xs
xsm
sm
md
lg

REAL ESTATE Issue:อสังหาฯว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คิดว่า คงไม่มีใครตกข่าวในช่วงที่ผ่านมาเกี่ยวกับกรณีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ได้ประกาศเปิดอุทยานแห่งชาติ 10 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้เอกชนเข้าดำเนินการบริหารจัดการพื้นที่ในรูปแบบการให้เช่า ในหัวข้อข่าวดังกล่าวเข้าใจว่ากรมอุทยานแห่งชาติถือเป็นโครงการนำร่อง และอ้างอิงถึงรูปแบบการนำที่ดินภาครัฐมาให้เอกชนดำเนินการว่ามีความคล้ายคลึงเช่นเดียวกับกรณีกลุ่มเซ็นทรัลกับการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.)ที่บริเวณแยกลาดพร้าว

ผู้เขียนมีความเห็นว่า แนวคิดข้างต้นดังกล่าว น่าจะเป็นกรณีที่ไม่สามารถเปรียบเทียบกับกรณีที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่แยกลาดพร้าวได้ แสดงให้เห็นถึงความไม่เข้าใจในการบริหารจัดการอสังหาฯภาครัฐของหน่วยงานดังกล่าว จริงอยู่ในทางวิชาการเศรษฐศาสตร์ ที่ดินถือเป็นปัจจัยการผลิตที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ และผลตอบแทนของที่ดินตามหลักเศรษฐศาสตร์เป็นที่เข้าใจกันทั่วว่าคือ ค่าเช่า การให้สัมปทานสำหรับเอกชนเพื่อทำประโยชน์ในที่ดินภาครัฐก็ดี การให้เอกชนเช่า ดังเช่นกรณีกรมธนารักษ์กับเอกชนก็ดี ไม่ว่าจะเป็นเชิงพาณิชย์ หรือ เชิงสังคม แต่โครงการเหล่านั้น จะมีหลักเกณฑ์กรอบปฏิบัติอยู่อย่างรัดกุม

เช่น หากกรณีมูลค่าโครงการเกิน 1,000 ล้านบาท จำเป็นต้องเข้าเกณฑ์พิจารณาตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯปี 2535 ซึ่งมีคณะกรรมการตามมาตรา 13 และกระบวนการในการวิเคราะห์ ตัดสินใจมากมาย และหากกรณีโครงการมีมูลค่าน้อยกว่า 1,000 ล้านบาท ก็จะมีคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ พิจารณาตามกระบวนการ มีการประเมินมูลค่าที่ดิน และค่าเช่าที่เหมาะสมตามอายุสัญญาโดยผู้ประเมินมูลค่าทรัพย์สินอิสระ ซึ่งถือได้ว่าเป็นแนวทางหนึ่งในการสร้างความโปร่งใสสำหรับการจัดการทรัพย์สินภาครัฐ แต่หากติดตามข่าวในกรณีนี้ของกรมอุทยานแห่งชาติฯ มีเรื่องที่น่ากังวลอยู่ไม่น้อย

โดยเฉพาะประเด็นในเรื่องการกำหนดค่าเช่าที่เอกชนต้องจ่ายให้กับรัฐบาล ซึ่งเป็นเรื่องประหลาดมากที่กรมกรมอุทยานแห่งชาติฯ ตั้งใจไว้ว่าจะเก็บค่าตอบแทนจากเอกชนตารางเมตรละ 30 บาทต่อเดือน และอยู่ดีๆก็มีข่าวว่าเอกชนยินดีจ่ายเพียงตารางเมตรละ 3 บาทต่อเดือน เลยไม่รู้ว่าฝ่ายไหนเข้าใจผิดกันแน่ หรือผู้ประเมินมูลค่าอิสระสำนักไหนให้ความเห็น เพราะมุมมองที่ต่างกันขนาดนี้ ในเชิงการเจรจาต่อรอง ก็วิเคราะห์ได้ว่าแทบจะไม่มีทางจบกันได้เลย

ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งคือ เรื่องการใช้ประโยชน์ในอสังหาฯนี้ แม้ว่าตามทฤษฎีค่าเช่าจะสะท้อนถึงมูลค่าและการประโยชน์ก็ตาม แต่การนำเอาทรัพยากรธรรมชาติ หรือที่ดินในอุทยานแห่งชาติซึ่งมีคุณลักษณะแตกต่างจากที่ดินว่างเปล่าทั่วไป เช่น ที่ดินที่แยกลาดพร้าว มาให้เอกชนสร้างเป็นรีสอร์ท โรงแรมอะไรก็ตามแต่ แม้ว่าจะมั่นใจว่าจะมีธุรกิจเชื่อมโยงไปยังภาคเศรษฐกิจอื่น ก่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ให้ชุมชนก็ตาม รวมทั้งสามารถควบคุมเอกชนให้รักษาสิ่งแวดล้อม ความสะอาด จัดการแบบมืออาชีพก็ตาม แต่ผลกระทบต่อสัตว์ธรรมชาติ การดำรงระบบนิเวศน์วิทยาไว้ และปัจจัยอื่นๆเชิงการอนุกรักษ์ที่เสียไป ใครจะเป็นผู้รับประกัน รวมทั้งหน่วยงานต้นสังกัดจะมีหลักเกณฑ์อย่างไรในการกำหนดคัดเลือกเอกชนที่เข้ามาดำเนินการให้เกิดความโปร่งใส รัฐได้ผลคุ้มค่าทั้งเชิงพาณิชย์และเชิงสังคมจริงหรือไม่?สามารถควบคุมให้เอกชนสามารถทำตามเงื่อนไขด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติตามที่สัญญาไว้ได้หรือไม่? การบริหารสัญญาด้านการจัดการอสังหาฯภาครัฐไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ถ้าไม่เชื่อลองถามหน่วยงานที่เป็นมืออาชีพและมีประสบการณ์ในเรื่องการจัดการอสังหาฯภาครัฐ เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย การท่าเรือแห่งประเทศไทย รวมทั้งกรมธนารักษ์ ดูก็ได้ว่า ปวดหัวแค่ไหนกับการจัดการอสังหาฯภาครัฐ (ไม่รวมถึงการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองที่เป็นเรื่องธรรมดาของหน่วยงานภาครัฐ)

โดยนายไพรัช มณฑาพันธุ์
กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท 15 ที่ปรึกษาธุรกิจ จำกัด
E-Mail ; pairat.m@fifteenbiz.com

กำลังโหลดความคิดเห็น