xs
xsm
sm
md
lg

คนกรุงหมดความเชื่อมั่นเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน –  ผลวิจัยไทยวิว 10 ชี้ชัดคนกรุงเทพเริ่มหมดความคาดหวังรัฐบาลนอมินี ระบุไม่มีมาตรการทางเศรษฐกิจ กระทบความมั่นใจวูบ เครียดสินค้าราคาแพง ค่าครองชีพพุ่ง ชี้เป็นช่วงเวลาที่ต้องรัดเข็มมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ แนะรัฐเร่งอัดฉีดเม็ดเงินครึ่งปีหลัง หวั่นเศรษฐกิจปีหน้าพัง

วานนี้ ( 11 ก.ย.51) สมาคมวิจัยการตลาดแห่งประเทศไทย สรุปผลการวิจัย ThaiView ครั้งที่ 10 ซึ่งทำการสำรวจคนกรุงเทพ 500 คน ระหว่างวันที่ 16 -22 สิงหาคม 2551 หรือก่อนที่กลุ่มพันธมิตรชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล โดยนางสาววิริยา วรกิตติคุณ นายกสมาคมวิจัยการตลาดแห่งประเทศ เปิดเผยว่า คนกรุงเทพเคยคาดหวังว่าการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อต้นเดือนปี พ.ศ. 2551 จะทำให้การเมืองนิ่งและได้รัฐบาลที่ทำงานเต็มที่ โดยเฉพาะผลักดันและสร้างบรรยากาศของเศรษฐกิจให้ดีขึ้น ซึ่งในระหว่างนั้นความมั่นใจของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น38%
แต่จากการสำรวจทัศนคติของคนกรุงเทพล่าสุด มีความกังวลเพิ่มมากขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่มีสัญญาณบวก โดยจำนวนผู้ที่แสดงความมั่นใจเศรษฐกิจเพียง 20% แม้ว่าจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมาบริหารประเทศ เมื่อเทียบกับช่วงเดือนสิงหาคมปี 2550 หรือในช่วงที่คมช.มาบริหารประเทศความมั่นใจ  27% และปี 2549 ก่อนมีการปฏิวัติ ความมั่นใจราว 45%  และหลังจากมีการชุมนุมคาดว่าความมั่นใจลดลงต่ำกว่า 20%
โดยสิ่งที่ทำให้คนกรุงเทพมีความมั่นใจลดลง มาจากสาเหตุความกังวลใจด้านเศรษฐกิจ เช่น ภาวะเงินเฟ้อ ราคาสินค้าแพง ถึง 64% และการมีเงินพอเลี้ยงชีพ 41% เศรษฐกิจตกต่ำ 36% ซึ่งความกังวลทั้งหมดเกิดจากสภาวะวิกฤตทางการเมือง และที่สำคัญภาครัฐยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจนในการรับมือกับเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง อย่างไรก็ตามหลังจากมีการชุมนุม ความกังวลด้านการเมืองซึ่งติดอันดับ 4  จะขึ้นมาติดอันดับทอปทรี หรือกลายความกังวลใจอันดับต้นๆ
ด้วยเหตุนี้ผู้ที่ให้สัมภาษณ์ถึง 78% เห็นว่าช่วงเวลานี้ยังไม่เหมาะที่จะซื้อสินค้าแต่ควรรอไปก่อน ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นที่เพิ่มขึ้นเกิน 70% ครั้งแรกในรอบการทำวิจัยไทยวิว 9 ครั้ง โดยระบุว่า สภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ค่อนข้างมากถึงมาก โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย ซึ่งการปรับตัวของผู้บริโภคส่วนใหญ่จะยึดแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งนี้ คนกรุงเทพส่วนใหญ่อยากเก็บเงินมากกว่านำมาใช้จ่าย โดยเป็นความรู้สึกที่มีมาต่อเนื่องจากปี 2550 โดยการสำรวจครั้งนี้ชี้ว่า ไม่ว่าผู้ที่มีรายได้สูง ปานกลาง หรือต่ำ ล้วนมีความรู้สึกที่ยังไม่อยากใช้จ่ายเหมือนกัน   

