xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ “กองทัพ”เล่นบทบาทเป็น“คนกลาง”ไม่คิดปราบโหดเหมือน“พฤษภาทมิฬ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี/เอเยนซีส์ – การประกาศภาวะฉุกเฉินและการปะทะกันในกรุงเทพฯเวลานี้ ทำให้ย้อนระลึกถึงเหตุการณ์ทหารเข้าปราบปรามประชาชนในกรณี “พฤษภาทมิฬ” เมื่อปี 2535 ทว่านักวิเคราะห์หลายรายมองว่า เวลานี้บรรดานายพลของไทยต้องการแสดงบทบาทเป็น “กรรมการ” มากกว่าเป็น “ผู้ปฏิบัติให้เป็นไปตามคำสั่ง”
นายฐิตินันท์ พงศ์สุทธิรักษ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคืนวันจันทร์(1) คราวนี้ ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 1 คน และบาดเจ็บ 44 คน นับเป็นความรุนแรงทางการเมืองที่มีผู้บาดเจ็บล้มตายมากที่สุด นับแต่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 ซึ่งทหารสังหารผู้ประท้วงไป 52 คน
อาจารย์ฐิตินันท์ซึ่งมีจุดยืนวิพากษ์วิจารณ์การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมาตลอด กล่าวแสดงความเห็นด้วยที่รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉิน เพื่อทำให้สิ่งต่างๆ ไม่บานปลายออกไป
ในการที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจประกาศภาวะฉุกเฉินครั้งนี้ เขาได้มอบอำนาจการจัดการกับเหตุความไม่สงบแก่ พล.อ.อนุพงศ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก
ปรากฏว่า พล.อ.อนุพงศ์ แถลงว่าเขาจะไม่ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมประท้วง แต่จะพยายามใช้วิธีเจรจาเพื่อยุติวิกฤตคราวนี้
ท่าทีของผู้นำทางทหารเช่นนี้ นายสุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาในประเทศไทยของ ฮิวแมน ไรต์ส วอตช์ องค์การสิทธิมนุษยชนที่มีสำนักงานใหญ่ในนิวยอร์ก กล่าวว่า “เป็นการพลิกผันที่น่าสนใจ ที่กองทัพดูเหมือนไม่ต้องการเป็นผู้บังคับปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉิน พวกเขาไม่ต้องการให้มือตัวเองเปื้อนเลือด”
“ผมยังไม่เห็นว่าจะมีทางยุติเรื่องนี้ได้อย่างไร ยังมองไม่ออกว่าวิกฤตคราวนี้จะมีการคลี่คลายต่อไปอย่างไร” เขากล่าวต่อ
ทางด้านนายปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกคนหนึ่ง ก็ให้ความเห็นว่า ฝ่ายทหารไม่ได้ต้องการที่จะกลายเป็นผู้ขัดแย้งโดยตรงกับฝ่ายพันธมิตร แต่กำลังวางตัวในลักษณะเป็นคนกลางมากกว่า
“ครั้งนี้ฝ่ายทหารกำลังทำตนเป็นคนกลาง พวกเขามีช่องทางที่จะขยับเคลื่อนไหวเดินหมากมากขึ้น(กว่าตอนพฤษภาทมิฬ) พวกเขามีความยืดหยุ่นมากขึ้น”
อาจารย์ปณิธานบอกด้วยว่า เวลานี้ความสงบสันติจะบังเกิดขึ้นได้หรือไม่ ดูจะขึ้นอยู่กับว่าจะมีการใช้ศาลและรัฐสภา มากกว่าการใช้กำลังอย่างเหี้ยมโหด เพื่อยุติวิกฤตคราวนี้หรือเปล่า
“ถ้าพวกเขา (ฝ่ายทหาร) ทำเช่นนั้น สถานการณ์ก็ควรจะอยู่ใต้การควบคุมได้อย่างค่อนข้างรวดเร็ว” เขากล่าว “ถ้าพวกเขาไม่เข้าใจข้อจำกัดและความสลับซับซ้อนต่างๆ เหล่านี้ พวกเขาก็อาจจะกระทำผิดซ้ำรอยเดิมอีก”
กำลังโหลดความคิดเห็น