xs
xsm
sm
md
lg

พรรคร่วมรุมถีบ"หมัก" ต้องยอมยุติบทบาท-"บรรหาร"ลั่นไม่ย้ายขั้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สภาล่ม หลังพรรคร่วมฯ พร้อมใจกันโดดประชุม จนไม่ครบองค์ ต้องนัดโหวตใหม่ 17 ก.ย.นี้ ด้าน"หอกหัก" ฝันสลาย กับการหวนคืนตำแหน่งนายกฯรอบสอง บอกผ่านเลขาฯ คู่ใจ ขอยุติบทบาท "บรรหาร" ย้ำจุดยืน ฟังเสียงประชาชน ไม่เอา"หมัก" พร้อมให้โอกาส พปช. เปลี่ยนชื่อนายกฯใหม่ ลั่นยึดสัตยาบัน ไม่พลิกขั้ว "มาร์ค" แจงเรื่องถูกเสนอชื่อชิงนายกฯ ยันไม่ได้ชิงไหวชิงพริบในสภา และไม่ได้เป็นต้นเหตุสภาล่ม "ชวน" ชี้สภาล่มฯ เพราะ"ชัย" กระเหี้ยนกระหือรือนัดประชุม หวังเอาเปรียบทางการเมือง กลัวคู่แข่งฉวยโอกาส

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการก่อนเริ่มการประชุมสภาผู้แทนราษฏร เมื่อวานนี้ (12 ก.ย.) ซึ่งมีวาระสำคัญ คือการคัดเลือกบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นไปอย่างเงียบเหงา โดยตลอดช่วงเช้ามีสมาชิกทยอยเดินทางมาประชุมอย่างบางตา มีเพียงส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และส.ส.พรรคพลังประชาชน ที่ให้การสนับสนุน นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกฯ มาร่วมประชุมเท่านั้น ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆไม่ได้มาร่วมประชุมด้วย

กระทั่งเวลา 09.30 น. นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฏร ได้กดออกเรียกประชุม แต่ กว่าจะมีสมาชิกมาลงชื่อได้ 262 คน ก็ใช้เวลาประมาณ 10 นาที เมื่อเวลา 09.40 น. การประชุมจึงได้เริ่มขึ้น โดยนายชัย ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้รายงานผลการวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่เป็นเหตุให้นายสมัคร ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯ จึงต้องมีการประชุมเพื่อคัดเลือกนายกฯใหม่

จากนั้นนายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ ได้เสนอชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ ซึ่งนายชัย ได้ให้สมาชิกกดบัตรแสดงตน เพื่อรับรองการเสนอของนายบัญญัต ปรากฏว่ามี ส.ส.ในห้องประชุม 145 คน และให้การรับรอง 144 คน นายชัย จึงกล่าวว่า การรับรองถูกต้อง แต่สมาชิกไม่ครบองค์ประชุม

ทำให้ นายสุขุมพงษ์ โง่นคำ ส.ส.พรรคพลังประชาชน รีบลุกขึ้นเสนอให้มีการนับองค์ประชุมทันที โดยอ้างว่าระเบียบวาระวันนี้ เป็นเรื่องสำคัญในการเลือกบุคคลที่เป็นนายกฯ ซึ่งตามข้อบังคับจะต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมด คือ 236 เสียง จึงขอเสนอให้นับองค์ประชุม ก่อนที่จะมีการลงคะแนน

แต่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นคัดค้านว่า ขณะนี้วาระเลือกนายกฯ ได้ดำเนินการมาแล้ว โดยพรรคประชาธิปัตย์ ได้เสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมเป็นนายกฯ ดังนั้น ควรจะดำเนินการให้จบ ถ้าไม่ได้ 263 คน แสดงว่าผู้ชนะไม่ได้ครบตามกฎหมาย ถึงตอนนั้นค่อยมาดำเนินการต่อไป จึงขอให้นายสุมขุมพงศ์ เสนอรายชื่อบุคคลมา แต่นายสุขุมพงศ์ ยังคงยืนยันให้มีการนับองค์ประชุม

ประธานสภาจึงสั่งให้สมาชิกได้กดบัตร เพื่อแสดงตน แต่นายสุเทพ แย้งว่า ตามขั้นตอน ประธานต้องประกาศรายชื่อผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ คือนายอภิสิทธิ์ ก่อน และหากไม่มีการเสอชื่อคนอื่น ก็ให้มีการลงคะแนน และนับคะแนนต่อไป จากนั้นจึงจะให้มีการนับองค์ประชุม แต่นายชัย ได้อ้างว่า นายสุขุมพงศ์ ได้ขอใช้เอกสิทธิ์ให้นับองค์ประชุม จึงจำเป็นต้องทำตามข้อเสนอ

