xs
xsm
sm
md
lg

คปภ.สกัด AIA ขนเงินหนี ผวาลูกค้าแบงก์แห่ถอนเงิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - ธนาคารพาณิชย์ไทยออกโรงแจงผลกระทบเลห์แมน ค่ายบัวหลวงลงทุนหุ้นกู้ 3.5 พันล้าน หวังได้รับชำระคืนบางส่วน ไทยพาณิชย์ขายขาดทุนล่วงหน้า กรุงศรีอยุธยาแค่ลงทุนทางอ้อมผ่าน CDO เลขาฯ คปภ.ยัน AIG เจ๊งไม่กระทบ AIA เหตุ คปภ.คุมเข้มกรณีส่งเงินให้บริษัทแม่ต้องขออนุญาต วอนผู้เอาประกันอย่าแตกตื่น ขณะที่แบงก์ชาติเคลียร์รายวัน ยอมรับลูกค้าธนาคารแห่ถอนเงิน การันตีสถานะแบงก์ไอเอจีในไทยยังมีเงินกองทุนสูง 24% เผยพอร์ตเลห์แมนลงทุนในไทย 5 หมื่นล้าน ส่วนใหญ่อยู่ในธุรกิจอสังหาฯ

จากกรณีที่เลห์แมน บราเธอร์ส วาณิชธนกิจ ใหญ่อันดับ 4 ของสหรัฐ ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอการพิทักษ์ทรัพย์จากภาวะล้มละลาย บริษัทเมอร์ริล ลินช์ แอนด์ โค อิงค์ ประกาศขายกิจการให้แก่ธนาคารแบงก์ ออฟ อเมริกา คอร์ป และบริษัทอเมริกัน อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป (AIG) ก็อาจจะขายสินทรัพย์นั้น เช้าวานนี้ (16 ก.ย.) นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ไซรัสระบุว่า ธนาคารกรุงเทพ (BBL) มีธุรกรรมกับเลห์แมนฯ ประมาณ 3.5 พันล้านบาท หรือประมาณ 0.2% ของมูลค่าสินทรัพย์รวม ณ สิ้นไตรมาส 2/51 หรือ 2% ของส่วนของผู้ถือหุ้น ส่วนใหญ่เป็นรายการในงบดุล พอร์ตสินเชื่อและการลงทุน ขณะที่ธนาคารไทยธนาคาร (BT) ไม่มีธุรกรรมนอกงบดุลแต่ในงบดุลยังไม่เปิดเผยข้อมูล

นางกุลธิดา ศิวยาธร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ธนาคารฯ ลงทุนในหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิ ของเลแมน บราเธอร์ส อยู่ 3.5 พันล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าจะได้รับการชำระคืนบางส่วน ทั้งนี้ ผลการขาดทุนจากการลงทุนในหุ้นกู้ของเลแมนฯ จะมีผลต่องวดบัญชีเพียง 1 ไตรมาส และจะไม่ส่งผลให้ธนาคารต้องมีขาดทุนสุทธิ เนื่องจากยังมีกำไรจากการดำเนินงาน

นางกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า ในส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ได้ขายเงินลงทุนไปแล้วในช่วงก่อนหน้าที่จะเกิดวิกฤตเลห์แมนฯ ซึ่งเกิดผลขาดทุนไม่มากนัก ทั้งนี้ ธนาคารฯ จะบันทึกผลขาดทุนเล็กน้อยจากการขายเงินลงทุนในเลห์แมน บราเธอร์ส ในงบการเงินไตรมาส 3/51โดยไม่ต้องมีการสำรองเพิ่มเติม

