xs
xsm
sm
md
lg

คณะกก.สิทธิฯ จี้รัฐบาลยุติรุนแรง-ยุติจับกุมแกนนำพันธมิตรฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คณะกรรมการสิทธิฯ แถลงจี้รัฐบาลต้องยุติการใช้ความรุนแรง และต้องตรวจสอบ ทบทวน ความชอบธรรม ความรับผิดชอบของรัฐบาล พร้อมกับให้ยุติการจับกุมแกนนำพันธมิตรฯ เพราะไม่ใช่ทางออกแต่กลับทำให้การชุมนุมขยายวงกว้าง

วานนี้ (29 ส.ค.) ศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นางสุนี ไชยรส คณะกรรมการสิทธิฯ, นางอรินณพงศ์ สูตรสุคนธ์ เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิฯ, นายวีรวิทย์ วีรวรวิทย์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิฯ ร่วมแถลงข่าว เรื่อง รัฐบาลต้องยุติการใช้ความรุนแรงและต้องตรวจสอบ ทบทวนความชอบธรรมและความรับผิดชอบในส่วนของรัฐบาล

ทั้งนี้ คณะกรรมการสิทธิฯ ได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง รัฐบาลต้องยุติการใช้ความรุนแรง และต้องตรวจสอบ ทบทวน ความชอบธรรม ความรับผิดชอบของรัฐบาล โดยมีเนื้อความว่า
ตามที่มีการชุมนุมคัดค้านรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ติดตามสถานการณ์มาโดยตลอด ในขณะนี้ปรากฏว่าสถานการณ์กำลังเลวร้ายลง โดยที่รัฐบาลเริ่มใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีความห่วงใยเป็นอย่างยิ่ง จึงขอแถลงดังนี้

1) การชุมนุมครั้งนี้เป็นการชุมนุมทางการเมือง เพื่อต่อต้านรัฐบาลโดยมีเหตุผลสำคัญอย่างน้อยประการหนึ่ง ที่สังคมได้เห็นและรับรู้มาโดยตลอดและรัฐบาลก็ไม่อาจปฏิเสธได้ กล่าวคือ แม้รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งของประชาชนและมีเสียงข้างมาก แต่รัฐธรรมนูญก็รับรองอำนาจการตรวจสอบของประชาชนต่อการบริหารประเทศและการใช้อำนาจของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลดำเนินการโดยขาดความชอบธรรมและละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน

2) โดยที่รัฐบาลได้ละเมิดรัฐธรรมนูญ รัฐบาลจึงตกอยู่ในสถานะขาดความชอบธรรมในการบริหารปกครองประเทศ เพราะไม่เคารพเจตนารมณ์และสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยได้ดำเนินการหลายประการอย่างไม่นำพาต่อการมีส่วนร่วมและเสียงทักท้วง และการคัดค้านของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพยายามเร่งรีบแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี 2550 ซึ่งดูเสมือนหนึ่งว่ามีจุดประสงค์ที่จะล้างมลทินและความผิดของพวกพ้องของตน ตลอดจนการดำเนินการขัดกับมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้งและลิดรอนอธิปไตยของราชอาณาจักรไทยในเรื่องปราสาทเขาพระวิหาร โดยมิได้ดำเนินการอย่างใดเพื่อยืนยันว่า การกระทำของรัฐบาลนั้นขัดกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ ในเรื่องนี้รัฐบาลไม่ได้แสดงในความรับผิดชอบใดๆ

นอกจากนั้น รัฐบาลยังประกาศดำเนินโครงการขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมโดยมิได้คำนึงถึงต้นทุนทางสังคมและมิได้เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจอย่างแท้จริงตามนัยมาตรา 66 และ 67 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี 2550 ดังเช่นโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้ และโครงการสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำโขงในหลายๆ จุด โดยเฉพาะที่บ้านกุ่ม จังหวัดอุบลราชธานี

3) ความล้มเหลวของรัฐสภา ในการถ่วงดุลควบคุม ตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดิน ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญจึงเป็นผลให้ประชาธิปไตยระบอบรัฐสภาล้มเหลวโดยสิ้นเชิง และเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ภาคประชาชนต้องออกมาชุมนุมเคลื่อนไหวเรียกร้อง 4) โดยที่รัฐบาลอาจจะไม่คำนึงถึงปัญหาความชอบธรรมและความรับผิดชอบของตนเอง และอาจจะใช้กฎหมายความมั่นคงภายใน เพื่อมุ่งที่จะใช้อำนาจโดยพลการของรัฐบาลแต่สถานเดียว ดังนั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จึงเห็นว่า ปัญหาความชอบธรรมของรัฐบาลจะยิ่งเลวร้ายขึ้นไป