จากนั้นที่ประชุมได้มีการนับองค์ประชุม โดยการเสียบบัตรแสดงตน ปรากฎว่ามีผู้เข้าประชุมเพียง 161 คน โดยนายชัย กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมเพียง161 คน จึงถือว่าไม่ครบองค์ประชุม และขอแจ้งว่า มีผู้เสนอนายอภิสิทธิ์ เป็นนายกฯ แต่เมื่อองค์ประชุมไม่ครบ จึงขอเลื่อนการประชุม ออกไปเป็นวันที่ 17 ก.ย. เวลา 9.30 น. เพื่อเลือกนายกฯ อีกครั้ง

ด้านนายสุเทพ ได้เสนอขอให้นับองค์ประชุมใหม่ โดยการขานชื่อ เพราะจำนวน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ก็มีเกิน 161 คนแล้ว ทำให้นายชัย ตัดสินใจกดออดถี่ๆ 3 ครั้ง พร้อมกับบอกว่า ตนกดเรียกสมาชิกแล้ว แต่ไม่มีใครมา ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร จากนั้นก็ตัดบทด้วยการกดออดปิดการประชุม โดยใช้เวลาประชุมในครั้งนี้ เพียง15 นาที

เผยเบื้องลึกใครทำสภาล่ม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมในครั้งนี้ มี ส.ส. มาลงชื่อจำนวน 304 คน แต่เมื่อนายชัย สั่งให้กดบัตรแสดงตน เพื่อนับองค์ประชุม ปรากฏว่า มีส.ส.ที่กดบัตรเพียง 161 คน โดย 159 คนเป็นส.ส.จากพรรคประชาธิปัตย์ ขณะที่ 2 คน เป็นส.ส.พรรคพลังประชาชน คือ นายสุขุมพงษ์ โง่นคำ และนายสามารถ แก้วมีชัย ส่วน ส.ส.ที่เหลือ ไม่ยอมกดบัตรแสดงตน และส่วนหนึ่งได้เดินออกจากห้องประชุมไป หลังจากที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ยืนกวักมือให้ออกจากห้องประชุม

ทั้งนี้ ส.ส.ที่เซ็นชื่อเข้าประชุม 304 คนนั้น ประกอบด้วย ส.ส.ประชาธิปัตย์ 160 คน จาก ส.ส. 164 คน ในส่วน ของพรรคพลังประชาชน มีผู้เข้าร่วมประชุม 140 คน จากส.ส.ทั้งหมด 223 คน พรรคเพื่อแผ่นดิน เซ็นชื่อเข้าประชุม 3 คน จากส.ส.ทั้งหมด 24 คน และพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา 1 คน คือจาก ส.ส.ทั้งหมด 9 คน ส่วนที่เหลือที่ไม่ได้มาร่วมประชุมคือ พรรคชาติไทย 34 คน พรรคประชาราช 5 คน และพรรคมัชฌิมาธิปไตย 11 คน

"หมัก"เครียดไม่ตอบคำถามสื่อ

สำหรับความเคลื่อนไหวของนายสมัคร นั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 08.30 น. รถตู้สีดำยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน ศร 3333 ของนายสมัคร ได้ขับมาด้านในอาคารรัฐสภา แต่เนื่องจากรถติดฟิล์มกรองแสงทึบมาก จึงมองไม่เห็นด้านใน เห็นเพียงลางๆว่า มีคนนั่งที่เบาะโดยสารด้านหลัง ทำให้ผู้สื่อข่าวคิดว่านายสมัคร นั่งมาในรถด้วย จึงวิ่งตามรถที่ขับวนรอบอาคาร รัฐสภา 1 รอบก่อนที่รถจะวนไปจอดอยู่ที่ลาดจอดรถชั้น 2

ผู้สื่อข่าวยืนรอประมาณ 15 นาที ดูว่านายสมัคร จะลงจากรถเมื่อไร ปรากฏว่าคนขับรถของนายสมัครได้เปิดประตูรถลงมา บอกว่านายสมัครไม่ได้นั่งอยู่ในรถ พร้อมกับเปิดประตูรถให้ดู ก็มีเพียงตำรวจติดตามนายสมัคร เท่านั้น

หลังจากผู้สื่อข่าวทราบว่า นายสมัคร ใช้รถยนต์ยี่ห้อฮอนด้า ซีอาร์วี สีฟ้า ซึ่งเป็นของลูกสาวนายสมัคร นั่งเข้ามาประชุม โดยไปจอดที่อาคารวุฒิสภา ผู้สื่อข่าวจึงพากันวิ่งไปรอพบ นายสมัคร ก็พบว่านายสมัคร เดินลงมาจากรถด้วยสีหน้าเรียบเฉย ตาลอยเหมือนคนไร้จิตวิญญาณ ขณะที่ผู้สื่อข่าวพยายามสัมภาษณ์ แต่นายสมัครไม่ยอมตอบแม้แต่คำถามเดียว และ เมื่อเปิดประชุมในเวลา 09.40 น. นายสมัคร และแกนนำพรรคหลายคน ก็ไม่ได้เข้าแสดงตัวในห้องประชุมสภา จนกระทั่ง นายชัย ชิดชอบ ประธานสภา สั่งปิดประชุมในที่สุด