สำหรับกรณีที่สถาบันการเงินไทย 14 แห่งที่เข้าไปลงทุนในตราสารของเลห์แมนฯ ถือว่าน้อยมาก จึงไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงินของสถาบันการเงินไทย โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ที่มีสภาพคล่องที่ดี ส่วนกลุ่มลูกค้าที่ขอวงเงินกู้เพื่อผลิตสินค้าส่งออกไปสหรัฐมีสัดส่วนลดลง เนื่องจากไทยขยายการส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ อย่างไรก็ตาม จากปัญหาดังกล่าวที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ดังนั้นระยะสั้นจึงหนีไม่พ้นที่จะได้รับผลกระทบจิตวิทยาไปด้วย และยอมรับว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นต้องติดตามผลกระทบที่จะเกิดในระยะยาว

"การระดมทุนในต่างประเทศที่ขณะนี้ตลาดค่อนข้างผันผวน และคาดการณ์ได้ยาก จึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเช่นกัน ตามปกติแล้ว ไทยพาณิชย์จะระมัดระวังการลงทุนในต่างประเทศ" นางกรรณิกา กล่าว

นางเยาวลักษณ์ พูลทอง ประธานคณะเจ้าหน้าที่ ด้านการสื่อสารองค์กรและนักลงทุนสัมพันธ์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) กล่าวว่า ไม่มีธุรกรรมทางตรงกับเลห์แมน บราเธอร์ส โดยมีเพียงลงทุนทางอ้อมผ่านตราสาร CDO ซึ่งมีเลห์แมนฯ เป็นส่วนหนึ่งของสินทรัพย์อ้างอิง ทั้งนี้ สินทรัพย์ CDO ที่ธนาคารลงทุนอยู่มีมูลค่า 85 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งแบ่งเป็น 4 ชุด โดยในแต่ละชุดมีสินทรัพย์อ้างอิงเป็นกลุ่มธุรกิจต่างๆ ประมาณ 100-230 บริษัท กระจายในหลายอุตสาหกรรม ซึ่งในจำนวนนี้ มีเลห์แมนฯ รวมอยู่ด้วย แต่ถือว่าเป็นสัดส่วนที่ไม่ได้มีนัยสำคัญ

ด้านธนาคารกรุงไทย (KTB) โดยนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการ เปิดเผยว่า ลงทุนในตราสาร CDO (Collateralised Debt Obligation) ที่เกี่ยวข้องกับเลห์แมน บราเธอร์ส เพียง 1% ของตราสาร CDO ที่ถืออยู่ จึงไม่รู้สึกกังวลกับผลกระทบในครั้งนี้ เพราะได้มีการสำรองไว้แล้ว ทั้งนี้ ธนาคารกรุงไทยลงทุน CDO วงเงิน 160 ล้านดอลลาร์ และการลงทุนดังกล่าวไม่มีการลงทุนใน CDO ที่อ้างอิงกับซับไพร์ม

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK เปิดเผยว่า ธนาคารไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงเนื่องจากธนาคารไม่ได้มีการลงทุนใด ๆ แต่ในส่วนของผลกระทบทางอ้อมนั้นจะต้องติดตาม เพราะถ้าเกิดปัญหากับสถาบันการเงินขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ก็จะมีผลต่อสภาพคล่องในสหรัฐฯ และจะทำให้สถานบันการเงินเหล่านั้นซึ่งมีการลงทุนในประเทศต่าง ๆ อาจทำการขายสภาพคล่องออกไป ส่วนการเทขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์นั้นก็มีมาตั้งแต่ต้นปีแล้ว จึงไม่ได้เป็นที่แปลกใจมากนัก

ทั้งนี้ จากการเปิดเผยของ ธปท.ระบุว่ามูลค่าธุรกรรมระหว่างธนาคารพาณิชย์ไทยกับเลห์แมนฯ จากการปล่อยกู้และการลงทุนตราสารหนี้โดยตรงมีประมาณ 4.3 พันล้านบาท ขณะที่การลงทุนในตราสารอนุพันธ์ต่างๆ 5.3 พันล้านบาท ถือว่าไม่มากเมื่อเทียบกับการลงทุนต่างประเทศทั้งระบบและมูลค่าการชำระจริง อาจจะต่ำกว่าตัวเลขดังกล่าว

