xs
xsm
sm
md
lg

รุมประณามประชามติหมักซื้อเวลา-ขัดรธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน – เล่ห์จิ้งจอก ครม.ทำ "ประชามติ" แก้ปัญหาวิกฤตให้ตัวเอง ถูกภาคเอกชน นักวิชาการ ส.ว.และฝ่ายค้านรุมค้าน ชี้ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 165 (2) ห้ามทำเรื่องที่ขัดแย้งเกี่ยวกับตัวบุคคลหรือคณะบุคคล ฉะ "สมัคร" หวังซื้อเวลาต่อลมหายใจ ย้ำเหลือทางเลือกแค่ยุบสภากับลาออกเท่านั้น นักธุรกิจเผยเศรษฐกิจไทยแนวโน้มพังยับ เหตุการณ์ยิ่งบานปลาย ขณะที่วิปรัฐบาล 6 พรรคร่วมหนุน แต่อ้อมแอ้มหลังถูกสื่อซักหนัก อ้างยอมผลาญงบแผ่นดินหากช่วยหาทางออกได้

นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลเสนอให้ทำประชามติเพื่อรับฟังความเห็นประชาชนเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตในขณะนี้ว่า กฎหมายประชามติจะเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาในวันที่ 5 ก.ย. โดยตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณา แต่คงไม่ถึงขั้น 3 วาระรวด อย่างไรก็ตามเวลาน่าจะไม่พอ เพราะสถานการณ์ ขณะนี้ต้องคลี่คลายสถานการณ์โดยเร็วที่สุด เท่าที่จะเร็วได้ โดยไม่ทำให้บ้านเมือง เสียหาย คงจะรอกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ เพราะต้องใช้เวลา ซึ่งอย่างเร็วก็ใช้เวลา 1 เดือนถึงจะเรียบร้อย
ทั้งนี้ การแก้ไขโดยรัฐบาลก็แก้ได้ โดยในวันที่ 5 ก.ย.จะมีการหารือกันระหว่างประธานสภา ตนและผู้นำฝ่ายค้าน ว่าจะแก้ไขวิกฤตได้อย่างไร จะมีประชุมสภาร่วม หรือมีมาตรการอย่างอื่น แต่เชื่อว่าคงคลี่คลายได้
ต่อข้อถามว่าการประชุมร่วม ที่ผ่านดูเหมือนนายกรัฐมนตรีไม่รับและนำไปแก้ไขปัญหา นายประสพสุข กล่าวว่า อย่าเพิ่ง ไปท้อถอยก็ประชุมกันใหม่ว่าเราจะทำอย่างไร จะมีมาตรการอย่างไรให้สถานการณ์ คลี่คลาย โดยเร็ว เพื่อไม่ให้ประเทศชาติเสียหาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.....ผ่านที่ประชุมสภาผู้แทนราษฏร ในวาระ 2 และ 3 เรียบร้อยแล้ว และเตรียมเข้าสู่ที่ประชุมของวุฒิสภาในวาระแรก โดยตามระเบียบวาระการประชุมวุฒิสภาในวันที่ 5 กันยายนนี้ มีวาระด่วนเรื่องแรกคือ การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว หลังจากสภาผู้แทนราษฏรมีมติเห็นชอบแล้ว โดยวุฒิสภาต้องพิจารณาในแล้ว เสร็จภายใน 90 วัน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 302 วรรค 4 และ วรรค 6
ร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว คณะกรรมการการเลือกตั้งโดย นายประพันธ์ นัยโกวิท ประธาน กกต. เป็นผู้เสนอ โดยมีหลักการและเหตุผลว่า รัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 165 บัญญัติให้การออกเสียงประชามติกระทำได้ในกรณี ที่ ครม.เห็นว่ากิจการเรื่องใดอาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติ หรือประชาชน นายกฯอาจปรึกษาประธานสภาผู้แทนฯ และประธานวุฒิสภา เพื่อประกาศใน ราชกิจจานุเบกษาให้ออกเสียงประชามติ หรือกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติให้มีการ ออกเสียงประชามติอาจจัดให้ออกเสียงเพื่อมีข้อยุติโดยเสียงข้างมาก ของผู้มีสิทธิออกเสียง หรือกรณีให้คำปรึกษาของ ครม.ก็ได้ เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมี 42 มาตรา ส่วนใหญ่ปรับปรุงจาก พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ 2541 ประกาศสภาร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ 2550 และพ.ร.บ.ว่าด้วยความเรียบร้อยการออกเสียงประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งมีความจำเป็นต้องออกกฎหมายภายใน 1 ปีตามรัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดไว้
นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒินายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า การที่ ครม.มีมติให้มีการทำประชามติเพื่อหาทางออกทางการเมืองนั้น ต้องใช้เวลานาน ดังนั้นคงไม่ทันกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะขณะนี้ทั้งรัฐบาลและกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กำลังเผชิญหน้ากัน และเชื่อว่าเหตุการณ์ยังยืดเยื้ออีกนาน ปัญหาการเมืองไทยตอนนี้เปรียบเหมือนโรคซาร์ส หรือเรียกว่า โรคซาร์สการเมือง ที่ต้องใช้เวลาในการรักษานาน ให้อยู่ได้ไม่ว่าเหตุการณ์จะรุนแรงมากน้อยแค่ไหน

***ส.ว.ค้านเหตุเสียเงิน-เสียเวลา
นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา กล่าวถึงการทำประชามติว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ได้เลยระยะเวลาที่จะทำประชามติไปแล้ว และไม่รู้ว่ารัฐบาลจะทำประชามติอะไร เพราะไม่มีความจำเป็นและไม่ความชอบธรรมที่จะมาขอประชาชนมติของประชาชน เนื่องจากประชาชนได้ให้โอกาสรัฐบาลได้บริหารประเทศแล้วแต่ไม่สามารถที่จะนำพาชาติรอดไปได้ มีแต่จะสร้างการเผชิญหน้า จนนำไปสู่ความรุนแรงและทำให้ประชาชนเสียชีวิต หนทางเดียวที่จะแก้ปัญหาได้คือรัฐบาลจะต้องลาออก หรือ ยุบสภา เพราะประเทศชาติได้บอบช้ำไปมากแล้วจาการบริหารงานของรัฐบาลชุดนี้ ดังนั้นการหาออกดังกล่าวเป็นการซื้อเวลา และหาทางออกให้กับรัฐบาลเท่านั้น เชื่อว่าสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ไปไม่ถึงจุดการทำประชามติอย่างแน่นอน
ขั้นตอนการทำประชามิตไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเกิดขึ้นภายใน 1-2 วัน เพราะรัฐบาลต้องปรึกษาคณะกรรมการกฤษฏีกา มีการตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญขึ้นมาศึกษากว่าจะผ่านสภา กว่าจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา กว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งจะทำหนดวันเวลาในการลงมติ และทำความเข้าใจกับประชาชนอย่างทั่วถึงต้องในเวลาเป็นเดือน และต้องใช้งบประมาณอย่างน้อยในการทำประชาพิจารณ์ไม่ต่ำกว่า 2 พันล้านบาท
ดังนั้นเมื่อเทียบระยะเวลา กับ งบประมาณที่ต้องสูญเสียไป จึงได้ไม่คุ้มเสีย รัฐบาลควรจะยุบสภา หรือลา ออกเพื่อนำไปสู่ การเลือกตั้งให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจจะดีกว่าจะให้ความไว้วางใจให้รัฐบาลชุดนี้กลับเข้ามาบริหารประเทศต่อไปอีกหรือไม่
น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว กทม.กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะทำประชามติ เสียเวลาเปล่า ไม่เกิดประโยชน์ เพราะปัญหาขณะนี้มาไกลกว่าที่จะทำประชามติ มีเพียงหนทางเดียวเท่านั้นคือ นายสมัคร ต้องลาออกหรือยุบสภาเท่านั้น ขณะนี้ประเทศชาติเสียหายมามากแล้วจากการบริหารงานของรัฐบาลชุดนี้ จึงไม่มีความ ชอบธรรมที่จะมาขอประชามติจากประชาชนอีก ควรออกไปได้แล้วหากต้องการแก้ปัญหาของชาติอย่างแท้จริง