หลังจากปิดประชุม นายสมัคร พยายามที่จะหลบเลี่ยงผู้สื่อข่าวเพื่อไปขึ้นรถกลับ แต่ไม่ว่าจะไปทางไหนก็มีผู้สื่อข่าวดักรออยู่ ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวได้พยายามซักถามถึงสถานการณ์ความวุ่ยวายที่เกิดขึ้น แต่นายสมัคร ก็ไม่ยอมตอบคำถาม ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า จะเปลี่ยนใจ ถอดใจ หรือจะทบทวนความคิดที่จะรับเป็นนายกฯ หรือไม่ นายสมัคร ก็ยังนิ่ง ทำเหมือนไม่ได้ยินคำถาม ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า วันพุธหน้า พรรคพลังประชาชน จะมี ชื่อนายสมัคร เสนอเป็นนายกฯอีกหรือไม่ นายสมัคร ก็ไม่ตอบ ขณะที่ตำรวจอารักขา ได้พยายามพานายสมัคร ฝ่ากองทัพผู้สื่อข่าว และช่างภาพ ไปด้วยความทุกลักทุเล ก่อนจะไปขึ้นรถตู้สีดำ ยี่ห้อโตโยต้า ทะเบียน ศร 3333 ออกจากอาคารรัฐสภาไปโดยไม่มีใครทราบว่านายสมัคร เดินทางไปไหน

"หอกหัก"ยอมยุติบทบาท

ต่อมาเวลา 17.45 น. นายธีรพล นพรัมภา อดีตเลขาธิการนายกฯได้เข้าพบนายสมัคร ที่บ้านพัก ภายหลังการหารือเกือบ 1 ชั่วโมงนายธีรพล จึงเดินทางกลับ และได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ว่านายสมัครบอกว่า ได้ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าพรรครักษาประชาธิปไตยอย่างดีที่สุดแล้ว ถึงที่สุดแล้ว ทุกอย่างก็ยุติ จากนี้ก็เป็นภาระของพรรค ที่จะดำเนินการต่อไป ทุกอย่างอยู่ที่พรรค ท่านบอกเพียงแค่นี้

เมื่อถามว่านายสมัครได้ยื่นใบลาออกจากพรรคพลังประชาชนหรือไม่ นายธีรพล กล่าวว่า ไม่ๆ ท่านบอกแค่นี้

นายสมาน เลิศวงศ์รัฐ นายทะเบียนพรรคพลังประชาชน กล่าวถึง กระแสข่าวนายสมัครจะลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชาชนว่า เพิ่งทราบข่าวจากโทรทัศน์ ซึ่งในข่าวระบุว่านายธีรพล เป็นผู้ให้ข่าว แต่ตนยังไม่ทราบเรื่องนี้มาก่อน เพราะหลังจากประชุมกรรมการบริหารพรรคเสร็จเวลา 16.00 น. พรรคก็มอบให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ และนพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ไปเจรจากับนายสมัคร ซึ่งก็ยังไม่ได้ติดต่อกับทั้ง 3 ท่าน

นายสมาน กล่าวว่า การลาออกนั้น มีผลทันทีที่ยื่นหนังสือลาออกถึงเลขาธิการพรรคหรือตนเอง ส่วนขั้นตอนต่อจากนั้น คณะกรรมการบริหาร ก็จะตั้งผู้รักษาการหัวหน้าพรรคขึ้นมา โดยจะเป็นรองหัวหน้าพรรคคนใดก็ได้ แต่การเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ ต้องรอการประชุมใหญ่ของพรรคเพื่อคัดเลือก

มีรายงานข่าวอีกกระแสหนึ่งว่า นายสมัคร ได้ฝากคนใกล้ชิด ขอบคุณไปยังพรรคร่วมรัฐบาล ที่ไม่เข้าร่วมประชุมสภาฯ เพราะหากมา จะทำให้องค์ประชุมครบ หากมีการโหวต อาจจะทำให้นายอภิสิทธิ์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีทันที ซึ่งคนที่อยู่ในสภาฯ รู้เกมพรรคประชาธิปัตย์ดี ประธานฯเลยชิงปิดการประชุมเสียก่อน

"ชาติไทย"ประชุมก่อนบอยคอต

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 08.00น. พรรคชาติไทยได้มีการประชุม ส.ส.ของพรรค ณ ที่ทำการพรรค เพื่อหารือเรื่องการโหวตเลือกนายกฯ โดยใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ซึ่งที่ประชุมมีมติ ไม่เข้าร่วมประชุมสภาในครั้งนี้

