xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อขุนศึกลงจากม้าศึก

เผยแพร่:   โดย: ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน

สารคดีประวัติศาสตร์ที่ถ่ายทอดทางวิทยุโทรทัศน์เกี่ยวกับจักรพรรดิจิ๋นซี ซึ่งเป็นจักรพรรดิองค์แรกของจีนที่สามารถปราบแคว้นต่างๆ 6 แคว้นจนสงบราบคาบ และสถาปนาจีนให้เป็นแผ่นดินเดียวกันโดยครองราชย์อยู่ถึง 29 ปี ในสารคดีที่กล่าวมาแล้วนั้นได้ยกย่องจักรพรรดิจิ๋นซีว่าเป็นผู้สร้างประเทศจีน กล่าวคือ เป็นประเทศหนึ่งเดียวภายใต้กษัตริย์องค์เดียว ซึ่งมีความสำคัญยิ่งกว่าการสร้างกำแพงเมืองจีนเสียด้วยซ้ำ ในตอนท้ายของสารคดีนั้นได้มีคำกล่าวประโยคหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ โดยมีความหมายสั้นๆ ทำนองว่า “จักรพรรดิจิ๋นซีคือนักรบที่ลงจากม้าศึกและสามารถสถาปนาอาณาจักรการเมืองขึ้นมาได้” พูดง่ายๆ คือเมื่อชนะศึกก็ต้องเริ่มหันไปทำงานบริหาร ซึ่งในส่วนของการบริหารนั้นอาจจะต้องมีการใช้กำลังรบด้วย แต่ความหมายหลักคือ จะต้องมีความสามารถในการจัดการบริหารแผ่นดินให้สงบราบคาบหลังจากการยึดครองแผ่นดินมาเป็นหนึ่งเดียว

เมื่อขุนศึกลงจากม้าศึกขุนศึกจะต้องหันทิศทางไปสู่การบริหาร สร้างระเบียบการเมืองขึ้นใหม่ พัฒนาระบบการเมืองอันเป็นที่ยอมรับของประชาชน และสามารถบริหารประเทศหรือระบบการเมืองนั้นให้ดำเนินตามแนวทางที่ถูกต้องจนมีเสถียรภาพทางการเมือง มีการสืบทอดอำนาจโดยสันติและต่อเนื่อง ในกรณีของจิ๋นซีฮ่องเต้นั้นแม้จะครองราชย์อยู่ถึง 29 ปี แต่เมื่อมาถึงรุ่นลูกก็ไม่สามารถจะสืบทอดอำนาจได้ ความสำเร็จของจิ๋นซีจึงมีเพียงสองส่วนใหญ่ๆ คือ ส่วนที่ชนะศึกรวมแผ่นดินเป็นปึกแผ่น และบริหารบ้านเมืองให้มีความเจริญพัฒนาเกิดอำนาจแสนยานุภาพกว้างใหญ่ไพศาลในรัชสมัยของตน แต่ก็ล้มเหลวในแง่การสืบทอดอำนาจเพราะอยู่ได้เพียงสองชั่วคนเท่านั้น

การปกครองบริหารบ้านเมืองหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะประกอบด้วยสองส่วนใหญ่ๆ ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ส่วนแรกคือส่วนที่เป็นกำลังทหาร ส่วนที่สองคือส่วนที่เกี่ยวกับการบริหารบ้านเมือง

ส่วนที่เป็นกำลังทหารนั้นผู้ซึ่งเป็นผู้ปกครองสมัยโบราณนั้นจะต้องเป็นผู้นำทัพ ขณะเดียวกันจะต้องมีความรู้ความสามารถในการบริหารด้วย การแบ่งขุนนางของจีนจะเป็นแบ่งเป็น ฝ่ายบุ๋นอันได้แก่นักปราชญ์ราชบัณฑิตซึ่งทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร และฝ่ายบู๊ซึ่งได้แก่พวกนักรบซึ่งเป็นทหาร ในกรณีของญี่ปุ่นก็มีซามูไรหรือนักรบซึ่งแบ่งเป็นสองฝ่าย ฝ่ายที่ถือดาบคือนักรบ ฝ่ายที่ใช้พู่กันคือฝ่ายบริหาร การเก็บภาษี ในกรณีของอินเดียนั้นวรรณะกษัตริย์คือนักรบ แต่ในการบริหารนั้นกษัตริย์ก็จะได้ความสนับสนุนจากฝ่ายพราหมณ์ซึ่งทำพิธีกรรมต่างๆ รวมทั้งปรัชญาในการปกครองบริหารดังที่ปรากฏในราชนีติ ซึ่งเป็นคัมภีร์การปกครองซึ่งเขียนโดยพราหมณ์