ขณะที่ ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต ส.ว.สรรหา กล่าวว่า การทำประชามติจะยิ่งเป็นการตอกย้ำความขัดแย้งรุนแรง และทำให้ประชาชนเกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เลือกข้าง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประเทศอย่างแน่นอน สุดท้ายจะทำไปสู่การเผชิญหน้า ของประชาชนทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ดังนั้นการทำประชามติ ไม่เป็นการแก้ปัญหาวิกฤติของชาติ แต่เป็นการหาทางออกให้สำหรับรัฐบาลด้วยการประวิงเวลา เพื่ออ้างความชอบธรรมในการบริหารประเทศต่อ

***ชี้ส่อขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 165
ด้านนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ประธานคณะกรรมการประสานงาน (วิป) พรรคฝ่ายค้าน ว่า เท่าที่ตรวจสอบรัฐธรรมนูญ ข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติไม่สามารถทำได้ เนื่องจากการใช้กฎหมายประชามติเพื่อแก้ปัญหาการชุมนุมจะติดปัญหา 2 ข้อคือ รัฐธรรมนูญมาตรา 165 ที่บัญญัติเกี่ยวกับการทำประชามติ หากมีการตั้งคำถามประชามติ ว่าต้องการให้พันธมิตรอยู่ต่อหรือไม่ อาจผิดกฎหมาย ไม่สามารถทำได้ และหากเปรียบเทียบการทำประชามติกับการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ ก็ใช้งบประมาณเท่ากัน
นอกจากนี้ กฎหมายประชามติยังไม่มีผลบังคับใช้ แม้รัฐบาลจะใช้ทางเลือกอื่นเช่นการออก พ.ร.ก. ก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากการต้องออกเป็น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเท่านั้น
ส่วนที่มีการเสนอให้งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา และให้มีนายกรัฐมนตรีจากคนนอกนั้น ตนคิดว่าสุดท้ายก็ต้องกลับมาอยู่ที่การตัดสินใจของรัฐสภา ซึ่งตากหลักแล้วหากจะเป็นจริงได้ ต้องมีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยผู้ที่จะเสนอคือคณะรัฐมนตรี (ครม.) และส.ส. ทั้งนี้ สภาก็ยังไม่มีท่าทีใดๆ ต่อเรื่องนี้ เป็นการโยนหินถามทางจากคนนอกเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่ากรอบของรัฐธรรมนูญยังมีทางออก เพียงแต่รัฐบาลไม่เอาความเห็นส่วนตัวมาปิดกั้น ซึ่งข้อเสนอเหล่านี้ตนคิดว่ามีโอกาสที่จะเป็นจริงก็ยาก
“การที่รัฐบาลออกมาตรการแก้ปัญหารายวัน โดยเฉพาะการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อแก้สถานการณ์ ฝ่ายค้านคงไม่เห็นด้วย เพราะเสียเวลา รวมทั้งการแก้ประชามติน่าจะเป็นการซื้อเวลา เพราะเวลาของรัฐบาลหมดแล้ว” นายสาทิตย์ย้ำ
ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา165 (2) ระบุว่าการจัดการออกเสียงประชามติในเรื่องที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือเกี่ยวกับตัวบุคคลหรือคณะบุคคลจะกระทำมิได้
นางสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ กล่าวถึงกรณีรัฐบาลจะให้ กกต. ดำเนินการจัดทำประชามติ ว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ....เพิ่งจะผ่านวาระของ ส.ส.เมื่อวันที่ 28 ส.ค.และได้มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหารายละเอียดจำนวนมาก จากที่ กกต.กำหนดไป 42 มาตรา โดยเฉพาะมาตรา 8 ที่เป็นเนื้อหาสาระสำคัญในเรื่องของการออกเสียงเพื่อให้ได้ข้อยุติ ก็ได้มีการแก้ไขเช่นกัน และยังไม่รู้ว่าในชั้นการพิจารณาของวุฒิสภาจะมีการปรับแก้ในส่วนใดอีก
อย่างไรก็ตาม เมื่อผ่านการพิจารณาของรัฐสภาแล้วก็ยังต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาอีกว่ามีมาตราใดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่อีก แต่ในส่วนของ กกต.พร้อมที่จะดำเนินการตามความต้องการของรัฐบาล ขอให้มีคำถามที่ชัดเจนว่าต้องการถามประชาชนว่าอย่างไร
นางสดศรี กล่าวว่า ลักษณะคำถามนั้นต้องสั้น ง่าย กระชับ และประชาชนเข้าใจ และไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 165 ที่ระบุ ว่า การจัดออกเสียงประชามติ ในเรื่องที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือเกี่ยวกับตัวบุคคล และคณะบุคคล จะกระทำมิได้
การทำประชามติหากจะถามในเรื่องการแก้กฎหมายบางมาตรา เช่น นายกฯ มาจากคนนอกได้หรือไม่ หรือ เป็นแนวทางของพันธมิตรฯที่ ว่าให้ส.ส.มาจากการเลือกตั้ง 30 ส.ส.มาจากการแต่งตั้ง 70 หรือไม่ก็ได้ แต่จะมาถามว่า ให้นายกลาออก หรือยุบสภาทำไม่ได้ ซึ่งงบประมาณก็คาดว่าไม่น่าจะต่างจากครั้งที่แล้วคือ 1,800 ล้านบาท

***เอกชนสุดทนตะเพิดสมัคร
นายเกียรติพงษ์ น้อยใจบุญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทเอกรัฐวิศวกรรม จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลจะจัดให้มีการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาบ้านเมืองว่า การทำประชามติต้องใช้เวลาเตรียมการไม่ต่ำกว่า30 วันซึ่งคงไม่ทันเหตุการณ์ที่นับวันจะยิ่งรุนแรงขึ้น จึงถึงเวลาแล้วที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ควรยุบสภาเพื่อให้ประชาชนตัดสินใจใหม่ว่าจะเลือกฝ่ายใดมาเป็นพรรคการเมืองเสียงข้างมาก
“ เห็นว่าทางออกควรยุบสภาถ้าประชาชนเลือกเข้ามาอีกก็ยังได้กลับมาบริหารประเทศเช่นเคยและถ้าจะมีม็อบขับไล่ ก็ต้องรอให้เป็นเรื่องของอนาคตว่าจะมีเหตุผลใดมาขับไล่หรือไม่ นายกฯควรทำตัวให้เป็นคนพร้อมที่จะทำงานเพื่อประเทศไม่ใช่เพื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแล้วมายุให้คนไทยตีกันเอง หากยุบสภาก็จะถือ่วานายกฯคือวีรบุรุษ”นายเกียรติพงษ์กล่าว

***เผยเศรษฐกิจพังพินาศ
นอกจากนี้เห็นว่า นายกรัฐมนตรีไม่ควรพูดอะไรให้คนไทยเกิดความแตกแยกไปมากกว่าปัจจุบันเพราะทั้งหมดคือคนไทยเช่นกันแม้จะมีความเห็นต่างกันก็น่าจะหาจุดที่ลงตัวได้ หากยังพูดยั่วยุให้แตกแยกกันจนเกิดความสูญเสียชีวิตขึ้นมาอีก บ้านเมืองก็แหลกสลายลงทันที รวมทั้งวงจรเศรษฐกิจที่พังไปหมดแล้ว ปีนี้ไม่ต้องมาพูดถึง การท่องเที่ยวที่คงต้องแทงบัญชีศูนย์สำหรับรายได้จากการท่องเที่ยว ที่ยากจะทำให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกหายจากความหวาดกลัวเหตุการณ์ในเมืองไทยไปในระยะเวลาสั้นๆได้