นายเอกพจน์ ปานแย้ม รองโฆษกพรรคชาติไทย แถลงถึงการไม่เข้าร่วมประชุมสภาฯ เพื่อเลือกนายกฯว่า ส.ส.ของพรรคส่วนใหญ่เห็นว่า สถานการณ์ภายในพรรคพลังประชาชน ซึ่งเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลยังไม่นิ่ง และไม่ชัดเจนในเรื่องตัวบุคคล ที่จะมาเป็นนายกฯ ดังนั้นทางพรรคชาติไทย ต้องรอดูสถานการณ์ต่อไป โดยเห็นว่า ควรจะเลื่อนการประชุมเพื่อโหวตนายกฯ ออกไปก่อน เพื่อให้เวลากับพรรคพลังประชาชนได้เสนอชื่อนายกฯอย่างเป็นเอกภาพ

เมื่อถามว่า ทางพรรคพลังประชาชน มีมติชัดเจนว่า จะเสนอชื่อนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกฯ นายเอกพจน์ กล่าวว่า ความจริงยังไม่มีความชัดเจน จากการตรวจสอบ และได้รับแจ้งมาก็ยังไม่มีความชัดเจน ทำให้เราต้องขอดูท่าทีก่อน ดังนั้นการเลื่อนออกไป จึงเป็นแนวทางที่ดีที่สุด

เมื่อถามว่า ร.ท.กุเทพ ใสกระจ่าง โฆษกพรรคพลังประชาชน ออกมาระบุว่า พรรคร่วมรัฐบาลเล่นเกม และไม่ให้เกียรติพรรคพลังประชาชน นายเอกพจน์ กล่าวว่า ต้องดูพรรคพลังประชาชนด้วย เพราะพรรคพลังประชาชนเอง ก็หาข้อยุติไม่ได้ว่าจะส่งใคร เราก็ไม่รู้ว่าจะพิจารณาใคร คงจะโทษใครไม่ได้

รายงานข่าวจากที่ประชุมพรรคชาติไทย เปิดเผยว่า นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย ได้กล่าวในที่ประชุมว่า สถานการณ์แบบนี้ จะยังไม่โหวตเลือกใคร เพราะการโหวตจะต้องฟังกระแสของสังคม ดังนั้นจึงตัดสินใจว่า ส.ส.พรรคชาติไทย ไม่ควรเดินทางไปโหวต ขณะนี้เดียวกันก็ประเมินว่า มีกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงปิดล้อมอยู่ที่หน้าสภาฯ จึงเกรงว่า อาจจะเกิดเหตุการณ์รุนแรง จนทำให้ไม่สามารถเดินทางออกจากสภาฯได้ เหมือนกับสมัยพฤษภาทมิฬ

ทั้งนี้ ในที่ประชุม นายบรรหาร ก็ได้เปิดให้ส.ส.ในพรรคร่วมกันแสดงความเห็น ซึ่งส.ส.ส่วนใหญ่ ก็เห็นว่ายังไม่ควรไปโหวตเลือกนายสมัคร และการที่พรรคชาติไทย ไม่ไปเข้าร่วมโหวตในสภา ถือ เป็นการแสดงท่าทีที่ชัดเจนว่า พรรคชาติไทย ไม่เอานายสมัคร จึงได้มีการวิเคราะห์ถึงบุคคลที่เหมาะสมที่น่าจะมาเป็นนายกฯได้ เช่นนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน และนพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขาธิการพรรคพลังประชาชน รวมถึงการตั้งรัฐบาลแห่งชาติ แต่ส.ส.ส่วนใหญ่เห็นว่า การตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ถือว่าเป็นทางออกหนึ่ง แต่ควรให้พรรคพลังประชาชนเป็นคนเสนอ ในฐานะพรรคเสียงข้างมาก แต่ไม่ควรให้พรรคประชาธิปัตย์ ฉวยโอกาส เป็นผู้เสนอชื่อ นายอภิสิทธิ์ เป็นนายกฯ ในรัฐบาลแห่งชาติ

"บรรหาร"ยันไม่คิดสลับขั้ว

ต่อมา เวลา 15.30 น. นายบรรหาร ได้กล่าวปราศรัย ต่อสมาชิกพรรคในการประชุมใหญ่พรรคชาติไทยประจำปี 2551 ถึงเรื่องที่ส.ส.พรรคชาติไทยไม่เข้าร่วมโหวตนายกฯว่า การเลือกนายกฯวันนี้ มันด่วนเกินไป และวันนี้กระแสสังคม นักเรียนนักศึกษา ก็ไม่เห็นด้วยที่จะให้ นายสมัคร กลับมาเป็นนายกฯ