ผู้ปกครองแผ่นดินสมัยโบราณจึงต้องเป็นทั้งนักรบคือขุนศึกที่อยู่บนหลังม้า แต่เมื่อลงจากหลังม้าจะต้องเป็นผู้บริหารบ้านเมืองได้ รู้จักใช้คน มีปรัชญาในการสร้างความผาสุกให้แก่ประชาราษฎร มียุทธศาสตร์ยุทธวิธีในการขยายอาณาเขตและสร้างอำนาจรัฐ

ถ้าจะพูดถึงภารกิจของขุนศึกเมื่อลงจากม้าศึกก็จะสามารถขยายความได้ดังต่อไปนี้ คือ

1. เมื่อปราบปรามแคว้นอื่นจนราบคาบแล้ว ภารกิจแรกก็คือการสร้างระเบียบการเมือง (political order) ขึ้นใหม่ นั่นคือการสร้างความสงบเรียบร้อยจนอำนาจรวมศูนย์อยู่ที่จุดเดียว มีการออกกฎระเบียบในการจัดกำลังคน การเก็บภาษี หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือการสร้างอำนาจรัฐ ตัวอย่างเช่น เมื่อพระเจ้าตากสินปราบก๊กต่างๆ ได้ราบคาบก็สร้างระเบียบการเมืองขึ้นใหม่ด้วยการสถาปนาเป็นกษัตริย์ คือ พระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นการสถาปนาราชอาณาจักรใหม่แทนราชอาณาจักรอยุธยาที่แตกสลายไปโดยการโจมตีของพม่า

2. หลังจากการจัดระเบียบการเมืองขึ้นใหม่ด้วยการสถาปนาราชอาณาจักร ก็ถึงขั้นที่ต้องสร้างระบบการเมือง (political system) โดยแบ่งออกเป็นสองส่วน คือส่วนที่เป็นสถาบันการเมือง มีรูปแบบการเมืองแบบใด และส่วนของการปกครองบริหารซึ่งได้แก่ส่วนที่เป็นราชธานี ส่วนที่เป็นหัวเมือง และส่วนที่เป็นประเทศราช ระบบการเมืองที่พระเจ้ากรุงธนบุรีสถาปนาขึ้นมานั้นคือระบบการเมืองแบบกษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ การบริหารก็เลียนแบบกรุงศรีอยุธยา ส่วนกลางคือราชธานี ส่วนไกลออกไปคือเมืองพระยามหานคร และส่วนประเทศราช

ทั้งการสร้างระเบียบการเมืองและระบบการเมืองมีข้อเปรียบเทียบได้คือ เมื่อเหมา เจ๋อตุง ซึ่งเป็นประธานพรรคคอมมิวนิสต์ยึดแผ่นดินใหญ่ได้ ก็สถาปนาระเบียบการเมืองขึ้นใหม่ทันทีโดยใช้พรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งมีการจัดตั้งและอุดมการณ์สังคมนิยม รวมทั้งกองทัพปลดแอกเป็นฐานในการสถาปนาระเบียบการเมืองขึ้นใหม่ จากนั้นก็สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งเป็นระบบการเมืองใหม่ขึ้นแทนสาธารณรัฐจีนซึ่งรัฐบาลได้ลี้ภัยไปอยู่ที่เกาะไต้หวัน การสร้างระเบียบการเมืองขึ้นใหม่และการสถาปนาระบบการเมืองซึ่งแยกเป็นฝ่ายการเมืองและฝ่ายบริหารนั้น เป็นภารกิจเบื้องต้นของขุนศึกที่ลงจากหลังม้าศึก