"สิ่งที่น่าห่วงสำหรับอุตสาหกรรมที่ปกติจะมีคำสั่งซื้อมาในช่วงไตรมาส 3 เพื่อรองรับเทศกาลคริสมาสต์และปีใหม่เพื่อส่งมอบในเดือนธ.ค.ขณะนี้ยังไม่มีคำสั่งซื้อเข้ามาทั้งที่ปกติจะมีมาแล้วนั้นเพราะผู้สั่งซื้อเกรงว่าไทยจะส่งสินค้าไม่ทันนี่คือความเสียหายที่จะเกิดขึ้นอีก ยิ่งยืดเยื้อยิ่งกระทบเศรษฐกิจไม่เป็นผลดีต่อประเทศชาติ" นายเกียรติพงษ์กล่าว

***ส.อ.ท.ชี้ประชามติไม่แก้ปัญหา
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า คงจะต้องพิจารณาในแง่กฏหมายว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่ แต่เข้าใจว่ารัฐบาลน่าจะนำมาเป็นเงื่อนไขเพื่ออ้างความชอบธรรมในฐานะที่มาจากการเลือกตั้งหรือระบอบประชาธิปไตย แนวทางดังกล่าวหากทำได้ก็คงไม่สามารถยุติปัญหาได้ เนื่องจากการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยคงจะไม่ยอมรับเงื่อนไขดังกล่าวและจะยิ่งทำให้เหตุการณ์ไม่ยุติลงง่ายๆ
“เอกชนต้องการให้จบโดยเร็วเพราะปล่อยไว้นานเศรษฐกิจจะเป็นปัญหาได้เพราะล่าสุดกรณีการปิดท่าเรือคลองเตยแม้จะไม่มีปัญหามากเพราะไปขนส่งทางแหลมฉบังแทน แต่ก็มีค่าใช้จ่ายด้านเอกสารที่เพิ่มขึ้นและระยะยาวจะรองรับได้หรือไม่”นายสันติกล่าว
นายดุสิต นนทะนาคร รองกรรมการสภาหอการค้าไทย กล่าวว่า การทำประชามติจะยิ่งทำให้สถานการณ์ทางการเมืองยืดเยื้อ และเป็นการบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ พร้อมกับเสนอให้นายกรัฐมนตรีแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก

****นิด้าชี้รัฐบาลดิ้นเพื่อความอยู่รอด
ศ.ดร. สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) กล่าวถึงกรณี ครม.นัดพิเศษเห็นด้วยทำประชามติ หาทางออกวิกฤติประเทศ ว่า รัฐบาลพยายามที่จะหาความชอบธรรมให้กับตัวเองอยู่ได้ ในขณะเดียวกันก็มี จุดมุ่งหมายเพื่อที่จะให้กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ขาดความชอบธรรม แต่โดยหลักการของประชามติแล้วนั้นไม่ได้ใช้เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง นอกจากนี้ การทำประชามติครั้งนี้มีจุดอ่อนเนื่องจากพรรคพลังประชาชนที่เคยไม่ยอมรับการทำประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2550 การทำครั้งนี้พันธมิตรฯ ก็อาจไม่ยอมรับเพราะเห็นว่าอยู่ภายใต้กลไกของรัฐ ดังนั้นจึงเชื่อว่า 1.ไม่สามารถแก้ไข ปัญหาความขัดแย้ง เป็นเพียงยืดเวลา เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาล 2.สถานการณ์ความขัดแย้งรุนแรงจะเลวร้ายและยืดยื้อยาวนาน 3.ประเทศชาติจะได้รับความเสียหายจากการดำเนินการของรัฐบาล 4.ความขัดแย้งอาจทวีคูณเพิ่มขึ้นหากฝ่ายใดฝ่ายไม่ยอมรับผลประชามติ ดังนั้นทำไปก็เสียเปล่า ยิ่งสร้างปัญหามากขึ้น
ผศ.ดร. พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองคณบดีคณะพัฒนาสังคมฯ นิด้า กล่าวว่า การทำประชามตินั้นต้องอาศัยเวลาในดำเนินการเตรียมการโดยให้ กกต.เป็นผู้เข้ามาจัดการ ทั้งนี้ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารของทั้ง 2 ฝ่าย และให้ทั้ง 2 ฝ่ายได้มีโอกาสมีพื้นที่ทั้งในช่องฟรีทีวีและเคเบิ้ลทีวีอย่างเต็มที่ ซึ่งจะเป็นการสร้าง จิตสำนึก ให้กับประชาชนตัดสินใจ นอกจากนี้สมควรที่จะให้มีผู้สังเกตการณ์ ที่เป็นกลางจริงเพื่อป้องกันการใช้อำนาจไปในทางที่ผิดเหมือนการเลือกตั้ง ซึ่งหากมีเงื่อนไขดังกล่าวตนคิดว่ากลุ่มพันธมิตรฯน่าจะยอมรับได้ แต่คิดว่ารัฐบาลคงไม่กล้า เพราะรู้ดีว่าพ่ายแพ้แน่นอน

