึกษาจัดทำแผนหลักและออกแบบเบื้องต้นการแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่งบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง ตั้งแต่แหลมตะลุมพุก – ปากน้ำทะเลสาบสงขลา เตรียมสรุปพื้นที่วิกฤต 5 จุด พร้อมแนวทางการแก้ปัญหานำร่อง 2 จุด

ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้า การแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่อ่าวไทยตอนล่าง ว่า ขณะนี้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบหมายให้คณะนักวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) เป็นผู้ออกแบบและดำเนินการ โดยมีการเปิดตัวโครงการ เมื่อวันที่ 4 กันยายน ที่ผ่านมา ณ โรงแรมหาดแก้วรีสอร์ท อ.สิงหนคร จ.สงขลา ภายใต้ชื่อโครงการศึกษาจัดทำแผนหลักและออกแบบเบื้องต้นการแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่งบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง โดยมีพื้นที่โครงการครอบคลุมตั้งแต่แหลมตะลุมพุก จ.นครศรีธรรมราช ถึงปากน้ำทะเลสาบสงขลา

โครงการดังกล่าวจัดทำขึ้นเพื่อรวบรวมผลการศึกษา สถานภาพของชายฝั่งทะเลบริเวณแหลมตะลุมพุกลงมาถึงปากน้ำทะเลสาบสงขลา เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ในการจัดทำแผนหลักการแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่งอย่างบูรณาการ โดยจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการที่มีความเป็นไปได้ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่โครงการ เพื่อออกแบบป้องกันและแก้ไขปัญหาในพื้นที่วิกฤต โดยเฉพาะพื้นที่ 5 อำเภอชายทะเลของ จ.นครศรีธรรมราช และอีก 24 ตำบล และ 2 เทศบาลใน จ.สงขลา ที่กำลังมีปัญหาอยู่ในขณะนี้

ทั้งนี้โครงการดังกล่าวเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ การแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่งแบบบูรณาการ ซึ่งหน่วยงานของรัฐที่มีความเกี่ยวข้องหลายหน่วยงานร่วมกันรับผิดชอบ เพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมพื้นที่ชายฝั่งทะเล ส่งเสริม พัฒนา เผยแพร่องค์ความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งทะเล เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคประชาชนรวมทั้งปรับปรุงกฎระเบียบ กฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ชายฝั่งทะเล รวมทั้งจะมีการบังคับใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

รศ.ดร.อุรุยา วีสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้จัดการโครงการศึกษาจัดทำแผนหลัก และออกแบบเบื้องต้นการแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่งบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง กล่าวว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาการกัดเซาะเป็นประจำทุกปี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามแก้ปัญหาโดยการศึกษา สำรวจและก่อสร้างโครงสร้างต่างๆ ในพื้นที่แต่ปัญหาการกัดเซาะยังคงมีอยู่และทวีความรุนแรงทุกปี

โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ช่วงที่เกิดพายุทุเรียนพัดผ่าน ทำให้เกิดคลื่นสูงตลอดแนวชายฝั่ง ประกอบกับช่วงดังกล่าวเป็นช่วงที่น้ำทะเลสูงสุดตามฤดูกาลในรอบปี เมื่อคลื่นใหญ่เคลื่อนเข้าหาฝั่งในระดับน้ำที่สูง ทำให้คลื่นมีการสลายพลังงานและเข้าปะทะกับชายฝั่งโดยตรง จึงเกิดการกัดเซาะสร้างความเสียหายอย่างรุนแรง พื้นที่ปศุสัตว์และเกษตรกรรม รวมทั้งบ้านเรือนได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก

“ทางโครงการจะเร่งทำการศึกษาสภาพ และสาเหตุการกัดเซาะจัดลำดับพื้นที่เสี่ยงภัยเร่งด่วน 5 พื้นที่ และสรุปข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหารวมทั้งคัดเลือก 2 พื้นที่เร่งด่วนในการออกแบบเบื้องต้น ทั้งแบบไม่ใช้โครงสร้างถาวรและแบบที่ต้องใช้โครงสร้างป้องกันอย่างถาวร” รศ.ดร.อุรุยา กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น