อย่างไรก็ตาม นายบรรหารยืนยันว่าจะไม่สลับขั้ว แต่ก็ขอฝากรัฐบาลว่า คนที่จะมาเป็นผู้นำรัฐบาลต่อไป ต้องเป็นคนมีมนุษย์สัมพันธ์ ถ้อยทีถ้อยอาศัย สมานฉันท์ ลดความขัดแย้ง ไม่เช่นนั้นบ้านเมืองไปไม่รอด

"ส่วนอีกพรรคหนึ่ง ไม่ต้องพูดถึง คิดว่าหวานคอแร้ง กูได้เป็นนายกฯ แน่ เกมต่อเกมก็ต้องแก้เกมกัน แต่ตอนนี้มันก็จบแล้ว ตอนนี้ผู้คนแตกแยกกันมาก บางเวทีก็ให้ข้อมูลที่ผิด ผมเคยพูดว่า วันนี้ประเทศชาติแย่อยู่แล้ว ในหลวงรับสั่งว่า บ้านเมืองใกล้ล่มจมแล้ว แต่ผมเชื่อในพระสยามเทวาธิราชว่ายังมีอยู่ อย่างไรเรา ก็ต้องช่วยกันกอบกู้"นายบรรหาร กล่าว

นายบรรหาร ให้สัมภาษณ์ ถึงการสรรหา นายกฯ คนใหม่ว่า เชื่อว่าภายใน 4 วันนี้จะได้ตัวผู้ที่เหมาะสมที่จะมาเป็นนายกฯ เมื่อถามว่า 3 ส. ของพรรคพลังประชาชน พอจะเป็นนายกฯ ได้หรือไม่ นายบรรหารกล่าวว่า 3 ส.พอไหว เมื่อถามต่อว่า แล้วเป็น ส.สมัคร ได้หรือไม่ นายบรรหาร กล่าวว่า อย่ามาถามหาเรื่อง ต้องเป็น 3 ส. ที่มาพบตนที่พรรค

เมื่อถามว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะตั้งรัฐบาลแห่งชาติ นายบรรหาร กล่าวว่าไม่จำเป็นถ้าสถานการณ์คลี่คลายไปในทางทีดีได้

"อีสานพัฒนา"ย้ำ"หมัก"ไม่เหมาะ

ด้านกลุ่มอีสานพัฒนา กลุ่มขุนค้อน กลุ่มโคราช และกลุ่มตัวแทน ส.ส.ภาคเหนือ กทม.กว่า 10 คน นำโดยนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ รมว.วัฒนธรรม และแกนนำกลุ่มอีสานพัฒนา นายศรีเมือง เจริญศิริ ส.ส.สัดส่วน ไพจิตร ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม และนายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.สัดส่วน โดยนายสมศักดิ์ กล่าวว่า เหตุที่ไม่สามารถเปิดประชุมสภาได้นั้น เนื่องจากทางกลุ่ม ต้องการให้มีการเลื่อนออกไปก่อน เพื่อให้พรรคพิจารณาบุคคลที่เหมาะสมเข้ามา ดำรงตำแหน่งนากฯ ซึ่งทางกลุ่มเห็นว่า นายสมัคร เป็นปูชนียบุคคลที่ช่วยเหลือพรรคมาตลอด แต่สถานการณ์การเมืองในขณะนี้ เกิดความขัดแย้ง ดังนั้นคนที่มานั่งเป็นนายกฯ จะต้องทำงานประสานกับทุกฝ่ายได้ ซึ่งนายสมัครไม่พร้อมที่จะรับภาระตรงนี้ ทั้งนี้ ตนขอขอบคุณที่มีแนวคิดตรงกับทางกลุ่ม เพื่อผลประโยชน์ของประเทศ ไม่ใช่เพื่อการต่อรองตำแหน่ง

เมื่อถามว่า ทางกลุ่มจะเปลี่ยนใจ แล้วกลับมาสนับสนุนนายสมัคร หรือไม่ ถ้าผลประโยชน์ลงตัว นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ยืนยันไม่เปลี่ยนแปลง เพราะทุกอย่างจบแล้ว ยืนยัน เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับผลประโยชน์ เราทำเพื่อประเทศชาติ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่ได้มองว่าใครเหมาะสมที่จะเป็นนายกฯ ทางกลุ่มจะหารือกันอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าในวันพุธที่ 17 ก.ย.นี้ พรรคมีความเอกภาพแน่นอน แต่หากพรรคยังเสนอชื่อนายสมัคร อยู่ เชื่อว่าจะเกิดความวุ่นวายเช่นเดิม ซึ่งคิดว่ายังมีคนของพรรคที่มีคุณสมบัติเหมาะสม แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้