***ฉวยโอกาสสร้างความชอบธรรม
นายจักรินทร์ แก้วพิชัย รองประธานกลุ่มนิด้าพัฒนาสังคม กล่าวว่า ขอคัดค้าน มติ ครม.ดังกล่าว เพราะเห็นว่ารัฐบาลใช้ความได้เปรียบเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเอง จะทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงขึ้นอีก เนื่องจากกลุ่มพันธมิตรฯและประชาชนอีกหลายฝ่ายไม่ยอมรับการทำประชามติที่อาจจะใช้อำนาจรัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตามรัฐบาลไม่ควรซื้อเวลา เพื่อให้ตัวเองอยู่ได้นานต่อไป เพราะคนที่เสียหาย คือประเทศและประชาชนในประเทศ ทางกลุ่มขอเสนอว่ารัฐบาลลาออก หลังจากนั้นให้รัฐสภามีมติงดใช้รัฐธรรมนูญ มาตรา 171 วรรค 2 ที่ให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและเสนอชื่อบุคคลภายนอกที่สังคมยอมรับเข้ามาดำรง ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ชั่วคราว

**จี้ ครม.หยุดประชามติซื้อเวลา
นายสมพันธ์ เตชะอธิก อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ นักวิชาการมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวแสดงความเห็นกรณีรัฐบาลจะเปิดให้มีการลงประชามติ เพื่อถามความเห็นประชาชนว่าต้องการให้รัฐบาลอยู่ต่อหรือไม่ ถือเป็นแนวความคิดที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากยังมีประชาชนอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถเข้าถึงข่าวสารความจริง ไม่ได้รับข้อมูลเพียงพอ เนื่องจากสื่อฟรีทีวี ที่เป็นสื่อกระแสหลัก ยังไม่เปิดเผยข้อมูลความจริงให้ประชาชนได้รับรู้ครบทุกด้าน และเท่าเทียม
จึงเป็นการดำเนินการที่ไม่โปร่งใส ขาดความเป็นธรรม และเป็นเพียงการชิงความได้เปรียบของรัฐบาล การลงประชามติจึงเป็นเพียงเครื่องมือซื้อเวลาของฝ่ายรัฐบาลเท่านั้น และถึงแม้ผลประชามติจะออกมาไม่สนับสนุนรัฐบาล ถามต่อว่ารัฐบาลจะยอมรับหรือไม่ นายกรัฐมนตรีจะยอมรับผลประชามติหรือไม่ สุดท้ายก็เป็นการสูญเสียงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์เท่านั้น
นายชาติชาย เจียมศรีพงษ์ นายก อบจ.พิจิตร กล่าวว่า ขณะนี้ชาวบ้านในต่างจังหวัดมีการแบ่งแยกเป็น 2 พวก แล้วมีความขัดแย้งกันไปทั่วทุกระแหง อีกทั้งขณะนี้รัฐบาลจะเปิดลงประชามติ ว่า เอารัฐบาล “สมัคร” หรือไม่เอา ในฐานะตัวแทน อปท.พิจิตร ก็ไม่เห็นด้วยเพราะการลงมติต้องมีกฎหมายรับรอง อีกทั้งเรื่องความมั่นคงของชาติ และเสถียรภาพของรัฐบาลไม่เคยมีชาติใดในโลกที่ใช้การลงมติ เพื่อความอยู่รอดของรัฐบาล ในขณะเกิดความแตกแยกทางความคิดในขณะนี้
อีกทั้งถ้ามีการเปิดลงประชามติจริงๆ รัฐ ซึ่งเป็นผู้ควบคุมอำนาจก็จะใช้อำนาจบีบบังคับส่วนราชการใช้ระบบสั่งการให้ลงมติเห็นความชอบธรรมของรัฐบาลผ่านมา ยัง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. อปพร.และกลุ่มพลังต่างๆ