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงเรียกร้องให้ รัฐบาลต้องยุติการใช้ความรุนแรงใดๆ ทั้งสิ้น รวมทั้งยุติการจับกุมแกนนำ เพราะไม่ใช่หนทางแก้ไขปัญหา มีแต่ทำให้การชุมนุมและการต่อสู้ของประชาชนขยายตัวยิ่งขึ้น

ในประการสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขอเรียกร้องให้ประชาชนทั่วประเทศร่วมกันผลักดันให้เกิดการปฏิรูปการเมืองที่การใช้อำนาจรัฐต้องเป็นไปด้วยความชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง

หมอชนบทไล่รัฐบาลสมัคร

ชมรมแพทย์ชนบท ซึ่งมีนายแพทย์เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ เป็นประธาน ออกแถลงการณ์ชมรมแพทย์ชนบท ฉบับที่ 2 ต่อกรณีการเผชิญหน้าระหว่างรัฐบาลและพันธมิตรฯ ที่ทำเนียบรัฐบาลวันที่ 29 ส.ค. 2551

แถลงการณ์ของชมรมแพทย์ชนบท ระบุว่า สืบเนื่องจากแถลงการณ์ฉบับที่ 1 ที่ชมรมแพทย์ชนบท ห่วงใย แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลจะใช้วิธีสลายการชุมนุมประท้วงที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งจะเป็นการสร้างความตึงเครียดและสร้างบรรยากาศการเผชิญหน้าระหว่างคนไทยด้วยกัน ซึ่งไม่เป็นประโยชน์ใดๆ มีแต่จะสร้างความสูญเสียเลือดเนื้อของคนไทยด้วยกัน อันจะทำให้บาดแผลความขัดแย้งในสังคมร้าวลึกลงไปจนยากจะเยียวยาแก้ไขนั้น

ต่อมา เมื่อวานนี้ นายกรัฐมนตรีได้ออกมาแถลงข่าวว่ารัฐบาลจะไม่ใช้วิธีการสลายการชุมนุมอย่างแน่นอน แต่ปรากฎว่าประมาณ 10 นาฬิกา ของวันที่ 29 ส.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งขัดแย้งกับที่นายกรัฐบาลได้แจ้งกับประชาชน แสดงให้เห็นถึงความไม่น่าเชื่อถือของผู้นำประเทศอย่างชัดแจ้ง ทั้งที่ศาลแพ่งเพิ่งรับคำอุทธรณ์กลุ่มพันธมิตรฯ ให้ทุเลาบังคับคดีพ้นทำเนียบ

และเป็นที่ทราบกันเป็นอย่างดีว่าหากมีการใช้วิธีสลายการชุมนุมเมื่อใด ก็ยากที่จะหลีกเลี่ยงความรุนแรงเกิดขึ้นได้ ซึ่งจากภาพข่าวที่ปรากฎต่อสื่อมวลชนในวงกว้างพบว่าตำรวจเริ่มใช้ความรุนแรงกับพี่น้องประชาชนชาวไทย ที่ส่วนใหญ่เป็นสตรี คนชราและเด็ก ที่ไม่มีอาวุธใดๆ บ้างแล้ว และเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 63 ที่จะสามารถชุมนุมโดยสงบได้

ชมรมแพทย์ชนบทจึงขอเรียกร้องฝ่ายต่างๆ ดังต่อไปนี้ 1.ขณะนี้ชมรมแพทย์ชนบทได้ประสานงานกับศูนย์นเรนทร ในการขอความร่วมมือจากแพทย์ในชนบททั้งจากโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน และสภาการพยาบาล ให้ช่วยจัดทีมรถพยาบาลเพื่อพร้อมรับภาวะฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาทุกข์ ช่วยเหลือประชาชน ตำรวจ และผู้บาดเจ็บทุกฝ่ายโดยไม่แบ่งแยกชั้นวรรณะ ที่อาจเจ็บป่วยและบาดเจ็บจากภาวะฉุกเฉินดังกล่าว จึงใคร่ขอให้โรงพยาบาลในเขตปริมณฑลรวมทั้งเพื่อนวิชาชีพสุขภาพทั่วประเทศ เดินทางไปทำเนียบรัฐบาล เพื่อประสานและให้ความร่วมมือกับศูนย์นเรนทรโดยด่วนเพื่อป้องกันการสูญเสียโดยไม่จำเป็นให้เร็วที่สุด