"เด็กเนวิน"เดือด ส.ส.ไม่ยึดมติพรรค

นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.คมนาคม และแกนนำ ส.ส. กลุ่มเพื่อนเนวิน กล่าวว่า การเลือกนายกฯ เป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส. แต่เรื่องของความเหมาะสม หรือจริยธรรมภายในพรรค ก็อาจจะต้องพิจารณากันพอสมควร เพราะโดยหลักการ ในพรรคการเมืองจะต้องมีมติของพรรคที่ต้องยึดถือร่วมกัน ซึ่งคนส่วนน้อย ก็ต้องรับเสียงส่วนใหญ่ มิฉะนั้น พรรคก็เดินต่อไปไม่ได้ แม้จะความเป็นเอกสิทธิ์ และไม่มีบทลงโทษ แต่ความเป็นพรรคการเมือง ก็ต้องฟังเสียงของพรรคเป็นสำคัญ ซึ่งอาจจะถูกใจ หรือไม่ถูกใจ แต่ก็เป็นความเห็นของคนส่วนใหญ่ในพรรคที่จะเดินอย่างนี้ ซึ่งสมาชิกก็ต้องเดินตามมติพรรค

เมื่อถามว่า พรรคร่วมรัฐบาล เช่น พรรคชาติไทย และพรรคประชาราช ระบุว่า ถ้ายังเสนอชื่อนายสมัคร ก็ไม่สามารถลงมติให้ได้ นายทรงศักดิ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ในพรรคร่วมรัฐบาลต้องไปหารือกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะยังเสนอชื่อนายสมัคร เป็นนายกฯ อีกใช่หรือไม่ นายทรงศักดิ์ กล่าวว่า ตนอยู่ในระบอบประชาธิปไตยมานาน เห็นว่านายสมัคร เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่ฝ่าฟันต่อสู้วิกฤติทางการเมืองหลังการปฏิวัติ และได้พาสมาชิกเข้ามาจนได้เป็นรัฐบาล ซึ่งตนยังมองไม่เห็นว่านายสมัคร มีความผิดตรงไหน ที่จะไม่ให้เป็นนายกฯ ต่อไป โดยเฉพาะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่แม้ตนจะเคารพ แต่ก็มีความเห็นแย้งบ้าง

ส่วนการจะทบทวนการส่งชื่อคนเป็นนายกฯหรือไม่ ขึ้นอยู่กับที่ประชุมพรรคว่าจะมีแนวทางความเห็นที่จะให้พรรคเดินหน้าไปอย่างไร

สภาล่มต้องโทษฝ่ายไม่เข้าประชุม

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ในช่วงเช้า( 12 ก.ย.) มีการประสานงานมาว่า มีสมาชิกในซีกของพรรครัฐบาล ที่เขาไม่สบายใจกับมติของพรรคพลังประชาชนมาถามว่า เราจะเข้าร่วมประชุมหรือไม่ พรรคจึงมาพูดคุยกัน และเห็นว่า ที่จริง นายสมัคร จะกลับมาแล้วได้รับเลือกเป็นนายกฯหรือไม่ ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรเลยกับพรรคประชาธิปัตย์ ที่จะเข้าประชุมหรือไม่ เพราะถึงจะเข้าประชุม ก็ไม่ลงคะแนนให้นายสมัครอยู่แล้ว เพราะหากนายสมัคร จะกลับมาเป็นนายกฯได้ ก็ต้องมีเสียงสนับสนุน 236 เสียง ในทางตรงกันข้าม ถ้าวันนี้พรรคประชาธิปัตย์ ไม่เข้าประชุม ทางพรรคพลังประชาชน ที่ออกมาต่อว่าพรรคประชาธิปัตย์ ก็จะกล่าวหาอีกว่า พรรคประชาธิปัตย์ เล่นเกมทางการเมืองทำให้สภาล่ม

"ต้องไปถามคนที่ไม่เข้าประชุมสภา คนที่เข้าประชุมไม่ต้องถามเลย เพราะว่าทำตามหน้าที่ตามปกติ เสนอชื่อไปตามกระบวนการ ไม่ได้มีอะไรพิสดาร และแผนการอะไรทั้งสิ้น ซึ่งทำหน้าที่ตรงไปตรงมาไม่มีประเด็นอะไรที่ต้องติดใจ"นายอภิสิทธิ์กล่าว

ต่อข้อถามว่า ในมาตรา 173 ระบุว่า หากเลือกแล้วไม่มีผู้ใดได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบให้เป็นนายกฯ ให้ประธานสภาฯ นำผู้ที่มีคะแนนเสียงมากที่สุดขึ้นทูลเกล้าฯ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เป็นการคิดกันไปเอง เพราะยังไม่ได้ลงคะแนน ถ้าทำหน้าที่กันอย่างตรงไปตรงมา ก็หมดเรื่อง พอตัวเองไม่ทำ แล้วมาตั้งคำถามกับคนอื่น มันก็แปลก