การปฏิวัติรัฐประหารก็เช่นเดียวกับขุนศึกที่ใช้กำลังรบชนะ ปราบปรามแคว้นอื่นให้ราบคาบ หลังการปฏิวัติรัฐประหารแล้ว ภารกิจเบื้องต้นคือการสถาปนาระเบียบการเมืองขึ้นใหม่และระบบการเมืองขึ้นมาทดแทนระบบการเมืองเดิมโดยมีการปรับปรุงให้ดีขึ้น ถ้าไม่สามารถกระทำได้สำเร็จระเบียบการเมืองและระบบการเมืองเก่าก็จะกลับคืนมา ทำให้การรบชนะศึก โดยหลังจากลงจากหลังม้าศึกหรือลงจากรถถังแล้วเป็นความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

3. ภายหลังการสถาปนาระเบียบการเมืองและระบบการเมือง จะต้องสร้างความชอบธรรมทางการเมือง (political legitimacy) โดยประชาชนให้การยอมรับและให้การสนับสนุนซึ่งจะเกิดขึ้นจากตัวแปร 2 ตัวแปร ตัวแปรแรกคือการสามารถแก้ปัญหาต่างๆ ที่ก่อให้เกิดความทุกข์ยากแก่ประชาชนให้ลดน้อยลง ตัวแปรที่สองคือการสามารถพัฒนาให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น ประชาชนมีความหวัง บ้านเมืองมีความสงบ โจรผู้ร้ายน้อยลง การทำมาหากินดำเนินไปด้วยดี ความชอบธรรมจึงเกิดขึ้นจากผลงาน (performance) โดยตรงจากขุนศึกที่ลงจากม้าศึก ถ้าไม่สามารถบริหารประเทศจนทำให้เกิดความเชื่อมั่นได้ ขุนศึกผู้นั้นก็เป็นขุนศึกที่ลงจากม้าศึกและประสบความล้มเหลว

4. นอกจากผลงานที่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าและการวางนโยบายเพื่อทำให้เกิดความอยู่ดีกินดีของประชาชนแล้วนั้น ขุนศึกผู้ลงจากม้าศึกยังต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นบุคคลที่มีความชอบธรรมทางการเมืองในการครองอำนาจรัฐ มีความรู้ความสามารถ มีจริยธรรม กล่าวคือ เป็นบุคคลที่ควรได้รับอาณัติจากประชาชนเนื่องจากการแสดงออกถึงวิสัยทัศน์ พฤติกรรมที่สะท้อนการเป็นบุคคลที่ธำรงไว้ซึ่งหลักนิติธรรมและจริยธรรม แสดงออกถึงการยอมเสียสละส่วนตนเพื่อส่วนรวม บริหารราชการแผ่นดินด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและเข้าถึงประชาชน ขุนศึกที่ลงจากม้าศึกผู้ใดไม่ว่าจะมาจากการรบชนะศึก ปฏิวัติรัฐประหาร หรือจากการเลือกตั้งจากประชาชนก็ตาม ที่ไม่สามารถจะมีผลงานดังที่กล่าวมาแล้วเบื้องต้นก็จะไม่มีความชอบธรรมที่จะดำรงตนเป็นผู้บริหารและอยู่ในตำแหน่งอำนาจ

5. ระเบียบการเมืองและระบบการเมือง รวมทั้งนโยบายต่างๆ ที่ดำเนินการโดยขุนศึกที่ลงจากม้าศึกนั้นจะต้องนำไปสู่การพัฒนาโครงสร้างและกระบวนการทางการเมืองอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน มีเสถียรภาพทางการเมือง มีการสืบทอดอำนาจได้ตามครรลองที่ควรเป็น จนมีการจัดตั้งสถาบันแบบถาวรสืบไป ถ้าขุนศึกที่ลงจากม้าศึกไม่สามารถจะประสบความสำเร็จในสิ่งที่กล่าวมาเบื้องต้น ขุนศึกผู้นั้นอาจจะสำเร็จในการยกทัพจับศึก ยึดอำนาจรัฐได้ แต่ล้มเหลวในการพัฒนาระบบการเมืองและจะไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชนสุภาษิตจีนโบราณบทหนึ่งกล่าวไว้ ทำนองว่า “ประชาชนเปรียบเสมือนน้ำที่ทำให้เรือลอยได้ แต่น้ำก็ทำให้เรือจมลงสู่ใต้น้ำได้”
กำลังโหลดความคิดเห็น