**ปรับพฤติกรรมซื้อสินค้าเท่าที่จำเป็น**
ด้านการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมภายใต้สภาวะเศรษฐกิจ คนกรุงเทพ 90% ของผู้ให้สัมภาษณ์จะซื้อสินค้าเท่าที่จำเป็น ลดการทานอาหารนอกบ้าน รองมาคือซื้อในปริมาณมากเพื่อให้ราคาถูกลง 32% และมีบ้างที่ผู้มีรายได้มากและปานกลาง จะลดการใช้จ่ายการทานอาหารนอกบ้าน  และด้านความบันเทิง นอกจากนี้ยังอยู่บ้านมากขึ้น ส่วนผู้มีรายได้น้อยก็จะทำงานพิเศษมากขึ้น รวมถึงการหันมาเสี่ยงโชค เช่น ซื้อลอตเตอรี่ และหวยบนดิน เป็นต้น  
ทั้งนี้พบว่าคนกรุงเทพ 1 ใน 3 ของรายได้ใช้จ่ายหมวดอาหารและเครื่องดื่ม 32% รองลงมาเป็นการพักอาศัย การเดินทาง พาหนะ การสื่อสาร โทรศัพท์ 27.4% นอกจากนี้ คนกรุงเทพยังต้องมีภาระการชำระหนี้คิดเป็น 8.6% ของรายได้ (คนที่มีรายได้ต่ำจะมีภาระหนี้สูงถึง 12%) ในขณะที่ 7.8% ของรายได้จะถูกนำไปเก็บออม (คนที่มีรายได้สูงมีสัดส่วนการเก็บออมถึง 10.5%)

**ครึ่งปีหลังแห่ซื้อทองคำ-โทรศัพท์**
นางสาววิริยา กล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายในครึ่งปีแรก คนกรุงเทพมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น  ในหมวดอาหาร/เครื่องดื่ม การเดินทาง/พาหนะ รองลงมาคือหมวดการดูแลสุขภาพและการศึกษา นอกจากนี้ก็มีการใช้จ่ายมากขึ้นในหมวดของหนี้สิน และการเก็บออม แต่ประหยัดมากขึ้นในหมวดเสื้อผ้า/เครื่องประดับซึ่งลดลงทุกกลุ่มเป้าหมาย การบันเทิงผู้มีรายได้สูงและปานกลางลดลงอย่างเห็นได้ชัด  และการสื่อสาร ซึ่งพบว่าผู้มีอายุ 18-24 ปี มีการใช้ลดลง  
ส่วนครึ่งปีหลัง มีรายการสินค้าที่มีมูลค่าสูงที่คนกรุงเทพจำนวน 40% วางแผนจะซื้อ โดยโทรศัพท์มือถือและทองคำ เป็นสองรายการหลักที่มีคนกล่าวว่าจะซื้อมากที่สุด รองลงมาเป็นคอมพิวเตอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ทั้งนี้ คนที่มีรายได้มากมีสัดส่วนที่จะซื้อทองคำและคอมพิวเตอร์แบบโน๊ตบุ้คมากกว่า ในขณะที่คนที่มีรายได้ระดับกลางและรายได้น้อยมีสัดส่วนที่จะซื้อโทรศัพท์มือถือมากกว่า อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีปัจจัยลบ แต่ในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองคนไทยยังจับจ่ายใช้สอยแต่อาจจะมีความระมัดระวังบ้าง

**แนะรัฐ-นักการตลาดปรับตัวครึ่งปีหลัง**
นางสาววิริยา กล่าวว่า รัฐบาลต้องมีการอัดฉีดเม็ดเงิน และนำมาตรการต่างๆ ช่วยเหลือภาคเอกชนทั้งในแง่ต้นทุนผลิต การจัดการในช่วงครึ่งปีหลังนี้ เพราะหากไม่มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ จะส่งผลให้เศรษฐกิจปีหน้าไม่ดี เพราะการที่ปีนี้เศรษฐกิจไทยยังมีการเติบโต แม้ว่ามีปัจจัยลบหลายประการ ส่วนหนึ่งได้อานิสงส์จากนโยบายทางเศรษฐกิจเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งคาดปีนี้จีดีพีโต 4.5% ถือว่าดีมากแล้ว แต่คาดว่าไม่ถึง 5% แน่นอน ดังนั้นต้องยุติปัญหาทางการเมืองให้เร็วที่สุด
ในแง่ของการนักการตลาด ต้องปรับกลยุทธ์โดยนำกลยุทธ์ราคามาใช้ให้มากขึ้น ตลอดจนการจัดสรรงบการตลาดให้เหมาะสมมากกว่าการตัดงบการตลาดลง โดยหันมาเน้นการทำบีโลว์เดอะไลน์มากขึ้น และจัดกิจกรรมต่างๆ ณ จุดขาย ส่วนธุรกิจดิลิเวอรี่ คาดว่าจะได้รับความนิยม เพราะสอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ลดกิจกรรมนอกบ้าน.
กำลังโหลดความคิดเห็น