เมื่อถามว่า ดูเหมือนพรรคร่วมรัฐบาล เต็มใจให้พรรคประชาธิปัตย์ แต่ไม่กล้าแสดงออก หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว่า ตอนนี้อยากให้แต่ละฝ่ายทำหน้าที่ของตนเองไป แต่ละพรรคก็กำหนดท่าที และจุดยืนของตัวเอง ส่วนที่ยังทำความเข้าใจไม่ได้ ก็เป็นปัญหาที่เขาก็ต้องแก้ไข แต่พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้ไปสร้างปัญหาอะไรทั้งสิ้น เราก็ทำหน้าที่ของเรา

ส่วนที่ว่าจะมีพรรคร่วมรัฐบาลจะมาอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์นั้น อยู่ที่ว่าใครมาพูดคุยกับเรา เราก็คุย และพยายามที่จะหาทางช่วยแก้ไขปัญหาของประเทศ แต่ละคนที่มาอาจจะมีความคิดหรือเป้าหมายที่แตกต่างกันไป แต่คิดว่าทุกพรรคการเมืองก็ควรจะคุยกัน

"ตรงนี้ผมไม่ได้มองว่าเป็นความได้เปรียบ เสียบเปรียบ ถ้ามองว่าได้เปรียบ เสียเปรียบ แล้วไม่คิดถึงหัวอกของคนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งเบื่อจะตายอยู่แล้ว เบื่อจริงๆ มาชิงไหวชิงพริบอะไรกัน แล้วเมื่อไร ใครจะคิดแก้ปัญหาให้กับประชาชน เราพยายามที่จะเสนอทางออกอยู่ตลอดเวลา ก็ไม่มีใครตอบรับ ซึ่งก็ไม่เป็นไร แต่ผมยืนยันว่าไม่ได้ไปชิงไหวชิงพริบ อะไรกับใคร แต่ทำหน้าที่ตรงไปตรงมา แต่เราอยากให้ทุกคนมานั่งคิดได้แล้วว่า นี่ไม่ใช่การเมืองปกติ การเมืองเดิมๆ ที่พอตำแหน่งว่างลง ก็มาเจรจาต่อรองกัน คนไทยถึงขั้นจะฆ่ากันตายกันเองมาแล้ว และมีความเสี่ยงที่จะฆ่ากันตายอีก แล้วนักการเมืองมาทำเหมือนเดิมๆ ต่อรองกัน ผมคิดว่าประชาชนก็จะไม่ไหวแล้ว"นายอภิสิทธิ์ กล่าว

ต่อข้อถามว่า แสดงว่ายังยืนยันว่า ควรจะมีรัฐบาลพิเศษใช่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เป็นทางเลือกหนึ่ง ซึ่งตนไม่เคยบอกว่าเป็นทางเลือกเดียว ซึ่งเป็นทางเลือกที่น่าจะลองมาดูกัน ถ้าไปไม่ได้ คนอื่นมีทางออกที่ดีกว่าก็ต้องทำ และต้องรับผิดชอบ อย่างน้อยต้องแสดงออกให้ได้ว่า มันดีกว่าเดิมอย่างไร ไม่ต้องไปหวังว่าจะดีที่สุด เอาแค่หวังว่าให้ดีกว่าครึ่งปีที่ผ่านมาอย่างไร ที่ประชาชนคนไทยเครียด เศรษฐกิจย่ำแย่ อยู่ในขณะนี้ จะทำให้มันดีขึ้นได้อย่างไร นี่ต่างหากที่เป็นหน้าที่ของนักการเมืองที่จะต้องทำ

ส่วนที่ทางพรรคพลังประชาชนพยายามที่จะเสนอให้ยุบสภานั้นนายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่ว่าอะไร เพราะตนเป็นคนที่เสนอให้ยุบสภาตั้งแต่แรก เมื่อถามว่ารัฐบาลรักษาการ สามารถยุบสภาได้หรือไม่ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า คงมีคนถกเถียงทางกฎหมาย และมีความเห็นทั้ง 2 ทาง ส่วนว่าโดยมารยาทแล้วควรทำหรือไม่ ตนคิดว่า ต้องดูสถานการณ์ความจำเป็น

สภาล่มเพราะกระเหี้ยนกระหือรือ

นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีเหตุการณ์สภาล่มว่า เป็นเพราะประธานสภาได้เรียกประชุมสภาทันที หลังจากที่ได้รับคำตัดสินของนายสมัคร จากศาลรัฐธรรมนูญแล้ว โดยมีเวลาน้อยมาก ซึ่งได้เตือนตั้งแต่ต้นแล้วว่า กรณีอย่างนี้เป็นเรื่องที่ควรให้เวลาแต่ละฝ่าย เพื่อหาตัวนายกฯ ที่เหมาะสม แต่ความที่คิดจะเอาเปรียบ หรือลุกลี้ลุกลนเกินความจำเป็น สุดท้ายก็ไม่สามารถเลือกได้ ซึ่งกรณีนี้ถือเป็นความรับผิดชอบของพรรครัฐบาล