2. การที่รัฐบาลตัดสินใจใช้ความรุนแรงเป็นวิธีในการสลายการชุมนุม ทำให้รัฐบาลหมดความชอบธรรมในการบริหารบ้านเมืองแล้ว และเป็นผู้ที่ทำให้การแก้ปัญหาขณะนี้น่าถึงทางตันเอง จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบ และตัดสินใจเสียสละเพื่อบ้านเมือง เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายและเกิดความบาดหมางในประชาชนคนไทยด้วยกันมากไปกว่านี้ เพราะเป็นที่ทราบดีว่าหากมีการสูญเสียสิบคนจะมาเป็นแสน หากสูญเสียร้อย คนจะมาเป็นล้าน

3. ทางชมรมแพทย์ชนบทขอเรียกร้องต่อสมาชิกแพทย์และวิชาชีพสุขภาพทั้งประเทศ ให้แสดงจุดยืนอารยะขัดขืนให้เป็นที่ประจักษ์ ด้วยการไม่ให้ความร่วมมือใดๆกับรัฐบาลจนกว่ารัฐบาลมือเปื้อนเลือดจะลาออกไป โดยยังคงไว้ซึ่งจริยธรรมทางการแพทย์อย่างแรงกล้าไว้ โดยให้การดูแลรักษาพยาบาลทุกฝ่าย สมดังเจตนารมณ์ตามวิชาชีพของพวกเราต่อไป

สภาทนายความฯชี้ ตร.ทำผิด กม.

นายเดชอุดม ไกฤทธิ์ นายกสภาทนายความ ออกแถลงการณ์เรื่อง ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจงดใช้การกระทำที่รุนแรงต่อประชาชนในคดีแพ่ง โดยแถลงการณ์ระบุว่า ตามที่ได้มีการยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งขอให้ไต่สวนฉุกเฉิน กรณีประชาชนร่วมชุมนุมและเข้าไปในทำเนียบรัฐบาลนั้น เป็นการชุมนุมโดยสงบของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาล ซึ่งเป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตย การฟ้องร้องคดีแพ่ง ซึ่งขอให้ศาลมีคำสั่งไต่สวนฉุกเฉินให้คู่กรณี พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรฯ และพวก 6 คน ออกจากสถานที่ราชการดังกล่าว

สภาทนายความเห็นว่า การดำเนินการตามหมายห้ามชั่วคราวของศาลโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้นกระทำไปอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงขอแถลงการณ์เพื่อให้ดำเนินการแก้ไขโดยเร็วดังนี้
 
1) คดีดังกล่าวเป็นคดีแพ่งไม่ใช่คดีอาญา และไม่ใช่คดีที่มีคำสั่งศาลให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติต่อประชาชนทั้งหมดในที่ชุมนุม เป็นกรณีที่บังคับกับคู่ความในคดีคือแกนนำพันธมิตรฯ 6 คนเท่านั้น 2) คดีแพ่งดังกล่าวจึงไม่มีผลบังคับกับประชาชนที่ไม่ใช่คู่กรณี ดังนั้น จึงไม่มีกฎหมายรองรับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังกับประชาชน

อนึ่ง ในขณะนี้มีคำสั่งของศาลแพ่งให้มีการอุทธรณ์คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวต่อศาลอุทธรณ์แล้ว กรณีนี้จึงควรรอการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่ยุติก่อน ดังนั้น การที่เจ้าหน้าที่ฝ่าฝืน หรือเลือกที่จะปฏิบัติต่อประชาชน มีการยื้อยุดฉุดกระชากทำให้เกิดความเสียหายต่อร่างกายและทรัพย์สินของประชาชน ย่อมมิชอบด้วยกฎหมาย

3.สภาทนายความเห็นว่าการกระทำดังกล่าว สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องสั่งให้ตำรวจที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งรัฐบาล ที่มีหน้าที่ดำเนินการ หยุดการกระทำดังกล่าวนั้นโดยทันที ขณะเดียวกัน ต้องนำผู้ที่มีการออกคำสั่งดังกล่าวมาดำเนินการสอบสวนต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น