xs
xsm
sm
md
lg

ตัวแปรที่ขาดหายไปจากการพัฒนาการผลิต

เผยแพร่:   โดย: ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน

นักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่า การผลิตสิ่งซึ่งจะนำมาขายนั้นจะประกอบด้วย 3 ตัวแปรหลัก คือ ที่ดิน (land) ทุน (capital) แรงงาน (labour) ซึ่งเป็นการมองอย่างกว้างๆ แต่ตัวเชื่อมสำคัญที่นักเศรษฐศาสตร์ดั้งเดิมมองข้ามไปอย่างสิ้นเชิง นั่นคือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (science and technology) วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีซึ่งประกอบด้วย 2 ส่วนคือ ส่วนซึ่งเป็นเทคโนโลยีเพื่อการผลิต เช่น การออกแบบผลิตภัณฑ์ เครื่องจักร ความรู้ (know-how) อีกส่วนหนึ่งคือเทคโนโลยีการจัดการทั้งในแง่การบริหารบุคลากร การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรมนุษย์ การจัดองค์กรของบรรษัท การวางแผนการเงิน การตลาด ฯลฯ

จะเห็นได้ว่าการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อการขายนั้นนอกจากที่ดิน ทุน และแรงงานนั้น จะต้องขยายรายละเอียดว่าตัวเชื่อมที่สำคัญยิ่งคือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีซึ่งประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของการผลิต และส่วนของการจัดการบริหาร หรือ social technology

การพัฒนาเศรษฐกิจจากเกษตรไปสู่อุตสาหกรรม หลายประเทศใช้วิธีการซื้อเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และหลายประเทศก็อาศัยการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งแปลว่า ทั้งเงินทุนก็ดี ทั้งการบริหารจัดการก็ดี ทั้งเครื่องจักรก็ดี ล้วนแล้วแต่เป็นการพึ่งพาต่างชาติทั้งสิ้น ผลิตผลที่ออกมาจะมีส่วนที่เป็นส่วนนำเข้าของท้องถิ่นก็มีเพียงที่ดินและแรงงาน ส่วนอื่นๆ นั้นเป็นส่วนที่มาจากต่างประเทศ ผลผลิตสุดท้ายที่บอกว่า Made in Thailand จึงเป็นเพียง Made on Thai Soil เมื่อเป็นเช่นนี้ภาพการส่งออกจำนวนมากอาจจะเป็นเพียงภาพลวงตาเท่านั้น เพราะเป็นการผลิตที่มาจากการลงทุนของต่างชาติ อาศัยพื้นที่ทางภูมิศาสตร์และแรงงานในการผลิต และเพื่อผลประโยชน์ในการได้โควต้าการส่งออก

คำถามก็คือ สิ่งที่ประเทศที่เป็นเจ้าภาพจะได้จากการลงทุนของต่างชาติมีอะไรบ้าง สิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ มีการว่าจ้างแรงงาน มีการสะพัดของเงินตราซึ่งอาจจะนำไปสู่ความจำเริญทางเศรษฐกิจและธุรกิจในระดับหนึ่ง นอกจากนั้นยังมีผลิตผลเพื่อทดแทนการสั่งเข้าซึ่งน่าจะมีราคาถูกกว่าการสั่งเข้า จึงเป็นประโยชน์ต่อประชาชนผู้บริโภคในระดับหนึ่ง แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือการคาดหวังว่าจะได้รับการถ่ายทอดวิทยาการ (technology transfer) ซึ่งการคาดหวังดังกล่าวนั้นจำเป็นจะต้องวิเคราะห์เจาะลึกในรายละเอียด

Technology transfer คือการถ่ายทอดวิทยาการอย่างเต็มที่ เป็นต้นว่า ถ้ามีการนำเครื่องจักรเข้ามาทอผ้าจะต้องมีการถ่ายทอดความรู้ในการสร้างเครื่องจักรดังกล่าวเพื่อทดแทนเครื่องจักรที่นำเข้ามา ซึ่งประเด็นนี้ประเทศที่รับการถ่ายทอดจะต้องมีความสามารถรับการถ่ายทอด (absorptive capacity) แต่ถ้าหากเป็นเพียงซื้อเทคโนโลยีโดยการย้ายพื้นที่ภูมิศาสตร์จากต่างประเทศมาตั้งไว้ในประเทศก็จะกลายเป็นการเคลื่อนย้ายเทคโนโลยี (technology transplant) ไม่ใช่การถ่ายทอดเทคโนโลยีแต่อย่างใด ส่วนความสามารถในการใช้เครื่องจักรนั้นเป็นความรู้การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี นั่นคือ technical transfer คือการถ่ายทอดความรู้ในการใช้เทคโนโลยี เช่น การสอนให้รู้จักขับรถยนต์คือ technical transfer การซื้อรถยนต์จากต่างประเทศมาทั้งคันคือ technology transplant จนกว่าจะมีการสร้างรถยนต์ได้ทั้งคันจะไม่มี technology transfer