ธปท.ชี้แบงก์ AIG ปึ๊ก-อย่าถอนเงิน

นายสรสิทธิ์ สุนทรเกศ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธนาคารเอไอจี เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) ที่จดทะเบียนในเมืองไทย ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคล และเป็นบริษัทลูกของกลุ่มอเมริกัน อินเตอร์เนชันแนล กรุ๊ป (AIG) ในสหรัฐก็ไม่ได้รับผลกระท เนื่องจากมีเพียงเงินทุนเท่านั้น แต่ในส่วนของธุรกรรมหรือสินทรัพย์อื่นๆ มีการแยกสถานะออกบริษัทแม่ในต่างประเทศ

“เท่าที่ตรวจสอบล่าสุดมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (บีไอเอส เรโช) สูง 24% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ธปท.กำหนด คือ 15% จึงเชื่อว่าไม่มีผลกระทบกับบริษัทลูกอย่างธนาคารเอไอจีเพื่อรายย่อยในไทย อย่างไรก็ตาม ต่อไปตัวบริษัทแม่จะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นหรือขายหุ้นออกไปให้แก่ผู้ถือหุ้นรายใหม่ก็แค่สวมสิทธิ์ได้เลย จึงไม่มีปัญหาแต่อย่างใด”นายสรสิทธิ์กล่าวและว่า ปัญหาที่ธปท.เป็นห่วงมากที่สุดในขณะนี้ คือ ความวิตกกังวลของผู้ฝากเงินที่อาจจะมีการแห่ถอนเงินกันมากนั้น เพราะเกรงว่าธุรกิจของบริษัทแม่อาจจะลุมลามมายังไทยหรือไม่นั้นไม่น่าจะมีปัญหา ขณะนี้ยังไม่มีปัญหาถึงขั้นที่ ธปท.จะต้องเข้าไปดูแล ขณะเดียวกันในพ.ร.บ.คุ้มครองเงินฝากที่ประกาศใช้เมื่อเดือนส.ค.ที่ผ่านมาก็ยังคงคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวนอยู่ หากเกิดกรณีธนาคารพาณิชย์ต้องปิดกิจการลงไป รวมทั้ง ธปท.ยังมีแผนฉุกเฉิน เพื่อช่วยเหลือสถาบันการเงินที่มีปัญหาอยู่แล้ว

“ยอมรับว่ามีผู้ฝากเงินบางรายมีการถอนเงินออกจากธนาคารเอไอจีเพื่อรายย่อยบ้าง แต่ไม่มากนัก ซึ่งธนาคารก็มีสภาพคล่องรองรับเพียงพอ และธปท.เองก็ได้แนะนำให้ธนาคารเอไอจีเพื่อรายย่อยชี้แจงให้แก่ผู้ฝากแต่ละรายให้เข้าใจมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันลูกค้าที่เป็นผู้ฝากเงินจะเป็นรายใหญ่และมีมียอดเงินฝากไม่มากนัก จึงเชื่อว่าไม่มีปัญหาแน่นนอน”

น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รักษาการ รองนายกรัฐมนตรี และร มว.คลัง เปิดเผยว่า ผลกระทบจากเลห์แมนในทางตรงคงไม่มีมากนักเนื่องจากก่อนหน้านี้เราก็รับรู้ความเสียหายที่เกิดจากซับไพรม์แล้ว แต่ผลทางอ้อมอาจจะกระทบทางจิตวิทยาที่ทำให้ตลาดหุ้นร่วงทั่วโลก ซึ่งในตลาดทุนไทยก็มีการถอนเงินออกไปแต่ก็เป็นเพียงเงินที่เข้ามาเก็งกำไรไม่ใช่เงินสำหรับการลงทุนในภาคการผลิตจริง ขณะนี้ธปท.กำลังดูแล แต่ยังไม่เห็นสัญญาณรุนแรงใดๆในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา

