xs
xsm
sm
md
lg

แนวโน้มภาษีนิติบุคคลทั่วโลกลด เชื่อการเมืองนิ่งต่างชาติแห่ลงทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เปิดมุมมอง 2 ผู้บริหารบริษัทที่ปรึกษากฎหมายและธุรกิจ **สำนักภาษี เคพีเอ็มจี ภูมิไชย จำกัด** หนึ่งในบิ๊กโฟร์ของธุรกิจที่เปิดให้บริการทั้งลูกค้าไทยและบรรษัทข้ามชาติที่ประกอบธุรกิจในประเทศ **“ฌอน เซเวอร์น”** ผู้จัดการ และ **“วิรัตน์ ศิริขจรกุล”** หุ้นส่วน ที่จะสะท้อนความเห็นของลูกค้าที่เป็นนักลงทุนต่างชาติถึงปัญหารวมทั้งข้อจำกัดในการทำธุรกิจในประเทศไทย
โดยเฉพาะประเด็นทางด้านภาษีที่ยังมองว่าอัตราการจัดเก็บภาษีนิติบุคคลของประเทศไทยยังอยู่ในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน รวมทั้งแนวโน้มอัตราภาษีของทั่วโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปตามรายละเอียดดังนี้

***แนวโน้มการจัดเก็บภาษีเงินได้ของแต่ละประเทศ
จากการสำรวจของเคพีเอ็มจี 106 ประเทศทั่วโลกไม่มีประเทศใดเลยที่มีการปรับอัตราภาษีนิติบุคคลขึ้นเลย แต่แนวโน้มส่วนใหญ่แทบจะทุกประเทศที่เคพีเอ็มจีได้ทำการสำรวจและเก็บข้อมูลพบว่า ทิศทางของภาษีนิติบุคคลรัฐบาลของแต่ละประเทศทยอยปรับลดลงอย่างต่อเนื่องและหันมาพิจารณาปรับขึ้นอัตราภาษีสินค้าและบริการหรือที่เรียกว่าภาษีทางอ้มเพื่อสร้างความสมดุลในการจัดเก็บรายได้ของรัฐ
สำหรับอัตราเฉลี่ยของภาษีนิติบุคคลทั่วโลกอยู่ที่ 25.9% ซึ่งมีอัตราการลดลงเฉลี่ย 1% ต่อปี โดยอัตราภาษีนิติบุคคลที่มีอัตราเฉลี่ยต่ำสุดจะอยู่ในประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปที่ระดับ 23.2% ในขณะเดียวกันประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีอัตราภาษีนิติบุคคลเฉลี่ยสูงที่สุดในโลกที่ประมาณ 28.4% ซึ่งจะเห็นได้ว่าอัตราภาษีนิติบุคคลในประเทศไทยยังมีระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในภูมิภาคโดยอยู่ในระดับ 30%
ในขณะที่ภาษีที่เก็บจากสินค้าและบริการหรือภาษีทางอ้อม ซึ่งในประเทศไทยเรียกว่าภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT นั้น ทั่วโลกจะมีอัตราการจัดเก็บเฉลี่ยที่ 15.7% และมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงในอัตราที่เพิ่มขึ้น ซึ่งในประเทศไทยเองรัฐบาลก็ประกาศแล้วว่าจะสิ้นสุดการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มอัตรา 7% ในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยจากผลการสำรวจจะพบว่าภาษีทางอ้อมในกลุ่มสหภาพยุโรปปรับตัวในอัตราที่สูงที่สุดในโลกที่ 19.49% ขณะที่ประเทศในกลุ่มเอเชียแปซิฟิกมีการจัดเก็บที่ระดับ 11.14%