***ตามคาด 6 พรรคร่วมหนุนหมัก
นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคพลังประชาชน กล่าวว่า จากการหารือของส.ส. 6 พรรคร่วมรัฐบาล ทุกคนเห็นพ้อง ต้องกันในการสนับสนุนมติ ครม.ที่ให้ทำประชามติสอบถามความเห็นจากประชาชน ในการแก้วิกฤติของประเทศเพราะปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องการเมือง จึงต้องแก้ด้วย การเมือง โดยการถามผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยว่าคิดอย่างไร และรัฐบาลควรแก้ไข ปัญหาอย่างไร ส่วนที่ฝ่ายค้านระบุว่าการทำประชามติขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 165 รัฐบาลสามารถเลี่ยงได้โดยอาจไม่ใช้คำว่าถามประชามติแต่ใช้คำว่าถามความเห็นประชาชน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวไม่ได้เป็นการทำให้ประชาชนเลือกข้าง จะต้องใช้งบประมาณมากแค่ไหนก็ต้องทำ หากจะเป็นทางออกในการแก้ปัญหาก็ถือว่าคุ้มค่า
เมื่อถามย้ำว่า ในช่วงที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำไมไม่ทำประชามติถามคนทั้งประเทศว่าเห็นด้วยหรือ โดยอ้างว่าเป็นตัวแทนของประชาชนอยู่แล้ว แต่มีปัญหาวิกฤติเกี่ยวกับความอยู่รอดของรัฐบาล กลับมาถามประชามติ จะเป็นการเอาเปรียบประชาชนประชาชนหรือไม่ นายพีรพันธ์กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญปี 50 ที่ผ่านมาประชามติมาแล้วให้สิทธิส.ส.ในการแก้ไขได้ รัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 โดยไม่ต้องทำประชามติ อีก
ผู้สื่อข่าวถามว่า การทำประชามติเพื่อหาความชอบธรรมให้กับรัฐบาลเหมือนกับกรณีที่ ส.ส.รัฐบาลเกณฑ์คนอีสานมาปะทะกับกลุ่มพันธมิตรจนมีคนตาย เพื่อนำไปสู่การออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือไม่ นางวรศุลี ตัวแทนจากพรรคชาติพัฒนารวมใจไทย กล่าวว่าการไปชุมนุมครั้งนั้นไม่ได้มีเฉพาะคนอีสานเท่านั้น และไม่ได้อยู่เบื้องหลังพาคนไปตาย แต่เมื่อมีความเห็นต่างจากกลุ่มพันธมิตร ก็มีสิทธิ์ที่จะออกมาเคลื่อนไหว และไม่ได้ต้องการให้มีการปะทะกันจนเกิดเหตุการณ์รุนแรง ส่วนการทำประชามติครั้งนี้ถือเป็นทางออกที่ดีที่สุดกับการแก้ปัญหาการเผชิญหน้า ดังนั้นควรมีโอกาสในการทำประชาชน รวมถึงคนไทยทั้งประเทศด้วย
ต่อข้อถามว่าในเมื่อรัฐบาลอ้างว่ามาจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน และมีความชอบธรรมที่จะบริหารประเทศต่อ ทำไมต้องทำประชามติถามเห็นจากประชาชน นายเอกพจน์ จากพรรคชาติไทย ชี้แจงว่า เวลานี้เราต้องยอมรับว่าปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องการเมืองอย่างชัดเจน และไม่สามารถทางทางออกได้ ดังนั้นแนวทางที่ดีที่สุดคือฟังความเห็นของประชาชนที่เป็นเจ้าของประเทศว่าเขาต้องการให้เราทำอย่างไร เมื่อปัญหาวิกฤติ และไม่มีทางออกก็เป็นสิทธิ์ ของรัฐบาลที่จะฟังความเห็น และพรรคร่วมก็มีความเห็นด้วยให้ทำประชามติ
สำหรับการทำประชามติจะมีประโยชน์อะไร หากผลออกมาแล้วแต่กลุ่มพันธมิตรยังคงชุมนุมต่อไป นายเกียรติกร ตัวแทนจากพรรคมัชฌิมาธิปไตยกล่าวว่า นอกจากแนวทางการทำประชามติแล้ว ฝ่ายนิติบัญญัติจะดำเนินการโดยทางลับโดยประสานกับตัวแทนพันธมิตรฯ เพื่อเจรจาหาทางออกให้ประเทศ ซึ่งเป็นการดำเนินการอย่างไม่เป็นทางการและไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ โดยการไปเจรจาจะเป็นการส่งตัวแทนของพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน พรรคละ 1 คนไปเจรจา ทั้งนี้การไปหารือไม่ได้ไปในนามรัฐบาลแต่ไปในนามของพรรคการเมือง โดยมีกำหนดนัดหารือในเวลา 14.00 น. ของวันนี้.
กำลังโหลดความคิดเห็น