สำหรับผลกระทบจากเอไอจีในสหรัฐ คาดจะไม่มีผลกระทบต่อบริษัทประกันชีวิต เอไอเอ ซึ่งเป็นบริษัทลูกในเมืองไทย เนื่องจากผลประกอบการ และเงินสำรองยังแข็งแกร่งมาก ซึ่งหากบริษัทแม่จะต้องดึงเงินกลับบางส่วนเพื่อช่วยเหลือบริษัทแม่ก็จะไม่ส่งผลต่อลูกค้าประกันชีวิตในเมืองไทย เพราะตามหลักเกณฑ์ของบริษัทประกันต้องมีเงินสำรองตามกฎหมายกำหนด

คปภ.คุม AIA-ลูกค้าอย่าแตกตื่น

นางจันทรา บูรณฤกษ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงานคปภ.) เปิดเผยถึงกรณีที่บริษัท อเมริกัน อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป (เอไอจี) บริษัทประกันรายใหญ่ของสหรัฐฯ และป็นบริษัทแม่ของบริษัท อเมริกัน อินเตอร์เนชั่นแนล แอสชัวรันส์ จำกัด (เอไอเอ) ในไทย ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องสูงถึง 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐว่า ไม่น่าจะกระทบการดำเนินธุรกิจของบริษัท เอไอเอ ในไทย และมีผลต่อผู้เอาประกัน เนื่องจากเอไอเอ มีสัดส่วนสินทรัพย์ในเอไอจีเพียง 1.036% เท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมาก และไม่เพียงพอที่จะนำไปกู้ฐานะของเอไอจี

ประกอบกับ หากบริษัท เอไอเอ จะนำเงินออกนอกประเทศ เพื่อส่งกลับไปให้บริษัทแม่นั้น จะต้องได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียน ซึ่งได้แก่ เลขาธิการสำนักงาน คปภ.ก่อน ตาม พ.ร.บ.ประกันชีวิต มาตรา 32 ที่กำหนดว่า การนำผลกำไรบริษัทที่มี เพื่อประโยชน์ในการจ่ายเงินปันผลต้องได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียน ดังนั้น เอไอเอ จึงไม่สามารถนำเงินส่งกลับไปให้บริษัทแม่ได้โดยพลการ

นอกจากนี้ ฐานะทางการเงินของเอไอเอยังแข็งแกร่ง โดย ณ สิ้นเดือน ก.ค.51 มีสินทรัพย์รวม 383,060.77 ล้านบาท มีกำไรสะสมกว่า 70,000 ล้านบาท เงินกองทุน 69,241.64 ล้านบาท คิดเป็น 1,107.67% ของเงินกองทุนที่จะต้องดำรงตามกฎหมาย ณ ก.ค.2551 จากที่กฎหมายกำหนดให้บริษัทประกันชีวิตต้องมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมายไม่ต่ำกว่า 150% โดยล่าสุดบริษัท มีเงินสำรองประกันภัย 286,674.28 ล้านบาท

“คปภ.มีมาตรการเข้มงวดในการนำส่งเงินกลับบริษัทแม่ อีกทั้งหากดูจากผลการดำเนินงานของเอไอเอแล้ว จะพบว่า นอกจากจะมีสินทรัพย์สูงแล้ว ยังมีเงินสำรองสูงมาก ซึ่งเพียงพอที่จะช่วยเหลือผู้เอาประกัน หากเกิดกรณีบริษัทมีปัญหาขึ้นในอนาคต” นางจันทรากล่าวและว่า กรณีเลห์แมนนั้น ไม่มีบริษัทประกันภัยใดในไทยซื้อพันธบัตรหรือกู้เงิน จึงไม่กระทบกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทประกันของไทย

"ก่อนหน้านี้เลห์แมนมีความพยายามที่จะเข้าซื้อหุ้นของบริษัทประกันภัยในไทยรายหนึ่ง แต่การเจรจาทางธุรกิจไม่ประสบความสำเร็จ จึงขอถอนตัวจากการซื้อหุ้นดังกล่าวไปแล้ว" นางจันทรา กล่าว

นายสาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด ในฐานะนายกสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าวผลกระทบกับธุรกิจประกันชีวิตของไทยน้อยมาก และบริษัทต่างๆ ก็ได้ทำที่กฎหมายกำหนดเช่น เรื่องของเงินกองทุน ซึ่งได้มีการตั้งสำรองไว้ตามเกณฑ์อยู่แล้วแต่ในแง่ของการลงทุนที่บริษัทต่างๆ ได้ลงทุนในต่างประเทศนั้นอาจจะได้รับผลกระทบบ้าง

"ในส่วนของเมืองไทยประกันชีวิตเดิมที่มีแผนที่จะลงทุนในต่างประเทศเหมือนกัน แต่ก็ได้หันมาลงทุนในไทยหมดแล้ว" นายสาระกล่าวและว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคหรือไม่นั้น มองว่าปัจจุบันฐานะทางการเงินของบริษัทประกันนั้นได้มี คปภ.กำกับดูแล รวมถึงจะมีการเริ่มใช้กฎหมายใหม่อีก ซึ่งจากที่ดูตัวเลขแล้วไม่พบว่าจะมีบริษัทที่น่าวิตกกังวล

เลห์แมนลงทุนไทย 5 หมื่นล้าน

นายกฤษดา กวีญาณ ที่ปรึกษาการลงทุน เลห์แมน บราเธอร์ส ประจำประเทศไทย เปิดเผยว่าบริษัทฯ มีเม็ดเงินลงทุนในไทยกว่า 50,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 40,000 ล้านบาท ลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งส่วนใหญ่จะลงทุนในสำนักงาน โดยสำนักงานออฟฟิศที่เลห์แมนเป็นเจ้าของนั้นอยู่ในระดับเกรด A ทั้งสิ้น เช่น อาคารเมอร์คิวรี่ อาคารแปซิฟิก อาคารอิตัลไทย และอาคารเมืองไทยภัทร ฯลฯ 4.3 พันล้านบาท เครดิตสวอป 4.3 พันล้านบาท

ส่วนอีก 10,000 ล้านบาท เป็นการปล่อยเงินกู้ และการให้กู้โครงการอสังหาริมทรัพย์ ที่มีภาระผูกพันที่ยังต้องให้เงินไปก่อสร้างให้แล้วเสร็จ กับบริษัทจดทะเบียน 2-3 แห่ง ในกลุ่มธุรกิจบริการ อสังหาริมทรัพย์และท่องเที่ยว โดยจากการที่เลห์แมนฯล้มละลายนั้น ธุรกรรมในประเทศไทยก็จะต้องมีการหยุดทำธุรกรรมต่างๆ โดยจะมีผลกระทบต่อราคาอสังหาริมทรัพย์ในไทยแล้ว และยังมีผลกระทบต่อวงเงินที่เลห์แมนมีภาระผูกพันจะต้องให้กู้เพื่อนำไปพัฒนาโครงการของบริษัทจดทะเบียนทำให้บริษัทดังกล่าวไม่มีเงินทุนในการพัฒนาโครงการต่อนั้น

"ธปท.ในฐานะผู้ดูแลสถาบันการเงิน ควรเข้ามาให้ความช่วยเหลือแก่บริษัทที่มีการกู้เงินจากเลห์แมนฯ เพื่อไปลงทุนในโครงการต่างๆ เช่น การ จัดตั้งเงินกองทุนรองรับผู้กู้ที่ได้รับผลกระทบเหล่านี้ หรือ ให้ธนาคารพาณิชย์เข้ามาพิจารณาสินเชื่อให้กู้ยืม เพราะโครงการเหล่านี้ไม่ได้มีปัญหาเป็นโครงการที่ดี และหากโครงการดำเนินต่อไปไม่ได้ผู้ที่จะได้รับผลกระทบตามมาจะเป็นคนไทยทั้งนั้น ไม่ใช่ชาวต่างชาติ"

