xs
xsm
sm
md
lg

แฉสหรัฐฯ-ยุโรป-ญี่ปุ่นหารือแผน จับมือพยุงค่า$ช่วงแบร์สเติร์นส์เจ๊ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไฟแนนเชียลไทมส์/เอเอฟพี – สหรัฐฯ, ยุโรป, และญี่ปุ่น ได้หารือกัน ถึงความเป็นไปได้ที่จะร่วมมือประสานงานกันเข้าแทรกแซงค่าเงินตรา เพื่อพยุงเงินดอลลาร์ซึ่งกำลังย่ำแย่หนัก ในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตวาณิชธนกิจแบร์สเติร์นส์ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ตามรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์นิกเคอิ ของญี่ปุ่นฉบับวานนี้(28)
รายงานข่าวนี้ยังระบุว่า รัฐมนตรีคลังของกลุ่ม 7 ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (จี7) ก็ได้พิจารณาที่จะออกแถลงการณ์ฉุกเฉิน ในช่วงสุดสัปดาห์ของวันที่ 15 – 16 มีนาคมด้วยเช่นกัน
นิกเคอิ หรือ นิฮง เคอิไซ ชิมบุง หนังสือพิมพ์ธุรกิจทรงอิทธิพลของแดนอาทิตย์อุทัย อ้างแหล่งข่าวที่คุ้นเคยกับเรื่องนี้หลายรายกล่าวว่า พวกเจ้าหน้าที่จากกระทรวงการคลังสหรัฐฯ, กระทรวงการคลังญี่ปุ่น, และธนาคารกลางยุโรป ได้จัดเตรียมกรอบโครงของแผนการร่วมมือกันเข้าแทรกแซงค่าเงินนี้ ในช่วงสุดสัปดาห์ของวันที่ 15-16 มีนาคม
พวกเขาไม่ได้ตกลงกันว่าจะรอให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวลงแค่ไหน ก่อนที่จะเริ่มเข้าไปช่วยกันพยุงค่าในตลาด และในที่สุดแล้วก็ไม่ได้มีการปฏิบัติการร่วมกันแต่อย่างใด หนังสือพิมพ์ฉบับนี้กล่าว
กระนั้นก็ตามที ดีลเลอร์ในตลาดค้าเงินตราหลายรายชี้ว่า การที่มีรายงานเรื่องแผนการพยุงดอลลาร์ออกมาเช่นนี้ อย่างไรเสียก็ย่อมมีผลทัดทานไม่ให้ค่าเงินดอลลาร์ร่วงหนักในอนาคต
ทางด้านไฟแนนเชียลไทมส์ หนังสือพิมพ์ธุรกิจทรงอิทธิพลของทางอังกฤษ ได้เสนอรายงานของนิกเคอิ โดยพยายามไปติดตามข้อมูลเพิ่มเติม และบอกว่ากระทรวงการคลังสหรัฐฯ ไม่ยอมออกความเห็นใดๆ ต่อข่าวนี้ แต่ก็มีเจ้าหน้าที่จี 7 ผู้หนึ่งกล่าวว่า เขาเข้าใจว่าได้มีการเตรียมการบางประการ ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าจะเป็นการมุ่งเข้าแทรกแซงค่าเงินในช่วงเวลาดังกล่าว ทว่าเขาไม่ยอมบอกว่าเป็นการหารือกันในระดับระหว่างประเทศใช่หรือไม่
ไฟแนนเชียลไทมส์ยังได้เท้าความรายงานข่าวที่ตนเองเสนอมาก่อนหน้านี้ ซึ่งระบุว่า พวกผู้วางนโยบายในสหรัฐฯและยุโรป ต่างมีความวิตกอยู่เป็นระยะๆ ในขณะที่วิกฤตด้านสินเชื่อของโลกพัฒนารุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยมองเห็นว่าในภาวะแวดล้อมที่เงินดอลลาร์อ่อนตัวลงเรื่อยๆ ไม่ยอมหยุด สืบเนื่องจากวิกฤตสินเชื่อ ในที่สุดแล้ววิกฤตซึ่งเกิดขึ้นในสถาบันการเงินแห่งใดแห่งหนึ่ง ก็อาจกลายเป็นชนวนทำให้มูลค่าเงินตราสหรัฐฯตกฮวบฮาบอย่างไม่เป็นท่า
การหล่นพรวดอย่างไม่เป็นกระบวนดังกล่าว ยังจะยิ่งเพิ่มความตึงเครียดที่มีอยู่แล้วในตลาดการเงินส่วนอื่นๆ และอาจทำให้นักลงทุนต่างชาติรู้สึกกันขึ้นมาว่า พวกเขาควรจะได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นในลักษณะที่เรียกว่าค่าธรรมเนียมความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน จากการเข้าไปถือครองสินทรัพย์สกุลดอลลาร์ และการเรียกร้องเช่นนี้ก็ย่อมจะผลักดันให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวของสหรัฐฯขยับสูงขึ้น