***มองว่าการลดภาษีนิติบุคคลจะกระตุ้นการลงทุนได้เพียงใด
ในแง่การลงทุนของต่างชาติสิ่งที่ใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนที่ใดที่หนึ่งไม่ได้คำนึงถึงอัตราภาษีที่ต้องจ่ายให้รัฐบาลแต่เพียงเรื่องเดียวเท่านั้น มีหลากหลายปัจจัยที่จะต้องนำมาพิจารณาประกอบทั้งเรื่องเสถียรภาพทางการเมือง ค่าแรงงานและสถานที่ตั้งที่เหมาะสมเป็นต้นมาตัดสินใจลงทุน ซึ่งแม้ว่าบางประเทศภาษีนิติบุคคลจะถูกเพียงใดแต่หากที่ตั้งเป็นทำเลที่มีค่าขนส่งสูงก็จะไม่มีแรงดึงดูดให้เกิดการลงทุนก็ได้
สำหรับประเทศไทยแล้วเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาค ฮ่องกงเก็บภาษีนิติบุคคลในอัตรา 16.5% สิงคโปร์ 18% มาเลเซีย 26% เวียดนาม 28% ขระที่ไทยเก็บที่ 30% ซึ่งหากเป็นไปได้ถ้ามีการลดภาษีให้ใกล้เคียงกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคก็จะมีส่วนช่วยให้ต่างชาติตัดสินใจลงทุนในประเทศไทยได้บ้าง ซึ่งที่ผ่านมาหลายๆ ฝ่ายก็ได้มีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดคุยกันอยู่เสมอและรัฐบาลก็กำลังหาแนวทางเพื่อไปขยายฐานภาษีด้านอื่นๆ เพื่อให้สามารถดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบขาดดุลเพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในระดับที่คาดหวังไว้ได้

***ปัญหาเรื่องราคาโอนจะมีแนวทางแก้ไขได้อย่างไร
เรื่องนี้ถือเป็นประเด็นใหญ่ของโลกที่บริษัทข้ามชาติพยายามหาทางออกมาเป็นเวลากว่า 10 ปี ซึ่งรัฐบาลของแต่ละประเทศเฝ้าจับตามองอยู่ ซึ่งในการซื้อขายสินค้าระหว่างบริษัทแม่และบริษัทลูกนั้นถูกมองว่ามีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด หลายครั้งได้เคยพูดคุยกับทางการว่าหลักการและต้นแบบมีกี่วิธีและใช้รูปแบบใดจึงจะมีความเหมาะสม โดยในประมวลรัษฎากรเองก็ได้มีบทบัญญัติว่าราคาขายนั้นต้องเป็นไปตามราคาตลาดนอกจากมีเหตุผลอันสมควร
แต่สิ่งที่เคพีเอ็มจีแนะนำสำหรับลูกค้าก็ได้ยึดตามกรองขององค์กรความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD ถือว่าเป็นหลักปฏิบัติที่เป็นสากลที่เราได้นำมาปฏิบัติกัน แต่ในการลงมือปฏิบัติแล้วในขั้นตอนของการตรวจสอบภาษีนั้นค่อนข้างจะเป็นประเด็นในไทยมาระยะหนึ่งแล้วโดย เฉพาะในการขอเอกสารต่างๆ จากผู้ประกอบการเพิ่มเติมของกรมสรรพากรทำให้มีปัญหาด้านการประสานงานกันอยู่บ้าง

***ประเมินความน่าลงทุนของไทยในปัจจุบัน
สำหรับประเด็นที่สำคัญที่สุดในการตัดสินใจลงทุนน่าจะเป็นเรื่องของเสถียรภาพทางการเมือง ในขณะที่อัตราการจัดเก็บภาษีนิติบุคคลก็เป็นเพียงส่วนที่นำมาพิจารณา นอกจากนั้นยังมีเรื่องของการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอที่ได้ให้สิทธิด้านการนำเข้าวัตถุดิบและภาษีนิติบุคคล แต่ก็ต้องดูด้วยว่าบรัทที่ไม่ต้องเสียภาษีนิติบุคคลในไทยแล้วต้องกลับไปเลียภาษีที่ประเทศเขาเองด้วยหรือไม่ ซึ่งโดยสรุปแล้วในแง่กฎเกณฑ์ก็ยังมีปัจจัยหลายๆ อย่างที่สามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนได้อยู่
ส่วนปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่ใช่เรื่องกฎหมายโดยเฉพาะในแง่ภูมิศาสตร์ประเทศไทยถือว่ามีความได้เปรียบประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคมีศักยภาพในการเป็นจุดศูนย์กลางได้เป็นอย่างดี ขณะที่ระบบการทำงานของเจ้าหน้าที่สรรพากรที่ปฏิบัติต่อผู้ประกอบการเมื่อเทียบกับบางประเทศในภูมิภาค เช่น อินโดนีเซีย ถือว่าเรามีมาตรฐานในระดับหนึ่งซึ่งเขาล้าหลังเรานับ 10 ปี แต่เมื่อเปรียบเทียบกับสิงคโปร์เราก็ต้องปรับตัวอีกบ้างเนื่องจากเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนด้วยเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น