xs
xsm
sm
md
lg

ครม.มาเลเซียเริ่มเสียงแตก หลังใช้กม.โหดจับผู้คัดค้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี - รัฐบาลมาเลเซียถูกโจมตีอย่างหนักเมื่อวานนี้(15) หลังอ้างกฎหมายความมั่นคงภายในเข้าจับกุมผู้ต่อต้านรัฐบาลหลายต่อหลายคนในวันเสาร์(13) จนทำให้รัฐมนตรีหลายคนออกอาการ"แตกแถว" แสดงความเห็นคัดค้านการกระทำรุนแรงครั้งนี้ และล่าสุด ซาอิด อิบรอฮิม รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งรับผิดชอบกิจการด้านกฎหมาย ก็ประกาศยื่นใบลาออกจากตำแหน่ง
การขอลาออกของรัฐมนตรีผู้ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์เสียงดังกว่าเพื่อน ในการคัดค้านการจับกุมผู้ต่อต้านรัฐบาลคราวนี้ ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงอาการเสียขบวนภายในแนวร่วมพรรคร่วมรัฐบาล ที่ใช้ชื่อว่า "บาริซาน เนชันแนล" นับแต่ที่ อันวาร์ อิบรอฮิม ผู้นำฝ่ายค้านประกาศขู่ที่จะจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ดวยการชักชวนให้ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลแปรพักตร์มาเข้าร่วมกับฝ่ายค้าน
อันวาร์ได้กำหนดเส้นตายไว้ว่า จะสามารถล้มรัฐบาลได้ภายในวันที่ 16 กันยายนนี้ ทว่าเขาได้ออกมายอมรับเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า แม้ขณะนี้เขาจะมีเสียงสนับสนุนเพียงพอแล้ว แต่จะเลื่อนกำหนดเวลาที่จะ "ทำรัฐประหารโดยผ่านรัฐสภา" ออกไปก่อน เพื่อรักษาเสถียรภาพของประเทศ
สำหรับ ซาอิด อิบรอฮิม รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งรับผิดชอบกิจการด้านกฎหมาย เขาเป็นผู้นำการวิพากษ์วิจารณ์จากภายในคณะรัฐบาล ต่อการใช้พระราชบัญญัติความมั่นคงภายใน(ไอเอสเอ) เข้าจับกุมนักการเมืองฝ่ายค้าน เจ้าของบล็อกเกอร์ และนักข่าวหนังสือพิมพ์รายวันหัวภาษาจีน
ซาอิดยังได้ยื่นใบลาออก โดยระบุว่ารัฐบาลทำผิดที่นำเอากฎหมายไอเอสเอ ซึ่งให้อำนาจในการกักขังผู้กระทำผิดโดยไม่ต้องดำเนินคดีได้เป็นเวลานานไม่มีกำหนด มาใช้จับกุมผู้ต้องหาในกรณีนี้
"พระราชบัญญัติความมั่นคงภายในเปิดทางให้ใช้อำนาจในทางมิชอบ ซึ่งหากเราไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายนี้อย่างยุติธรรมแล้ว เราควรจำกัดขอบเขตการบังคับใช้ไว้เฉพาะกรณีผู้ก่อการร้ายมากกว่า" เขายังเสริมอีกว่า "ถ้าหากเราต้องใช้กฎหมายความมั่นคงจับกุมประชาชน นั่นแสดงว่าเราขาดความเชื่อมั่นในหน่วยงานด้านการบังคับใช้กฎหมายแล้ว"
ทั้งนี้ การจับกุมตัวผู้คัดค้านรัฐบาลได้ก่อให้เกิดความหวาดกลัวว่ารัฐบาลกำลังมีแผนใช้กำลังปราบปรามขั้นรุนแรงยิ่งขึ้น เพื่อสกัดกั้นความมุ่งมั่นที่จะโค่นรัฐบาลของอันวาร์ ถึงแม้การปล่อยตัวผู้สื่อข่าวออกมาเมื่อวันอาทิตย์ก็ช่วยผ่อนคลายความกังวลต่อวิกฤติการณ์ของชาติลงบ้าง
ด้านไซเอด ฮามิด อัลบาร์ รัฐมนตรีมหาดไทย ได้ออกมากล่าวปกป้องการจับกุมตัวผู้กระทำผิด แต่เขาก็ปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นผู้สั่งการให้ตำรวจดำเนินการ ขณะที่ฝ่ายค้านพากันเยาะหยันท่าทีดังกล่าวเพราะเห็นว่าเขาและนายกรัฐมนตรีอับดุลเลาะห์ อาหมัด บาดาวีคือผู้ที่ต้องรับผิดชอบทั้งหมด
"อับดุลเลาะห์ต้องอธิบายว่าการสั่งการให้ใช้กำลังครั้งนี้เป็นไปเพื่อปกป้องตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่กำลังถูกโจมตีใช่หรือไม่" ลิมกิตเสียง นักการเมืองฝ่ายค้านแถลงข่าว เขาบอกว่า ดูเหมือนนาจิบ ราซัค รองนายกรัฐมนตรี และมุห์ยิดดิน ยัสซิน รัฐมนตรีการค้า ก็กำลัง "ร่วมมือกัน" เพื่อท้าทายอับดุลเลาะห์อยู่เช่นกัน หลังจากที่อับดุลเลาะห์เผชิญกับเสียงเรียกร้องให้ลาออกมาตลอดนับตั้งแต่การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
อาห์หมัด ชาเบรี ชีค รัฐมนตรีการสื่อสารก็ได้เรียกร้องให้ตำรวจอธิบาลเหตุผลที่นำกฎหมายความมั่นคงภายในมาใช้ และแสดงความยินดีที่รัฐบาลยอมปล่อยตัวผู้สื่อข่าวที่ถูกจับกุมเนื่องจากรายงานข่าวว่านักการเมืองฝ่ายรัฐบาลผู้หนึ่งแสดงความเห็นในเชิงเหยียดเชื้อชาติ
สำหรับผู้ที่ถูกจับกุมเมื่อวันเสาร์คนอื่นๆ ยังมี เทเรซา ก๊วก ส.ส.จากพรรคเดโมเครติก แอ็คชัน ซึ่งอยู่ในฝ่ายค้าน โดยเธอถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าร้องเรียนว่าเสียงสวดมนต์ในสุเหร่าตอนเช้ารบกวนเธอ และเธอกล่าวถึงข้อกล่าวหานี้ว่า "บ้าสิ้นดี"
อีกคนหนึ่ง ได้แก่ ราชา เพตรา คามารุดดิน เจ้าของบล็อกเกอร์ชั้นนำวัย 58 ปี และเขียนโจมตีรัฐบาลในเว็บไซต์ที่ชื่อ "มาเลเซีย ทูเดย์" เขาถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบ และหมิ่นประมาทรองนายกฯนาจิบกับภรรยาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีฆาตกรรมหญิงสาวชาวมองโกเลียผู้หนึ่ง ที่เป็นข่าวฉาวโฉ่เกรียวกราว
กำลังโหลดความคิดเห็น