ความวิตกเช่นนี้ยิ่งดูร้ายแรงเป็นพิเศษ ในช่วงเวลาขณะนั้นที่ แบร์สเติร์นส์ วาณิชธนกิจชื่อดังแห่งหนึ่งของวอลล์สตรีทกำลังประสบวิกฤต พวกผู้วางนโยบายของประเทศต่างๆ จึงมีการติดต่อหารือกันเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจจะมีต่อตลาดระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ในที่สุดแล้วรัฐมนตรีคลังจี 7ก็ไม่ได้มีการออกคำแถลงฉุกเฉินใดๆ ออกมาในตอนนั้น แต่ได้รอเวลาไปจนกระทั่งถึงการประชุมตามกำหนดนัดเดิมในวันที่ 11 เมษายน จึงได้มีการออกคำแถลงแสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับ “ความผันผวนอย่างแรงในสกุลเงินตราสำคัญๆ” และ “ผลทางอ้อมที่อาจเกิดขึ้นจากความผันผวนดังกล่าว ที่จะมีต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและทางการเงิน” นอกจากนั้น ขุนคลังจี7ยังบอกด้วยว่า “เราจะยังคงติดตามตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราอย่างใกล้ชิด และจะร่วมมือประสานงานกันตามความเหมาะสม”

คำแถลงฉบับนี้ถือเป็นหลักหมายแห่งการปรับเปลี่ยนนโยบายเงินตราระหว่างประเทศ ทั้งนี้ แฮงก์ พอลสัน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ แม้โดยทั่วไปแล้วยังมีท่าทีไม่ค่อยเห็นด้วยกับการเข้าแทรกแซงเงินตรา แต่ก็ออกมาพูดอย่างระมัดระวังว่า ไม่ถึงกับบอกปัดไม่ยอมทำเช่นนั้นเลยในทุกๆ สถานการณ์

ก่อนหน้าเดือนมีนาคม พวกเจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯและของยุโรปมีความขัดแย้งกันอยู่ในนโยบายเกี่ยวกับเงินตรานี้ โดยที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ยูโรโซนรู้สึกวิตกที่เห็นเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับเงินยูโร แต่ทางเจ้าหน้าที่สหรัฐฯเองโดยทั่วไปแล้วกลับต้อนรับแนวโน้มนี้ เพราะเห็นว่าจะช่วยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจอเมริกัน

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการประชุมขุนคลังจี7เมื่อวันที่ 11 เมษายน ทั้งเจ้าหน้าที่สหรัฐฯและยุโรปต่างบอกกับไฟแนนเชียลไทมส์ว่า พวกเขามีความเอกภาพกันแล้วที่จะสนับสนุนให้ดอลลาร์มีค่าแข็งขึ้น และทั้งเบน เบอร์นันกี ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) ก็ร่วมกับขุนคลังพอลสัน ในการออกมาพูดต่อสาธารณชนหนุนค่าเงินดอลลาร์อย่างชัดเจน

พวกผู้วางนโยบายเวลานี้เชื่อกันว่า วิกฤตในสถาบันการเงินแห่งใดแห่งหนึ่ง ไม่น่าที่จะเป็นชนวนทำให้เกิดความหวั่นผวาเทขายดอลลาร์ ในเมื่อสภาพแวดล้อมโดยทั่วไปยังคงเอื้ออำนวยให้ดอลลาร์มีค่าแข็งขึ้น อีกทั้งดอลลาร์ที่มีค่ามากขึ้นยังช่วยลดผลกระทบจากราคาน้ำมันและอัตราเงินเฟ้อ และช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นในสินทรัพย์ของสหรัฐฯด้วย

ถ้าไม่เกิดวิกฤตในลักษณะแบร์สเติร์นส์ขึ้นมาอีก ก็ไม่น่าที่จะมีการแทรกแซงพยุงค่าดอลลาร์ ทว่าหากมีวิกฤตทำนองเดียวกันเกิดขึ้นอีกครั้ง และค่าเงินดอลลาร์ก็อ่อนตัวลงฮวบฮาบ ก็เป็นไปได้ที่จะมีการร่วมมือประสานงานกันเข้าแทรกแซง ไฟแนนเชียลไทมส์ระบุ
กำลังโหลดความคิดเห็น