การลงทุนโดยคนต่างชาติแม้จะได้ประโยชน์แต่จะเหมาสรุปง่ายๆ ว่าเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีโดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างระหว่าง technology transfer, technology transplant และ technical transfer จะเป็นการเข้าใจผิดอย่างยิ่ง

ข้อสังเกตคือ สินค้าที่ผลิตในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นการซื้อเครื่องจักร หรือนำเครื่องจักรเข้ามาเพื่อลงทุน ผู้ประกอบการคนไทยหรือพนักงานของคนต่างชาติ รู้จักวิธีใช้เทคโนโลยีดังกล่าว ผลิตผลที่เกิดขึ้นแม้บางครั้งก็ประกอบด้วยวัตถุดิบก็มาจากต่างประเทศ ดังนั้นจึงเป็นกรณี technology transplant บวก technical transfer ไม่ใช่ technology transfer ตามที่เข้าใจกันอย่างผิดๆการที่จะเป็นประเทศอุตสาหกรรมอย่างแท้จริงจำเป็นจะต้องมีการมุ่งเน้นถึง Research and Development (R&D) หรือวิจัยและพัฒนา ซึ่งในเบื้องต้นจะต้องประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนที่หนึ่ง จะต้องตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการผลิตสินค้า ส่วนที่สอง ต้องมีนโยบายส่งเสริมการวิจัยและการพัฒนาด้วยการจัดงบประมาณ ด้วยการยกเว้นภาษีและแรงจูงใจอย่างอื่น และเพื่อการดังกล่าวจะต้องมีการส่งเสริมให้มีการเรียนการสอนให้เกิดความนิยมในวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐาน (basic science) อันได้แก่ ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ และคำนวณ เพื่อจะเป็นพื้นฐานหลักในการนำไปสู่การศึกษาขึ้นสูงเพื่อไปปรับเป็นเทคโนโลยีด้านประยุกต์และเพื่อการวิจัยและพัฒนาต่อไป

เมื่อใดก็ตามที่ยังมีการสั่งเทคโนโลยีมาจากต่างประเทศซึ่งมีราคาสูง ก็จะเกิดผลสองประการ ประการแรก เทคโนโลยีที่สั่งเข้ามาจะต้องล้าหลังอย่างน้อยหนึ่งรุ่น

ประการที่สอง จะขาดดุลการค้าเนื่องจากใช้เงินจำนวนมากซื้อสินค้าประเภททุน การขาดดุลการค้ากับญี่ปุ่นจะเป็นเรื่องการซื้อเครื่องจักร 80%

ถ้าจะวางแผนพัฒนาประเทศเพื่อให้มีความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกด้วยสินค้าที่มีคุณภาพทันสมัย มีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการวิจัยเพื่อพัฒนา และจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องถือเป็นระเบียบวาระแห่งชาติ (ระเบียบวาระแห่งชาติ = National Agenda ไม่ใช่วาระแห่งชาติตามที่พูดผิดๆ กันทั้งเมือง)

ตัวแปรที่ขาดหายไปในการผลิตที่เด่นชัดที่สุดและไม่มีการตระหนักก็คือ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คนซึ่งพยายามเตือนให้ตระหนักถึงเรื่องนี้และได้ผลในระดับหนึ่ง คือท่านอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ นายดำรง ลัทธพิพัฒน์ ที่เคยกล่าวไว้เป็นเครื่องเตือนใจที่สำคัญยิ่งคือ

ผู้ใดครองเทคโนโลยี ผู้นั้นครองอำนาจ

ผู้ใดครองเทคโนโลยี ผู้นั้นครองเศรษฐกิจ

กำลังโหลดความคิดเห็น