"เราก็พูดกันเล่นๆว่า กระเหียนกระหือรือ หรือลุกลี้ลุกลนเกินความจำเป็น ในที่สุดพอนัดกันแล้ว ก็ทำไม่ได้ ก็ต้องถือว่าเป็นเรื่องที่รัฐบาลเป็นผู้นัดหมาย ท่านประธานก็เป็นคนของรัฐบาล ถ้ารัฐบาลไม่พร้อม จะต้องรู้ตัวตั้งแต่ต้น พอนัดหมายแล้วทำไม่ได้ สภาดูประหนึ่งว่า มีปัญหา แต่ทั้งหมดเกิดจากความไม่พร้อมตั้งแต่ต้น และเราเตือนแล้วว่า ทำไมรีบร้อนนัก ทำไมไม่ใช้เวลาไตร่ตรองให้รอบคอบ แล้วค่อยมาประชุม ความที่กลัวคนอื่นจะฉวยโอกาส หรือคนอื่นจะมีโอกาส เป็นความกลัวเกินไป ซึ่งความจริงมันเป็นไปไม่ได้ ที่คนอื่นจะมาเป็น ตราบที่รัฐบาลมีเสียงข้างมาก และจับกลุ่มกันอยู่ ดังนั้นควรเตรียมตัวให้พร้อม เสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมเป็นนายกฯ ในความเห็นของเขา เรื่องจะจบโดยไม่มีปัญหา แต่นี่นัดโดยลุกลี้ลุกลนเกินไป" นายชวน กล่าว

ปชป.ยันไม่ได้ฉวยโอกาส

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันว่า ทั้งตนและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่เคยมีการตกลงกับนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน และไม่ได้ทำให้ใครมีปัญหาอะไร การเข้าประชุมของพรรคประชาธิปัตย์ เป็นการทำหน้าที่ตามปกติ

"ไม่ได้พูดกับคุณสมชายว่าไม่ให้เข้าประชุม แต่ก่อนหน้าจะประชุม มีคนต่อโทรศัพท์ให้ผมคุยกับคุณสมชาย ผมจึงบอกคุณสมชายให้ฟังว่า ผมเข้าประชุม แต่คงไม่มีผลอะไรเหรอก เพราะพวกผมมีกันแค่ 164 คนเท่านั้น"นายสุเทพ กล่าว

เมื่อถามว่า ยืนยันได้หรือไม่ว่า พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้ฉวยโอกาส นายสุเทพ กล่าวว่า ฉวยโอกาสแล้วได้ประโยชน์อะไร เพราะพรรคประชาธิปัตย์ มีแค่ 164 คนโหวตไป ก็ไม่ได้เป็นนายกฯ ตนเข้าใจกฎหมายดี ไม่ได้ฉกฉวยโอกาสอะไร ส่วน ส.ส.พรรคพลังประชาชน ตั้งข้อสังเกตว่าพรรคประชาธิปัตย์ ทำเพื่อประโยชน์ทางการเมือง ที่ชิงเสนอชื่อนายอภิสิทธิ์ เพราะหวังจะเป็นรัฐบาล เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ย้อนถามว่า " แล้วทำไมรัฐบาล ไม่เข้าประชุมเล่าครับ ถ้าตำหนิต้องตำหนิตัวเอง มาตำหนิอะไรคนเข้าประชุม คนนัดประชุมก็เป็นประธานสภาผู้แทนราษฏร อยู่ฝ่ายรัฐบาล ผมบอกตั้งแต่ต้นแล้วว่า การนัดประชุมวันศุกร์เร็วไป ผมเตือนไว้แล้ว พอผมเข้าประชุม ท่านไม่เข้าประชุม แล้วยังมาตำหนิผมอีก"

นายสุเทพ กล่าวว่า ที่ประธานสภาฯ นัดประชุมเพื่อเลือกนายกฯใหม่ ในวันพุธที่ 17 ก.ย. นี้ ฝ่ายรัฐบาลก็ต้องไปตกลงกันเสียก่อนว่า จะเอาอย่างไร ถ้าพูดจากันไม่รู้เรื่อง จะชวนฝ่ายค้านไปคุยด้วย ก็บอกมา จะได้ไปคุยด้วย

ส่วนกระแสข่าวการยุบสภานั้น นายสุเทพ กล่าวว่า คงเป็นแค่เรื่องขู่กันมากกว่า เพราะนายกรัฐมนตรีรักษาการ ยุบสภาไม่ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น