xs
xsm
sm
md
lg

สาธารณประโยชน์

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

ก่อนการเปลี่ยนแปลง พ.ศ. 2475 ได้มีการถกเถียงกันในหมู่เจ้านายว่า ประชาธิปไตยเหมาะสมกับคนไทยหรือไม่ บางคนเห็นว่าชาวแองโกล-แซกซอน อย่างอังกฤษเท่านั้นที่มีอุปนิสัยเหมาะกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย

ความคิดเช่นนี้คล้ายๆ ความเห็นที่ว่าคนอังกฤษเท่านั้นที่เล่นรักบี้ได้ ต่อมารักบี้ก็เป็นกีฬาที่คนไทยเล่นได้ดี เวลานี้ญี่ปุ่นก็เล่นได้ทั้งรักบี้และเบสบอล

การมีกติกาหลักคือกฎหมายรัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้ง มีพรรคการเมือง และรัฐสภาเป็นเพียงเปลือกนอกของประชาธิปไตยเท่านั้น เนื้อในก็คือวัฒนธรรมทางการเมืองซึ่งจะเป็นอย่างไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับการกล่อมเกลาทางสังคม

สิ่งที่เป็นปัญหามากที่สุดสำหรับคนไทยก็คือ ความรู้สึกนึกคิดพื้นฐานคือ เรื่องผลประโยชน์ส่วนตัว หรือเรื่องส่วนตัวกับผลประโยชน์ส่วนรวม เราไม่ได้อบรมบ่มนิสัยเด็กมาตั้งแต่เล็กให้รู้จักแยะแยะ “สาธารณประโยชน์” กับประโยชน์ส่วนตัว เมื่อมีระบอบประชาธิปไตย การใช้อำนาจในตำแหน่งจึงกลายเป็นเรื่องส่วนตัวไปเสีย โดยปกติเมื่อผู้ใดมาเป็นนักการเมืองหรือดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว ก็ต้องถือว่าชีวิตการทำงานล้วนเป็นเรื่องสาธารณะที่ตนจะต้องยอมเสียความเป็นส่วนตัวไป ไม่ใช่เป็นแล้วก็ออกมาบ่นว่าหมดความเป็นส่วนตัวไป

มีรัฐมนตรีบางคนพอได้อำนาจก็เริ่มคิดย้อนหลังว่ามีใครที่ทำความเจ็บช้ำน้ำใจไว้บ้าง แล้วก็หาข้อมูลคุยคุ้ยเรื่องราวของบุคคลที่ตนไม่พอใจ แล้วหาวิธีจัดการโดยอาศัยอำนาจตามตำแหน่งหน้าที่ กลายเป็นว่าการทำงานในหน้าที่กลับมีการซ่อนเอาเรื่องส่วนตัวไว้

ความคิดที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เช่นกัน การที่ฝ่ายรัฐบาลคิดแก้รัฐธรรมนูญที่จะทำให้พวกตนต้องเสียประโยชน์ไป โดยอ้างว่าได้รับฉันทานุมัติมาจากประชาชนในการเลือกตั้ง ก็เป็นความคิดที่ประหลาด และแสดงให้เห็นถึงความไม่เข้าใจหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยในเรื่อง “ส่วนตัว-ส่วนรวม” ดังได้กล่าวมาแล้ว แต่เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องใหม่ที่แต่ก่อนไม่มีผู้แทนราษฎร หรือรัฐมนตรีคนใดคิดในทำนองนี้

ดังนั้น ความคิดทางการเมืองยุคนี้จึงเกิดขึ้นเมื่อการเมืองกลายเป็นเรื่องส่วนตัวไปแล้ว การที่การเมืองกลายเป็นเรื่องส่วนตัว ก็เพราะได้มีการรับเอาค่านิยมทางธุรกิจมาใช้กับการเมือง ซึ่งเป็นที่มาของการขัดกัน ธุรกิจคือการมุ่งแสวงหากำไร และหาผลประโยชน์ให้มากที่สุด ธุรกิจมีความเป็นส่วนตัวสูง แต่การเมืองเป็นสาธารณกิจ เมื่อมีการทำการเมืองให้เป็นธุรกิจ มีการลงทุนเข้าหุ้นกันในการดำเนินงานการเมือง การเมืองจึงกลายเป็นเรื่องส่วนตัว

ผลที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานทางการเมืองแบบธุรกิจก็คือระบอบประชาธิปไตย มิใช่การกำหนดกติกาที่ให้ผลประโยชน์ที่แตกต่างหลากหลายภายในสังคมได้เข้าถึงกติกาอย่างเท่าเทียมกัน กฎหมายกลายเป็นสิ่งที่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มที่มีอำนาจทางการเมือง กรณีที่มีการฟ้องร้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ทุกกรณีในเนื้อหาแล้วคือการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ตนและพวกพ้องทั้งสิ้น

การเมืองไทยจะไม่พัฒนาไปไหน หากการเมืองยังคงเป็นเรื่องของธุรกิจอยู่ การแยกธุรกิจออกจากการเมืองนี้ แม้ในสหรัฐอเมริกาซึ่งมีระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเต็มรูป ก็ยังมีกติกา กฎ ระเบียบคอยป้องกันการรุกล้ำของธุรกิจเข้ามายังขอบเขตของสาธารณกิจอยู่ แต่ในอเมริกา สังคมเป็นสังคมทุนนิยม คือไม่มีการผูกขาดทางธุรกิจ แต่กลุ่มธุรกิจหลายกลุ่ม และกลุ่มอิทธิพลในสังคมสามารถถ่วงดุลอำนาจกันเองได้ ทุนนิยมเติบโตมาพร้อมๆ กับการเติบโตของสิทธิทางการเมือง จึงพอจะตรวจสอบถ่วงดุลกันได้

แต่ในประเทศไทยเรา ระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตยเกิดขึ้นก่อนที่ระบบเศรษฐกิจจะขยายตัว ดังนั้นการใช้อำนาจทางการเมืองเพื่อเพิ่มพูนอำนาจทางเศรษฐกิจจึงเกิดขึ้นมาแทน กลุ่มทุนดังเดิมเป็นทุนของคนกลุ่มน้อยเชื้อสายจีนที่ไม่สามารถแปรเปลี่ยนพลังทางเศรษฐกิจ ให้เป็นพลังทางการเมืองได้ ตราบจนกระทั่งคนไทยเชื้อจีนรุ่นหลังได้เข้ามามีบทบาททางการเมือง โดยปราศจากประสบการณ์และการกล่อมเกลาให้มีความคิดเกี่ยวกับสาธารณประโยชน์ เราจึงเห็นการเล่นการเมืองแบบการทำธุรกิจเต็มรูป เพราะนั่นเป็นวิธีการเดียวที่นายทุนรู้จัก

การมีรัฐธรรมนูญจึงไม่ใช่การมีกติกาที่เป็นกลาง การแก้รัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ส่วนตัวจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่คนเหล่านี้ไม่รู้จักผิดทางจริยธรรม อีกนานกว่าสังคมไทยจึงจะเข้าใจและยึดถือหลักประโยชน์ส่วนรวม
กำลังโหลดความคิดเห็น