อย่างไรก็ตามผลกระทบที่จะเกิดต่อผู้ลงทุนรายย่อยอื่น ๆ ไม่มี แต่จะเกิดขึ้นเมื่อเกิดการชำระบัญชี เพราะเลห์แมน เป็นผู้บริหารอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่อีกแห่งหนึ่งในประเทศไทย แม้ว่าจะเป็นชาวต่างชาติไม่สามารถถือครองอสังหาริมทรัพย์ได้ ดังนั้นจึงเข้าไปในฐานะผู้ให้กู้ ผ่านหุ้นกู้ สินเชื่อ และให้ใช้อสังหาริมทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน

“เลห์แมนซึ่งเป็นเจ้าของสำนักงานออฟฟิศจำนวน แสนตร.ม. นับว่ามีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุด รวมไปถึงมีจำนวนห้องพักโรงแรมมากที่สุดเช่นกัน ดังนั้นหากมีการนำทรัพย์เหล่านี้ปล่อยสู่ตลาดในราคาที่ถูกอาจมีผลกระทบต่อราคาอสังหาริมทรัพย์ไทย แต่หากมองอีกแง่จะเป็นโอกาสของนักลงทุนไทยเข้ามารับซื้อทรัพย์เหล่านี้”

นายกฤษดากล่าวว่า ธปท.ควรจะแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่าจะมีมาตรการรับมือกับวิกฤตการเงินของโลกที่เกิดขึ้นครั้งนี้อย่างไร เช่น หามาตรการรองรับการดูแลสภาพคล่องในระบบไม่ให้ขาดหาย รวมถึงต้นทุนการเงินของภาคธุรกิจเอกชนไม่ให้สูงเกินไป เพราะวิกฤติที่เกิดขึ้นนี้เกิดจากความเสี่ยงของเครดิต ทำให้อัตราดอกเบี้ยที่ตอบแทนต้องสูงขึ้นให้คุ้มกับความเสี่ยง ดังนั้น ต้องดูแลนักธุรกิจและผู้บริโภคสามารถเข้าถึงแหล่งเงินในอัตราดอกเบี้ยที่สมเหตุสมผล ส่วนจะใช้วิธีการอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาของธปท. และธปท.ยังต้องเข้าไปดูแลนักลงทุนสถาบันในประเทศอย่างเช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.) และสำนักงานประกันสังคม ซึ่งระยะที่ผ่านมามีการไปลงทุนต่างประเทศด้วย ดังนั้นต้องดูว่านักลงทุนเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการเงินครั้งนี้หรือไม่อย่างไร ถือว่าเป็นการมองผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับตลาดให้ครอบคลุมในฐานะเป็นผู้ดูแลตลาดเงินทั้งหมด จำเป็นต้องให้ความเอาใจใส่

อสังหาฯ หวั่นเงินตึง-กู้ยาก

นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ ประธานบริหารฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) (PF ) กล่าวว่า แม้ไม่มีผลผลกระทบโดยตรงต่อสถาบันการเงินไทย แต่ส่งผลทางอ้อมให้เกิดภาวะเงินในประเทศตึงตัวมากขึ้น เนื่องจากสถาบันการเงินต่างประเทศเริ่มดึงเงินกลับไปเสริมสภาพคล่อง

"แบงก์จะมีการระดมเงินฝาก เพื่อเสริมสภาพคล่อง จะมีการออกแคมเปญเงินฝากอัตราดอกเบี้ยสูง เพื่อเติมสภาพคล่อง ซึ่งจะต่อเนื่องไปถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อสร้างสมดุลกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ขณะที่ต้นทุนทางการเงินของบริษัทเอกชนจะขยับตาม สุดท้ายผู้บริโภคจะมีความเสี่ยงทางด้านเงินกู้ที่สูงตามภาวะตลาด " นายธีระชนกล่าวและตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อแนวโน้มจะเกิดเงินทุนไหลออก คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจจะพิจารณาถึงความเหมาะสมในการปรับทิศทางดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันที่ 8 ต.ค.นี้

ส่วนผลกระทบต่อการระดมทุนของผู้ประกอบการอสังหาฯในตลาดหลักทรัพย์ฯ ผ่านการออกหุ้นกู้ หรือขายหุ้นระดมทุนนั้น นายธีระชนกล่าวว่า จะได้รับผลกระทบทันที แต่คงไม่หนักหน่วงเหมือนช่วงวิกฤตเศรษฐกิจในปี2540 ในส่วนของบริษัท ไบรท์ ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด บริษัทลูกค้าของPF คงไม่ได้รับกระทบจากการที่เลห์แมนฯเข้าสู่กระบวนการล้มลาย แม้ว่าก่อนหน้าได้ออกหุ้นกู้แบบมีหลักทรัพย์ค้ำประกันขายให้แก่ เลห์แมนห์ฯไป เพราะบริษัท ไบรท์ฯ อยู่ในฐานะลูกหนี้ มีกำหนดระยะเวลาการจ่ายผลตอบแทนและซื้อคืนหุ้นอยู่

เมโทรฯ เฮรับเงิน AIA เฉียดฉิว

จากกระแสข่าวบริษัท อเมริกันอินเตอร์แนชชั่นแนลเอสชัวรันส์ หรือ AIA อาจได้รับผลกระทบจากบริษัทแม่ เอไอจี ซึ่งเป็นบริษัทประกันของสหรัฐมีปัญหาขาดสภาพคล่อง และอาจมีจุดจบเช่นเดียวกับเลห์แมนฯ นั้น นายวีระ บูรพชัยศรี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมโทรสตาร์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทางบริษัทได้รับเงินจากAIA ครบทั้ง 1,400 ล้านบาทแล้ว หลังจากทางAIAได้ตกลงซื้อที่ดินกับบริษัทฯบริเวณหัวมุมถนนสาทรและเซ็นต์หลุยส์ขนาดกว่า 4 ไร่ จึงไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด

เอดีบีชี้วิกฤตยังไม่จบง่ายๆ

นายณอง-ปีแอร์ เวอร์บิสต์ ผู้อำนวยการสำนักงานผู้แทนธนาคารพัฒนาเอเชีย(เอดีบี) ประจำประเทศไทย กล่าวถึงปัญหาของบริษัทเลห์แมน บราเธอร์ส แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจากวิกฤตทางการเงินของโลกยังไม่ได้จบลงง่ายๆ และอาจจะมีสถาบันการเงินบางแห่งที่มีปัญหาด้านฐานะยังไม่ถูกค้นพบ ทำให้ปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อภาคการเงินทั่วโลก ทำให้สถาบันการเงินต้องมีความระมัดระวังในการทำธุรกิจมากขึ้น

อย่างไรก็ตามมองว่าประเทศแถบภูมิภาคเอเชียอาจได้รับผลกระทบจากวิกฤตของสหรัฐไม่มากนัก ซึ่งไม่เท่ากับปัญหาช่วงวิกฤตปี 40 แต่ปัญหาที่เห็นได้ชัดอาจมีการปล่อยสินเชื่อที่ยากขึ้นและต้นทุนที่สูงขึ้น เทียบกับช่วงที่ผ่านมาสถาบันการเงินส่วนใหญ่ต่างมีสภาพคล่องสูงและมีอัตราดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งไทยเองอาจมีปัญหาสภาพคล่องหดตัวและต้นทุนทางการเงินสูงด้วย โดยเฉพาะต้นทุนที่แพงขึ้นในการออกพันธบัตรของหน่วยงานต่างๆ ขณะที่ผลกระทบโดยตรงต่อสถาบันการเงินไทยไม่ค่อยเห็น เพราะธนาคารพาณิชย์ไทยส่วนใหญ่มีความระมัดระวังในการลงทุน จึงไม่ค่อยมีการถือตราสารที่มีความเสี่ยงสูง
กำลังโหลดความคิดเห็น